คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ฆราวาสบรรลุธรรม?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เมื่อแรกตั้งใจว่าจะเขียนเรื่อง “อาหารกับศาสนา” ต่อกันหลายๆ ตอน เพื่อจะได้เป็นซีรี่ส์ประเด็นที่ผมสนใจไปเลยยาวๆ

ทว่าด้วยสถานการณ์เกี่ยวกับศาสนาในตอนนี้ ผมจึงคันไม้คันมืออยากเขียนอะไรนอกเรื่องที่คิดไว้สักหน่อย

จึงต้องขออภัยท่านผู้อ่านมา ณ ที่นี้

 

สังคมไทยกำลังถกเถียงกรณีที่คุณอัจฉราวดี เจ้าของหนังสือ “ฆราวาสบรรลุธรรม” พูดถึงพระภิกษุอลัชชีอะไรทำนองนั้น ซึ่งทำให้พระภิกษุหลายรูปเดือดเดือด

แต่ดูเหมือนคนทั่วไปจะสนใจประเด็นที่กล่าวกันว่า คุณอัจฉราวดีอ้างว่าบรรลุธรรม และมีปาฏิหาริย์อะไรต่างๆ มากกว่า

หนังสือที่สร้างชื่อให้คุณอัจฉราวดี คือ “ฆราวาสบรรลุธรรม” เข้าใจว่ามีหลายเล่มแล้ว

ถ้าติดตามกันมาพอสมควร ผมคิดว่าท่านผู้อ่านคงเดาได้ว่าท่าทีของผมต่อเรื่องนี้ คงเป็นการยืนยัน “เสรีภาพทางศาสนา” ที่กลุ่มของคุณอัจฉราวดีและตัวคุณอัจฉราวดีเองจะเชื่ออย่างไรก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่มีการละเมิดสิทธิหรือกระทำผิดกฎหมายต่อผู้อื่น

กระนั้นก็ต้องย้ำด้วยว่า ในพื้นที่สาธารณะแล้ว ความเชื่อและคุณอัจฉราวดีเองก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นกัน

 

ที่จริงประเด็นการอ้างว่า “บรรลุธรรม” นี้ออกจะเป็นสิ่งคลุมเครืออยู่ในทุกยุคสมัยของทุกๆ ศาสนา (หากจะเปรียบเทียบและเรียกด้วยคำอื่นๆ เช่น เข้าถึงสัจธรรม ลุถึงพระเจ้า ฯลฯ) เพราะเรื่องนี้เป็นประสบการณ์ “ส่วนตัว” ซึ่งยากจะพิสูจน์

หากจะพิสูจน์เรื่องนี้ก็ไม่มีเครื่องมืออะไรที่ชัดเจนขนาดเป็นที่ยอมรับของทุกคนได้ ในขณะเดียวกันศาสนาก็ให้คุณค่าแก่การบรรลุธรรมไว้สูงมาก

แต่ผมคิดว่าการให้คุณค่าในแง่นี้เป็นการให้สำหรับชีวิตทางศาสนา (ส่วนตัว) ของ “ปัจเจกบุคคล” แต่ละคน ไม่ได้ให้เอาไว้สำหรับประกาศแจ้งต่อสาธารณะ

หากมองจากเจตนารมณ์พุทธศาสนาเองก็น่าจะมีท่าทีชัดในเรื่องนี้ เช่น กรณีพระวินัย หากพระภิกษุบอกว่าตนบรรลุธรรม (หรือมีคุณวิเศษต่างๆ) แก่ชาวบ้าน ถ้าไม่จริงโทษถึงปาราชิกคือขาดจากความเป็นพระ แม้จริงก็ยังผิดเป็นอาบัติเล็กน้อยอยู่ดี

คือจริงก็ไม่ควรไปโพนทะนา ยิ่งไม่จริงแต่ไปป่าวประกาศก็ถือว่าเป็นโทษทางพระวินัยสูงสุด

แต่การบรรลุธรรมมันช่างดูเย้ายวนหอมหวานเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะกับบรรดาศิษย์หา ก็ใครๆ ต่างอยากมีพระอรหันต์เป็นอาจารย์ด้วยกันทั้งนั้น

การบรรลุธรรมจึงกลายเป็นสิ่งดึงดูดศรัทธาต่อผู้คนได้มาก หากพูดด้วยภาษาปัจจุบันคือเป็นตำแหน่งทางการตลาดที่ดี เพราะผลกระทบสูง ดึงดูดมากแต่คลุมเครือ พิสูจน์ยาก

 

สําหรับผมแล้ว การบรรลุธรรมของครูบาอาจารย์หรือใครก็ตาม ไม่ได้สำคัญเท่ากับ “ความสัมพันธ์” และความรู้สึกที่เราและครูมีต่อกันในสายธรรมปฏิบัตินั้นๆ เพราะการบรรลุธรรมไม่ได้การันตีว่า ครูบาอาจารย์เหล่านั้นจะเป็นครูที่ดีของเราได้

ความรักอย่างจริงใจต่อเรา การไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง และความตั้งใจที่จะสอนธรรมต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญต่อการเลือกครูบาอาจารย์ในทางจิตวิญญาณ

ถ้าท่านบรรลุธรรมแล้ว นั่นก็เป็นเรื่องดี (แต่เราจะไปทราบได้อย่างไร) แต่หากท่านยังไม่บรรลุ ก็ไม่เป็นไร เป็นเพื่อนกันไปในหนทาง

ผมคิดว่าเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยวนเวียนอยู่กับการแสวงหาผู้บรรลุธรรม คือการคิดว่าการบรรลุธรรมเป็นประสบการณ์พิเศษที่ยากจะเกิดขึ้นในชีวิตของคนธรรมดา เราถึงฝากความหวังของการบรรลุธรรมไว้กับผู้อื่นที่ประเสริฐกว่าเรามากๆ และหวังว่าผู้บรรลุธรรมจะช่วยให้เราบรรลุได้อย่างง่ายดายด้วย

ยิ่งตอกย้ำหลายครั้งด้วยการยกเรื่องราวในพระบาลีมาเทศน์สอนว่า พระพุทธะไปเทศนาที่ใด บางคนเพียงแค่ฟังคำสอนก็บรรลุธรรมกันได้แล้ว โดยลืมบริบทที่ไม่ได้เล่าว่า คนเหล่านั้นผ่านประสบการณ์ชีวิตอะไรมาบ้าง ปฏิบัติมาเพียงใด เผชิญปมปัญหาในชีวิตมากแค่ไหน

ไม่ง่ายไปเลยก็ยากเกินไปเลย ประสบการณ์ของการบรรลุจึงกลายเป็นของลึกลับสุดจะพรรณนา คนบรรลุเลยพลอยกลายเป็นคนไม่ธรรมดาไปด้วย

ทั้งๆ ที่หลายครั้ง เมื่อเราศึกษาชีวิตของครูบาอาจารย์ทั้งในอดีตและร่วมสมัย โดยมากท่านก็มีชีวิต “ธรรมดาๆ” กันทั้งนั้น

การมุ่งและเฝ้าแต่มองหาประสบการณ์พิเศษเช่นนี้ จึงทำให้ผู้ปฏิบัติละเลยประสบการณ์สามัญหรือประสบการณ์ที่ดูไม่ค่อยดีนัก ทั้งๆ ที่ทุกประสบการณ์ ไม่ว่าเราจะมองว่ามันดีเลวแค่ไหน ทั้งหมดล้วนมีคุณค่าต่อความก้าวหน้าในทางธรรมทั้งสิ้น

พระพุทธะถึงกล่าวว่า “ทุกข์” เป็น “อริยสัจ” มันคือความจริงอันประเสริฐ การมีประสบการณ์ต่อความทุกข์จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่จะต้องหลีกหนีหรือตีความ บิดเบือน กลบเกลื่อน แต่มันคือ “ความจริง” คือของจริงที่เราต้องพบ ไตร่ตรอง พิจารณามัน

 

ย้อนกลับมาที่กรณีคุณอัจฉราวดี การที่มีพระภิกษุบางรูปโจมตีในทำนองคล้ายๆ ว่า คุณอัจฉราวดีทำตัวสูงกว่าพระ หรืออ้างพระบาลีที่ว่า ฆราวาสบรรลุธรรมเป็นอรหันต์ธาตุขันธ์จะแตกดับในเจ็ดวันหากไม่ได้ครองเพศสมณะ ที่จริงข้อโต้แย้งเหล่านี้ไม่ได้มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนอะไร เป็น “ความเชื่อ” และแทนที่จะเป็นการโต้ตอบที่ใช้เหตุผล กลับแสดงให้เห็นอคติลึกๆ ที่มีต่อฆราวาสมากกว่า

ผมไม่เห็นด้วยกับคุณอัจฉราวดีหลายเรื่อง ในขณะที่ก็ไม่เห็นด้วยกับข้อวิพากษ์จากพระภิกษุบางรูปที่ต่างวนเวียนอยู่ในคอกกันทั้งสองฝ่าย

ในโลกของพุทธศาสนา “ข้างนอก” นั่น ประสบการณ์ของการบรรลุธรรมอาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือไม่ก็ตาม

ผมจึงเห็นว่า ฆราวาสบรรลุธรรมได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะหากเราเข้าใจการบรรลุธรรมว่าเป็นประสบการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตของทุกคน เพราะทุกคนมี “ศักยภาพ” ที่จะบรรลุธรรมในตัวอยู่แล้ว

ส่วนจะบรรลุแล้วเป็นอย่างไรผมก็ไม่รู้ เพราะผมก็ไม่ใช่ผู้บรรลุ และคิดว่าท่านผู้บรรลุท่านก็คงไม่ได้มาสนใจอะไรเรื่องนี้นัก เหมือนท่านอาจารย์โดเก็นอาจารย์ใหญ่ผู้ก่อตั้งนิกายโซโตเซนของญี่ปุ่น เมื่อท่านได้รับการรับรองจากครูแล้วว่าเข้าถึงความหลุดพ้น ครูของท่านได้สอนว่า ให้ลืมมันไปเสีย แล้วปฏิบัติกิจต่างๆ ไปตามปกติ

ท่านก็ทำเช่นนั้นตลอดชีวิต เป็นพระธรรมดาๆ แถมก่อนหน้าจะพบครู ประสบการณ์ทางธรรมที่เพิ่มพูนของท่านมาจาก “พระคนครัว” ธรรมดาคนหนึ่งไม่ใช่พระอรหันต์ที่ไหน

 

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนากลายเป็น “มหายาน” เมื่ออำนาจของพระภิกษุในการตีความและเข้าถึงธรรมถูกวิจารณ์โดยฆราวาส และฆราวาสแสดงให้เห็นว่า พวกเขาก็มีศักยภาพในการเข้าถึงธรรม โดยวิถีชีวิตที่ต่างออกไปเช่นกัน

อุบาสกวิมลเกียรติและศรีมาลาเทวีที่ถูกกล่าวถึงในพระสูตร “วิมลเกียรตินิทเทศสูตร” หรืออุโบสกผังอวิ้นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และในบ้านเราเองท่านอาจารย์เขมานันทะ ล้วนเป็นฆราวาสที่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตฆราวาสก็ดีงามสูงส่งได้

อาจารย์เขมานันทะมีคำพูดที่น่าประทับใจว่า ในวิถีเถรวาทหากรู้สึกไกลจากพระนิพพานก็ไม่น่าจะใช่ แต่ในวิถีมหายาน ยิ่งรู้สึกใกล้พระนิพพานเท่าไหร่ก็ไม่น่าจะใช่

พุทธศาสนาฝ่ายอื่นๆ ต่างก็มุ่งมั่นที่จะไปสู่พระนิพพานไม่ต่างจากเรา ทว่าก็สอนด้วยว่าให้นิพพานหลังสรรพสัตว์ หรือไปด้วยกัน การบรรลุธรรมจึงไม่ใช่สิ่งที่ที่จะเอามาอวดกัน เพราะเรานิพพาน สรรพสัตว์ก็ควรนิพพานด้วย ทุกๆ คนด้วย ไม่มีใครพิเศษกว่าใคร

และก็สอนด้วยว่า การยึดมั่นต่อความหลุดพ้น อาจกลับเป็นตัวกีดขวางความหลุดพ้นเสียเอง

ที่จริงผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณอัจฉราวดีในประเด็นอื่นๆ เสียมากกว่า เช่น การรณรงค์เรื่องเคารพศิลปวัตถุทางพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ไม่เว้นแม้แต่การทำงานทางศิลปะ โดยไม่สนใจสารหรือความหมายที่สื่อออกไปด้วยซ้ำ การตีความคำสอนในพุทธศาสนาตามตัวอักษร การผูกโยงศาสนากับความเป็นชาติ และที่สำคัญการอ้างถึงเทพเจ้าหรือพระเจ้าของศาสนาอื่นๆ อย่างไม่ให้เกียรติ ทำนองเหยียดลงให้ต่ำกว่าพุทธศาสนาหรืออำนาจบารมีของตนเอง ส่วนคุณอัจฉราวดีจะบรรลุธรรมจริงหรือไม่ ผมไม่สนใจ

แต่ใครจะเชื่อใคร ปฏิบัติกับใคร ขอให้โชคดีละกันครับ