หลังเลนส์ในดงลึก/’หลง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือดาว - เสือดาวมีพื้นที่อาศัยร่วมกับเสือโคร่งได้ เพราะเหยื่อมีขนาดย่อมลงมา พวกมันขี้สงสัย แต่หากได้กลิ่นคน การกระโจนหนีคือสิ่งที่มันเลือกทำ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘หลง’

กลางเดือนกุมภาพันธ์
หลังจากเดินลัดเลาะมาตามด่าน ที่รอบข้างเป็นป่าเบจพรรณ ซึ่งใบไม้ดูแห้งกรอบ สายลมแรง ยอดไม้เอนลู่ ลมหนาวยังไม่จากไปและดูคล้าย อุณหภูมิจะลดต่ำลงอีก
เรา ผมกับจักรสิน หยุดบริเวณต้นมะค่าใหญ่ต้นหนึ่ง โคนต้นเป็นพื้นที่โล่งๆ ที่พื้นมีขี้ช้างเก่าๆ 2-3 กอง และรอยโคลนแห้งๆ ในระดับสูงท่วมหัวที่ลำต้น
เดินมาแล้วกว่า 4 ชั่วโมง ผมรู้ตัวว่าหลงทาง จุดหมายที่ต้องการไปยังห่างไกล
“สงสัยมาผิดด่านครับ” จักรสินหันมายิ้มแห้งๆ เขาทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัย ที่ศึกษาเรื่องนกเงือกมานาน วันนี้ เขาจะพาผมมาดูรังนกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกขนาดเล็กชนิดหนึ่ง
ปีที่แล้ว จักรสินมาพบ
“จากโป่งในหุบนั่น ผมจำได้ว่าตัดขึ้นสันแล้วจะพบลำห้วยเล็กๆ ต้นประดู่ที่มีโพรงนกอยู่ใกล้ๆ ห้วยนั่นแหละ”
เราเดินจากโป่งที่ว่ามา 2 ชั่วโมงตัดขึ้นสันเขา ผ่านห้วยแห้งๆ มาหลายห้วย
“ดูพิกัดแล้วโกทูไปเถอะ” ผมบอก แม้ว่าการเดินตามจีพีเอสอาจรกทึบ เพราะไม่ได้ไปตามด่านที่สัตว์ใช้ แต่นาทีนี้คงจำเป็น
“รังนี้ผมลืมบันทึกพิกัดไว้ครับ” จักรสินยิ้มแห้งๆ
ผมหันดูรอบๆ ป่าในฤดูแล้งแห้งกรอบ ใบไม้สีเหลืองแก่และน้ำตาลแห้งปกคลุมเต็มพื้น
ผึ้งบินตอมหึ่งๆ เสื้อชุมเหงื่อ เมื่อมันคลานเข้าไปในแขนเสื้อ หากขยับเร็วเกินไป การถูกผึ้งต่อยคือเรื่องปกติ วันนี้ผมโดนไปแล้ว 2 ครั้ง
“นึกว่าจะจำได้” จักรสินโคลงหัว
“กินข้าวกันก่อนดีกว่า เดี๋ยวค่อยหาทางใหม่” ผมนั่งลงบนโคนมะค่า
หยิบกล่องข้าวกลางวัน และมองรอบๆ อีกครั้ง
เมื่อหาทางไปสู่จุดหมายไม่พบ
การถอยกลับจุดเริ่มต้นก็จำเป็น
แต่ความเป็นจริงในการเดินป่า คือบนด่านที่มีใบไม้แห้งปกคลุมหนา
ร่องรอยที่เดินมาของเราเองก็หาได้ไม่ง่ายนัก

ว่าตามจริง การหลงในป่าของเราเกิดขึ้นบ่อยๆ
เลี้ยวไปตามด่านที่ไม่ใช่เส้นทางสู่จุดหมาย เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะเรามักเลี้ยวไปตามด่านซึ่งโล่ง เดินสบายมากกว่าจะไปตามด่านที่ต้องไป ที่มักรกทึบ
โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ในช่วงเวลาที่ป่าดูโปร่งโล่ง
กลายเป็นช่วงที่เดินยาก และพลัดออกจากเส้นทางง่ายกว่าฤดูอื่น
ด่านที่ชัดเจน โดนใบไม้แห้งปกคลุมทับถมกระทั่งมองไม่เห็น
ใช้เครื่องมือนำทาง คือจีพีเอส ที่เราใช้ร่วมกับเข็มทิศและแผนที่ ช่วยไปถึงจุดหมาย
แต่เวลาเดิน เราต้องอาศัยด่าน ไม่เช่นนั้นมันจะรกทึบ หรือสูงชันเกินไป ระยะทางที่จีพีเอสแจ้งไว้ว่าเพียงไม่กี่กิโลเมตรนั่น เราต้องบวกเพิ่มอีกหลายเท่า
ที่จริง เพราะมีเครื่องมืออันบอกจุดหมายได้นี่แหละ
ทำให้ทักษะต่างๆ ของเราลดลง

มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เรามักไม่พลาด คือเราจะมีเสบียงสำรองหรืออาหารติดเป้ไว้ ไม่ว่าจะเดินไปจุดหมายใกล้หรือไกล
แม้จะรู้ว่าจุดหมายห่างจากแคมป์ในระยะการเดินแค่ 2 ชั่วโมงไป-กลับ กินข้าวกลางวันที่แคมป์ก็ได้ ข้าวหนึ่งกล่อง กับข้าวที่เหลือจากมื้อเช้า ไม่ได้ทำให้เป้หนักขึ้นเท่าไหร่
ผึ้งตอมหึ่งๆ รวมกับตัวคุ่นที่กัดเจ็บ และสภาพอากาศอันร้อนอบอ้าวทำให้มื้อกลางวันของเราไม่รื่นรมย์นัก
ผมกินข้าวกับแหนมย่างหนึ่งชิ้นไปเงียบๆ
จักรสินกินเสร็จ เขามวนยาเส้นตราแมวดำด้วยกระดาษสีขาว จุดสูบ ควันยาเส้นทำให้คุ่นบางลง
เสียงวิ่งโครมๆ ทางทิศเหนือไม่ไกลจากเรา
“คงกระทิงนะครับ เดินมาทางนี้ และได้กลิ่นเรา”
ผมเห็นด้วยกับเขา เสียงวิ่งหนักๆ แบบนี้เป็นสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวมาก
เมื่อเราอยู่เหนือลม เสียงวิ่งหนีของสัตว์คือสิ่งที่จะได้ยินเสมอ สัตว์ป่าโดยส่วนใหญ่ใช้จมูกรับกลิ่นเพื่อระวังภัย หลายตัวมีความสามารถรับกลิ่นได้ดี ขณะบางตัวอาศัยผู้อื่นที่มีความสามารถดีกว่า
หลายวันก่อน ผมใช้เวลาอยู่ริมโป่งแห่งหนึ่ง ที่โป่งนั้นผมตั้งซุ้มบังไพรนานแล้ว มันกลมกลืน ใบไม้เลื้อยปกคลุมรอบๆ
เก้งและหมูโทน คือสองตัวที่วนเวียนอยู่ตลอด แต่ไม่มีวัวแดงฝูงที่อยู่ประจำ ก่อนหน้านั้นผมพบพวกมันเกือบทั้งวัน จนพลบค่ำ ผมออกจากซุ้มบังไพร ก็จะมีแค่วัวแดงตัวหนึ่งเงยหน้าขึ้นมอง
จนกระทั่งวันที่สาม ราวๆ บ่าย ผมเห็นวัวแดงฝูงนั้นอีก พวกมันเดินมาถึงชายป่า หยุดชะงัก เงยหน้าขึ้น หันมองรอบๆ ถอย หันหลังเดินกลับไปตามทางเดิม ไม่มีสักตัวลงมาในโป่ง
ผมจุดไฟแช็กยื่นมาข้างนอก ตรวจสอบกระแสลม
เปลวไฟเอนจากซุ้มบังไพรไปทางโป่ง
กระแสลมเปลี่ยนทิศทางแล้ว ผมเป็นฝ่ายอยู่เหนือลม
แม้ว่าซุ้มบังไพรจะมิดชิดเพียงไร แต่กลิ่นกายคนซึ่งสัตว์กินพืชถือว่าเป็นกลิ่นสัตว์ผู้ล่า ก็ไม่รอดพ้นจากประสาทอันไวของวัวแดง
วันนั้นผมรื้อซุ้มบังไพร หวังว่าวัวแดงฝูงนั้นคงไม่ตื่นหนีไปไกลนัก
ขอโทษ พวกมันอยู่ในใจที่รบกวน
เดินกลับแคมป์วันนั้น ผมไม่ได้มีความรู้สึกดีนัก
เมื่อพยายามอย่างยิ่งที่จะเป็น “พวก” กับใครๆ แล้วเขาไม่ยอมรับ
อาจต้องใช้เวลาสักระยะสำหรับความเข้าใจ

ผมลุกขึ้นยืน จักรสินสูบยาเส้นหมดมวน ดับและเก็บก้นยาเข้ากระเป๋าเสื้อ
“หาทางกลับกันเถอะ” ผมบอกเขา ขามานั้น เราเดินค่อนข้างวกวนเลี้ยวไป-มา ตามด่านที่สัตว์ป่าใช้ เราไม่แน่ใจนักว่าจะหาทางกลับทางเดิมได้
“โกทู นะครับ” จักรสินหัวเราะ ผมร่วมหัวเราะด้วย
บนเส้นทางรกๆ เดินไปด้วยความรู้สึกดีๆ
ใช้เวลาเดินมานานพอสมควร ไปไม่ถึงจุดหมาย และหาทางเส้นเดิมเพื่อกลับไม่พบ
ดูจะเป็นเรื่องปกติของคนเดินป่า
และไม่ต้องใช้เวลานานนัก
สำหรับความเข้าใจ

หลง” หรือพลัดออกจากเส้นทางสู่จุดหมาย ในการเดินป่าเกิดขึ้นได้เสมอ
หลายคนไม่ได้ “หลง” ทาง
แค่ไม่เคยเดินอยู่บนเส้นทางที่ถูก
และไม่เคยรู้ตัว