สุจิตต์ วงษ์เทศ/คนไทยเป็นชาวสยาม ของชาวยุโรปยุคอยุธยา

สุจิตต์ วงษ์เทศ

คนไทยเป็นชาวสยาม

ของชาวยุโรปยุคอยุธยา

ชาวสยามยุคอยุธยา แม่จูงลูก
ไพร่ฝีพายในเรือนาย (ลายเส้นจากหนังสือจดหมายเหตุลาลูแบร์)

คนไทยเป็นใคร? มาจากไหน? ไม่เคยพบคำถามคำตอบในหมู่คนไทยด้วยกันเอง แต่พบว่าเป็นข้อสงสัยของบรรดาฝรั่งยุโรปที่เข้าไปในพระนครศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ
ข้อสงสัยของชาวยุโรปมีในหนังสือ จดหมายเหตุลาลูแบร์ฯ เล่ม 1 แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร (สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510) จะคัดมาดังนี้
“ข้อสงสัยเกี่ยวกับต้นกำเนิดของชาวสยาม”
“เมื่อกล่าวถึงต้นกำเนิดของชาวสยาม ก็ยากที่จะวินิจฉัยลงไปได้ว่าเป็นชนชาติที่สืบพงศ์พันธุ์ โดยแต่ดึกดำบรรพ์ในสยามประเทศจากปฐมบุรุษปฐมสตรีที่อยู่ในแว่นแคว้นแดนสยามเอง, หรือว่าสืบเผ่าพันธุ์มาจากมนุษยชาติอื่น แล้วอพยพย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคส่วนนี้ แม้จะมีเจ้าของถิ่นดั้งเดิมตั้งรกรากอยู่ก่อนแล้ว” (หน้า 39)
“ชาวสยามไม่ค่อยสนใจในประวัติศาสตร์ของพวกตนเท่าใดนัก”
“ประวัติศาสตร์สยามนั้นเต็มไปด้วยนิยาย”, “ชาวสยามมีประวัติย้อนต้นขึ้นไปไม่ไกลเท่าไรเลย และจะเอาความจริงกันก็ไม่ค่อยถนัดนัก” (หน้า 33)

ชาวสยามเป็นคนไทย

ชาวสยามในอยุธยาเรียกตัวเองว่าไทย ลาลูแบร์จดไว้ในเอกสารว่า “ชาวสยามเรียกตนเองว่าไทย (T??) แปลว่าอิสระ อันเป็นความหมายตามศัพท์ในภาษาของพวกเขาอยู่ในปัจจุบัน.”
นอกจากเรียกตัวเองว่าไทย ยังเรียกชื่อประเทศว่าเมืองไทย ดังนี้
“เมืองไทย (Me?ang T??) จึงเป็นนามที่ชาวสยามใช้เรียกราชอาณาจักรสยาม (เพราะคำว่าเมือง แปลว่าราชอาณาจักร) และคำคำนี้เขียนอย่างง่ายๆ ว่า Muantay” —-“คำว่าสยามกับไทยนั้น เป็นคำสองคำที่แตกต่างกัน หากมีความหมายถึงประชาชนพลเมืองในประเทศเดียวกัน.”
คนไทยในอยุธยาบอกลาลูแบร์ว่าตัวเขาเองเป็นไทยน้อย แล้วบอกว่ายังมีพวกอื่นอีกเรียกไทยใหญ่ ซึ่งลาลูแบร์จดไว้ ดังนี้
“ชาวสยามที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงนี้ เรียกตนเองว่าไทยน้อย (T??-n??, Siams-Petits) และตามที่ข้าพเจ้าได้ยินมา ก็ยังมีชนอีกจำพวกหนึ่งซึ่งยังป่าเถื่อนอยู่มาก เรียกกันว่าไทยใหญ่ (T??-y??, Siams-grands) และตั้งสำนักหลักแหล่งอยู่ตามภูเขาทางภาคเหนือ”

ไทยน้อย, ไทยใหญ่

ในความรับรู้ทุกวันนี้ ไทยน้อยอยู่ลาว ส่วนไทยใหญ่อยู่พม่า ดังต่อไปนี้
ไทยน้อย เป็นชื่อที่คนในยุคอยุธยา ราวเรือน พ.ศ.2000 ผูกขึ้นเรียกพวกลาว หรือชาติพันธุ์ในวัฒนธรรมลาว บริเวณลุ่มน้ำโขง ทั้งฝั่งขวา (คือบริเวณอีสานในประเทศไทย) และฝั่งซ้าย (คือ ดินแดนลาว) อาจต่อเนื่องไปทางทิศตะวันออกถึงกลุ่มคนพูดภาษาตระกูลไทย-ลาว ลุ่มน้ำดำ-แดง (ในเวียดนาม), กวางสี-กวางตุ้ง (ในจีน)
ลาวลุ่มน้ำโขง ถูกเรียกสมัยหลังว่า ลาวพุงขาว (เพราะไม่สักลายตามตัวเหมือนพวกไทยใหญ่) คนพวกนี้ออกเสียงตรงตามรูปอักษร คือ ท เป็น ท และ พ เป็น พ
ไทยน้อย เคลื่อนย้ายมาจากเมืองแถน ลุ่มน้ำดำ-แดง ในเวียดนาม (ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ) ติดพรมแดนลาวทุกวันนี้ มีบอกในตำนานขุนบรม
ไทยใหญ่ เป็นชื่อที่คนในยุคอยุธยา ราวเรือน พ.ศ.2000 ผูกขึ้นเรียกพวกลาว บริเวณลุ่มน้ำสาละวินตอนเหนือ (ในพม่า) ต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำพรหมบุตร (ในอัสสัมของอินเดีย)
ลาวลุ่มน้ำสาละวิน ถูกเรียกสมัยหลังว่า ลาวพุงดำ เพราะสักลายด้วยหมึกสีคล้ำตามตัวตั้งแต่บั้นเอวลงไปถึงแข้ง (ขา) คนพวกนี้ออกเสียง ท เป็น ต และ พ เป็น ป
ไทยใหญ่ยังถูกเรียกจากชาติพันธุ์อื่นๆ อย่างดูถูกเหยียดหยามเป็นสัตว์เลื้อยคลานว่า เงี้ยว แปลว่า งู (เหมือนคำว่า เงือก, งึม)
เหตุที่ได้นามไทยใหญ่ เพราะผู้คนรับศาสนาจากชมพูทวีป แล้วเติบโตเป็นบ้านเมืองก่อนพวกอื่น
แม่น้ำสาละวินเป็นชื่อในภาษาพม่า (แปลว่าต้นตาล) แต่พวกลาวเรียก น้ำแม่คง หรือแม่น้ำคง (ความหมายเดียวกับคำว่า ของ ในชื่อน้ำแม่ของ หรือแม่น้ำโขง มีรากจากภาษามอญว่า โคลฺ้ง แปลว่า ทาง, เส้นทางคมนาคม)

เมืองไทย

กรุงศรีอยุธยาเป็นชื่อทางการ ส่วนสามัญชนคนทั่วไปเรียกกรุงศรีอยุธยาว่า เมืองไทย อยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันเป็นขอบเขตของรัฐอยุธยาที่มีพระนครศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง
ตอนบนเหนือสุดราว จ.อุตรดิตถ์ และตอนล่างใต้สุดราว จ.เพชรบุรี พ้นออกไปเป็นคนอื่น ซึ่งไม่ไทย

สยาม

สยาม เป็นชื่อดินแดน ที่คนพวกอื่นซึ่งอยู่ภายนอกใช้เรียกบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำโขงตอนบนอย่างกว้างๆ หลวมๆ แต่สมัยหลังมีขอบเขตแคบลงเหลือเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง (ที่บางครั้งยาวต่อเนื่องลงไปถึงนครศรีธรรมราช)
สยามมีรากจากคำพื้นเมืองดั้งเดิมว่า ซัม, ซำ, หรือ สาม หมายถึงบริเวณที่มีน้ำซึมน้ำซับ เป็นตาน้ำพุน้ำผุดโผล่ขึ้นจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน
น้ำซึมน้ำซับหรือตาน้ำพุน้ำผุดเหล่านั้น เกิดจากน้ำฝนที่รากต้นไม้อุ้มไว้ทั้งบนภูเขา และบนเนินดอน แล้วค่อยๆ เซาะซอนใต้ดินมาพุมาผุดขึ้นบริเวณดินอ่อนหรือดินโคลนที่ราบเชิงเขาหรือเชิงเนินดอน จนบางแห่งกลายเป็นที่ลุ่มห้วยหนองคลองบึงบุ่งทาม เช่น หนองหานหลวงที่สกลนคร, หนองหานน้อยที่อุดรธานี, บึงบอระเพ็ดที่นครสวรรค์ เป็นต้น
สยามไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์หนึ่งใดโดยเฉพาะ แต่ใช้เรียกกลุ่มคนที่อยู่ดินแดนสยาม โดยไม่จำกัดชาติพันธุ์หรือชาติภาษาว่าชาวสยาม แต่มักสื่อสารกันทั่วไปด้วยภาษาไทย (ตระกูลภาษาไต-ไท ซึ่งเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน)
คนเกิดมาไม่ว่าชาติพันธุ์อะไร (แม้เป็นตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ฯลฯ) ถ้ามีหลักแหล่งอยู่ในดินแดนสยามแล้ว ถูกเรียกเหมาหมดว่าชาวสยาม
เช่น คนนานาชาติพันธุ์บริเวณสองฝั่งโขงที่มีเวียงจันเป็นศูนย์กลาง เคยถูกเรียกว่าพวกสยาม ด้วยคำเขมรว่า เสียมกุก หรือ เสียมก๊ก คือสยามก๊ก เมื่อเรือน พ.ศ.1650 (มีคำจารึกและภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด)
ชาวยุโรปเรียกกรุงศรีอยุธยาว่าสยาม หรือราชอาณาจักรสยาม ต่อมาเรียกกรุงรัตนโกสินทร์ว่าประเทศสยาม