จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช (24)

ในวงสนทนาของผู้สื่อข่าวการเมืองอาวุโส ได้พบสนทนากับเพื่อนร่วมยุคสมัยเป็นประจำ แน่นอนพวกเขาผ่านสนามข่าวกันมาเมื่อกว่า 40 ปีก่อน รวมทั้งจะต้องพานพบ “นายกรัฐมนตรี” มามากกว่า 10 ท่านขึ้นไป

เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งมาจาก “กองทัพ” เป็นทหารของชาติ หรือ “ทหารการเมือง” และนายกรัฐมนตรีพลเรือน ซึ่งมีที่มาแตกต่างกัน เช่น มาโดยการ “ปฏิวัติ รัฐประหาร” และมาจากการ “เลือกตั้ง” ของประชาชนตามเส้นทางระบอบ “ประชาธิปไตย”

การสนทนาย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการเมือง การทำงาน และบุคลิกตลอดจนอุปนิสัยใจคอของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐมนตรีสำคัญๆ ของรัฐบาลชุดต่างๆ ซึ่งผู้สื่อข่าวสูงวัยต่างมีประสบการณ์

สิ่งหนึ่งที่ยกขึ้นมาเปรียบเทียบเสมอคงจะเรื่องความสามารถในการบริหารประเทศ ควบคุมดูแลคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลให้ห่างไกลการคอร์รัปชั่นได้แค่ไหน หรือรู้เห็นเป็นใจร่วมมือช่วยกันเบียดบังผลประโยชน์ของประเทศ จนทำให้บ้านเมืองล้าหลังไม่ได้รับการพัฒนาอะไรต่อมิอะไรให้เกิดประโยชน์เป็นชิ้นเป็นอัน

แต่ร้อยทั้งร้อยมักช่วยเหลือโอบอุ้มพรรคพวกเดียวกันตามแบบอย่างของสังคมไทย ไม่เว้นแม้แต่คนผิด ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับฝ่ายตรวจสอบ ฝ่ายค้านจะมีโอกาสได้ทำงานค้นหาหลักฐานออกมาเผยแพร่ว่ามันร้ายแรงต่อบ้านเมืองสร้างความเสียหายมากน้อยแค่ไหน อย่างไร?

 

ผู้อาวุโสเหล่านี้ยังพอจดจำได้อย่างแม่นยำเนื่องจากสมัยที่ผ่านนั้น อะไรต่อมิอะไรยังไม่ก้าวไกลอย่างเช่นทุกวันนี้ จำนวนผู้คนของประเทศก็ดูเหมือนประมาณ 20 กว่าล้าน ในขณะที่ปัจจุบันตัวเลขพุ่งสูงใกล้ 70 ล้านคนเข้าไปแล้ว

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การสื่อสาร ตลอดจนสื่อมิได้ก้าวไกลรวดเร็วอย่างเช่นเดี๋ยวนี้ การรายงานข่าว ภาพต้องใช้เวลาตามสมควร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปัจจุบันไม่มีปัญหาเลย ประชาชนทั่วไป 100 ละกว่า 90 ทำตัวเป็นช่างภาพ ผู้สื่อข่าว มีทั้งภาพนิ่งและคลิปเคลื่อนไหว เพราะทุกคนมีโทรศัพท์มือถือซึ่งเท่ากับมีกล้องถ่ายภาพติดตัวพร้อมรายงานข่าวได้ตลอดเวลาในทุกสถานที่

การเปรียบเทียบนายกรัฐมนตรีแต่ละคนระหว่างการพบปะสนทนา หรือให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ท่านไหนเป็นอย่างไร พูดมาก ไม่ค่อยพูด วางตัวเป็นกันเองกับผู้สื่อข่าวเหมือนน้องๆ ลูกหลาน เสียงดังดุดันกราดเกรี้ยวเต็มไปด้วยอารมณ์ และผู้สื่อข่าวชอบพอรักใคร่ให้ความเคารพ หรือ?

 

จอมพลถนอม กิตติขจร (2454-2547) นายกรัฐมนตรี (คนที่ 10) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 4 สมัย เป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน ก่อนจะมีอันต้องเดินทางออกนอกประเทศหลังเกิด “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” เมื่อนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนลุกฮือขึ้นเดินขบวนเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งกรณีทหาร ตำรวจนำอาวุธและพาหนะของทางราชการเดินทางเข้าไปล่าสัตว์บริเวณป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี มีส่วนเป็นต้นเหตุด้วย

จอมพลถนอม กิตติขจร นอกจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม “ผู้บัญชาการทหารบก” รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ โดยมี จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการทหารบก และ ฯลฯ โดยสองครอบครัวได้เกี่ยวดองผูกพันเป็นเครือญาติ และกุมอำนาจการปกครองประเทศ

จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ได้พบปะกับผู้สื่อข่าวบ่อยครั้งนัก น่าจะเรียกว่าพบท่านไม่ง่าย และการให้สัมภาษณ์เป็นไปอย่างเรียบๆ ไม่ค่อยจะมีสีสัน ไม่น่าเกรงขามอย่างเช่นจอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งมีภาพลักษณ์ บารมีน่าเกรงกลัว

แต่โดยแท้จริงอดีต 2 ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ได้น่ากลัว พูดจากระโชกโฮกฮาก ทั้งๆ ที่รัฐบาลของท่าน เรียกได้ว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการ แต่ไม่ถึงกับเด็ดขาดสักเท่าไรนัก ประชาชน สื่อมวลชนยังพอมีสิทธิเสรีภาพ แบบคาบเกี่ยวประชาธิปไตยแบบไทยๆ

 

เสรีภาพของสื่อมวลชนเริ่มจะมาเบ่งบานเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2517 ประกาศใช้ และอาจารย์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (2454-2538) ก่อตั้งพรรค “กิจสังคม” พร้อมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น “ผู้แทนราษฎร” ของกรุงเทพฯ และส่งผู้สมัครรับสมัครเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งได้รับเลือกเข้ามาเพียง 18 เสียง แต่ตัวท่านได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” ในรัฐบาลสหพรรค หรือรัฐบาลร้อยพ่อพันแม่ซึ่งมักเรียกขานกันอย่างนั้น

อาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ผู้สื่อข่าวชอบการให้สัมภาษณ์ เนื่องจากมีบรรยากาศและมีสีสัน แม้บางครั้งจะมีอารมณ์บ้าง แต่ไม่เคยมีใครถือสาท่าน ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนสามารถเข้าถึงได้ไม่ยาก แม้กระทั่งที่บ้านพัก บางวันไม่มีข่าวพาดหัว ก็สามารถนัดหมายกันหลายๆ ฉบับ เพื่อขอเข้าพบพูดคุยที่บ้านพักภายในซอยสวนพลูได้เสมอๆ

แต่ทั้งหลายทั้งปวงย่อมต้องตรวจสอบด้วยว่าท่านนายกรัฐมนตรี (คนที่ 13) อยู่ในอารมณ์อะไร? เพราะท่านเป็นคนเจ้าอารมณ์ เป็นศิลปิน แต่อุดมไปด้วยความเมตตา เป็นครูบาอาจารย์ และคลังความรู้

อยากสอดแทรกเรื่องราวอันเป็นเกร็ดความรู้ความเข้าใจของ “การเมืองไทย” ซึ่งเป็นวังวนสับสนไม่เคยก้าวพ้นความขัดแย้ง การ “ยึดอำนาจ-ปฏิวัติ-รัฐประหาร” และบริหารประเทศด้วยเผด็จการทั้งๆ ที่ประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตย อาจารย์คึกฤทธิ์มักอธิบายสอนสั่งกับศิษย์ใกล้ชิดเสมอๆ แน่นอนรวมทั้งศิษย์นอกห้องเรียนด้วย

ครั้งนี้จะยกเอาข้อเขียนของอาจารย์ทวี สุรฤทธิกุล (ก๊วยเจ๋ง) เลขานุการส่วนตัวซึ่งอยู่รับใช้ใกล้ชิดท่านมาไม่น้อยกว่า 10 ปี

 

อาจารย์ทวี (ก๊วยเจ๋ง) เขียนไว้ในหนังสือ “100 ปีคึกฤทธิ์” (พ.ศ.2554) ชื่อเรื่อง “บทเรียนชีวิตจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” ท่อนหนึ่ง ว่า “ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า การเมืองไทยไม่มีอะไรลึกซึ้ง เริ่มต้นต้องรู้ว่าอำนาจอยู่ที่ใคร ซึ่งสูงสุดในสังคมไทยก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งกลุ่มคน หรือสถาบันอื่นที่สามารถเกาะกุมสถาบันนี้ไว้ อย่างกองทัพ หรือผู้นำบางคนในบางสมัยที่ “แอบอิง” กันอยู่ ทั้งนี้ พระมหากษัตริย์กับคนไทยมีความผูกพันกันแน่นแฟ้นเป็นอย่างยิ่ง แม้ในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจควรมาจากประชาชน แต่เมื่อคนไทยเทิดทูนพระมหากษัตริย์อยู่เหนือหัว ประชาชนก็ยังมุ่งหวังในพระมหากรุณาธิคุณที่จะมาปกปักรักษาพวกเขานั้นด้วย

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เคยกล่าวถึง “ทางรอด” ของการเมืองไทยไว้ว่า ขึ้นอยู่กับชนชั้นปกครองจะมีความจริงใจต่อชาติและประชาชนแค่ไหน ในส่วนแรกที่ประกอบกันเป็นชาตินั้นก็จะมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลัก—“

 

การสนทนาของผู้สื่อข่าวการเมืองอาวุโสในยามที่พบกัน นอกจากวิจารณ์ผลงานและผู้นำรัฐบาลปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นจะกล่าวถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นายกรัฐมนตรี (คนที่ 16) ในวัยใกล้ 100 ปี ซึ่งท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาลบริหารประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2524-2532 และท่านรู้จักพอ จึงก้าวลงจากตำแหน่งอย่าง “สง่างาม” พร้อมสร้างคุณูปการมากมายแก่บ้านเมือง

(ป๋าเปรม) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 16) ได้ชื่อว่ามือสะอาด รัฐมนตรีในรัฐบาลของท่านส่วนใหญ่ยอมรับกันว่าไม่คอร์รัปชั่น ท่านพูดน้อยมาก สง่างาม สุขุมนุ่มลึก สงบนิ่ง และด้วยความรักความเมตตาจึงมักได้ยินท่านพูดกับผู้สื่อข่าวว่าสั้นๆ ว่า “กลับบ้านเถอะลูก”

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (2460-2546) นายกรัฐมนตรี (คนที่ 15) พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี (คนที่ 19) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี (คนที่ 24) ซึ่งเป็นนายทหารจากกองทัพบก ล้วนแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จกับงานบริหารอำนาจ บริหารประเทศ แต่ท่านเหล่านั้นก็ไม่ถึงกับต้องเจ็บปวดระหกระเหินออกนอกประเทศ เวลาลงจากตำแหน่ง ท่านคงไม่ได้ต้องการอยู่ในอำนาจแบบยาวนาน และไม่ได้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พร้อมจะคืนอำนาจให้กับประชาชนได้เลือกผู้บริหารบ้านเมืองเอง

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยกรัฐมนตรี (คนที่ 29) เป็นนายกรัฐมนตรีที่ให้สัมภาษณ์ดุดันโผงผาง ใส่อารมณ์ฉุนเฉียวมากมาย และดูเหมือนจะพูดทุกเรื่องแบบไม่หยุดจนน่าเป็นห่วงว่าอาจผิดพลาดหลงลืมจนขัดแย้งกันเอง และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ให้สัมภาษณ์แบบสั้นๆ ด้วนๆ แบบเจ้าใหญ่นายโตยังกับเป็นเจ้าของประเทศ สวนผู้สื่อข่าวตลอด ซึ่งเพิ่งจะมาเงียบๆ ตอนมีเรื่อง “แหวนเพชร นาฬิการาคาแพง” นี่แหละ

ลีลาการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี (คนที่ 29) ต้องสอบถามผู้สื่อข่าวสายการเมือง ประจำทำเนียบรัฐบาลปัจจุบันกันเอาเอง เพราะเขาสัมผัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

แต่สำหรับผู้สื่อข่าวสูงวัยยังนึกภาพไม่ออกว่า “นายกรัฐมนตรี” ที่ไม่ได้มาจาก “เลือกตั้ง” ท่านจะอยู่กับ “อำนาจ” นานแค่ไหน วันที่ลงจากตำแหน่งจะเป็นอย่างไร?