โฟกัสพระเครื่อง/พระสมเด็จมฤคทายวัน หลวงปู่นาค วัดหัวหิน เจ้าพิธีในพระราชดำริ ร.7

หลวงปู่นาค ปุญญนาโค

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

พระสมเด็จมฤคทายวัน

หลวงปู่นาค วัดหัวหิน

เจ้าพิธีในพระราชดำริ ร.7

“พระครูวิริยาธิการี” หรือ “หลวงปู่นาค ปุญญนาโค” วัดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อดีตพระเกจิอาจารย์สำคัญรูปหนึ่งของประจวบคีรีขันธ์
เป็นที่เคารพนับถือของชาวหัวหิน ตลอดทั้งพุทธศาสนิกชนทุกระดับ
เมื่อครั้งยังมีชีวิต สร้างวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม อาทิ เหรียญ ล็อกเกต ขี้ผึ้ง ตะกรุดสามกษัตริย์ ผ้าประเจียดสีแดง ฯลฯ
แต่ที่เป็นสุดยอดปรารถนานอกจากเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก
ได้แก่ “พระสมเด็จวัดมฤคทายวัน”

วัดมฤคทายวัน อยู่ติดกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อเป็นที่ประทับในฤดูร้อน
และเมื่อพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานมายังพระราชนิเวศน์ฯ ก็มักทรงสดับพระธรรมเทศนาและสนทนาธรรมกับพระภิกษุผู้มีศีลาจารวัตรงดงาม
รวมถึง หลวงปู่นาค ปุญญนาโค เจ้าอาวาสวัดมฤคทายวันในสมัยนั้น ซึ่งภายหลังได้ย้ายมาครองวัดหัวหิน
พระสมเด็จวัดมฤคทายวัน สร้างในราวปี พ.ศ.2462 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้หลวงปู่นาคเป็นเจ้าพิธีในการสร้าง เพื่อพระราชทานให้กับข้าราชบริพารและชาวบ้าน ในโอกาสเสด็จประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤทายวัน และทรงกำหนดให้วัดมฤคทายวันเป็นเขตอภัยทาน
พระสมเด็จวัดมฤคทายวัน เป็นพระเนื้อผงทรงสี่เหลี่ยม คล้ายพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ปรกโพธิ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เนื้อหามวลสาร ประกอบด้วย ปูนเปลือกหอยเป็นมวลสารหลัก
ที่สำคัญคือ ผงตรีนิสิงเห อันเป็นผงวิเศษหลักในการสร้างพระสมเด็จมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) จนถึงท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
จัดสร้างด้วยกันกว่า 20 พิมพ์ อาทิ พิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์, พิมพ์สมเด็จ 3 ชั้น, 7 ชั้น, พิมพ์นางกวัก และพิมพ์ชินราช เป็นต้น
ทุกพิมพ์จะมีเอกลักษณ์เฉพาะ
พระสมเด็จวัดมฤคทายวัน พิมพ์ปรกโพธิ์ ลักษณะแม่พิมพ์ด้านหน้า องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิอยู่เหนืออาสนะ ด้านหลังองค์พระประธานเป็นโพธิ์บัลลังก์ ภายในซุ้มเรือนแก้ว
ส่วนแม่พิมพ์ด้านหลัง เป็นยันต์ตรีนิสิงเห
เป็นพระพิมพ์ที่มีความงดงามและเป็นมิ่งมงคลแก่ผู้ครอบครองยิ่ง

พระสมเด็จวัดมฤคทายวัน

หลวงปู่นาค เกิดในสกุลพ่วงไป เมื่อปี พ.ศ.2400 เป็นบุตรของนายพ่วงและนางสุ่ม บ้านเดิมอยู่ที่บ้านลัดโพ อ.คลองกระแซง จ.เพชรบุรี หัดเรียนเขียนอ่านอักขระสมัยที่วัดลัดโพ กับพระอธิการเมืองอยู่ 1 ปี ก่อนย้ายไปอยู่กับพระอธิการสุก วัดหลังป้อม เรียนทางพระปริยัติธรรมและบาลีธรรมอยู่หลายปี จนอายุย่าง 19 ปี บรรพชา
กระทั่งอายุ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดหลังป้อม
เริ่มศึกษาวิปัสสนาธุระและรับการถ่ายทอดพุทธาคมจากหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิชาอาคมจากหลวงพ่อเอี่ยม วัดลัดด่าน และหลวงพ่อภู่ วัดบางกะพ้อม จนมีเกียรติคุณเลื่องลือด้านวิทยาคม
พ.ศ.2464 ลาสิกขาออกมาช่วยครอบครัว และแต่งงานกับนางแจ่ม มีบุตร 1 คน ก่อนที่จะเลิกร้างกันไป และเกิดความเบื่อหน่ายทางโลก ตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้งที่วัดโตนดหลวง จ.เพชรบุรี จำพรรษาอยู่ระยะหนึ่ง
ก่อนมาสร้างวัดวังก์พง ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวบ้านหัวหินได้พร้อมใจกันสร้างวัดอัมพาราม ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดหัวหินŽ
ขุนศรีเสละคาม (พลอย กระแสสินธุ์) กำนันโต และผู้ใหญ่กล่ำ เป็นตัวแทนชาวบ้านไปอาราธนามาเป็นเจ้าอาวาส เพราะเป็นที่เคารพเลื่อมใสของคนในท้องถิ่นนั้น
นับแต่นั้นมา พัฒนาวัดหัวหินจนกระทั่งมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมวัดอื่นๆ มีความมั่นคงสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันว่า หลวงปู่นาคเป็นพระเกจิอาจารย์เรืองอาคมอุดมด้วยบุญฤทธิ์และอิทธิฤทธิ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชศรัทธาเป็นพิเศษ พระองค์ทรงนับถือเสมอด้วยศิษย์กับครู
ทุกครั้งที่เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี จะทรงมานมัสการเสมอ
พร้อมทั้งทรงมีพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าได้ตลอดเวลา แม้ในยามราตรี

มีผู้บันทึกนิสัย ปฏิปทา และศีลวัตรของท่านไว้ว่า เป็นผู้มีอัธยาศัยรักสงบ เยือกเย็นและสุขุม ประกอบด้วยความเมตตากรุณา มีเมตตาธรรมแก่คนทั่วไปโดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ เป็นพระที่พูดน้อย เวลาจะตักเตือนหรือสั่งสอนใคร มักใช้คำพูดสั้นๆ ไม่เยิ่นเย้อ แต่เป็นคำที่เฉียบคม แฝงด้วยความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก
เป็นพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่ง ซึ่งสร้างพระเครื่องได้เข้มขลัง เนื่องจากสืบสายพุทธาคมมาจากเกจิทรงวิทยาคมหลายท่าน วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังของท่าน ล้วนได้รับความนิยม
นอกจากท่านจะมีศีลาจารวัตรงดงามแล้ว ท่านยังเป็นพระเกจิที่เชี่ยวชาญในวิทยาอาคมเข้มขลังเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และใกล้เคียง
ในช่วงบั้นปลายชีวิต เริ่มอาพาธด้วยโรคบวมตามข้อ ตั้งแต่ พ.ศ.2475 รักษาตัวเรื่อยมา อาการไม่หายขาด เพียงทุเลาเป็นครั้งคราว ก่อนมรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2477 สิริอายุ 77 ปี พรรษา 42
พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2478