ล้านนา-คำเมือง : วัดพะธาตุลำปางหลวง

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “วัดพะธาตุลำปางหลวง”

วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

ลำปางในอดีตเป็นที่ตั้งของ “เวียงอาลัมพางค์”

ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 พระเจ้าอนันตยศ แฝดผู้น้องของพระเจ้ามหันตยศ สร้างถวายพระราชมารดา คือพระนางจามเทวีให้เป็นที่ประทับ

นครแห่งนี้มีความพิเศษ กล่าวคือ ปกติแต่ละเมืองใหญ่ มักมีพระบรมธาตุเจดีย์ที่เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาอยู่แห่งเดียว

แต่ที่ลำปางกลับมี 2 แห่ง

คือ วัดพระธาตุลำปางหลวง และวัดพระแก้วดอนเต้า

ทั้งนี้ ในอดีตลำปางเคยแบ่งออกเป็นสองเมือง คือ เวียงเขลางค์ และเวียงอาลัมพางค์

ภายหลังสองเวียงนี้ได้รวมกันเป็นเวียงเดียวคือ นครลำปาง

จึงทำให้กลายเป็นเมืองที่มีพระบรมธาตุสำคัญคู่กันสองแห่ง

วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่บนเนินสูง มีลักษณะคล้ายหลังเต่า เปรียบเสมือนการจำลองเขาพระสุเมร ตามคติจักรวาล

ด้านหน้ามีสิงห์ไถ่บาปสองตัวยืนเฝ้าอยู่ที่บันได ยืนตรงสี่ขา เป็นสิงห์ไม่หมอบตัวลงแบบสิงห์พม่าที่พบตามวัดโดยทั่วไปในภาคเหนือ

สำหรับการจัดวางผัง วัดพระธาตุลำปางหลวง มีการวางองค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่ง

ตั้งแต่ซุ้มประตูโขงอันงดงามวิจิตร นำไปสู่องค์พระบรมธาตุที่เป็นเจดีย์ประธาน

ทิศเหนือขององค์พระธาตุมี วิหารน้ำแต้ม และวิหารต้นแก้ว

ทิศตะวันตก ประกอบด้วยวิหารละโว้ และหอพระพุทธบาท

ด้านทิศใต้ มีวิหารพระพุทธ และพระอุโบสถ

ทั้งหมดนี้ล้อมด้วยแนวกำแพงแก้วสี่ด้าน ที่เรียกว่า ศาลาบาตร หรือระเบียงคต

นอกกำแพงแก้วด้านใต้มีประตูที่นำไปสู่เขตสังฆาวาส ซึ่งประกอบด้วยหอพระไตรปิฎก กุฏิอันประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า อาคารพิพิธภัณฑ์ และกุฏิสงฆ์

ตํานานความเป็นมาของพระบรมธาตุในภาคเหนือจะเขียนขึ้นทำนองคล้ายคลึงกัน ตาม ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ซึ่งเขียนในเชิงธรรมาธิษฐาน มักผูกเรื่องให้พระพุทธเจ้าเสด็จมารับภัตตาหาร มีการตรัสพยากรณ์ และต่อจะมีผู้มีบุญญาธิการได้พบพระธาตุขึ้นในภายหลัง

เหตุการณ์ที่ทำให้วัดพระธาตุลำปางหลวงมีความสำคัญในนครลำปาง

กล่าวคือ ในช่วง พ.ศ.2275 เป็นช่วงที่นครลำปางว่างเว้นจากผู้ครองนคร จึงทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น

โดยยุคนั้นพม่าได้แผ่อิทธิพลปกครองอาณาจักรล้านนา

แต่ละเมืองจึงแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครขึ้นกับการปกครองของกษัตริย์พม่า

ท้าวมหายศผู้ครองนครลำพูนได้ยกกำลังมาหวังจะยึดนครลำปาง โดยตั้งกองกำลังทหารอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง

ครั้งนั้น หนานทิพย์ช้าง ซึ่งเป็นชาวบ้านปงยางคก ได้รวบรวมชาวบ้านทำการต่อสู้กับกองทัพของเจ้ามหายศ และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย

ปัจจุบันยังปรากฎรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์

ในกาลต่อมา หนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระยาสุลวะลือไชยสงคราม

ทำการปกครองนครลำปางและเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง, เชื้อเจ็ดตน, ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน และ ณ น่าน

วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดสำคัญที่ผู้มาเยือนจังหวัดลำปางจะต้องเดินทางมาสักการะมณฑปพระเจ้าล้านทอง พระเจ้าทันใจ ชมภาพเขียนสีโบราณเรื่องชาดกทศชาติและพรหมจักร

ตลอดจนเยี่ยมชมเครื่องสักการะล้านนา เช่น ธรรมาสน์ สัตตภัณฑ์ ตุงกระด้าง ที่มีการฉลุลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม

จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นศูนย์รวมฝีมือเครื่องไม้ที่ยอดเยี่ยมแห่งหนึ่งของภาคเหนือ