ในประเทศ/อ่านสัญญาณการเมือง สนช.คว่ำ 7 ว่าที่ กกต. พลิกวิกฤต เป็นโอกาส?

ในประเทศ

อ่านสัญญาณการเมือง

สนช.คว่ำ 7 ว่าที่ กกต.

พลิกวิกฤต เป็นโอกาส?

กลายเป็นประเด็นแทรกซ้อน
ก่อให้เกิดความหวาดระแวงว่า จะส่งผลกระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้งให้ต้องขยับเลื่อนไปไกลกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อีกหรือไม่
หลังที่ประชุม สนช. ลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ผู้ได้รับเสนอชื่อเป็น กกต.ชุดใหม่ ตามที่คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติพิจารณาเสร็จแล้ว ทั้ง 7 คน
เป็นครั้งแรกที่ สนช. โหวตคว่ำผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นกรรมการองค์กรอิสระแบบยกชุด “เซ็ตซีโร่” ตั้งแต่ต้นซอย
ไม่มีใครได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่ง 124 เสียง จาก สนช. ทั้งหมด 248 คน แม้แต่คนเดียว ไม่ว่า 5 คนจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ไม่ว่า 2 คนที่ได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ
สะท้อนจากเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย สอบถามผ่านรองนายกฯ และ รมว.ยุติธรรม ไปยังรัฐบาลไทย ถึงการเลือกตั้ง จะยังยึดโรดแม็ปเดิมหรือไม่
รวมถึงการที่ สนช. ไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต.ชุดใหม่ จะอย่างไรต่อไป
กรณีดังกล่าวยังได้ดึงดูดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองและพรรคการเมือง ด้วยเกรงว่าจะกระทบถึงโรดแม็ปเลือกตั้งท้องถิ่น ไปจนถึงเลือกตั้งระดับชาติ
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามี “ใบสั่ง” ผู้มีอำนาจ เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่

สําหรับเหตุผลที่ สนช. ลงมติคว่ำยกแผง
ข่าวระบุ เนื่องจากในการประชุมลับ สนช. ได้รายงานผลตรวจสอบประวัติ “เชิงลึก” ผู้ได้รับเสนอชื่อทั้ง 7 คน
พบว่า ทุกคนมีเรื่องถูกร้องเรียน บางคนด้วยหน้าที่การงานที่ทำอยู่ เป็นเหตุให้มีเรื่องถูกร้องเรียนทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดีนับร้อยเรื่อง
หรือต่อให้มีคุณสมบัติครบถ้วนก็ยังขาดประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับงานด้านการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นภาระหน้าที่สำคัญของ กกต.ใหม่ตามรัฐธรรมนูญปี 2560
อีกทั้งผู้ได้รับเสนอชื่อทั้ง 7 คน ไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณชน ไม่เคยแสดงฝีมือการทำงานเป็นที่ประจักษ์ สนช. ส่วนมากไม่เชื่อมั่นในฝีไม้ลายมือว่าจะทำหน้าที่ กกต. ได้ดี
รวมถึง 2 คนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา กระบวนการคัดเลือกอาจมีปัญหาว่าชอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ที่กำหนดให้กระบวนการคัดเลือกต้องเป็นไปโดยเปิดเผยหรือไม่
แม้ได้รับการยืนยันจากศาลก่อนหน้านี้ว่า การคัดเลือกดำเนินการถูกต้อง แต่ สนช. ส่วนมากเกรงจะมีคนนำข้อสงสัยนี้ไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความภายหลัง จนเกิดความวุ่นวายตามมา
ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังกล่าว สนช. จึงตัดสินใจลงมติไม่เห็นชอบทั้ง 7 คน เพื่อตัดปัญหา
กรณี 2 ตัวแทนสายศาลยังไม่มีท่าทีชัดเจนจากศาลฎีกา ว่ามีความเห็นเกี่ยวกับข้อสังเกต สนช. อย่างไร และจะทำอย่างไรในการคัดเลือกรอบใหม่
หากเปลี่ยนแปลงรูปแบบคัดเลือกใหม่ให้เป็นไปโดยเปิดเผย ก็ไม่เป็นปัญหา แต่จะเป็นปัญหาทันที หากศาลยืนยันใช้วิธีการเดิม เพราะถือว่าที่ผ่านมาทำถูกต้องแล้ว ก็ต้องดูว่า
ถึงตอนนั้น สนช. จะโหวตอย่างไร

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ชี้แจงหลังการประชุมว่า
จากนี้ต้องดำเนินการสรรหา กกต.ใหม่ทั้ง 7 คน โดยมีกรอบเวลาดำเนินการให้เสร็จใน 90 วัน พร้อมกันนี้ยังให้สัมภาษณ์ยืนยัน 2 เรื่อง
เรื่องแรก ไม่มีสัญญาณจาก คสช. หรือจากใครทั้งสิ้น
เรื่องที่สอง การโหวตคว่ำ 7 ว่าที่ กกต.ชุดใหม่ จะไม่กระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน แกนนำ คสช. และรัฐบาลต่างก็ปฏิเสธ ไม่มี “ใบสั่ง” ให้ สนช. ลงมติไม่เห็นชอบ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ยืนยันทุกอย่าง สนช. ดำเนินการเอง โดยไม่มีใบสั่ง หรือสัญญาณใดๆ จาก คสช.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุ กระบวนการสรรหา กกต. รอบใหม่ คาดว่าจะเสร็จสิ้นเดือนพฤษภาคม จึงไม่เป็นเหตุให้โรดแม็ปเลือกตั้งใหญ่และเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องเลื่อนเวลาออกไป
หรือหากถึงที่สุดแล้วมีอะไรเกิดขึ้น ก็ยังมี 5 กกต.ชุดเดิมรักษาการอยู่
สำหรับกรณีตัวแทนสายศาล 2 คน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เชื่อว่า ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะหาวิธีใหม่ ทำให้ไม่มีข้อสงสัย
ทั้งยังระบุ 2 ตัวแทนสายศาล ที่ สนช. ไม่เห็นชอบ ไม่ถูกห้ามลงสมัครใหม่เหมือนกับ 5 คนที่มาจากคณะกรรมการสรรหา เนื่องจาก สนช. ได้แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.
จากเดิมห้ามลงสมัครใหม่ทั้งผู้มาจากคณะกรรมการสรรหา และผู้มาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แก้ไขเป็นห้ามลงสมัครใหม่เฉพาะผู้มาจากคณะกรรมการสรรหาเท่านั้น
หากกฎกติกาเป็นอย่างที่นายมีชัยระบุ ก็เท่ากับปัญหาคลี่คลายไปได้หนึ่งเปลาะ
ยังคงเหลืออีก 1 เปลาะ ในส่วนของ 5 คนจากคณะกรรมการสรรหา

ท่ามกลางข้อวิจารณ์จากฝ่ายการเมืองว่า
การลงมติคว่ำ 7 ว่าที่ กกต.ใหม่เป็นเรื่องผิดปกติ และมีความเป็นไปได้มากที่จะมีใบสั่ง จุดประสงค์เพื่อยื้อเลือกตั้ง แม้รัฐบาล คสช. ตลอดจน สนช. จะปฏิเสธเรื่องนี้ก็ตาม
แม้มีข้ออ้าง กกต.ชุดปัจจุบันยังรักษาการต่อได้ แต่ในทางปฏิบัติอาจเกิดความลักลั่น เนื่องจากรัฐบาลเพิ่งประกาศเตรียมปลดล็อกการเมือง และให้จัดเลือกตั้งท้องถิ่นเดือนสิงหาคม
ถ้าต้องเริ่มนับหนึ่งกระบวนการสรรหา กกต.ใหม่ จึงมีผลกระทบ
เนื่องจาก กกต.ชุดปัจจุบันถูก “เซ็ตซีโร่” ไปแล้ว หากให้กลับมาทำหน้าที่จัดเลือกตั้ง ก็เสี่ยงต่อการมีผู้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. วิเคราะห์ที่มาการคว่ำ 7 ว่าที่ กกต.ชุดใหม่ มาจาก 3 ปัจจัยหลัก
อย่างแรก การที่กฎหมายใหม่กำหนดให้การสรรหาของคณะกรรมการสรรหา และการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ต้องกระทำโดยเปิดเผย
การกำหนดคุณสมบัติคนมาเป็น กกต. ไว้ดีเลิศเกินจริง ที่เรียกว่า “สเป๊กเทพ” ทำให้คนมีความรู้ความเชี่ยวชาญไม่สามารถผ่านด่านเข้ามาได้
ต้องเฝ้าดูกันต่อไป การกลับไปสู่จุดเริ่มต้นสรรหา กกต.ชุดใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 เดือน จะเกิดผลกระทบต่อการเลือกตั้งไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อม อย่างไรหรือไม่
ถ้านับไป 5 เดือนจากนี้จะตกช่วงเดือนกรกฎาคม ใกล้การเลือกตั้งท้องถิ่น ปัญหาก็คือ ถึงจะได้ กกต.ชุดใหม่ แต่ก็จะยังตั้งหลักทำงานไม่ทัน
หรือหากยังไม่ได้ กกต.ชุดใหม่ แล้วให้ กกต.ชุดเดิมทำหน้าที่ไปก่อน ทั้ง 5 คนก็ต้องคิดหนัก
การเข้าไปรับผิดชอบจัดการเลือกตั้งในฐานะ กกต.รักษาการ อาจทำให้เกิดการยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญตีความตามมา ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้ว
อีกทั้งยังมีเงื่อนปมใหม่ว่า กกต. 5 คนหากเกษียณอายุหรือลาออกไป 2 คน จะเหลือ 3 คน ในจำนวนเท่านี้ไม่สามารถพิจารณาเรื่องสำคัญได้
ซึ่งปัญหาอยู่ไม่ไกล เดือนกรกฎาคมนี้ นายบุญส่ง น้อยโสภณ จะอายุครบ 70 ปี ตามรัฐธรรมนูญต้องพ้นตำแหน่งทันที เว้นแต่มีคำสั่ง คสช. ให้อยู่ต่อ
ส่วนนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ได้ลดระดับลงชิงตำแหน่งเลขาธิการ กกต. ที่เจ้าตัวเปรียบว่าเป็น “เรือเล็ก” ประคอง “เรือใหญ่” หากได้รับเลือกไปทำหน้าที่ใหม่
ก็ต้องลาออกจาก กกต.

เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดหนึ่ง
กกต.ชุดเดิมเกิดอุปสรรคในการทำหน้าที่ ในขณะที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกขณะ
“วิกฤต” จากการที่ สนช. ไม่เห็นชอบ กกต.ชุดใหม่ 7 คน จนต้องกลับไปนับหนึ่งกระบวนการสรรหา ก็จะกลายเป็น “โอกาส”
เป็นโอกาสให้คณะกรรมการสรรหาใช้เป็นคำอธิบาย ต่อการ “ทาบทาม” หรือ “เชื้อเชิญ” บุคคลที่ต้องการให้มาเข้ารับการสรรหา
อันเป็น “อำนาจใหม่” ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกเปิดช่อง เนื่องจากการคัดเลือกรอบที่ผ่านมาได้คนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ และขาดประสบการณ์
ตรงนี้เองอาจเป็นเป้าหมายแท้จริงของผู้อยู่เหนือแม่น้ำทุกสาย ให้คนในเครือข่ายของตน เข้าควบคุมกลไกสำคัญในการจัดการเลือกตั้งที่วางไว้ตามโรดแม็ป
เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ