เทศมองไทย : อันเนื่องมาจาก “คอคอดกระ”

ผมยอมรับว่าไม่ได้คาดคิดว่าจะมีใครแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นงานเป็นการต่อกรณีที่มีความเคลื่อนไหวของบางคนบางกลุ่ม พยายามผลักดันให้มีการขุดคอคอดกระที่บางคนเรียกว่า “คลองไทย” บางคนเรียกว่า “คลองกระ” ในพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศ

เดือดร้อนถึงรัฐบาลต้องออกมาแจกแจงเป็นงานเป็นการว่า เรื่องนี้ยังไม่ใช่นโยบาย ยังอยู่ในขั้นตอนเบื้องต้น ที่ต้องตรวจสอบศึกษาข้อดีข้อเสียเท่านั้น

กรณีสำนักข่าวเบอร์นามาของทางการมาเลเซีย นำเสนอข่าวการแถลงปฏิเสธดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์

เช่นเดียวกับที่เว็บไซต์เวียดนามพลัส เผยแพร่เนื้อหาทำนองเดียวกันออกไปใน 1 วันถัดมา

ถือว่าเป็นไปตามคาดหมาย

 

ที่นอกเหนือความคาดหมายก็คือ ในวันเดียวกันนั้น ผมตรวจสอบพบบทความขนาดยาวเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน “เดอะ เวิร์ลด์ โพสต์” เว็บไซต์นำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นขององค์กรทางวิชาการอิสระในระดับโลกอย่าง “เบิร์กกรุน อินสติติวต์” ผ่านฮัฟฟิงตันโพสต์ ซึ่งยังระบุเอาไว้ว่าเป็นความคิดเห็นของคนอย่าง “ศาสตราจารย์ดาวิด กอสเซต์” นักวิเคราะห์กิจการโลกชาวฝรั่งเศส ที่เป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นผู้เชี่ยวชาญกิจการจีน ชนิดที่สามารถบรรยายหรือสอนหนังสือเป็นภาษาจีนได้ แถมยังมีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนกลางอีกต่างหาก

ข้อเขียนของดาวิด กอสเซต์ ซึ่งสำหรับผมแล้วคิดว่าเป็นการนำเสนอแบบนักวิชาการซึ่งถึงแม้จะเป็นนักวิชาการที่ศึกษาจีนมามาก และสนับสนุนแนวคิดใหญ่โตโอฬารของสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบันอย่าง “วัน เบลต์ วัน โรด” เพราะเชื่อว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่จะพลิกโฉมหน้าภูมิภาคเอเชียและยุโรปในอนาคตอย่างเต็มที่ก็ตามที แต่ก็มีข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรมสนับสนุนอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

ใครอยากอ่านเต็มๆ เข้าไปอ่านได้ที่ https://www.huffingtonpost.com/david-gosset/after-suez-and-panama-tim_b_7964148.html ได้เลยครับ

ส่วนผมขออนุญาตหยิบยกเอาเฉพาะส่วนที่เป็นความคิดเห็น “ตรงกันข้าม” กับความกังวลว่าด้วยการขุดคอคอดกระที่ถูกพูดถึงอยู่ทุกครั้งที่เรื่องนี้โผล่ออกมาเป็นข่าว มาบอกเล่าเอาไว้เท่านั้น

 

ศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศสรายนี้ เชื่อว่าโครงการนี้อาจจำเป็นต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี และต้องมีเงินลงทุนอย่างน้อยที่สุด 30,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมหาศาลไม่น้อย

แต่เห็นได้ชัดว่า คลองกระนี้สามารถสร้างงานมากมายทั้งในและนอกประเทศไทย

และจะเอื้อประโยชน์ต่อการค้าโลกสูงยิ่ง

ในเวลาเดียวกับที่จะถูกยึดถือเป็นสัญลักษณ์ของ “ความร่วมมือระหว่างนานาประเทศ” ต่อไปในอนาคต

หลายคนมักคิดถึงคลองกระนี้ไปในลักษณะของการ “แข่งขัน” หรือ “ช่วงชิง” ผลประโยชน์กับช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์

แต่ศาสตราจารย์กอสเซต์คิดในทางตรงกันข้าม เขาไม่เชื่อว่า คลองกระจะเข้ามาแทนที่ช่องแคบมะละกา (ถึงแม้จะช่วยย่นระยะทางลงราว 1,200 กิโลเมตรก็ตามที)

แต่จะกลายเป็นคลองคู่ขนานที่ “จำเป็น” ในการส่งเสริมศักยภาพซึ่งกันและกันกับช่องแคบมะละกา ที่นับวันมีแต่จะแออัด และกลายเป็นคอขวด จนเป็นปัญหาสำหรับน่านน้ำนั้นและน่านน้ำใกล้เคียง ซึ่งจำเป็นต้องรองรับสินค้าในการซื้อขายระหว่างประเทศกันมากถึง 1 ใน 4 ของการค้าของทั้งโลก

เช่นกัน ศาสตราจารย์กอสเซต์เชื่อว่า ในระยะยาว ประเทศไทยที่เจริญรุ่งเรืองในทางเศรษฐกิจก็จะไม่เป็นการทำร้ายเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน

แต่ความรุ่งโรจน์ของคนไทย 67 ล้านคนจะส่งผลให้อาเซียนยิ่งเพิ่มความสำคัญ เพิ่มน้ำหนักมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

ในความเห็นของกอสเซต์เชื่อว่า การขุดคลองบริเวณคอคอดกระ จะสร้าง “โอกาสใหม่ๆ” ให้เกิดขึ้นไม่เฉพาะกับประเทศไทย แต่หมายรวมถึงประเทศที่อยู่ประชิดกับแนวคลองอย่างพม่ากับเวียดนาม

ดังนั้น ข้อเสนอเพื่อความร่วมมือเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับประเทศเพื่อนบ้านเช่นนี้ก็ควรศึกษาและให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

ศาสตราจารย์กอสเซต์ไม่เชื่อว่าการขุดคอคอดกระจะส่งผลให้ความตึงเครียดในพื้นที่ภาคใต้ของไทยลุกลามรุนแรงมากขึ้น

แต่เชื่อในทางตรงกันข้ามว่า การขุดคลองกระ จะส่งผลให้เกิดการกระจายตัวทางเศรษฐกิจออกจากศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าราวๆ 30 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตเชิงเศรษฐศาสตร์ของไทยทั้งหมด

และถ้าเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ทำให้นักท่องเที่ยวเลิกเดินทางมาเยือนภาคใต้ของไทย แต่ยังแห่แหนกันมาเที่ยวภูเก็ตถึงปีละ 3 ล้านคน การขุดคลองก็จะไม่กระทบการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน

การขุดคลองกระไม่สามารถแบ่งแยกตอนใต้ของประเทศออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย เขาเชื่อว่า สะพานเหนือคลองกระจะสามารถเอื้ออำนวยให้การคมนาคมขนส่งจากเหนือสุดสู่ใต้สุดยังคงดำเนินต่อเนื่องต่อไป

แบบเดียวกับที่อียิปต์มีสะพานสันติภาพ อัล ซาลาม เชื่อมสองฟากคลองสุเอซ คลองพาณิชย์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์

คลองสุเอซไม่ได้แบ่งแยกอียิปต์ออกเป็น 2 ส่วนฉันใด คลองกระก็ไม่สามารถแยกไทยออกเป็น 2 ประเทศได้ฉันนั้น