นิธิ เอียวศรีวงศ์ : บทเรียนประชาธิปไตยจากพม่า

นิธิ เอียวศรีวงศ์

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในพม่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ ไม่เพียงเฉพาะคนจำนวนมากซึ่งมีอัตลักษณ์โรฮิงญา ถูกฆ่าอย่างโหดร้าย และถูกกดขี่อย่างทารุณเท่านั้น แต่เพื่อนบ้านส่วนใหญ่ในอาเซียน และเกือบทั้งโลก ต่างขยะแขยงต่อการกระทำของกองทัพและรัฐบาลพม่า แต่ทำอะไรไม่ได้ นอกจากออกแถลงการณ์ประณาม

กรณีพม่ายากลำบากกว่าโคโซโว และการใช้ความรุนแรงไม่น่าจะเป็นหนทางเดียวที่จะยุติความรุนแรงได้ โลกควรจะมีกลไกเครื่องมือที่ดีกว่านั้น

หนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้โลกทำอะไรไม่ได้เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างที่สาม นั่นคือคนพม่าจำนวนมากเห็นด้วย (แต่จะมากกว่าหรือไม่ ไม่ทราบได้) มองการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นวิถีทางที่จำเป็นในการปกป้องพระพุทธศาสนา เพราะถูกปลุกปั่นมานานว่ามุสลิม (ซึ่งมีไม่ถึง 5% ของประชากร แม้เมื่อนับรวมชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองไปด้วย) กำลังมุ่งครอบงำและขจัดพุทธศาสนาออกไปจากพม่า

ผมเข้าใจว่า นี่คือเหตุผลที่นางออง ซาน ซูจี ซึ่งเป็นผู้นำพรรคสันนิบาตประชาธิปไตยแห่งชาติ ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่เวลานี้ เลือกจะไม่ทำอะไรมากไปกว่าช่วยปกป้องกองทัพที่ก่อและกำลังก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอยู่เวลานี้ ในบรรดาชาวพม่าที่สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา เกือบทั้งหมดคือฐานเสียงของพรรคสันนิบาตประชาธิปไตย เหมือนเกือบทั้งหมดของผู้สนับสนุน กปปส. เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์

หากเธอรณรงค์ต่อต้านการกระทำของกองทัพในยะไข่เวลานี้ ถามว่ากองทัพจะก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ แต่ยืนยันได้ว่า กองทัพพม่าต้องคิดหนักเหมือนกัน เพราะการยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่งจะเท่ากับว่า ที่กองทัพสู้เตรียมการมาหลายปี ก่อนสมัยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เพื่อจะเตรียมให้กองทัพสามารถคุมพม่าได้ต่อไป โดยไม่ต้องออกหน้าตั้งรัฐบาลทหารขึ้น ก็ล้มเหลวลงหมด เหมือนกลับเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกที ซึ่งกองทัพพม่าก็รู้ดีว่ารัฐบาลทหารเผชิญอุปสรรคมากขึ้นในทุกด้าน

แต่หากจำเป็น กองทัพพม่าก็ไม่ลังเลที่จะทำรัฐประหารอีกครั้งอย่างแน่นอน เช่น สมมติว่ามีระเบิดลูกแรกของฝ่ายสหประชาชาติ ที่มีมติโจมตีพม่าหย่อนลงมาจากท้องฟ้า กองทัพพม่าคงยึดอำนาจอีกทันที (และอาจจะโดยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมากด้วย ไม่ต่างจากการยึดอำนาจของเนวินใน 1962)

และนี่คงเป็นเหตุผลที่สหประชาชาติเลือกจะไม่ใช้วิธีรุนแรงอย่างกรณีโคโซโว เพราะจะทำลายรัฐบาลพลเรือนซึ่งเพิ่งอุบัติขึ้นในพม่าที่ถูกกองทัพกดขี่มาเกินชั่วอายุคน แต่ทั้งสหประชาชาติและอาเซียนก็ไม่มีมาตรการอื่นใด เพราะล้วนเป็นการกระทำที่ยากกว่าการโจมตีทางอากาศ เนื่องจากต้องการความร่วมมืออย่างกว้างขวางกว่า และมั่นคงกว่าฝูงบินรบนานาชาติมากนัก ซึ่งนับว่าเกินสมรรถนะของทั้งสหประชาชาติและอาเซียน

พม่าต้องจัดการกับกองทัพของตนเองไปตามลำพัง อย่างที่พม่าเคยเผชิญมาแล้วในอดีตนั่นเอง ซ้ำร้ายกว่านั้น นโยบายของกองทัพกลับมีความชอบธรรมกว่าเดิมด้วย เพราะมีรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งรองรับ และยังมีประชาชนจำนวนมากให้การสนับสนุนอย่างออกหน้า

หลายคนคงผิดหวังกับบทบาทของนางซูจี ก็น่าผิดหวังอยู่หรอกครับ เมื่อนึกถึงบทบาทและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของเธอ ที่เคยเผชิญแรงบีบคั้นจากกองทัพมาอย่างหนัก เพื่อยืนยันสิ่งที่ถูกต้อง แต่พรรคสันนิบาตประชาธิปไตยแห่งชาติได้เปิดการเจรจากับกองทัพมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่สองของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ข้อตกลงจะเป็นอย่างไรไม่ทราบได้ แต่อย่างน้อยทั้งสองฝ่ายคงต้องยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งมีสถานะและบทบาทที่พอรับได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

จากประวัติการต่อสู้ของนางซูจีทำให้ผมไม่คิดว่า ที่เธอยอมให้กองทัพฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในเวลานี้ เพราะกลัวกองทัพ แต่คงคิดถึงการพยุงระบอบพลเรือนและความก้าวหน้าที่รัฐบาลพลเรือนนำเข้ามาให้ดำเนินต่อไป

นโยบายเช่นนี้ผิดหรือถูกคงเถียงกันได้ เช่น การสูญเสียพันธมิตรทั่วโลก ทำให้นางซูจีมีอำนาจต่อรองกับกองทัพลดลงอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าที่รัฐบาลพลเรือนนำเข้ามา แม้ไม่มากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีจริง เช่น เสรีภาพของสื่อ (ไม่ใช่ทุกเรื่อง แต่หลายเรื่อง) โครงการปฏิรูปการศึกษา การเปิดให้เอกชนรายย่อยประกอบการทางเศรษฐกิจได้เสรียิ่งขึ้น ฯลฯ (หลายโครงการเริ่มมาตั้งแต่สมัยเต็ง เส่ง แล้ว) ความก้าวหน้าเหล่านี้หากสัมฤทธิผลมากขึ้นในอนาคต ก็จะทำให้อำนาจต่อรองของกองทัพลดลงเหมือนกัน

หากจะใช้คำว่า “กลัว” ผมคิดว่าสิ่งที่นางซูจีคง “กลัว” ยิ่งกว่าทหารคือชาวพม่าจำนวนมากที่สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

คนเหล่านี้แสดง “เสียง” ของตนอย่างชัดเจน บางครั้งก็โดยสงบเช่นการเดินขบวน บางครั้งก็อย่างรุนแรงเช่นการเผามัสยิด หรือทำร้ายชาวมุสลิม ผมไม่ทราบว่าฝูงชนเหล่านี้เป็นม็อบจัดตั้งหรือไม่ แต่มีรายงานของผู้สื่อข่าวหลายรายที่บอกว่า ขบวนการของพระวีรธุได้รับทุนอนุเคราะห์บางส่วนจากกองทัพ

ผมและคงจะชาวพม่าอีกมากที่ไม่ทราบว่า “เสียง” ของคนเหล่านี้คือเสียงส่วนใหญ่ของชาวพม่าหรือไม่ ผมได้เคยพบพระภิกษุพม่าที่ไม่เห็นด้วยทั้งกับวีรธุและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รายงานข่าวในสื่อต่างประเทศก็พูดถึงชาวพม่าที่ต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่คนเหล่านี้ไม่เคยออกมาเคลื่อนไหวเป็นสาธารณะ จึงไม่มีทางจะทราบได้แน่ชัดว่า เสียงส่วนใหญ่ของชาวพม่าต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นอย่างไรกันแน่

ในสังคมประชาธิปไตย “เสียงส่วนใหญ่” คือเสียงที่เคลื่อนไหวเสมอ แม้จำนวนคนอาจมีไม่ถึงครึ่งของประชากร แต่เขาเรียกตนเองว่า “ประชาชน” หรือ “มวลมหาประชาชน” คนนับถือปืนในสหรัฐ เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด มีจำนวนเพียงหยิบมือเดียว แต่พวกเขารวมกลุ่มสร้างองค์กร และเคลื่อนไหวทั้งในที่ลับและที่แจ้งตลอดมา เพื่อรักษาสิทธิถือปืนได้อย่างเสรีของคนอเมริกันเอาไว้ ทำให้การควบคุมปืนทำได้ยากมาก

ผมคิดว่า เราอาจพบ “เสียงส่วนใหญ่” เช่นนี้ในสังคมประชาธิปไตยอยู่เสมอ และในบางครั้ง เสียงส่วนใหญ่ก็อาจเป็นเสียงส่วนใหญ่จริงด้วย แต่ก็เหมือนเสียงส่วนใหญ่ทั้งหลาย มันมีกระบวนการที่ทำให้คนจำนวนมากตัดสินใจอย่างนั้นโดยไม่ทันคิด ประชาธิปไตยไม่ประกันว่า เสียงส่วนใหญ่จะถูกทุกครั้งไป ประชาธิปไตยทำได้แต่เพียงให้โอกาสแก้ไขความผิดพลาดได้ง่ายกว่าระบอบอื่นเท่านั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความผิดพลาดได้เกิดขึ้นแล้ว และความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นแล้วเหมือนกัน

ไม่มีระบบปกครองอะไรในโลกนี้ที่ประกันได้ว่าไม่มีทางทำอะไรผิดพลาดเลย ตราบเท่าที่มนุษย์เป็นผู้บริหารระบบปกครองนั้นๆ ความผิดพลาดย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ระบบปกครองที่ดีที่สุดคือระบบที่ผู้คนสามารถชี้ข้อผิดพลาดได้อย่างเสรี สามารถสร้างกระแสให้ร่วมกันผลักดันการแก้ข้อผิดพลาดได้อย่างเสรี และในตัวระบบการเมืองการปกครอง ก็อนุญาตให้ลงมือแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น และโดยไม่นองเลือด หรือใช้ความรุนแรง

การเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันหรือต่อต้านนโยบายสาธารณะ ผ่าน “เวที” ต่างๆ เช่น สื่อ, วงอภิปราย, งานวิชาการ, หรือแม้แต่การโฆษณาและการเดินขบวน จึงมีความสำคัญในกระบวนการประชาธิปไตย อย่างที่พูดกันเสมอว่าพลเมืองที่ไม่นิ่งเฉย แต่ร่วมเคลื่อนไหวกับคนอื่นในเรื่องเล็กๆ ไปถึงเรื่องใหญ่ ในเรื่องที่มีความสำคัญต่อส่วนรวม (อย่างที่บางท่านแปลว่า “กัมมันตพลเมือง”) คือหัวใจของระบอบประชาธิปไตย

การสร้าง “เสียงส่วนใหญ่” (ไม่ว่าจริงหรือปั้นแต่งขึ้น) จึงไม่ผิดในตัวเอง แต่เมื่อใดที่การกระทำและข้อเรียกร้องของการเคลื่อนไหวละเมิดกฎหมาย และลัดวงจรของกระบวนการประชาธิปไตย เช่น เรียกร้องให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือเรียกร้องและระงับขัดขวางไม่ให้ใช้การเลือกตั้งแก้ไขความขัดแย้ง เมื่อนั้น “เสียงส่วนใหญ่” ควรสูญเสียสมาชิกไปจำนวนมาก หรือไม่อาจเพิ่มสมาชิกให้มากขึ้นกว่าเดิมได้อีก เสียงคัดค้านต่อต้านข้อเรียกร้องของ “เสียงส่วนใหญ่” จะเริ่มดังขึ้น และถ้าให้เวลานานพอ โดยปราศจากการหนุนหลังของอำนาจนอกระบบ ก็จะดังจนกลบ “เสียงส่วนใหญ่”

ในทางตรงกันข้ามกับบทบาทของพลเมืองผู้ไม่นิ่งเฉย บทบาทของนักการเมืองซึ่งย่อมมีเสียง “ดัง” อยู่แล้ว ยิ่งมีความสำคัญกว่า

การชี้ข้อบกพร่องของ “เสียงส่วนใหญ่” (ไม่ว่าจริงหรือปั้นแต่งขึ้น) เป็นคุณสมบัติสำคัญของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย การฟังเสียงประชาชนนั้นเรื่องเล็ก การปกครองไม่ว่าในระบบอะไร ก็ต้องฟังเสียงประชาชนทั้งนั้น โดยเฉพาะประชาชนที่สามารถทำให้เสียงตัวเองดังกว่าเสียงคนอื่น แต่การฟังเสียงประชาชนแต่ไม่คล้อยตามสิครับ เรื่องใหญ่ ทำได้ยาก เพราะแทบไม่มีผลตอบแทนอะไร สูญเสียความนิยม อย่างน้อยก็ชั่วคราว ซ้ำสิ่งที่ตนผลักดันหรือป้องกันมิให้เกิดก็ไม่บรรลุผล

ด้วยเหตุดังนั้น นักการเมือง โดยเฉพาะที่ต้องผ่านการเลือกตั้ง จึงมักไม่ทำ อย่างเก่งก็ทำเฉย จะหานักการเมืองที่กล้ายืนขึ้นต้านทาน “เสียงส่วนใหญ่” มีไม่มากนัก นักการเมืองอย่างคุณพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ซึ่งเคยเป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ของจังหวัดกระบี่ติดต่อกันหลายสมัย จึงน่ายกย่องสรรเสริญเป็นพิเศษ

แต่จะหวังให้นักการเมืองเป็นอย่างคุณพิเชษฐทุกคนไปย่อมเป็นไปไม่ได้

ผมคิดว่า ออง ซาน ซูจี ไม่ใช่คุณพิเชษฐ ส.ส. ในพรรคสันนิบาตประชาธิปไตยแห่งชาติก็ไม่ใช่ ส.ส.ชนกลุ่มน้อยที่ได้รับเลือกมาไม่กี่ที่นั่งก็ไม่ใช่ ทั้งๆ ที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญามีนัยยะโดยตรงกับความมั่นคงแห่งสิทธิเสรีภาพของพวกเขา

ผมนำเอาเรื่องพม่าขึ้นมาคุย เพราะผมเห็นว่า การเมืองไทยในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งข้างหน้านี้ มีสิ่งที่นักการเมืองจะต้องกล้ายืนขึ้นมาเพื่อต้านทาน “เสียงส่วนใหญ่” มากมายหลายเรื่อง หากนักการเมืองคล้อยตาม “เสียงส่วนใหญ่” (ซึ่งดังที่สุดในเวลานี้ เพราะสื่อสูญเสียเสรีภาพไปหมดแล้ว) ไทยจะอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารไปชั่วลูกชั่วหลาน