เศรษฐกิจ/’ศิริ’ เลื่อนถ่านหิน 5 ปี แค่ซื้อเวลาหรือเป็นเกมการเมือง ใบเบิกทางหาเสียง บนความเสี่ยงความมั่นคงด้านพลังงาน

เศรษฐกิจ

 

‘ศิริ’ เลื่อนถ่านหิน 5 ปี

แค่ซื้อเวลาหรือเป็นเกมการเมือง

ใบเบิกทางหาเสียง

บนความเสี่ยงความมั่นคงด้านพลังงาน

 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บทบาทของ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต่อนโยบายการ “สร้าง” หรือ “ไม่สร้าง” โรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคใต้รวม 2,800 เมกะวัตต์ เด่นชัดอย่างมาก
เพราะได้ตัดสินใจลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับผู้ชุมนุมกลุ่มเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่อดอาหารประท้วง เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการก่อสร้าง บริเวณหน้าสำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำประเทศไทย ถนนราชดำเนินนอก
รายละเอียดเอ็มโอยูมีทั้งสิ้น 4 ประเด็น ประกอบด้วย
1. ให้ กฟผ. ถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ออกจากสำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันลงนาม
2. ให้กระทรวงพลังงานจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) เพื่อศึกษาว่าพื้นที่ จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลา มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 9 เดือน โดยนักวิชาการที่เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย หากผลออกมาว่าพื้นที่ไม่เหมาะสมทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ. ต้องยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองพื้นที่
3. หากผลรายงานออกมาว่าเหมาะสมต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในขั้นตอนการทำอีเอชไอเอจะต้องจัดทำโดยคนกลางที่ยอมรับร่วมกัน
และ 4. ให้คดีระหว่างเครือข่ายผู้ชุมนุมกับ กฟผ. เลิกแล้วต่อกัน

รายละเอียดของเอ็มโอยูนั้น ใน 3 ข้อแรก หลายคนให้การยอมรับ เพราะใกล้เคียงกับสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรายนี้ประกาศไว้ก่อนหน้าเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ คือ เลื่อนโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งกระบี่และเทพาออกไปอีก 3 ปีแล้ว เพราะมั่นใจว่าช่วง 5 ปีจากนี้สามารถทำแผนรับมือไว้ได้ โดยเฉพาะแผนการขยายสายส่งจากโรงไฟฟ้าหลักที่มีในพื้นที่ให้กระจายให้ภาคใต้อย่างทั่วถึง และแผนการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลตามที่ประชาชนบางส่วนเรียกร้อง แต่ข้อสุดท้ายถูกคำถามถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย
โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เดิมนายศิริระบุว่า จะใช้เวลาในการศึกษาแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ให้แล้วเสร็จตามนโยบายรัฐบาลที่ให้เซ็ตซีโร่ (เริ่มกระบวนการใหม่) ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ปัจจุบันและศึกษาทางเลือกในพื้นที่อื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย
แต่นโยบายดังกล่าวในมุมของกลุ่มต้าน คือ ความไม่ชัดเจนว่าสรุปแล้วรัฐบาลจะเลิก หรือแค่ซื้อเวลา จึงเป็นที่มาให้ผู้ชุมนุมเดินหน้าต่อ โดยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ปักหลักประท้วงหน้ายูเอ็นซึ่งถือเป็นพื้นที่อ่อนไหวในสังคมโลก ขณะเดียวกัน ยังทำกิจกรรมอดอาหารซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการกดดันรัฐบาล
ทั้งนี้ ภายหลังการเอ็มโอยู นายศิริ ยังแถลงต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ยุติถ่านหิน แต่ช่วง 5 ปีจากนี้จะไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นแน่นอน พร้อมระบุจะเดินหน้าเพิ่มจำนวนและขนาดสายส่งในพื้นที่ รวมทั้งการเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าชีวมวล

โดยประเด็นสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใช่ว่าจะมีแต่กลุ่มต้าน เพราะในพื้นที่เองก็มีกลุ่มหนุน ซึ่งกลุ่มนี้แสดงตัวเป็นคนในพื้นที่ตัวจริงพร้อมระบุมาตลอดว่ากลุ่มต้านคือคนนอกพื้นที่ และเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบภูมิลำเนาของกลุ่มต้านเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง และหลังจากการลงนามเอ็มโอยูของนายศิริกับกลุ่มต้านแล้วเสร็จ ได้ปลุกกลุ่มหนุนให้ลุกฮือเช่นกัน เพราะไม่พอใจที่ไปลงนามกับคนแค่หยิบมือเดียว แถมเป็นคนนอกพื้นที่อีก!
ซึ่ง นายพณวรรธน์ พงศ์ประยูร เครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 66 องค์กร ออกแถลงการณ์ที่ไม่เห็นด้วย 5 ข้อ ประกอบด้วย
1. ไม่เห็นด้วยกับการลงนามโดยใช้อำนาจส่วนตัว ทั้งที่เรื่องดังกล่าวควรเป็นเรื่องใหญ่ต้องเป็นอำนาจระดับคณะรัฐมนตรี
2. จะนำคน 1,000 คน เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลในเร็วๆ นี้ เพื่อแสดงให้เห็นจุดยืนที่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
3. จะยื่นศาลปกครองเพื่อให้ตัดสินใจในเรื่องการเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยไม่ใช้เอ็มโอยูมาชะลอหรือยุติในที่สุด
4. เตรียมถวายฎีกา
5. จะยื่นฟ้องนายศิริ ในความผิด ม.157 ที่ประพฤติโดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ
แกนนำยังระบุว่า เมื่อม็อบที่มานอนหน้าทำเนียบเพียงไม่กี่คนแล้วรัฐยอมทุกอย่าง ดังนั้น ฝ่ายหนุนจะทำบ้าง ที่ผ่านมาคนสนับสนุนก็มีไม่น้อย เหตุใดรัฐไม่ยอมฟังบ้าง การไปลงนามอย่างนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย
หากแกนนำเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดำเนินการตามที่ประกาศจริง ก็เป็นประเด็นที่รัฐต้องรับมือและควรแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
ขณะเดียวกัน ประเด็นที่ว่าใครคือตัวจริงเสียงจริงในพื้นที่ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความชัดเจนกับทุกฝ่ายได้

นอกจากนี้ ต้องติดตามการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพราะภายหลังท่าทีของนายศิริออกมาชัดเจน สหภาพ กฟผ. ได้ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยระบุว่า
“สหภาพในฐานะองค์กรตัวแทนผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. รู้สึกกังวลและแปลกใจในตัวรัฐมนตรีต่อความไม่ชัดเจนของนโยบายพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีตัดสินใจในพื้นฐานความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้า และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะเสียงของประชาชนในพื้นที่ และต้องไม่มีนัยแอบแฝง เปิดช่องให้กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าเอกชน กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติเข้ามาหาประโยชน์ ซึ่งท้ายที่สุดกลายเป็นการตัดสินใจโดยไม่คำนึงผลประโยชน์ประเทศเป็นตัวตั้ง สหภาพขอให้กำลังใจผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ที่จะต้องร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตการณ์ความไม่ชัดเจนในทิศทางการทำงานครั้งนี้ และขอคัดค้านนโยบายที่ไม่ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและประโยชน์โดยรวม สหภาพจะติดตามนโยบายของรัฐมนตรีพลังงานอย่างใกล้ชิด”
เป็นประเด็นแถลงการณ์ที่จงใจกรีดไปที่นายศิริเลยทีเดียว!!!

ล่าสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ สหภาพ กฟผ. ยังชวนพนักงานแต่งดำ เพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับพฤติกรรมของนายศิริอีกด้วย
ซึ่งประเด็นข้อสังเกต ความหวาดระแวงต่างๆ ทั้งฝ่ายหนุน ฝ่ายต้าน สหภาพ กฟผ. และสังคม ที่มีต่อรัฐบาลในเวลานี้ กำลังเป็นเครื่องชี้ชัดถึงการบริหารนโยบายพลังงาน โดยเฉพาะประเด็นถ่านหิน ที่ไร้ประสิทธิภาพหรือไม่
คำถามที่รัฐบาลต้องตอบ คือ เหตุใดจึงปล่อยเวลาล่วงเลย ทำให้ประชาชนในพื้นที่แตกเป็น 2 ฝ่าย เหตุใดจึงไม่เร่งฟันธงตั้งแต่เข้าบริหารว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง แนวคิดกระจายเชื้อเพลิงไปจำเป็นแล้วหรือ ประเด็นค่าไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นจะแพงหรือถูกศึกษาไว้อย่างไร เหตุใดจึงเลือกรัฐมนตรีพลังงานคนปัจจุบันที่ดูโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งจนหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัย และสำคัญที่สุดหากนโยบายรัฐทำให้ภาคใต้ไฟดับใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
หรือศิริก็เป็นแค่หมากตัวหนึ่ง ที่รัฐบาลใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อรักษาคะแนนเสียงทุกฝ่าย เพื่อเป็นฐานบริหารประเทศระยะยาว 5 ปี ตามที่บิ๊กๆ บางท่านวาดฝันไว้…