จังหวัดปัตตานีจัดประกวด “สุดยอดผ้างามเมืองชายแดนใต้ จังหวัดปัตตานี ประจำปี 2567” ผู้ว่าฯ พาตีเมาะ เผยมุ่งมั่นสร้างการมีส่วนร่วมให้พี่น้องชาวปัตตานีสวมใส่ผ้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น

จังหวัดปัตตานีจัดประกวด “สุดยอดผ้างามเมืองชายแดนใต้ จังหวัดปัตตานี ประจำปี 2567” ผู้ว่าฯ พาตีเมาะ เผยมุ่งมั่นสร้างการมีส่วนร่วมให้พี่น้องชาวปัตตานีสวมใส่ผ้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับผ้าไทยก้าวไกลสู่สากล

วันนี้ (10 พ.ค. 67) นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี/ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า จังหวัดปัตตานีได้ดำเนินการ “จัดประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดปัตตานี” ร่วมกับชมรมแม่บ้านมหาดไทย และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดปัตตานี เครือข่าย OTOP จังหวัดปัตตานี และคณะกรรมการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดเพื่อเฟ้นหาสุดยอดผ้าที่งดงามที่สุดของจังหวัดปัตตานี ณ ห้องประชุมหาดตะโละกาโปร์ อาคาร 3 ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี โดยการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา รวมทั้งเป็นการผลักดันมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตลอดจนเพื่อค้นหาสุดยอดผ้าจังหวัดให้ได้ผืนผ้าที่เป็นที่สุดของจังหวัดปัตตานี ซึ่งผืนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของจังหวัด จะนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2567

นางพาตีเมาะฯ กล่าวต่อว่า กิจกรรม “การประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดปัตตานี ประจำปี 2567” ในวันนี้ มีผู้ที่สนใจส่งผลงานผ้าเข้าร่วมประกวดฯ ทั้งสิ้น จำนวน 49 ผลงาน และมีคณะกรรมการนำโดย ตนในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีและ ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดปัตตานี นายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดปัตตานี และ คณะกรรมการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัด ประจำปี 2567 ประกอบด้วย พัฒนาการจังหวัดปัตตานี วัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี อุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนผู้รับผิดชอบงานผ้าไทย จะได้ร่วมกันพิจารณาตัดสินผลงานผ้าที่ส่งเข้าร่วมประกวดฯ เพื่อให้ได้ผืนผ้าที่เป็นสุดยอดของจังหวัดปัตตานี จำนวน 6 ผลงาน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุวัตถุประสงค์ ด้วยความโปร่งใสและมีความเป็นกลางมากที่สุด

สำหรับการจัดประกวดผ้าไทยจังหวัดปัตตานี ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำคัญ สำหรับพิจารณาคัดเลือก “สุดยอดผ้างามเมืองชายแดนใต้” ดังนี้ ประการแรก ต้องเป็นผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดปัตตานี และต้องเป็นผ้าทอมือ หรือทำจากมือ (กรณีผ้าบาติก ผ้าพิมพ์ลาย ผ้ามัดย้อม ผ้าปัก ต้องเป็นผ้าที่ทำจากมือ หรือ Hand made) และควรเป็นสีธรรมชาติ โดยเป็นผืนผ้าที่ทอไว้เดิมแล้วหรือเป็นผ้าที่ทอขึ้นใหม่ก็ได้ ประการที่สอง เส้นใยที่ใช้ทอหรือผลิตผ้า ในกรณีเป็นประเภทผ้าบาติก ผ้าพิมพ์ลาย ผ้ามัดย้อม ต้องเป็นเส้นใยฝ้ายหรือเส้นใยไหมที่เป็นเส้นใยแท้ ต้องไม่ใช่เส้นใยประดิษฐ์หรือเส้นใยผสม สามารถนำผ้าทอจากจังหวัดอื่นมาใช้ได้ แต่ต้องไม่ใช่ผ้านำเข้าจากต่างประเทศ ประการที่สาม มีการจัดทำเรื่องราวผลิตภัณฑ์ผ้าที่น่าสนใจ โดยผลงานผ้านั้นจะต้องออกแบบลวดลายผ้าโดยการนำลายผ้าพระราชทานมาผสมผสานกับลวดลายอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่สื่อถึงจังหวัดปัตตานี สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดปัตตานี ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการผ้าไทย อนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน รวมทั้งเพื่อจะได้ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย/ผ้าพื้นถิ่น เพื่อเป็นการเชิดชูอัตลักษณ์ผ้าไทย/ผ้าพื้นถิ่นให้เกิดกระแสการแต่งกายผ้าไทย/ผ้าพื้นถิ่นภายในจังหวัดอย่างกว้างขวางและเป็นที่แพร่หลาย นางพาตีเมาะฯ กล่าวเพิ่มเติม

“จังหวัดปัตตานี มีความมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน สืบต่อมรดกหัตถศิลป์ไทย ใช้ผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่น ส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทย และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายสู่สากล และขอเชิญชวนพี่น้องชาวปัตตานีทุกท่านได้ร่วมกันส่งเสริมสินค้าไทย สวมใส่ผ้าไทยให้สนุก ในทุกโอกาส เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิตกลุ่มทอผ้าได้มีการพัฒนาลวดลาย เทคนิคของผลิตภัณฑ์ผ้าไทย โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานีที่มีความเป็นเอกลักษณ์เมืองชายแดนใต้ มีผ้า “ลายจวนตานี” ซึ่งเป็นลายผ้าประจำจังหวัด รวมไปถึงพัฒนาลายผ้าอื่น ๆ ให้มีความงดงามมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังจะเป็นการส่งเสริมความมั่นคงเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน อันจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ทำให้พี่น้องประชาชนมีกิน มีใช้ และมีความสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้” นางพาตีเมาะฯ กล่าวเชิญชวนในช่วงท้าย

#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood