การศึกษา/จับตา ‘สพฐ.’ชงเพิ่มเขตพื้นที่มัธยม แรงกระเพื่อมในวงการครูอีกระรอก

การศึกษา

จับตา ‘สพฐ.’ชงเพิ่มเขตพื้นที่มัธยม

แรงกระเพื่อมในวงการครูอีกระรอก

สร้างแรงกระเพื่อมให้คนในแวดวงการศึกษาได้ลุ้นกันอีกรอบ
หลัง นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ออกมาระบุว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ตั้งคณะทำงาน โดยมี นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธาน เพื่อศึกษาเรื่องแยกเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เพิ่มขึ้น
แนวคิดการเพิ่ม สพม. ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการพูดถึงเรื่องนี้มาเป็นระยะ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.) ทั่วประเทศรวม 225 เขต แบ่งเป็น สพม. 42 เขต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 183 เขต
การแบ่งเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปตามภาระงาน ซึ่งมีโรงเรียนประถมมากกว่าโรงเรียนมัธยม
แต่ขณะเดียวกัน การแบ่งเขตดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาการเดินทางไปติดต่อราชการยังเขตพื้นที่ของครู และบุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล มีปัญหาด้านการคมนาคม เพราะหลาย สพม. ครอบคลุม 2-3 จังหวัด
ยิ่งเมื่อมีการปรับโครงสร้างการบริหารงานในส่วนภูมิภาค กระจายอำนาจให้จังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เกิดเป็นคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) การแต่งตั้งโยกย้ายต้องนำข้อมูลเข้า กศจ. ทำให้เกิดปัญหาการบริหารงานล่าช้า
เพราะหลายครั้งที่ กศจ. หลายจังหวัดจัดประชุมพร้อมกัน ทำให้ ผอ.สพม. ไม่สามารถเข้าประชุมพร้อมกันทุกจังหวัดได้
ดังนั้น ถ้าจะเร่งเรื่องคุณภาพ ก็ควรจะปลดภาระที่ไม่จำเป็นของเขตพื้นที่กับโรงเรียนออกไปโดยเฉพาะเรื่องของการเดินทาง

บุญรักษ์ ยอดเพชร

นายบุญรักษ์ ชี้แจงว่า หลัง สพฐ. ตั้งคณะทำงานศึกษา ได้มีการศึกษาและวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงมีการสำรวจความคิดเห็น โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 117 คน จาก 42 สพม.
พบว่ามีเพียง 1 คนที่ไม่เห็นด้วย คิดเป็นร้อยละ 0.85 เพราะเห็นว่าจะทำให้มี ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาเพิ่มขึ้น
ขณะที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 99.15 เห็นด้วยกับการเพิ่ม สพม. เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน
เนื่องจากปัจจุบัน สพม. ส่วนใหญ่มีพื้นที่บริการ 2 จังหวัดขึ้นไป ต้องจัดการข้ามเขตปกครองจังหวัด ทำให้เกิดความยุ่งยากในระบบบริหารจัดการ และการที่เขตพื้นที่มีขนาดใหญ่ มีปริมาณประชากรมาก ต้องดูแลสถานศึกษาหลายแห่ง จำนวนครูและนักเรียนก็มีมาก ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง
ขณะที่บางเขตพื้นที่ก็ไม่มีความปลอดภัยในการเดินทางระหว่างจังหวัด โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากนี้ ยังสอดรับกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการในการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค และสอดคล้องกับการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการยกระดับคุณภาพของคนให้รองรับยุทธศาสตร์ชาติทางด้านเศรษฐกิจอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะอื่นๆ ด้วย ได้แก่
1. ควรดำเนินการให้เร็วที่สุด
2. เมื่อแยกครบทุกจังหวัด อัตรากำลังให้เป็นไปตามขนาดปริมาณ โรงเรียน เช่น จังหวัดภูเก็ตมี 5 โรงเรียน อัตรา 20 ไล่ไปตามปริมาณ
3. ควรแยกศึกษานิเทศก์ออกจากเขตพื้นที่ด้วย
4. ควรพิจารณาแยกให้เป็นเหมือนสมัยที่เป็นกรมสามัญศึกษาเดิม
5. ปกติโรงเรียนมัธยมศึกษา มีความเข้มแข็งในตัวอยู่แล้ว หากตั้ง สพม. ควรคำนึงถึงการสนับสนุนมากกว่าการบริหารจัดการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการตนเองให้มาก และไม่ควรมีอัตรากำลังในสำนักงานมากเกินไป เป็นต้น
ซึ่งล่าสุดคณะทำงานเสนอว่า เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพควรจะเพิ่ม สพม. ประมาณ 18 เขต แต่ยังไม่ถือเป็นข้อสรุป เพราะ สพฐ. ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ ไปยัง สพม. 42 เขต โดยจะต้องนำความคิดเห็นทั้ง 2 ส่วนมาประกอบกัน
และจะเชิญผู้แทน สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ผู้อำนวยการโรงเรียนและครู ทั้งในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของ สพม. และไม่เป็นที่ตั้งของ สพม. ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลโดยตรงมาสอบถามว่ามีความเห็นอย่างไร
“การเพิ่ม สพม. มีหลักการว่า จะต้องไม่เพิ่มคน ไม่เพิ่มงบประมาณ แต่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งภายในเพื่อให้สามารถทำงานได้ และจะมีการกำหนดขนาดของเขตให้เหมาะสมกับภารกิจ โดยอาจจะแบ่งเป็นขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ตามความเหมาะสม และความจำเป็นจึงต้องรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ส่วนที่คณะทำงานเสนอเบื้องต้นว่า ควรเพิ่ม สพม. 18 เขตนั้น จะต้องมาคิดว่าส่วนที่เหลือ คือจังหวัดที่ไม่มี สพม. จะทำอย่างไร ซึ่งได้มีการคิดไว้เบื้องต้นว่า อาจจะทำในลักษณะเคาน์เตอร์เซอร์วิสในจังหวัดที่ไม่มี สพม. โดยงานอะไรที่ครูต้องไปติดต่อยัง สพม. ก็ให้ดำเนินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสแทน ครูจะได้ไม่ต้องเดินทางข้ามจังหวัด ขณะเดียวกัน ยังมีผู้เสนอว่า ควรต้องยุบ สพป. บางเขตลง เพราะขณะนี้การคมนาคมสะดวกขึ้น ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็มีความทันสมัยติดต่อเชื่อมถึงกันได้ง่าย แต่ต้องเป็นไปตามความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องด้วย”
เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ด้าน นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ให้ความเห็นว่า การเพิ่ม สพม. จะย้อนกลับไปคล้ายกับโครงสร้างเดิมที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มี 14 กรม ซึ่งในจำนวนนี้มีกรมสามัญศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งหน่วยย่อยลงมาจากกรมสามัญศึกษา
ในระดับจังหวัดจะมีสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัด (สศจ.) ดูแลการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัด (สปจ.) จะดูแลระดับประถมศึกษา
ทั้งนี้ เมื่อมีการปรับโครงสร้าง ศธ. ยุบกรมสามัญฯ และ สปช. เกิดเป็น สพฐ. ขึ้น ได้มีการรวมการบริหารทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไว้ด้วยกันในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แต่ด้วยวัฒนธรรมและปัจจัยหลายอย่างทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ จึงต้องแยกออกมาเป็น สพม. และ สพป.
“การเพิ่ม สพม. ส่วนตัวไม่ขัดข้อง เพราะจะทำให้การบริหารการศึกษาในจังหวัดไปด้วยกันได้ แต่อยากให้รอดูความชัดเจนการปฏิรูปการศึกษาของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ก่อน ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพื่อให้การแก้ปัญหา ดำเนินการไปทั้งระบบ ไม่ใช่มองเพียงจุดเดียว และเท่าที่ดูการบริหารงานในปัจจุบันค่อนข้างจะมีปัญหาจริง เพราะบาง สพม. มีหลายจังหวัด และเกิดปัญหากับ กศจ. แต่ไม่อยากให้เร่งดำเนินการ ส่วนที่มีผู้เสนอให้ยุบ สพป. บางแห่งลงบ้างนั้น คิดว่าเป็นไปได้ยาก เพราะ สพป. มีครู บุคลากรและโรงเรียนค่อนข้างมากและกระจายกันอยู่ อาจส่งผลต่อการบริหารและการติดต่อราชการของโรงเรียนในอนาคต” นายอดิศรกล่าว
แม้เสียงออกมาตอนนี้จะค่อนข้างเห็นด้วยกับการมี สพม. เพิ่ม
แต่ สพฐ. ต้นเรื่อง คงต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพราะการเพิ่มหน่วยงาน ย่อมนำมาสู่การเพิ่มบุคลากรและงบประมาณ
สิ่งสำคัญต้องตอบคำถามให้ได้ด้วยว่า จะเกิดคุณภาพกับการศึกษาได้อย่างไร!