มนัส สัตยารักษ์ แก้ปัญหายาเสพติด ต้อง ไว้ใจสาธารณสุขและเชื่อมือยุติธรรม

ผิดหวังอย่างแรงกับการยังไม่ประกาศ “ยุติสงครามยาเสพติด” แต่กลายเป็น “วิวาทะ” ของใครต่อใครมั่วไปหมด ทั้งปัจเจกบุคคล องค์กรที่เกี่ยวข้อง และสื่อต่างๆ สารพัดข่าย

มีทั้งที่เชียร์ความคิด “ลดราคายาบ้า” เพื่อสู้กับผู้ผลิตและผู้ค้า ขณะเดียวกันก็มีทั้งผู้ด่าว่าเจ้าของความคิดนี้อย่างหยาบคาย

ส่วนข่าวจากสื่อหลักค่อนข้างสับสนจนเอาแน่ไม่ได้ บางแห่งก็สรุปว่า “บิ๊กต๊อกยันเดินหน้า” แต่บางที่ก็พาดหัวว่า “บิ๊กต๊อกปัดขายยาบ้าราคาถูก”

ส่วนข่าวที่สื่อไม่แย้งกันเลยก็คือข่าว “บิ๊กต๊อก หวด บิ๊กแป๊ะ” ปมยกเลิกสินบนนำจับ (ตามที่ ป.ป.ส. จะมีการประชุมหารือ) ถ้าไม่เห็นด้วยให้มาชี้แจง อย่าไปพูดข้างนอก

ตรงนี้มันเหมือนกับวนกลับไปนับหนึ่งใหม่หรือ “เปลี่ยนเรื่องคุย” เพื่อถ่วงเวลาหรือ delay ปัญหาตามแบบฉบับไทยๆ

ข่าว “บิ๊กต๊อกหวดบิ๊กแป๊ะ” ทำให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เสียรังวัดไม่ใช่น้อย เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวเน็ตบางกลุ่มอย่างยิ่ง แชร์กันในสื่อโซเชียลสนั่นหวั่นไหว จนผมซึ่งกำลังเชียร์ความคิด “ยาบ้าราคาถูก” และเฝ้ารอวันประกาศ “ยุติสงครามยาเสพติด” รู้สึกผิดหวังดังที่กล่าวถึงตั้งแต่บรรทัดแรก

เพราะถ้าเราสามารถยุติสงครามยาเสพติดได้ เรื่องเงินสินบนนำจับก็หมดปัญหาไปด้วยโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะที่ใครจะยกมาพูดถึงหรือประชุมหารือกันในช่วงนาทีนี้ให้ป่วยการ เสียเวลาและเสียอารมณ์ไปเปล่าๆ

เราจะวนกลับไปนับหนึ่งใหม่กันอีกกี่รอบก็ได้แต่ต้องไม่ทิ้งเป้าหมายเดิม นั่นคือ ต้องทำให้ผู้ผลิตและผู้ค้าหมดฤทธิ์เดชเจ้าพ่อ หรือเป็นเจ้าพ่อที่ไม่มีเงินซื้อข้าราชการ ไม่มีเงินเลี้ยงลูกน้องและจ่ายผู้ค้ารายย่อยอีกต่อไป… เราจะไม่มีคนอย่าง เอสโคบา เอล ชาโป และขุนส่าหรือบังรอน อีกต่อไป

ตั้งแต่มี พ.ศ.2502 ยาเสพติดแบบใหม่ในรูปแบบต่างๆ ที่เข้ามาแทนที่ฝิ่นซึ่งถูกคณะปฏิวัติ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ประกาศให้เลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด หลังจากนั้นยาเสพติดก็แพร่หลายไปอย่างกว้างขวงและรวดเร็ว

จากการศึกษาของนักวิชาการทางสังคมวิทยาพบว่า “เหตุผล” 4 ประการที่เยาวชนหรือวัยรุ่นไทยเริ่มใช้ยาเสพติดไม่ได้ลึกลับหรือสลับซับซ้อนแต่อย่างใด… เพื่อนชักชวน มีปัญหากับครอบครัว ความอยากรู้อยากลอง และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

คงทราบกันทั่วไปดีอยู่แล้วว่า กลวิธีหนึ่งในการแพร่ขยายจำนวนผู้เสพหรือลูกค้าของเจ้าพ่อยาเสพติดก็คือ ให้เยาวชน “ลอง” ฟรี เมื่อเกิดอาการ “อยากเสพ” ขึ้นมาแล้ว ก็ให้ขายเพื่อแลกเปลี่ยนกับรางวัลได้มีเสพใหม่ ต่อๆ กันไปแบบแชร์ลูกโซ่

ต่อมาเมื่ออำนาจการผลิตและจำหน่ายยาบ้า (ซึ่งเข้ามาแทนที่สารระเหย) ตกอยู่ในมือของเจ้าพ่อเฮโรอีนคนเดิม พวกเขาย้ายการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน แล้วลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ยาบ้าราคาแพงขึ้นเพื่อคุ้มค่าต่อความเสี่ยงตายและเสี่ยงคุก

ที่สำคัญคือยาบ้าไม่มีสภาพ “ขาดตลาด” ลูกค้าผู้เสพไม่ลดลง ยิ่งปราบเหมือนยิ่งเพิ่ม จนในที่สุดถึงวันนี้ประเมินกันว่าประเทศไทยมีผู้ติดยาเสพติดประมาณ 2 ล้านคน

ในจำนวนผู้เสพ 2 ล้านคนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมได้ราว 2.5 แสนคน คนเสพยาสองแสนห้าหมื่นคนจะถูกควบคุมตัวรวมกับคนจำหน่ายและผู้ผลิตเพียงไม่กี่คน แต่เกิดการ “เรียนรู้” ขึ้น… รู้จักแหล่ง รู้จักผู้ค้า กลายเป็นการสร้างเครือข่ายขายยาเพิ่มขึ้นอีก

ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้อาชญากรรมในสาขาอื่นจากนักโทษคดีต่างๆ อีกกว่าหนึ่งหมื่นคนอีกด้วย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เคยรายงานจากการศึกษาและสำรวจของมหาวิทยาลัยลอนดอนเมื่อปีที่แล้วว่า นักโทษไทยมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐและจีนติดอับ 1 และ 2 (ทำนองเดียวกับอันดับเหรียญโอลิมปิก)

ยกตัวเลขมาปัดเศษและอ้างสถิติ เพื่อเน้นให้เห็นภาพกันชัดเจน ขึ้นว่า เรากำลังเผชิญกับปัญหา “คดีล้นศาล นักโทษล้นคุก” ในขั้นวิกฤตมานานแล้ว

เมื่อข่าว “ยาบ้าราคาเม็ดละ 50 สตางค์” แพร่ออกไป สื่อหลักส่วนใหญ่เสนอเป็น “ข่าวสาร” ต่อสาธารณะอย่างข่าวสารที่น่าสนใจทั่วไป แต่สื่อโซเชียลที่ไม่เห็นด้วยปากไว ตำหนิ ถากถาง กระแหนะกระแหนและเยาะหยันผู้เสนอความคิด

กับคนที่สนับสนุน “ยาบ้าราคาถูก” ถูกคอมเมนต์ด้วยความโกรธและด่าทอด้วยภาษาหยาบคาย ถึงกับขึ้นมึงขึ้นกูทีเดียว

ทั้งที่ผู้สนับสนุนเป็นบุคคลมีเครดิตและมีประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหายาเสพติดโดยตรง เท่าที่ผมอ่านพบในเฟซบุ๊ก เช่น

นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.องค์การเภสัชกรรม ท่านให้ความเห็นว่า “การจำหน่ายยาบ้าในราคาเม็ดละ 50 สตางค์ จะช่วยทำลายตลาดค้ายาด้วยกลไกด้านราคาที่ถูกกว่า เพื่อลดแรงจูงใจผู้ค้าและผู้ผลิต…”

นายวันชัย รุจนวงศ์ (อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ) ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียน ว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก โพสต์ในเฟซบุ๊กสนับสนุนแนวคิดของ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ในการปรับเปลี่ยนแนวคิดปราบปรามยาบ้า หลังใช้วิธีปราบรุนแรงแบบสหรัฐกว่า 30 ปี แต่ยาบ้ายิ่งระบาดหนัก… รวมทั้งองค์การเภสัชกรรมควรผลิตแล้วแจกโดยแพทย์ให้ผู้สมัครใจบำบัด เพื่อให้ยาบ้าในตลาดลดลง ใช้ของรัฐดีกว่า ปลอดภัยกว่า…

ในยุโรปใช้มาตรการทางสังคมและสุขภาพมากกว่ากฎหมาย ทำให้ยาบ้าไม่ระบาดมากเท่าไทยและไม่มีคนล้นคุก ยาบ้าเป็นยากระตุ้นไม่ใช่ยาเสพติดแบบเฮโรอีนหรือโคเคน”

ผมเชื่อว่าประชาชนด่าว่าความคิดนี้เป็นเพราะพวกเขายังไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดว่ารัฐต้องการ “แย่งลูกค้า” จากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายยาเสพติดเพียงสถานเดียว

ทำให้นึกถึงบทความของ อาจารย์พิศิษฐ์ วิริยกุล ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านชีวิตใหม่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เรื่อง “ยาเสพติด…ไม่สามารถแก้ได้ หากใช้เพียงบทลงโทษตามกฎหมาย” ซึ่งได้สรุปตอนท้ายว่า

“การผลักยาบ้าออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 1 และผลิตยาขายแข่งกับตลาดมืด ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์หนึ่ง คือ ยุทธศาสตร์ Demand Supply ลดกระแสความต้องการใช้ยาบ้าลง ลดราคาให้การจำหน่ายไม่คุ้มทุน

แม้จะยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าปัญหายาเสพติดจะลดลงในระยะเวลากี่ปี แต่ก็เป็นไฟต์บังคับ ไม่มีทางเลือกมากกว่านี้แล้ว”