เศรษฐกิจ/’คริปโตเคอเรนซี่’ – ‘ไอซีโอ’ เทรนด์ที่ฉุดไม่อยู่ รัฐเร่งคลอดเกณฑ์คุมระดมทุนเงินดิจิตอล

เศรษฐกิจ

‘คริปโตเคอเรนซี่’ – ‘ไอซีโอ’

เทรนด์ที่ฉุดไม่อยู่

รัฐเร่งคลอดเกณฑ์คุมระดมทุนเงินดิจิตอล

พอพูดถึง “บิตคอยน์” เราเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้วว่าเป็นสกุลเงินดิจิตอลหรือคริปโตเคอเรนซี่ชนิดหนึ่ง
และเริ่มจะนึกออกกันแล้วว่าเจ้าคริปโตเคอเรนซี่มีหลายสกุล มีทั้งใช้ซื้อสินค้าทั่วไป และใช้ระดมทุนเพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้เฉพาะในกิจการของบริษัทนั้นๆ
อย่างเรื่องการระดมทุนด้วยคริปโตเคอเรนซี่ เราจะเรียกว่าทำ “ไอซีโอ” หรือ Initial Coin Offering ซึ่งเจ้าของโครงการจะออกเหรียญ (โทเคน) ให้นักลงทุนถือครอง สิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับก็มีหลากหลายมาก ตามที่ระบุไว้ในเอกสารโครงการ (ไวต์เปเปอร์)
เช่น “บริษัท ตุ๊กตุ๊กพาส จำกัด” สตาร์ตอัพที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยวผ่านตู้บล็อกเชน เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น จะทำไอซีโอโดยการเสนอขาย ‘ตุ๊ก ตุ๊ก พาส คอยน์’ ก็ได้ระบุไว้ในไวต์เปเปอร์ว่านักลงทุนสามารถนำโทเคนที่ได้รับไปใช้แทนเงินสดได้ เมื่อใช้บริการแอพพลิเคชั่น
สตาร์ตอัพไฟแรงอย่าง “คริปโตเวชั่น” ที่ทำธุรกิจให้บริการเทรดคริปโตเคอเรนซี่ โดยคำนวณส่วนต่างราคาของตลาดแต่ละแห่ง และทำธุรกิจที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน ก็เตรียมจะออกไอซีโอ ถือเป็นรายที่สองในประเทศไทยต่อจากบริษัท เจมาร์ท จำกัด ที่บริษัทลูกออกไอซีโอด้วยโทเคน “เจฟินคอยน์”
ซึ่งคริปโตเวชั่นจะออกคริปโตเคอเรนซี่ใหม่เป็นสกุลของตัวเอง เรียกว่า “ซีเอ็กซ์โอ” โดยมูลค่าเริ่มต้นจะเทียบราคากับสกุลเงินอีเธอเรียม (อีเธอร์) สกุลเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่สกุลเงินดิจิตอลขณะนี้

“พลเดช อนันชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตเวชั่น จำกัด ขยายความว่า การทำไอซีโอนี้จะร่วมมือกับเอเชีย เวลท์ กรุ๊ป พันธมิตรต่างชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อังกฤษ เปิดเทรดด้วยอีเธอร์ เทียบราคากับเงินบาท ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท
และแม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย แต่เชื่อว่าในอนาคตผู้ลงทุนจะมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น
ส่วนการทำงานของฝ่ายกำกับดูแลมองว่ารัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นหรือแบนอะไร แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเกณฑ์ประกาศที่แน่ชัด
ขณะที่บริษัทใหญ่อย่างดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่านิคมอุตสาหกรรมและเดินระบบสาธารณูปโภครายใหญ่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็ประกาศตั้งแต่ต้นปีเลยว่า สนใจที่จะทำไอซีโอด้วยเช่นกัน
ดูเหมือนการทำไอซีโอเริ่มเป็นที่นิยมแล้วในไทย หลังจาก เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือเจวีซี บริษัทลูกของเจมาร์ท ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการเปิดจองซื้อเจฟินคอยน์ ใช้เวลาเพียง 2 วันจากที่กำหนดเปิดจอง 1 เดือน สามารถระดมทุนได้ 100% มูลค่า 660 ล้านบาท
ทั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งจะออกประกาศห้ามธนาคารพาณิชย์ยุ่งเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี่ในทุกทาง ซึ่ง “ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเจวีซี เคยให้สัมภาษณ์ว่า การทำไอซีโอของเจฟินคอยน์จะเป็นใบเบิกทางให้บริษัทอื่นๆ ทำเช่นกัน
และเป็นจริงดังคำกล่าว เพราะตราบใดที่คนเรายังชอบเงิน! ชอบลงทุน คริปโตเคอเรนซี่กับไอซีโอก็ย่อมคู่กันเสมอ!!

แม้ว่าปัจจุบันไทยยังไม่มีแนวทางกำกับออกมาชัดเจน นอกจากประกาศของแบงก์ชาติที่ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรม หรือมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี่ ทั้งการลงทุนเองหรือของลูกค้า การรับแลกเปลี่ยน การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อทำธุรกรรมระหว่างลูกค้า การใช้บัตรเครดิต และการให้คำปรึกษา
แต่ขณะนี้มีความคืบหน้าไปพอสมควร โดยรัฐบาลมีแนวคิดว่าอยากรวมคริปโตเคอเรนซี่และไอซีโอ ให้เป็น “ดิจิตอลแอสเซ็ต”
ซึ่งเรื่องนี้ “ทิพยสุดา ถาวรามร” รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เคยให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุปนิยาม ‘ดิจิตอลแอสเซ็ต’ ไว้ว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับกันทั่วไป และเข้าถึงได้ในวงกว้างที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนมูลค่า ไปชำระราคาซื้อขาย หรือใช้เพื่อลงทุน รวมถึงการเก็บรักษาด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์และไม่ได้อ้างอิงกับเงินตราสกุลใดๆ เช่น บิตคอยน์
และการประชุมล่าสุดที่มีรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั่งหัวโต๊ะ ก็มีความคืบหน้าเรื่องแนวทางการกำกับดูแลเงินดิจิตอล
โดย “รพี สุจริตกุล” เลขาธิการ ก.ล.ต. ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ภายใน 2-3 สัปดาห์หรือภายในเดือนมีนาคมนี้ จะออกประกาศแนวทางกำกับดูแลไอซีโอและคริปโตเคอเรนซี่ ตามที่รัฐบาลอยากให้ ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานกำกับดูแลสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเภท
ซึ่งกระทรวงการคลังจะออกประกาศให้อำนาจกับ ก.ล.ต. เข้ามาดูแลเรื่องนี้ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเกณฑ์อยู่ระหว่างช่วงใกล้คลอด นักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนและคิดให้รอบคอบ เพราะการทำไอซีโอแต่ละครั้งไม่มีอะไรการันตีว่าโครงการจะประสบความสำเร็จหรือไม่
และอย่าลืมการลงทุนใดก็ตามที่ให้ผลตอบแทนหอมหวานย่อมมีความเสี่ยงสูง จึงต้องย้ำกับตัวเองให้ดี
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่าง “กรณ์ จาติกวณิช” ประธานสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ไอซีโอและคริปโตเคอเรนซี่ในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ที่ผ่านมาก็มีเอกชนเข้ามาปรึกษาหลายสิบราย โดยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ต้องการทำดิจิตอล ทรานส์ฟอร์เมชั่น หรือมีโมเดลธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่แล้ว ก็ฝากว่าใครที่สนใจควรจะไปปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากฝ่ายกำกับดูแลจะดีที่สุด มีส่วนไหนที่ต้องปรับแก้ก็ลองนำมาพิจารณาใหม่ และอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เป็นบวก เพื่อลดความกังวลและสร้างความเชื่อมั่นให้กลไกฟินเทคโดยรวม
จึงอยากฝากไว้เป็นไกด์ไลน์ว่าต้องเรียนรู้ข้อมูลสำคัญให้เป็น ทั้งแผนธุรกิจ วัตถุประสงค์ที่จะนำเงินจากไอซีโอไปใช้ กำหนดการ ข้อมูลทางการเงิน ผลประกอบการ บุคลากรและที่ปรึกษา ความเสี่ยงและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การกระจายดิจิตอลโทเคน รวมถึงการซื้อขายเปลี่ยนมือ ก่อนจะตัดสินใจลงทุน
เพราะราคาคริปโตเคอเรนซี่ผันผวนกันเป็นรายชั่วโมงเลยทีเดียว อย่างราคาบิตคอยน์เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ อยู่ที่ 361,005 บาท ดิ่งตัวลงอย่างแรง เมื่อเทียบกับราคาบิตคอยน์เดือนธันวาคม 2560 ที่เคยขึ้นไปทำนิวไฮที่ 608,000 บาท เพียงแค่ 2 เดือน ราคาต่างกัน 247,000 บาท เชื่อว่าต้องทำนักลงทุนใจหายใจคว่ำกันบ้าง เพราะฉะนั้น ต้องจับตาอย่าให้พลาด คริปโตเคอเรนซี่สกุลอื่นก็เช่นกัน
ดูทรงแล้วคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอย่างที่บอก ตราบใดที่คนเรายังชอบเงิน ชอบลงทุน คริปโตเคอเรนซี่กับไอซีโอย่อมเกิดขึ้นได้แน่นอน