เครื่องรางโด่งดัง “แพะ”หลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกะบอก | โฟกัสพระเครื่อง

“หลวงพ่ออ่ำ เกสโร” วัดหนองกะบอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง พระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งแห่งภาคตะวันออก มีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังต่อมา คือ หลวงพ่อเริ่ม วัดจุกกระเฌอ จ.ชลบุรี, หลวงพ่อลัด วัดหนองกะบอก จ.ระยอง ฯลฯ

สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ สร้างเครื่องรางของขลังรูปแพะจนมีชื่อเสียง ซึ่งได้สืบทอดวิชาต่อจากหลวงปู่แตง วัดอ่างศิลา จนเป็นที่ต้องการของบรรดานักนิยมสะสมเครื่องรางของขลัง

แพะหลวงพ่ออ่ำ สร้างจากเขาควายฟ้าผ่าตาย ซึ่งมีความเชื่อกันว่าได้รับพลังจากเทพ แล้วนำมาแกะเป็นแพะ บรรจุวิทยาคม โดยวางไว้บนถาด บางครั้งก็แช่น้ำมันหอม น้ำมันว่านสมุนไพร น้ำมันจันทน์

ครั้นจะมอบให้ จะทำพิธีปลุกเสกอีกครั้ง

จากตำราสมุดข่อยที่คณาจารย์โบราณได้จารึกว่า การสร้างแพะโดยใช้เขาควายและเขาควายเผือกที่ถูกฟ้าผ่าตาย เนื่องจากมีความเชื่อกันว่าเขานั้นจะได้รับพลังจากเทพ คือ สวรรค์ทุกชั้น ทุกวิมาน

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าในตัวแพะที่โดนฟ้าผ่าตายนั้นได้พลีจากสรวงสวรรค์อีกด้วย พระเกจิอาจารย์หลายสำนักจึงได้นำมาเป็นวัสดุในการแกะเป็นรูปลักษณ์ของแพะ

ว่ากันว่าผู้ที่มีแพะหลวงพ่ออ่ำ ไว้ในความครอบครอง จะเป็นผู้ที่มั่งคั่งสมบูรณ์เมตตามหานิยม ค้าขายเจริญรุ่งเรือง และอายุยืน

มีนามเดิม อ่ำ คงจำรูญ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2408 ที่บ้านหนองสะพาน ต.หนองตะพาน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ครอบครัวประกอบอาชีพการเกษตรกรรม

ในวัยเด็กชอบฟังเทศน์ ติดตามบิดา-มารดาเข้าวัดเป็นประจำ เมื่อเติบโตขึ้นมีความสนใจในเรื่องการสวดมนต์และฟังเทศน์ แสดงความสนใจในการอุปสมบท โดยมักสอบถามว่าการจะเป็นพระสงฆ์นั้นทำอย่างไร

มักปรารภกับพี่น้องในครอบครัวเดียวกันว่า “หากข้ามีอายุครบบวชเมื่อใดข้าจะบวชๆ แล้วจะไม่สึกจนตายอยู่ในผ้าเหลืองนั่นแหละ”

อายุ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดทับมา ต.ทับมา อ.เมือง จ.ระยอง มีหลวงปู่ขาว วัดทับมา เป็นพระอุปัชฌาย์ และหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย เป็นพระคู่สวด มีนามฉายาว่า “เกสโร”

จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองกะบอก ก่อนเดินทางออกไปเรียนวิทยาคมกับพระอาจารย์ต่างๆ

ไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อปาน ที่วัดบางเหี้ย ขอเรียนวิชาสร้างเสือแกะจากเขี้ยวเสือ

แต่หลวงพ่อปานเรียกไปพบเป็นการส่วนตัวบอกว่าหลวงปู่อ่ำไร้วาสนาทางสร้างเสือมหาอำนาจ แต่ท่านจะสอนวิชาสร้างแพะ แกะจากเขาควายเผือกฟ้าผ่าตาย อันเป็นสุดยอดเครื่องรางของขลังให้แทน

ภายหลัง กลับมาที่วัดหนองกะบอก อยู่จำพรรษาจนถึงสมัยหลวงพ่อยอด เจ้าอาวาสรูปที่ 5 เริ่มงานสร้างอุโบสถวัดหนองกะบอก แต่แล้วหลวงพ่อยอดกลับมาอาพาธ จนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสต่อไปได้ จึงลาสิกขาไปรักษาตัว ตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงว่างลง คณะสงฆ์จึงประชุมชาวบ้านหนองกะบอก มีมติให้หลวงปู่อ่ำดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทน

“หลวงพ่ออ่ำ เกสโร” วัดหนองกะบอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

รับตำแหน่งเจ้าอาวาสในปี พ.ศ.2440 เป็นต้นมา

เวลานั้น อุโบสถเพิ่งเริ่มงานสร้าง เสนาสนะกุฏิสงฆ์จำพรรษาชำรุดทรุดโทรม ทุกอย่างต้องใช้เงินในการดำเนินการเป็นจำนวนมาก

หลวงปู่อ่ำจึงต้องสร้างแพะเพื่อสมนาคุณแด่ผู้สละทรัพย์ในการสร้างอุโบสถ และบูรณปฏิสังขรณ์วัดหนองกะบอก เพื่อฉลองศรัทธา ต่อมาจึงสามารถสร้างศาลาการเปรียญและโรงเรียนประชาบาล ด้วยการสร้างแพะสมณาคุณกับญาติโยมในเวลาต่อมา

เป็นพระที่พูดน้อยแบบถามคำตอบคำ ไม่โอ้อวดวิทยาคม แต่ไม่ปฏิเสธหากมีผู้มาขอความช่วยเหลือ หลวงปู่สั่งสอนให้ศิษย์ทุกคนบูชาพระอรหันต์ประจำชีวิต คือ บิดา-มารดา ให้ดีที่สุดก่อนจึงค่อยบูชาพระรัตนตรัย เพราะบิดา-มารดา เป็นพระอรหันต์ประจำชีวิตของลูกทุกคน

ด้วยศีลาจารวัตรงดงาม ครองจีวรเป็นระเบียบ ทำให้ชาวบ้านหนองกะบอกให้ความเลื่อมใสศรัทธา

ชาวบ้านใน จ.ระยอง และใกล้เคียง นิยมเรียกขานท่านว่า “หลวงปู่อ่ำ เรือเก่า” จนติดปาก แม้แต่ในภาพถ่ายประจำวัดก็ยังจารึกนามของท่านว่า “พระครูเทพสิทธิการ (หลวงปู่อ่ำ เรือเก่า)”

มีเรื่องเล่าว่า … มีสองตายายนำเรือเก่าที่ไม่ใช้แล้วมาขึ้นคานติดประกาศขายไว้หน้าบ้านในราคาที่ถูก เพียงเพื่อจะเอาเงินที่ได้มาเลี้ยงชีวิตยามแก่ เวลาผ่านไป ไม่มีใครมาแวะดูเรือเก่าของสองตายาย

สองตายายรู้สึกวิตกเป็นอย่างยิ่ง รู้สึกว่าไม่มีที่พึ่งที่ไหนอีกแล้ว วันหนึ่งเมื่อใส่บาตรหลวงปู่อ่ำเสร็จแล้ว ยายจึงยกมือพนมไหว้ บอกให้รู้ถึงความทุกข์ในใจ

“หลวงพ่ออ่ำเจ้าขา อิฉันประกาศขายเรือเก่ามาปีหนึ่งแล้วไม่มีใครใส่ใจดู เดินผ่านไปผ่านมาไปซื้อเรือใหม่กันหมด อิฉันต้องการให้หลวงพ่อช่วยให้อิฉันขายเรือเก่าลำนี้ได้ด้วยเถิดเจ้าข้า เงินที่ได้มาอิฉันกับตาจะได้เลี้ยงชีวิตจนกว่าจะตาย”

หลวงปู่อ่ำเดินไปที่เรือเก่าใช้มือลูบหัวเรือไปมาก่อนจะถอยออกมายืนบริกรรมอยู่ด้านหน้าเรือแล้วบอกกับสองตายายว่า “ในเจ็ดวันนี่แหละเรือนี้จะขายได้”

ปรากฏว่า มีผู้มาซื้อเรือที่บ้านสองตายาย ตามที่ลั่นปากไว้

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้คนต่างถวายฉายาเป็น “หลวงปู่อ่ำ เรือเก่า”

มรณภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2495 สิริอายุ 87 ปี