คำ ผกา : ยังสบายดี ?

ฉันไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นอย่างไรกันบ้างกับการอยู่ในสังคมการเมืองที่ปราศจากการเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อปราศจากการเลือกตั้ง นั่นหมายความว่า การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ การออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การตรวจสอบ ถ่วงดุลรัฐบาล จากอำนาจสามฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ย่อมมีความทับซ้อนกันจนยากจะชี้ได้ว่ามีการถ่วงดุลหรือไม่อย่างไร

ไม่ต้องพูดถึงสิทธิของประชาชนในการกำหนดอนาคตของตนเองผ่านนโยบายสาธารณะเหล่านั้น

ไม่นับหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย

สมมุติว่าเราใช้ชีวิตในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่อเนื่องกันยาวนาน 10 ปี นั่นหมายถึงเวลาทั้งหมด 3,650 วัน

และน่าสนใจว่าเวลา 3,650 วันนี้ทำอะไรกับเราบ้าง?

อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ด้วยเงื่อนไขทางการหล่อหลอมทางอุดมการณ์ในสังคมการเมืองไทยนั้น ไม่ได้เอื้อต่อการเกิดและเจริญงอกงามของแนวคิดประชาธิปไตยอยู่แล้ว

ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา สังคมไทยค่อนข้างมีฉันทามติร่วมกันว่า การเมืองเป็นเรื่องสกปรก เป็นเรื่องการช่วงชิงผลประโยชน์ของนักการเมือง พรรคพวก คือการสุมหัวกันคอร์รัปชั่น หลอกลวงชาวบ้านโง่ๆ ให้เห็นแก่ผลประโยชน์เล็กน้อยที่นักการเมืองเอามาล่อ

ด้วยปัจจัยเช่นนี้ทำให้คนไทยโดยทั่วไปไม่ได้รู้สึกเป็นมิตรกับประชาธิปไตยเท่าไหร่นัก

ยิ่งชนชั้นกลางที่มีการศึกษาที่คิดว่าตนเองรู้เช่นเห็นชาตินักการเมืองก็ยิ่งรังเกียจนักการเมือง

แต่สำหรับคนเกิดมาทันพฤษภาทมิฬ 2535 ย่อมจำได้อีกว่า แม้คนไทย สังคมไทยจะเกลียดนักการเมืองและไม่ชอบประชาธิปไตยที่อิงอยู่กับเรื่องการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว อย่างน้อย คนเหล่านั้นหรือสังคมไทยโดยรวมก็ไม่เห็นว่าการปฏิวัติรัฐประหารคือเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ

เพราะหากเชื่อเช่นนั้นคงไม่มี พฤษภา 35 (ทั้งๆ ที่การรัฐประหารอ้างเรื่องการคอร์รัปชั่นหรือบุฟเฟ่ต์คาบิเน็ต) และอย่างน้อยที่สุด การเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากนั้นเป็นเรื่องของการหากลไกประชาธิปไตยที่เป็นมากกว่าการเลือกตั้งมาใช้

เช่น ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ

รัฐธรรมนูญปี 2540 พยายามจะสร้างความเป็นสถาบันให้กับพรรคการเมือง

พยายามสร้างการเมืองที่เป็นระบบสองพรรคใหญ่ เพื่อให้คนสนใจนโยบายมากกว่าตัวบุคคล

และที่ถือเป็นเรื่องก้าวหน้าทางประชาธิปไตยอย่างยิ่งคือวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (โอ้ววววว ยังจำได้ไหมว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีอะไรแบบนี้ด้วย)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เชื้อมูลแห่งความรังเกียจนักการเมือง ทำให้สังคมไทยเชื่อว่าการมี “องค์กรอิสระ” จะ “กำราบ” ความชั่วร้ายของนักการเมืองได้ และมาช่วยเสริมอำนาจถ่วงดุลของฝ่ายค้านในสภา

ทว่า ตอนนั้นไม่มีใครเอะใจจะถามว่า อ้าววว แล้วใครตรวจสอบองค์กรอิสระ หรือแค่การเป็นคนดี ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็เพียงพอแล้วที่เราจะวางใจว่าคนเหล่านี้ย่อมไม่มีประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ล้วนแต่ซื่อสัตย์ สุจริต

แต่ก็นั่นแหละ ในเวลานั้น สังคมไทยอาจจะเชื่อมั่นในองค์กรอิสระ นับถือเครือข่ายคนดี เอ็นจีโอ ปราชญ์ชาวบ้าน

แต่เราแทบไม่ได้ยินเสียงใครบอกว่า ถ้าบ้านเมืองมีปัญหาทหารคือฮีโร่ที่จะเข้ากอบกู้ทุกอย่าง

ตรงกันข้าม อารมณ์ของสังคมไทยหลัง 2535 ถึงก่อน 2549 นั้นออกจะมีความเห็นตรงกันว่า การเมืองเป็นเรื่องของพลเรือนเท่านั้น

บทบาทของทหารจางลงในห้วงเวลานั้นจนนักรัฐศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์ถึงกับบอกว่าเมืองไทยตกอยู่ในสภาวะไทยเป็น “รัฐตำรวจ”

เมื่อมองย้อนกลับไปจึงไม่น่าเชื่อเลยว่า ในชั่วเวลาไม่กี่ปี “อารมณ์” ของสังคมไทยเปลี่ยนจากยุคหลังพฤษภาทมิฬ จากหน้ามือเป็นหลังมือ

ชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักกิจกรรม เอ็นจีโอ นักหนังสือพิมพ์ นักธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้า ที่เคยต่อสู้เพื่อความยั่งยืนของอุดมการณ์ประชาธิปไตย พร่ำเพ้อถึงประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม บูชาการออกมาต่อสู้กับรัฐบนท้องถนน ประณามรัฐบาลที่ปิดปาก จับกุมประชาชน ฯลฯ คนเหล่านี้กลับมาเป็นหัวหอกในการทำลายประชาธิปไตยเสียเอง

เพราะเชื่อว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เอาทักษิณและระบบทักษิณออกไปก่อน ออกไปจนสะเด็ดน้ำแล้วค่อยปฏิรูป ฟื้นฟูประชาธิปไตยกันขึ้นมาใหม่ ไม่เห็นจะมีอะไรยาก

ตรงกันข้าม “ชาวบ้าน” ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประสีประสาทางการเมือง ถูกหลอกอยู่เรื่อย จนกลายเป็นคนจนซ้ำซาก ไร้การศึกษา กลับกลายเป็นกลุ่มคนที่ออกมาปกป้องระบบการเลือกตั้งและอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างไม่คิดชีวิต (และจำนวนมากก็ได้แลกไปด้วยชีวิต)

พวกเขาอาจจะไม่ได้มีความรู้ หรือการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีการเมืองใดๆ แต่การได้เลือกตั้ง และได้เห็นมรรคผลจากการทำงานของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนเองเลือกเข้าไป

เหนือไปกว่าประเด็นคอร์รัปชั่น ความดีงาม ศีลธรรม “ชาวบ้าน” ไม่ได้ “ลำไย” กับประเด็นเหล่านี้เท่ากับการตระหนักว่า เสียงของตนเองบันดาลความเปลี่ยนแปลงทางเมืองเชิงผลประโยชน์ที่จับต้องได้

สิ่งที่ชนชั้นกลาง ผู้บ้าคลั่งเรื่องความดี (ฝันถึงการเมืองที่บริสุทธ์ผุดผ่อง ไม่กินไม่โกง) ไม่เข้าใจ คือ ในการเลือกตั้งภายใต้กติกาประชาธิปไตย (แบบเต็มไปด้วยการโกงกิน การคอร์รัปชั่น) ชาวบ้านให้ความสำคัญกับอำนาจของพวกเขาในฐานะพลเมืองที่สามารถ “กำกับ” หรือ “ต่อรอง” กับ ส.ส. หรือตัวแทนของพวกเขาได้ มากกว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่อง “คอร์รัปชั่น”

การที่ชาวบ้านเปลี่ยนสถานะจากผู้รับการสงเคราะห์จากหน่วยงานภาครัฐ มาเป็น “ผู้มีเสียงทางการเมือง” และรู้สึกว่าตนเองสามารถกำหนดชะตาชีวิต ออกแบบอนาคตของตนเองได้ผ่านนโยบายของพรรคการเมืองที่ตนเองสนับสนุน

จุดนี้ คือจุดที่ชาวบ้านผู้ไม่ได้เรียนหนังสืออะไรมามาก เห็นว่าสำคัญกว่าเรื่องคอร์รัปชั่น บลา บลา บลา ไม่ได้แปลว่า เขาคิดว่าคอร์รัปชั่นดี แต่ถ้ามีคอร์รัปชั่น มันก็มีกระบวนการทางกฎหมาย มีองค์กรอิสระ มีสื่อ มีฝ่ายค้าน ที่จะไปจัดการอยู่แล้ว

หน้าที่ของ “ชาวบ้าน” อย่างเรามีอย่างเดียวคือ เลือกผู้แทนที่ทำประโยชน์ให้กับตัวเรา เขตของเรา มีนโยบายถูกใจเรา เท่านั้นเอง

และมันก็เป็นเรื่องที่ตัวฉันเองประหลาดใจมาจนถึงทุกวันนี้ว่า อยู่ๆ กระแสปราบโกง เกลียดคอร์รัปชั่นก็ถูกกระพือโหม จนกลายเป็นปทัสถานอันถูกต้องชอบธรรมของสังคมว่า ไม่มีประชาธิปไตยก็ได้ ขอให้ได้ปราบโกง ปราบคนชั่ว ให้ราพณาสูรก่อน

ซึ่งคนที่สติดีๆ เขาไม่แลกประชาธิปไตยกับอะไรแบบนี้ (ที่แสบมากคือ ปัจจุบัน ประชาธิปไตยก็ไม่มี แต่การคอร์รัปชั่นก็ไม่ได้หมดไปสักนิด)

เกือบทศวรรษที่เราอยู่ในสังคมที่ไม่มีการเลือกตั้งและไม่มีปฏิบัติการในชีวิตประจำวันใดๆ ที่จะทำให้เราได้ระลึกถึงแก่นสารของอุดมการณ์ประชาธิปไตย ฉันคิดว่าทีละเล็กทีละน้อย เราค่อยๆ ลืมไปแล้วว่าประชาธิปไตยสำคัญและจำเป็นต่อชีวิตของเราอย่างไร

ยิ่งเราอยู่ในสังคมที่ไม่ได้หันหลังให้ทุนนิยม เรายิ่งไม่รู้สึกว่าชีวิตเราขาดอะไร สตาร์บัคส์ก็มีให้ดื่ม ห้างสรรพสินค้า โรงหนัง คอนเสิร์ต ร้านอาหารดีๆ แฟชั่น เสื้อผ้า ฯลฯ

ในแง่ของการบริโภค เรามีทุกอย่างเหมือนประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยทุกแห่งในโลกมี

เราไม่ใช่สังคมที่จับเกย์มาเฆี่ยนกลางเมืองเพื่อประจาน ไม่ได้บังคับผู้หญิงสวมกระโปรงคลุมตาตุ่ม

ไม่ได้กีดกันผู้หญิง กะเทยไม่ให้ทำงานนั้นงานนี้

มิหนำซ้ำ เรายังเป็นประเทศที่ดูเผินๆ สถานะของผู้หญิงดูจะดีกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ และใครๆ ก็บอกว่าการเป็นกะเทยในประเทศไทยก็ได้รับการยอมรับมากกว่าประเทศประชาธิปไตยบางประเทศเสียอีก

เสรีภาพที่ในบางมิติที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือนี่เอง ที่ทำให้การขาดหายไปของเสรีภาพทางการเมืองไม่เคยเป็นปัญหาของคนไทยจำนวนมาก

ยิ่งหากคนเหล่านั้นคือคนที่ conform ต่อคุณค่าทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ พวกเขายิ่งไม่มีอะไรต้องเดือดร้อนเลย

รถติด น้ำท่วม ปัญหามลพิษ การไม่มีพื้นที่สาธารณะ โอกาสทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำ ชาวนาขายข้าวไม่ได้ราคา ฯลฯ เหล่านี้ เป็นปัญหาโลกแตก

ตอนที่อยู่กับรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่เห็นมันจะดีกว่านี้ หรือไม่เห็นใครจะมาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้น ไม่เกี่ยวหรอกว่าประเทศจะอยู่ภายใต้ระบบไหน ยังไง ถ้าฝนตก น้ำก็ต้องท่วม กทม. อยู่วันยังค่ำ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำเหรอ ยิ่งเป็นประชาธิปไตยยิ่งเหลื่อมล้ำป่าว? เพราะนักการเมืองมันก็เอาพวกพ้องมันเท่านั้นแหละ

เหล่านี้คือสิ่งที่คนหนุนระบบอำนาจนิยม และกลัวการเลือกตั้งอ้างเสมอ

กว่าหนึ่งทศวรรษผ่านไป ฉันต้องมาได้อ่านและได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะได้อ่านและได้ฟัง เช่น

รองอธิการบดีด้านกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งออกมาบอกว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาแสดงออกทางการเมืองในพาเหรดล้อการเมือง!!! ขอบคุณ และนักศึกษาคือผู้ปลุกจิตสำนึกของคนในสังคมผ่านการล้อการเมืองนี้!

หรือต้องมาได้อ่านคำถามของโพลว่า ประชาชนไม่อยากให้เลือกตั้งเพราะกลัวความวุ่นวายทางการเมืองใช่หรือไม่? ซึ่งผลโพลก็ออกมาว่า “ใช่”

อ่านแล้วมันชวนให้ตกใจแต่ไม่มีใครตกใจ!

ในสากลโลก การเลือกตั้งและการอยู่กับเสียงข้างมากคือเครื่องมือในการยุติความขัดแย้ง ความรุนแรง และความวุ่นวายในสังคม แต่ในเมืองไทย การเลือกตั้งกลับเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความวุ่นวาย

ดังนั้น จะดีกว่าถ้าไม่มีแล้ว เราได้อยู่กันแบบสงบเรียบร้อย

เพียงไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ สิ่งที่เรียกว่าปทัสถานใหม่เกิดขึ้นอย่างที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ทั้งหมดนี้ทำให้ฉันนึกถึงตอนหนึ่งในสุนทรพจน์ของ Chimamanda Ngozi Adiichie นักเขียนชาวไนจีเรีย ที่วัยเด็กของเธออยู่ภายใต้ระบบหลังรัฐประหาร เธอบอกว่า

“I know how injustice becomes normal…We collectively lower our standard, so that the unacceptable things become not so bad”

“ฉันรู้ว่าความอยุติธรรมกลายเป็นความสามัญปกติได้อย่างไร พวกเราพร้อมใจกันลดมาตรฐานของตัวเองลงเพื่อให้สิ่งที่ยอมรับไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่ก็ไม่ได้แย่อะไรนัก”

ทีละน้อย และไม่รู้ตัว เราค่อยๆ สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเราเองจนทนทานต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ