หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ / “สารคดี”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“สารคดี”

ในงานของผมนั้น

เวลาโดยส่วนใหญ่ คือการอยู่เพียงลำพัง ตั้งแต่เช้ามืด จนกระทั่งพลบค่ำ

แต่คล้ายกับว่า นี่ไม่ใช่เวลาแห่งความเงียบเหงาเลย

ว่าตามจริง การอยู่ลำพังในป่า ไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งความเงียบ มีเสียงสารพัดรายรอบ

เสียงนกร้อง ไม่เพียงมีท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวาน แต่นี่คือการรายงานสภาพอากาศ ให้รู้ว่าวันนี้จะเป็นเช่นไร มีแดดจัดจ้า หรือฝนตก ท้องฟ้ามืดครึ้ม

เช้ามามีเสียงนกเซ็งแซ่ วันนี้สภาพอากาศจะดี

หากเช้าตรู่ ไร้เสียงนกร้อง วันนั้น ป่าอาจถูกปกคลุมด้วยเมฆฝน

กลางคืน หากที่พักอยู่ใกล้ลำห้วยหรือบึงน้ำ จะระงมไปด้วยเสียงกบ เขียด ปาด สูงๆ ต่ำๆ ตรงโน้นตรงนี้ ราวกับเสียงประสานจากวงดนตรี

เสียงที่ได้ยินไม่ว่าจะเป็นท่วงทำนองใด ส่วนใหญ่คือการสื่อสารของเหล่าสัตว์ป่า

เสียงไพเราะในความหมายของเรา อาจหมายถึงเสียงแห่งการล่อหลอก ลวงผู้ล่า ให้หลงกลสับสน

บางครั้ง อาจหมายถึงการแสดงความรัก

แสดงอาณาเขต หรือบอกถึงแหล่งอาหารกับตัวอื่นๆ

เสียงร้องก้องกังวานจากนกยูงตัวผู้ ในเวลารุ่งสาง และพลบค่ำ นอกจากเป็นการประกาศอาณาเขตแล้ว ยังเป็นข้อความถึงตัวเมียให้รับรู้ว่า เจ้าตัวแข็งแรง เหมาะสมเช่นไร

สัตว์ป่าหลายตัวโชคดี สามารถเปล่งเสียงดังๆ ได้ แต่มีหลายชนิดทำไม่ได้ หรือมีแค่เสียงเบาๆ พวกมันจึงต้องหาวิธีอื่นมาสื่อสารแทน

สิ่งนั้นคือ ภาษากาย ใช้ท่าทางในการแสดงความรัก ขู่ผู้บุกรุก ล่อเหยื่อเข้ามาใกล้ๆ

เฝ้ารอเงียบๆ อยู่ในซุ้มบังไพร ผมเห็นพวกมันใช้ภาษากายบ่อยๆ

เก้ง แม้ว่าจะส่งเสียงดังๆ ได้ แต่ในเวลาที่อยากบอกรัก เก้งตัวเมียเลือกใช้ท่าทาง โดยวิ่งเร็วๆ กระโดด ย่อตัว คลานช้าๆ ให้ตัวผู้ที่มีท่าทีเฉยเมยสนใจ

วัวแดงตัวผู้ ไม่สนใจอะไร นอกจากเอาคางเกยไว้บนหลังตัวเมียที่อยู่ในระยะเป็นสัด

กระทิงตัวผู้ เงยหน้าผงกหัวยื่นฟันใช้อวัยวะในปากนำกลิ่นตัวเมียมาดมเพื่อตรวจสอบถึงความพร้อม

ไก่ป่าตัวเมีย เซแซดๆ กระโดดขึ้น-ลง ตีปีกพั่บๆ ลวงให้ผู้บุกรุกสนใจตัวเองแทนลูกเล็ก

นกน้ำหลายชนิดก็ทำเช่นนี้ เมื่อมีผู้ล่ามาวนเวียน

นอกจากภาษากาย บางตัวใช้กลิ่นในการสื่อสาร

กลิ่นที่สัตว์ป่าทิ้งไว้ มีความหมายหลายอย่าง

เช่น บอกแหล่งอาหาร หรือส่งสัณญาณเตือนห้ามบุกรุก

เสือโคร่งตัวผู้ ขณะเดินสำรวจอาณาเขตไปตามด่าน มันจะสเปรย์ หรือพ่นฉี่ไว้ตามต้นไม้เป็นระยะ รวมทั้งตะกุยดินและต้นไม้ ให้ผู้บุกรุกรู้ว่า นี่ ถิ่นใคร

ตัวเมียที่พร้อมรับการผสม จะใช้กลิ่นฉี่แจ้งให้ตัวผู้รู้ด้วย

แต่สำหรับเสือโคร่ง ด้วยความเป็นนักล่าหมายเลขหนึ่ง พวกมันจึงมีทักษะหลายอย่าง

มันใช้เสียงในการสื่อสาร และหลอกลวงเหยื่อ

เสือโคร่งร้องเลียนเสียงกวางได้ มันร้องและเดินเข้าไปใกล้กวาง แม้เสียงจะแหบกว่ากวางปกติ บางครั้งก็ได้ผล

กลิ่นที่สัตว์กินพืชทิ้งไว้นั้น เหล่านักล่าสัมผัสได้

แค่รอยฉี่เก่าๆ หมาไนแยกได้ว่าเป็นของสัตว์ชนิดใด

เวลาเดิน หมาไนที่ทำหน้าที่เป็นส่วนล่วงหน้าจะก้มดมพื้นตลอด

ส่วนกวาง ก็ฉลาดพอที่จะฉี่ในน้ำเพื่อไม่ให้หมาไนพบร่องรอย

กลิ่นของคน คือ กลิ่นแห่งอันตราย ไม่มีสัตว์ชนิดใดอยู่ใกล้ พวกมันจะรีบ เตลิดหนีทันที เมื่อได้กลิ่นคน

ไม่ว่าจะเงียบ หรืออยู่ในซุ้มบังไพรที่มิดชิดเพียงใด ก็จะไม่มีสัตว์ป่าออกมาให้เห็น หากกระแสลมพัดจากเราไปทางทิศที่สัตว์ป่าอยู่

การอยู่ในทิศทางใต้ลม ทำให้มีโอกาสอยู่ใกล้ๆ สัตว์ป่าได้บ้าง

ยอมให้อยู่ใกล้ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกมันจะยอมให้อยู่ร่วมฝูง

ทําได้เป็นเพียง ” คนแปลกหน้า” ของเหล่าสัตว์ป่า

กระนั้นก็เถอะ ตั้งแต่เด็ก ผมอยากเป็นคนทำสารคดี

บทเริ่มต้น อาจเป็นเพราะอยากเป็นอย่างผู้ชายที่เห็นในหนังสารคดี

ขับรถแลนด์โรเวอร์ อยู่ในทุ่ง มีสัตว์ป่ามากมาย เผชิญหน้ากับสิงโต จระเข้ แรด และสัตว์ต่างๆ ที่ “อันตราย” ด้วยกล้องบันทึกภาพ ไม่ใช่ปืน

ภาพการล่าของสิงโต ภาพเหยื่อวิ่งหนีสุดชีวิต และอื่นๆ

อีกทั้งภาพและเรื่องราวชีวิตสัตว์ป่าต่างๆ ในหนังสือที่มีเต็มบ้านนั่นอีก

เหล่านี้ ฝังอยู่ในใจ

กระทั่งถึงวันนี้ ผมเป็นอย่างผู้ชายที่ขับรถแลนด์โรเวอร์ อยู่ในทุ่งกว้างมาแล้วร่วม 30 ปี

เป็นเวลาร่วม 30 ปีที่ผมรู้ว่า

มีหลายอย่างที่ผม “ไม่เห็น” ในสารคดี

ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ราวหนึ่งเดือนก่อนฤดูฝนจะจากไป คือช่วงเวลาที่ฝนตกหนัก พายุรุนแรง

ผลของมัน นอกจากผืนป่าจะรกทึบ เขียวชอุ่ม เส้นทางสัญจรที่ทุรกันดารอยู่แล้วยิ่ง ทวีความเละเทะ

หลายครั้ง ผมใช้เวลา ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเคลื่อนรถในระยะทางไม่ถึง 100 เมตร

หล่มลึก ต้นไม้ล้มขวาง สะพานไม้ถูกสายน้ำพัดไปหมด ดินไถลลงจากหน้าผา ปิดเส้นทาง ระดับน้ำในห้วยสูงท่วม

เนินชันๆ ลื่นไถล รถพลิกหงายท้อง

ติดอยู่ในหล่ม พร้อมกับความเสียหายของช่วงล่าง ตั้งแคมป์ นอนรอให้คนมาช่วยหลายวัน

ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยในการซ่อมบำรุงรถในแต่ละเดือน

สายลมหนาวเดินทางมาถึง

พร้อมๆ กับภาพผู้ชายขับแลนด์โรเวอร์ อยู่ในทุ่งกว้างจางหาย

บนดอยอินทนนท์

ผมใช้เวลาเดินลัดเลาะไปตามหน้าผา หลังจากตื่นตั้งแต่ตีสาม

เข้าซุ้มบังไพรก่อนสว่าง หนาวสั่นกับอุณหภูมิ 3-4 องศาเซลเซียส

ใช้เวลาที่นี่ 3 ปี กับงานภาพ และเรื่องราวของกวางผา เช่นเดียวกับบนเทือกเขาบูโด

ผมลุกจากที่นอน ในหมู่บ้าน ตอนตีสอง ยกอุปกรณ์ถ่ายรูปในเป้ขึ้นหลัง ขาตั้งกล้องพาดบ่า ไฟฉายคาดหัว ออกเดินตามกอเซ็มขึ้นภูเขา เพื่อให้ถึงโพรงนกชนหิน ที่อยู่บนสันเขา ระดับความสูง 700 เมตร ก่อน 6 โมงเช้า

“พอป่าเริ่มมีแสง แม่นกจะออกจากโพรง หลังจากนั้นอีกสัก 2 ชั่วโมง ลูกจะออกตาม” กอเซ็ม หรือที่เราเรียกเขาว่า อูมา ทำงานกับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ส่วนภาคใต้มานาน เฝ้าดูนกมาหลายปี ให้ข้อมูล

ผมอยากได้ภาพแม่นกขณะออกจากโพรง เราไม่รู้แน่ชัดว่า จะเป็นวันไหน ดังนั้น การขึ้นไปเฝ้ารอทุกวันจำเป็น

เดินกลางดึก ขึ้นภูเขา ในบริเวณที่ “เหตุร้าย” เกิดขึ้นเสมอๆ

ผมเดินตามกอเซ็มอย่างเชื่อมั่น

ขณะเดิน ผมนึกถึงเรื่องที่ไม่ได้เห็นในสารคดี

นานแล้วที่ผมรู้ว่าภาพในสารคดี ไม่ได้ได้มาโดยง่าย ในเวลาสั้นๆ งานสารคดีแต่ละเรื่อง ใช้เวลาเป็นปีๆ ช่างภาพเหล่านั้นต้องอดทน มุ่งมั่น

ห่างไกลจากทุกสิ่ง ใกล้ชิดกับงาน และตัวเอง

ไม่มีการสื่อสารกับโลกภายนอก

ความระลึกถึงบางครั้งต้องฝากไปกับแสงจันทร์นวล

อยู่ลำพังในป่า ไม่ใช่เวลาแห่งการอยู่กับความเงียบเหงา

มันคือช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้จากชีวิตที่อยู่รายรอบ

ครั้งเป็นเด็ก ผมดูสารคดีด้วยความตื่นตา

ในวันนี้ ผมได้ “เห็น” เรื่องราวที่ในสารคดีไม่ได้บอกไว้

ผมไม่ได้บอกใครๆ ว่า งานที่ทำอยู่ ไม่ง่ายนัก เพราะรู้ดีว่า ไม่มี “งาน” ใด จะลำบากยิ่งกว่ากัน

แต่ที่บอกเสมอๆ คือ ผมคงเสียใจหากตอนเด็กๆ

ไม่ได้ดู “สารคดี”