ในประเทศ : เช็กชื่อ 47 พรรคใหม่ ใครจะร่วง-รอด “ศึกเลือกตั้ง”

ปี่กลองทางการเมืองเริ่มขยับ กลับมาคึกคักกันอีกครั้ง เห็นได้จากวันแรกของการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดให้กลุ่มการเมืองที่ประสงค์จะจัดตั้งพรรคการเมือง เริ่มดำเนินการทางธุรการตามที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 กำหนดไว้

แค่วันแรกพบว่ามีกลุ่มการเมืองเป็นจำนวนมาก ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ จากหลากหลายแวดวงวิชาชีพ เข้ายื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นจำนวนมาก รวมจำนวนทั้งสิ้น 42 กลุ่ม

ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเกณฑ์ที่ กกต. ตั้งไว้ว่าวันแรกจะมีกลุ่มการเมืองอย่างน้อย 10 กลุ่มเข้ามายื่นขอจองชื่อพรรค

 

สําหรับรายชื่อพรรคการเมืองที่เข้ามาจองชื่อพรรคกับทาง กกต. แล้ว เบื้องต้น

ประกอบด้วย

1.พรรคพลังชาติไทย 2.พรรคประชาไทย 3.พรรคพลังประชารัฐ 4.พรรคประชาชนปฏิรูป 5.พรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน 6.พรรคประชาชาติ 7.พรรคชาวนาไทย 8.พรรคพัฒนาไทย 9.พรรคเครือข่ายประชาชนไทย 10.พรรคเศรษฐกิจใหม่

11.พรรคพลังพลเมืองไทย 12.พรรคพลังธรรมใหม่ 13.พรรคไทยเอกภาพ 14.พรรคประชาภิวัฒน์ 15.พรรคสหประชาไทย 16.พรรคทางเลือกใหม่ 17.พรรคชาติพันธุ์ไทย 18.พรรครักษ์แผ่นดินไทย 19.พรรคแผ่นดินธรรม 20.พรรคเพื่อชาติไทย

21.พรรคกรีน 22. พรรคประชานิยม 23.พรรคพลังสยาม 24.พรรคสยามธิปัตย์ 25.พรรคของประชาชน 26.พรรคพลังอีสาน 27.พรรครวมใจไทย 28.พรรคไทยศรีวิไลย์ 29.พรรคประชามติ 30.พรรคพลังไทยยุคใหม่

31.พรรคไทยรุ่งเรือง 32.พรรคเพื่อสตรีไทย 33.พรรครากแก้วไทย 34.พรรคน้ำใจไทย 35.พรรคไทยเสรีประชาธิปไตย 36.พรรคฅนสร้างชาติ 37.พรรครวมไทยใหม่ 38.พรรคสามัญชน 39.พรรคสยามไทยแลนด์ 40.พรรคปฏิรูปประเทศไทย

41.พรรคเห็นแก่ตัว 42.พรรคภาคีเครือข่ายไทย 43.พรรคพลังปวงชนไทย 44.พรรคพัฒนาประเทศไทย 45. พรรคไทยธรรม 46.พรรคพลังแรงงานไทย และ 47.พรรคพัฒนาแผ่นดิน

 

กระบวนการหลังจากนี้สำนักงาน กกต. จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและคุณสมบัติของผู้แจ้งเตรียมการจัดตั้งและผู้ร่วมก่อตั้งว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่ง กกต. จะนำรายชื่อของผู้แจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคไปตรวจสอบลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกพรรค ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กรมราชทัณฑ์ สำนักงาน ก.พ. ศาลยุติธรรม สำนักงานเลขาวุฒิสภา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ

ขั้นตอนนี้ แม้กฎหมายจะไม่ได้ระบุระยะเวลาว่า กกต. ต้องดำเนินการตรวจสอบให้เสร็จภายในเมื่อใด

แต่ กกต. ตั้งใจจะดำเนินการตรวจสอบให้เสร็จภายใน 30 วัน ก่อนจะออกหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อให้กลุ่มการเมืองไปดำเนินการหาผู้ร่วมจัดตั้งไม่น้อยกว่า 500 คน จัดประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 250 คน รวบรวมเงินทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่ได้รับหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง

ส่วนขั้นตอนหลังได้รับใบหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองแล้ว พรรคการเมืองใหม่จะต้องได้รับการอนุญาตจาก คสช. เสียก่อน โดยกลุ่มการเมืองสามารถยื่นคำร้องผ่านสำนักงาน กกต.

โดยในใบที่ยื่นขออนุญาตนั้นจะต้องระบุประเภทกิจกรรม ห้วงเวลา สถานที่ จำนวนผู้เข้าร่วมโดยประมาณผู้รับผิดชอบจัดกิจกรรมในแต่ละครั้งด้วย

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการกระทำขัดต่อคำสั่ง คสช. ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน หรือการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง

 

หากไล่เรียงดูแนวคิดและนโยบายของแต่ละพรรคที่เข้ามาขอจองชื่อกับ กกต. ส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายๆ กันคือ ต้องการเข้ามาช่วยปฏิรูปการเมือง ต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยก แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ ปราบปรามคอร์รัปชั่น

ขณะเดียวกัน แต่ละพรรคก็ต่างมีความมั่นอกมั่นใจว่าพรรคการเมืองของตัวเองนั้นจะเป็นพรรคทางเลือกใหม่ของประชาชนและจะได้รับการตอบรับ จนได้เก้าอี้ ส.ส. เข้าไปทำหน้าที่ในสภา

ส่วนแคนดิเดตรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรี หรือ “สร.1” นั้น แต่ละพรรคยืนยันว่าจะส่งคนที่พรรคคัดเลือกลงเป็นแคนดิเดต 3 รายชื่อแน่นอน

ส่วนท่าทีของแต่ละพรรคที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้นยังมีด้วยกันหลายแนวทาง

บางกลุ่มก็สนับสนุนอย่างเต็มที่

ขณะที่บางกลุ่มยังสงวนท่าที ไว้รอดูผลการเลือกตั้งที่จะออกมา ก่อนตัดสินใจยกมือโหวตให้ผู้ใดนั่งเก้าอี้ “สร.1”

 

ขณะที่ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ข้อคิดกับกลุ่มบุคคลหน้าใหม่ที่ตัดสินใจจะเข้าสู่สนามการเมืองว่า สำหรับพรรคการเมืองพรรคเล็ก หรือพรรคที่ตั้งใหม่ ที่คิดว่าตั้งพรรค อยากจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อสัก 25 เก้าอี้ เพื่อสามารถเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีของตนเองเพื่อแข่งขัน โดยไม่หวังว่าจะชนะในเขตเลือกตั้งใดเลย ก็ต้องได้คะแนนรวมจากผู้สมัครทั้งประเทศประมาณ 1.75 ล้านคะแนน

คะแนนจะได้ต่อเมื่อส่งผู้สมัครลงสู้ในเขตต่างๆ ให้มากเขตที่สุด เพราะเลือกตั้งครั้งนี้ใช้บัตรใบเดียว ไม่ลงเขตก็ไม่มีคะแนนบัญชีรายชื่อ หากลงทุกเขต เอา 1.75 ล้านหาร 350 เขต จะได้ 5,000 คะแนน

แปลว่า ทุกเขตต้องได้อย่างน้อย 5,000 คะแนน

กกต.สมชัย ยังยกตัวอย่างด้วยว่า เมื่อลองคำนวณค่าใช้จ่ายของพรรคเล็ก เพื่อให้ได้คะแนนทั้งประเทศสัก 1.75 ล้านคะแนน จะแบ่งเป็นค่าสมัคร เขตละ 10,000 บาท รวม 350 เขต ก็ 3.5 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายหาเสียง พรรคใหญ่อาจจะใช้เขตละ 1.5 ล้านบาท พรรคเล็กใช้แบบประหยัดหน่อยก็เขตละ 100,000 บาท รวม 350 เขต ก็ 35 ล้านบาท

รวมกับจิปาถะต่างๆ ค่าใช้จ่ายตัวเลขกลมๆ น่าจะอยู่ที่ 40-50 ล้านบาทต่อพรรค

ซึ่งยังไม่เป็นหลักประกันว่าจะได้ 5,000 คะแนนต่อเขตหรือไม่ในวันกาบัตรจริง

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่ากลุ่มการเมืองที่เข้ามายื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ท้ายที่สุดจะได้รับหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง ได้ไปสู้ต่อในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นกี่พรรค

ส่วนพรรคไหน กลุ่มใด จะฝ่าด่านอรหันต์จากสนามเลือกตั้ง ส่งผู้แทนเข้าสภาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ คงต้องรอลุ้น