อภิญญ ตะวันออก : ลงแวกรำลึก (1)

ตอนเขียนงานชุด “อันบามุน” พ่อมวยนักสู้และคนติดคุกหลายปีก่อน ฉันเผอิญค้นหาเกาะตรอลาจ ทัณฑสถานที่ตัวเอกของเรื่องต้องติดคุกอยู่บนเกาะแห่งนั้น ซึ่งเกาะที่พี่บองอันบา (มุน) แกถูกส่งไปลงโทษนั้น มีชื่อว่าเกาะตรอลาจ

โดยคำว่า “ตรอลาจ” ที่ชาวเขมรเรียกนั้น มิใช่อื่นใด แต่เป็นพืชผักชนิดหนึ่ง มีลักษณะเหมือนน้ำเต้าหรือผลฟัก (แฟง) ในภาษาพื้นบ้าน สันนิษฐานโดยฉันเองว่า น่าจะมีพืชชนิดนี้อยู่มากบริเวณดังกล่าว แต่ในเขมรนั้น ส่วนใหญ่มีที่มาจากชื่อทางภูมิศาสตร์และพฤกษศาสตร์ทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับราชธานีลงแวก (ไทย : ละแวก) แห่งสรฺ๊กตรอลาจ อำเภอหนึ่งของจังหวัดกำปงฉนัง

นั่นเอง แต่กระนั้น ราชธานีเก่าแก่ของเขมรแห่งนี้ก็ใช่จะมีใครจดจำ เมื่อเทียบกับเมืองพระนคร อุดง (เมียนชัย) จตุมุขหรือพนมเปญ

แม้ว่าชัยภูมิแห่งทำเลของลงแวกจะไม่แตกต่างกับจตุมุข กล่าวคือ เป็นเมืองอกแตก เป็นทางแพร่งของแม่น้ำมาบรรจบกันเป็นสี่แพร่ง อันเป็นชัยภูมิที่เหมาะต่อการศึกอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ เมื่อทัพสยามเคยยกไปตีเขมรครั้งแรกจึงหลงทัพ ไป “ลงแวก” ไม่ถึงในครั้งแรก เพราะเข้าใจผิดคิดว่า อยู่บริเวณเดียวกับราชธานีเก่าอย่างเมืองพระนคร

ผลก็คือ ถูกทัพเจ้ากรุงที่ยกมาต้านตีแตกจนพ่ายยับ ณ ทุ่ง “เสียมเรียบ” จนกลายเป็นชื่อเรียกกันทุกวันนี้

“ลงแวก” จึงดูเป็นเหมือนยาขมที่ท้าทายสำหรับทัพเสียมสมัยนั้น ราชธานีเล็กๆ ที่ได้เชื่อว่า สร้างขึ้นมาจากความพยายามที่จะหลีกเร้นภัยสงครามจากประเทศเพื่อนบ้าน จนกลายเป็นนครอันลึกลับอีกแห่งหนึ่งไปด้วยประการฉะนี้?

ดูอย่างแผนผังของเมืองนั่นปะไร ตั้งแต่แรกเห็น ฉันก็คิดไปว่า นี่คือผลตรอลาจ กล่าวคือ มีลักษณะเหมือนตัวหนอน เป็น “วงรี” เล็กๆ คล้ายกับลูกฟักประมาณหนึ่ง

ลายแทง/แผนที่ที่เขียนโดยชาวโปรตุเกสฉบับนี้ นับเป็นหลักฐานทางอัตลักษณ์เดียวของลงแวกที่น่าพิศวงมากตลอดสี่ร้อยปี และสำหรับนักประวัติศาสตร์ยุคนี้ ที่พากันเชื่อมาตลอดว่า เขตคามของลงแวกนี้ มีลักษณะ “รี” ตามแผนที่โบราณฉบันดังกล่าว

แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่

 

จากการสำรวจภาพถ่ายทางอากาศไม่นานมานี้ พบว่า ผังเมืองของลงแวกมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม นักวิชาการเขมรฝ่ายหนึ่งถึงกับตีความว่า ราชธานีใหม่ลงแวกสมัยนั้น น่าจะใช้พิมพ์เขียวเดียวกันกับเมืองนครทม (เวือน วุทธี : หัวหน้าเขตวัฒนธรรมกำปงฉนัง)

และว่า เหตุที่พระบาทองค์จันราชาออกแบบกรุงลงแวกเช่นนั้น ก็เพราะต้องการปกป้องราชนีให้พ้นภัยจากสงครามด้วยการสร้างกำแพงล้อมเมืองถึง 5 ชั้น และยังป้อมประจำแต่ละกำแพงไว้ 8 ทิศ

ตาม “เอกสารมหาบุรุษเขมร” ของกัมพูชา ที่อ้างจากบันทึกโปรตุเกสกล่าวว่า ที่ตั้งของลงแวก กล่าวคือ มีการวางหินทมอขนาด 6 วา และสูง 22 ศอก มีคูน้ำและแม่น้ำตนเลล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ทว่า ที่พิเศษของลงแวกคือ มีลักษณะเป็นบึงและแม่น้ำล้อมรอบ ด้วยจำนวนแปรกหรือคลองเล็กๆ จำนวนมาก ซึ่งบริเวณคูคลองกำแพงเมืองนั้น แม้จะยังไม่มีการสำรวจ แต่ก็ยังมีร่องรอยให้เห็น ถึงถนนและคูคลองโดยมีดงป่าไผ่ที่ยังเหลือบ้างในปัจจุบันปกคลุมไว้อย่างชัดเจน

นับเป็นชัยภูมิธรรมชาติที่เหมาะต่อการเป็นราชธานี กระนั้น “พระบาทจันเรียดเจีย/องค์จันราชา ก็ทรงบัญชาให้เกณฑ์ชาวบ้านตัดต้นไม้ ถมหิน สร้างบันทายปราการและเขตพระราชฐานชั้นใน โดยมีกำแพงป้องถึง 5 ชั้น มีคูน้ำล้อมรอบป้อมบันทาย นอกจากนี้ ยังให้ราษฎรปลูกไผ่ดำขนาดเป็นเขตกำแพงยาวถึง 160 เมตร เป็นจำนวนถึง 2 ชั้น”

ว่ากันว่า กำแพงอันเป็นเหมือนถนนรอบเมืองนี้นั้น มีความยาวกว่า 2 กิโลเมตร กว้าง 4 เมตร และสูงราว 6-10 เมตร ประกอบด้วยประตู 8 ด้าน มีโรงช้างศึกและม้าศึก หน่วยพลยามปืนใหญ่ถืออาวุธประจำการ บริเวณกำแพงชั้นแรก

ส่วนภายในชั้นกำแพงที่ 2 ประกอบด้วยศาลาประชุมว่าความ ทั้งศาลาปฐมและศาลาอุทร มีหน่วยพลทหารปืนยาวยืนประจำการ

ส่วนในกำแพงที่ 3-4-5 เป็นเขตพระราชฐานที่ประทับของเหล่าเสด็จ, ทำเนียบเจ้านายฝ่ายใน และส่วนทำการมุขมนตรี โดยเป็นที่ทราบดีว่า พระราชวังคือบริเวณชั้นในสุด ซึ่งบันทึกว่า “วิจิตรสวยงามด้วยยอดปราสาท 5 องค์”

จึงไม่แปลกที่นักวิทูเขมรจะตีความว่าลงแวกจำลองแบบมาจากเมืองพระนคร และพิมานแห่งนี้ ก็ทำลายอย่างไม่เหลือซากภายในไม่กี่รัชกาลต่อมา

จนทำให้ลงแวกยังเป็นเหมือนนครปรัมปราแห่งจินตนาการแห่งการถวิลหาของชาวกัมพูชาจนบัดนี้

 

แต่ก่อนจะไปถึงความเป็นราชธานีอันลึกลับของลงแวกนี้ ขอกล่าวถึงพงศาวดารไทยอีกฉบับหนึ่ง บันทึกโดยทองสืบ ศุภมาร์ค

“ข้าพเจ้าเห็นว่า ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารเขมรนั้น ควรจะบริสุทธิ์ยุติธรรม” ทองสืบ ศุภมาร์ค กล่าวในคำนำ ทั้งนี้ เพื่อให้การเรียบเรียง “พระราชพงศาวดารเขมร” มีความถูกต้องกว้างขวางอีกชั้น (2526)

โดยมีตอนหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงสงครามไทย-ลงแวก ว่ามาจากที่กษัตริย์เขมรบิดพลิ้วไม่ยอมส่งคืนช้างเผือกซึ่งเคยถวายให้ต่อกษัตริย์อยุธยา ด้วยเหตุนี้ สยามจึงยกทัพใหญ่ทางน้ำ เข้าตีละแวกจนแตกพ่าย

ในพงศาวดารฉบับอื่นนั้น อ้างว่า มาจากที่ไทย (สมัยสมเด็จพระนเรศวร) ติดศึกกรุงหงสา และระหว่างนั้น เจ้ากรุงเขมรก็มักจะลอบส่งทัพมาตีหัวเมืองชายขอบ กวาดต้อนราษฎรอยู่เนืองๆ จนเมื่อเสร็จศึกฟากตะวันตกแล้ว ไทยจึงหมายกำราบเจ้ากรุงลงแวกเสียให้เด็ดขาด

ซึ่งก็เผด็จศึกกรุงลงแวกจนแตกพ่าย ณ วันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ.2137

พงศาวดารฉบับนี้ ยังกล่าวว่า ในจำนวนเชลยเหล่านั้น มีฝรั่ง 2 คน คนหนึ่งมีฐานะเป็นสวามีเจ้าหญิงเขมรคือนายดีเออโค เบลโลโซ ชาติโปรตุเกส และอีกสหายคนหนึ่ง คือนายบลาสสรุยซ์ ชาติสเปญ กล่าวกันว่า บุรุษสองคนนี้ มีบทบาทอย่างมากในราชอาณาจักรลงแวก

“โดยเมื่ออยู่ในกรุงศรีอยุธยา ได้ออกอุบายหลอกลวงไทยว่า ที่เกาะฟิลิปปินส์ของสเปนมีปืนใหญ่มาก ถ้าไทยต้องการก็จะช่วยไปเจรจาซื้อให้ ไทยตกลงให้ฝรั่ง 2 คนนั้นลงเรือไปพร้อมกับข้าราชการไทย แต่ฝรั่ง 2 คนนั้นก็จับข้าราชการไทยฆ่าตายหมด”

และอ้างจากจดหมายเหตุสเปนตอนหนึ่ง บันทึกว่า “เมื่อฝรั่ง 2 นาย ได้สังหารทางการไทยแล้ว ก็นำเรือพร้อมด้วยเงินทองข้าวของไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากฟิลิปปินส์ กลับมาก่อการกบฏขึ้นในเมืองเขมรเมื่อ พ.ศ.2139 อันตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาเชิงไพร”

อ้างกันว่า พระรามาเชิงไพรนั้น เป็นเชื้อพระวงศ์องค์หนึ่ง ซึ่งเมื่อไทยยึดลงแวกได้แล้ว ก็หารักษาเมืองหนักแน่นไม่ แต่ทิ้งทหารไว้เพียงจำนวนหนึ่ง ต่อมาพระรามาเชิงไพรจึงยกทัพมาขับไล่จึงยึดเมืองได้ กระนั้น ก็ทิ้งลงแวกไปตั้งราชธานีที่ศรีสุนธร

ส่วนดีเออโค เบลโลโซ และบลาสสรุยซ์นั้น ด้วยกุศโลบายอันแยบยลจากสมบัติต่างๆ และเรือซึ่งยึดได้ จึงกลับไปลงแวก พระรามาเชิงไพรยกทหารมาปราบ แต่สู้ฝรั่งไม่ได้ ถูกจับตัวและฆ่าทิ้งที่เมืองเชิงไพรในปี พ.ศ.2139 นั่นเอง

 

อันเกี่ยวกับอิทธิพลชนต่างชาติกรุงลงแวกนี้ พบว่า จากโครงการสำรวจศึกษา โดยสถาบัน Nara จากญี่ปุ่นและ Clinder จากออสเตรเลียที่ร่วมกันทำวิจัยราชธานีเก่ากัมพูชาที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 นั้น

นักโบราณวิทยาทั้งสองสถาบัน ยังพบหลักฐานบางอย่าง (ที่อาจสนับสนุนบันทึกพงศาวดารของไทยและเขมร) กล่าวคือ พบเครื่องใช้ราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 สมัยลงแวกที่นำเข้าจากต่างแดน เช่น ถ้วยจานชามจากชาวสยาม/เสียม และจากจีน สันนิษฐานว่า ลงแวกนั้น ได้ติดต่อกับต่างชาติ ทั้งเรื่องศึกสงครามและการค้า

การพบแหล่งผลิตอาวุธบริเวณบึงสำริดใกล้ๆ กับราชธานีนั้น บ่งชี้ถึงความสามารถของพระบาทองค์จันเรียดเจียผู้สร้างลงแวก และเปิดปฏิสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับต่างชาติ จนกล่าวว่า พระองค์น่าจะนำอาวุธเหล่านี้มาจากพวกยุโรป

ซึ่งเมื่อดูจากหลักฐานบันทึกของสเปนที่เกี่ยวกับเกาะฟิลิปปินส์ก็พบว่า มีการนำอาวุธดังกล่าวมาทางเรือโดยชาวสเปน

แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่า มีเชลยต่างชาติ 2 คนที่ต่อมาได้กบฏต่อสยาม สังหารเจ้าหน้าที่ของไทยที่ลวงไปค้าอาวุธ และกลับมากอบกู้ราชบังลังก์ให้เจ้ากรุงกัมพูชา มีบรรยายไปถึงชีวิตต่อมาของดีเออโค เบลโลโซ และบลาสสรุยซ์โดยกล่าวว่า

หลังจากสังหารพระรามาเชิงไพร ณ เมืองเชิงไพรแล้ว เพื่อผู้หาผู้สืบราชบัลลังก์ที่ว่างอยู่ ทั้งสองได้พาออกตามหากษัตริย์ราชวงศ์ลงแวกซึ่งหนีภัยสงครามไปเมืองสตึงแตรงและนักองค์ตนที่หนีไป ถึงเวียงจันทร์ จนต่อมา ทั้งดีเออโค เบลโลโซ และบลาสสรุยซ์ ต่างได้รับบำเหน็จความดีความชอบด้วยการปกครองเมืองตะโบงฆมุมและเมืองตรัง (ตาแก้ว)

แต่ก็มาถูกสังหารโดยชาวพื้นเมืองต่อความโหดร้ายของพวกเขา ตามที่พงศาวดารของไทยฉบับนี้กล่าวไว้

แม้จะมีหลักฐานอันสอดคล้องอื่นๆ จากนักโบราณวิทยาแห่งลงแวกชุดปัจจุบัน ที่แม้จะไม่ได้มุ่งหาคำตอบเกี่ยวกับพงศาวดารทั้งฝ่ายเขมรและไทย

แต่ลงแวกไม่เคยตาย และการขับขานความเป็นอมตะนั้น ช่างสุดพิสดาร