ต่างประเทศ : “วัฒนธรรม” ครอบครองปืน กับปัญหากราดยิงในสหรัฐอเมริกา

วัฒนธรรมการครอบครองปืนในสหรัฐอเมริกา มีมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ยุค “เคาบอย” ที่ยึดถือเอา “ปืน” เป็นเครื่องตัดสินความถูกผิด

ปัจจุบันวัฒนธรรมดังกล่าวถูกนำมาผูกโยงกับคำว่า “เสรีภาพ” ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐ

ตัวบทกฎหมายในรัฐธรรมนูญสหรัฐ แก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่ 2 กำหนดสิทธิเสรีภาพของชาวอเมริกันในการครอบครองปืนไว้สั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “คนอเมริกันมีสิทธิที่จะมีอาวุธในครอบครอง”

เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้ชาวอเมริกันได้ใช้อาวุธปืนในการป้องกันตัว

ทว่า ผลกลับเป็นในทางตรงกันข้าม เมื่อข้อมูลจากกลุ่ม “จดหมายเหตุความรุนแรงจากปืน” พบว่าในปีนี้เพียงปีเดียวมีคนเสียชีวิตจากการถูกยิงแล้วถึง 1,800 คน

ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลให้เกิดการถกเถียงเพื่อทบทวนเรื่องเสรีภาพการครอบครองปืนในสหรัฐเท่านั้น แต่ยังทำให้สหรัฐกลายเป็นชาติที่มีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปืนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกด้วย

ข้อมูลจากสถาบันเพื่อความยุติธรรมแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นไอเจ) ระบุว่า จำนวนอาวุธปืนที่ชาวอเมริกันครอบครองอยู่มีทั้งหมด 310 ล้านกระบอก คิดเป็น 48 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนอาวุธปืนที่พลเรือนครอบครองอยู่ทั่วโลกรวม 650 ล้านกระบอก

ตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นการประเมินที่น้อยเกินไปเมื่อเป็นเพียงสถิติล่าสุดที่มีการรายงานเมื่อกว่า 10 ปีก่อน โดยที่ไม่ได้นับเอาอาวุธปืนที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมเอาไว้ด้วย

ผลสำรวจของศูนย์วิจัยพิว ยังพบด้วยว่า ชาวอเมริกันยังเป็นชนชาติที่ครอบครองอาวุธปืนเอาไว้เป็นจำนวนมากที่สุดในโลกหากเทียบเป็นรายคน โดยประชากรทุกๆ 100 คนจะมีปืนอยู่ถึง 89 กระบอก ตามมาด้วยชาวเยเมน ที่ 55 กระบอก และสวิตเซอร์แลนด์ ที่ 46 กระบอก

และตัวเลขดังกล่าวก็สะท้อนออกมาเป็นตัวเลขสถิติการกราดยิงของสหรัฐอเมริกามีมากกว่าประเทศใดๆ ในโลก

 

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นิโคลัส ครูซ วัย 19 ปี ก่อเหตุใช้ปืนไรเฟิล เออาร์-15 กราดยิงที่โรงเรียนมัธยมมาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส ในเมืองปาร์กแลนด์ รัฐฟลอริดา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 17 ราย

ก่อนหน้านั้นในเดือนตุลาคม 2017 สตีเฟน แพดด็อก มือปืนวัย 64 ปี ก่อเหตุกราดยิงฝูงชนในงานเทศกาลดนตรีในนครลาสเวกัส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 58 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 500 คน กลายเป็นเหตุกราดยิงที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ

ในปี 2016 เกิดเหตุกราดยิงที่ไนต์คลับในเมืองออร์ลันโด คร่าชีวิตคนไป 49 ราย ขณะที่ในปี 2012 อดัม แลนซา ก่อเหตุกราดยิงในเมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเน็กทิคัต สังหารแม่ของตัวเอง รวมถึงนักเรียนของโรงเรียนประถมแซนดี้ฮุกไป 26 ราย ขณะที่ในปี 2007 เกิดเหตุกราดยิงที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค มีผู้เสียชีวิต 32 ราย

ข้อมูลสถิติจากมหาวิทยาลัยอลาบามา สหรัฐอเมริกาพบว่าประชากรสหรัฐคิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกแต่มีเหตุกราดยิงมากที่สุดในโลกคิดเป็น 31 เปอร์เซ็นต์ของเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า สหรัฐอเมริกานั้นมีอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนเมื่อเทียบกับชาติที่มีรายได้ระดับสูงอื่นๆ ในโลกถึง 25 เท่าตัว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอังกฤษแล้ว ชาวอเมริกันเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการถูกยิงมากกว่าชาวอังกฤษถึง 51 เท่า

 

รายงานของศูนย์วิจัยพิว พบว่า แม้ชาวอเมริกันจะพกปืนเพื่อการป้องกันตัว ทว่าการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับปืนส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกานั้นเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุยิงตัวเอง ขณะที่ตัวเลขการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในสหรัฐนั้นมีมากกว่าประเทศรายได้สูงอื่นๆ ถึง 8 เท่าตัว

แน่นอนว่าความสูญเสียดังกล่าวส่งผลให้เกิดการถกเถียงถึงกฎหมายควบคุมการครอบครองปืน แต่ในอีกทางหนึ่งก็ส่งผลให้ “ความต้องการมีปืนในครอบครอง” มีมากขึ้นด้วย

ในส่วนของตัวบทกฎหมายควบคุมการซื้อขายอาวุธปืนเองก็ผ่อนคลายลงมากกว่าปีที่ผ่านมา หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้รับเงินสนับสนุนการหาเสียงจาก “สมาคมไรเฟิลแห่งชาติ” กลุ่มสนับสนุนสิทธิการครอบครองปืน ยกเลิกกฎหมายควบคุมปืนที่ลงนามในยุคของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลงเมื่อปี 2017

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสการประท้วงเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายควบคุมปืน นำโดยบรรดานักเรียนผู้รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงครั้งล่าสุด

ทรัมป์ผู้ไม่เคยพูดถึงประเด็นเรื่องปืนนับตั้งแต่เกิดเหตุกราดยิงครั้งล่าสุด แต่เบี่ยงประเด็นไปในเรื่อง “สภาพจิต” ของมือปืน ก็ออกมาแสดงทีท่าสนับสนุนนโยบายการตรวจสอบประวัติผู้ซื้อปืนให้เข้มข้นมากขึ้น

ขณะที่คำถามที่ว่าการออกกฎหมายควบคุมการครอบครองปืนอย่างเข้มงวดนั้นจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน

ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วที่ประเทศออสเตรเลีย หลังเกิดเหตุกราดยิง 4 ครั้งระหว่างปี 1987 และ 1996 ออสเตรเลียได้ออกกฎหมายควบคุมการครอบครองปืนอย่างเข้มงวด

และนับตั้งแต่นั้นไม่เคยเกิดเหตุกราดยิงในออสเตรเลียอีกเลย จนถึงปัจจุบัน