กมล ทัศนาญชลี “ศิลปินแห่งชาติ” ก้าวสู่ปีที่ 72 แต่ไฟในหัวใจยังไม่เคยมอดดับ?

กมล ทัศนาญชลี “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม+สื่อผสม) ในวันสูงวัย–ก้าวสู่ปีที่ 72 แต่ไฟในหัวใจยังไม่เคยมอดดับ?

thumbnail_img_1092

เขียนถึง กมล ทัศนาญชลี “ศิลปินแห่งชาติ” ซึ่งผู้คนในแวดวงศิลปะ ศิลปินรู้จักเขาในนาม “ศิลปินสองซีกโลก” บ่อยๆ จนแทบนับครั้งไม่ถ้วน

แต่เรื่องราวความเป็นไป ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ศิลปินสูงวัยท่านนี้ได้สร้างสรรค์ขึ้นนั้นมากเกินกว่าที่จะนำมากล่าวถึงได้หมด

ถึงวันนี้ วันที่ตัวเลขอายุเดินทางมาจนครบ 6 รอบ 72 ปี เขายังไม่มีความรู้สึกว่าจะเหน็ดเหนื่อย และมีทีท่าว่าจะหยุดพักผ่อน เนื่องจากได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับศิลปะ และวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศนี้ตามที่ได้เคยพูดจากัน

รวมทั้งได้เคยแสดงความรู้สึกอันแท้จริงนี้ในสูจิบัตรการแสดงผลงานศิลปะทุกครั้ง รวมทั้งในวงสนทนา และการให้สัมภาษณ์สื่อทุกครั้งเมื่อมีโอกาส

โดยทั่วไปสำหรับคนสูงอายุขนาดนี้อาจหยุดทำงานหนักเพื่อพักผ่อน ขณะเดียวกันสังขารร่างกายอาจร่วงโรยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ไม่ได้ดูแลตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง ย่อมไม่เหมือนศิลปินสองซีกโลกท่านนี้ซึ่งเป็นคนแน่วแน่มั่นคงมีเป้าหมายยาวไกลในชีวิต เสียสละเพื่อส่วนรวม และวงการศิลปะ ขณะเดียวกันเป็นคนที่ไม่เคยข้องแวะกับสิ่งเสพติด เหล้ายาปลาปิ้งดั่งเช่นศิลปินในอดีตส่วนใหญ่ชอบพอ

กมล ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ รักษาสุขภาพด้วยการควบคุมดูแลเรื่องอาหารการกิน ใช้ชีวิตอย่างสมถะ กินเพื่อให้มีชีวิตอยู่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขทั้งหลายทั้งปวง มีความสุขกับการสร้างงานศิลปะ สนับสนุนส่งเสริมการเรียนการสอนศิลปะของประเทศ เป็นผู้ที่มีจิตอาสาชนิดไม่เคยปฏิเสธใคร หน่วยงานไหนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เขามอบชีวิตจิตใจให้ คือ “การสร้างงานศิลปะ”

ครั้งนี้ตั้งใจว่าจะเขียนถึงเขาให้น้อยที่สุดเนื่องจากต้องการใช้พื้นที่ตีพิมพ์ผลงาน ประติมากรรม ซึ่งเขาได้ตระเวนสร้างไว้ในหลายจังหวัด จนน่าจะเรียกได้ว่าทั่วทุกภาคของประเทศ จำนวนมากในช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีหลังจากได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” เมื่อปี พ.ศ.2540 ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดซึ่งมีการเรียนการสอนวิชาศิลปะเพราะจะให้ความสนใจ เข้าใจกับศิลปะร่วมสมัยมากกว่าสถาบัน หรือสถานที่อื่นๆ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นส่วนใหญ่

เขียนถึงเพื่อนเก่าๆ ไปค่อนข้างเยอะพอสมควร โดยเก็บเอามาจากความจำแห่งหนหลังมากกว่าจะไปค้นหาในแหล่งข้อมูลอื่น ซึ่งมีความรู้สึกว่าไม่ค่อยจะได้บรรยากาศสักเท่าไร เพื่อนในแวดวงสื่อหนังสือพิมพ์ก็รำลึกนึกถึงจนนำเสนอไปหลายครั้งหลายหนแล้วเช่นเดียวกัน

ทุกครั้งที่นั่งรถผ่าน หรือกระทั่งมีรถยนต์ส่วนตัวขับเองผ่านหน้า “โรงเรียนเพาะช่าง” ซึ่งเปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง ไปแล้ว ได้เห็น “พระวิษณุกรรม 2 องค์” ที่ยังตั้งอยู่หน้าตึกเก่าของโรงเรียนไม่เปลี่ยนแปลง ก็ยกมือไหว้ด้วยความเคารพเหมือนดังเคยได้ปฏิบัติทุกครั้งระหว่างเดินเข้าออกสมัยที่เป็นเด็กบ้านนอกไม่รู้เรื่องรู้ราวเข้าไปอาศัยใบบุญเรียนหนังสือยังโรงเรียนนี้จนเป็นผู้เป็นคนเติบโตมากระทั่งปัจจุบัน และก็ไม่เคยลืมบุญคุณครูบาอาจารย์ทุกท่านตลอดจนศิษย์เก่าทั้งหลายทั้งปวงซึ่งยกย่องเชิดชูให้เป็น “ศิษย์เก่าดีเด่น” ของโรงเรียนกับเขาด้วยคนหนึ่ง

เดินสวนทางกับ “กมล ทัศนาญชลี” ในฐานะรุ่นพี่ 1 ปีเพราะเขาเป็นเด็กกรุงเทพฯ ถึงแม้จะอยู่ในสวนฝั่งธนบุรี ก็ไม่ได้ไกลปืนเที่ยง การเข้าเรียนหนังสือในระดับเริ่มต้นจึงเร็วกว่า เนื่องจากเด็กบ้านนอกครูอาจารย์ทั้งหลายท่านต้องไปเกณฑ์มาเรียน

นอกจากนั้น เขาก็ยังมีเลือดเนื้อเชื้อไขสืบสายเลือดมาจากรุ่นคุณปู่ คุณตาที่โยงกันไม่ไกลกับศิลปินผู้มีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง “ครูเหม เวชกร” ด้วย

กมล เป็นคนมีบุคลิกเงียบขรึม ใบหน้านิ่งเรียบเฉยจริงจังปราศจากรอยยิ้ม จนดูผ่านๆ ขณะที่ยังไม่ได้คบค้าสมาคมด้วยก็รู้สึกว่าน่าเกรงขามเสียมากกว่า

แต่เมื่อได้รู้จักมากขึ้นจึงเข้าใจได้ว่าเขาเป็นคนมีนิสัยใจคอที่ตรงกันข้ามกับหน้าตาอย่างสิ้นเชิง

เป็นคนจริงทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจในเรื่องการเรียนจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในเวลาต่อมาเขาจะได้เป็นตัวแทนนักเรียนในหลายๆ เรื่อง เป็นที่รักใคร่ของอาจารย์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นที่ไว้วางใจให้ทำงานส่วนรวมเสมอๆ โดยเฉพาะเรื่องการแสดงนิทรรศการศิลปะสำคัญๆ ของโรงเรียนเพาะช่าง

นึกถึงภาพนักเรียนผิวคล้ำตัวดำๆ แต่งเครื่องแบบนักเรียนสมัยโน้นด้วยกางเกงขายาวสีน้ำเงิน เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาวจนติดตา เดินเร็ว บนบ่าสะพายกระเป๋าบรรจุเครื่องมือในการเขียนรูป มือขวาถือกระดานสเก๊ตช์ (Sketch) มีกระดาษสำหรับเขียนรูปหนีบติดมาเป็นปึกพร้อมจะเขียนรูปได้ตลอดเวลา ทุกสถานที่ ทุกๆ วัน

เมื่อเริ่มเติบโตกันขึ้นทุกคนพยายามเดินตามความฝัน อยากเป็นคนวาดรูปเก่งๆ ยังคิดไปไม่ถึงคำว่า “ศิลปิน” เพียงแต่ต้องการหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ไม่ก็ส่งตัวเองให้ได้เรียนหนังสือจนจบในการเรียนศิลปะชั้นสูงๆ ตามที่ปรารถนา

ไม่แปลกที่เราจะพบผลงานของกมลจำนวนไม่น้อยอย่างต่อเนื่องตามระเบียงภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางกะปิ แกลเลอรี่ ปากซอยสุขุมวิท 21 (ซอยอโศก) เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษ เป็นงานเพ้นต์ (Paint) ทั้งสีน้ำ และสีน้ำมันในเรื่องราวชีวิตในสวนฝั่งธนบุรี และเรือประมง ทะเล ซึ่งซึมซับมาจากอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ที่นักเรียนศิลปะได้เดินทางไปใช้เขียนภาพทะเล (Sea Scape)

เราแยกย้ายกันไปตามความฝันคนที่กำลังพยายามเก็บรายละเอียดจากความหลังอันยาวนานมีวาสนาได้เงอะงะเข้าไปเรียนในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ส่วนกมลเรียนจบจากโรงเรียนเพาะช่างเต็มหลักสูตร 5 ปีแล้วก็ไปเรียนต่อยังมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) พร้อมทั้งการทำงานศิลปะอย่างหนัก พร้อมทั้งเปิดแสดงแบบแสดงเดี่ยวที่เรียกว่า Solo Exhibition

รวมทั้งเป็นอาจารย์สอนศิลปะชาวต่างชาติอยู่ถึง 5 ปี

ขณะเดียวกันผลงานของเขาก็ได้รับรางวัลจากการประกวด “ศิลปกรรมแห่งชาติ” ด้วย

ผลจากการทำงานอย่างหนักด้วยความมุ่งมั่นปรากฏว่าผลงานเหล่านั้นไปโดนใจนักสะสมศิลปะซึ่งเป็นสถาปนิกชาวอเมริกัน คือ Mr.William (Bill) Alexander จึงได้เป็นผู้ชักนำให้นำผลงานไปเปิดแสดงยัง “หอศิลป์ในนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา” (Los Angeles U.S.A)

รวมทั้งได้เข้าศึกษาต่อใน “สถาบันศิลปะโอทิส” (Otis Art Institute) จนจบได้รับ M.F.A. อย่างรวดเร็วเพราะพื้นฐานทางศิลปะอันแน่นหนาจากการศึกษาเล่าเรียนในประเทศไทย และทำงานภาพพิมพ์ในลักษณะของเขาเองอย่างทุ่มเท

จนกระทั่งได้รับ Visa ถาวรในฐานะ “ศิลปินผู้มีความสามารถ”

กมล ทัศนาญชลี หายใจเข้าออกเป็นเรื่องศิลปะ ทำงานศิลปะได้ตลอดเวลาในทุกสภาวการณ์ ทุกสถานที่แบบว่าไม่จำเป็นต้องรอให้มีอารมณ์จึงจะลงมือได้ เช่นเดียวกับ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี “ศิลปินแห่งชาติ” ปราชญ์วาดรูปผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งได้จากพวกเราไปครบ 2 ปีแล้ว สามารถสร้างงานศิลปะได้ทุกอารมณ์ ความรู้สึกในเวลาอันรวดเร็วเป็นจำนวนเพียงนาที ท่ามกลางที่ชุมนุมของผู้คนมากมาย

เขาพยายามเชื่อมต่อความร่วมสมัยเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างศิลปินจากอีกซีกโลกหนึ่งกับศิลปินร่วมสมัยของไทย พยายามสร้าง “สภาศิลปกรรมไทยในสหรัฐอเมริกา” ให้เป็นศูนย์กลางสำหรับการแลกเปลี่ยนจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

คิดว่าจะเขียนถึง “ศิลปินสองซีกโลก” – “ศิลปินแห่งชาติ” ท่านนี้เพียงเล็กน้อยเพราะได้เคยนำเสนอเรื่องของเขามาหลายครั้ง

แต่ว่าการทำงานอย่างไม่มีเวลาหยุด ไม่เหน็ดเหนื่อยแม้จะสูงวัยก็ยังแข็งแกร่งทุ่มเททำงานอย่างเสียสละด้วยการเดินทางข้ามทวีประหว่างสหรัฐ-ประเทศไทย อย่างไม่หยุดยั้งเขาจึงมีผลงานให้ได้พูดถึงเขียนถึงจำนวนมาก

ขณะนี้กมลได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาแล้วตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2559 หลังจากเพิ่งจะกลับมาจากการนำ “คณะยุวศิลปินไทย” ที่ได้รับการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่จากทั่วประเทศ พร้อมด้วยคณะสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ไปดูงานยังกรุง Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเป็นการต่อยอดโดยเข้าเยี่ยมชม Van gogh Museum ซึ่งเต็มไปด้วยผลงานของ Vincent Van gogh ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แต่อาภัพของประเทศนั้น

ยังคงมีเรื่องราวอันน่าสนใจอีกมาก จึงต้องหยิบฉวยอีกหลากหลายมุม ของ “ศิลปินแห่งชาติ” ผู้ไม่เคยเหน็ดเหนื่อย มาเสนอต่อไปอีก รวมทั้งผลงานประติมากรรมที่ติดค้างเอาไว้