โลกหมุนเร็ว เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/กลับบ้านเกิด

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

กลับบ้านเกิด

ความสุขของคนเราคือการได้กลับไปบ้านเกิด

ช่างวุฒิ ซึ่งมาทำงานก่อสร้างอยู่ที่ข้างบ้านผู้เขียน มาจากบุรีรัมย์ มากรุงเทพฯ พร้อมกับภรรยาคู่ยาก เพื่อมาทำงานก่อสร้างเป็นเวลา 7 เดือน

ช่างวุฒิไม่มีลูกที่ต้องห่วง ตอนเย็นหลังเลิกงานก็มารับงานเบ็ดเตล็ดที่บ้านผู้เขียน

เมื่อคุยกันถูกคอก็ได้เล่าถึงความคิดถึงบ้านที่บุรีรัมย์

“ผมมีบ่อปลา ดูปลาในบ่อมันเพลินดี มีปลาตั้ง 10 ชนิดได้มั้ง ทั้งปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาหมอ ปลาคาร์ฟผมก็ยังมี”

หน้าตาช่างวุฒิมีความสุขเมื่อบอกว่า “ชอบนั่งที่กระท่อมริมทุ่งนา ดูข้าว ดูปลา”

“ผมปลูกข้าวกินเอง และปลูกไม้ทุกอย่าง มีทั้งมะม่วง ลำไย มะนาว ขิง ข่า ตะไคร้”

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าช่างวุฒิมีความสุข เพราะได้อยู่กับธรรมชาติและการงานในไร่นาที่ถิ่นเกิด แถมยังมีงานทำที่กรุงเทพฯ เพื่อได้ใช้วิชาช่างที่มีอยู่และค่าจ้างซึ่งไม่มากนัก

แต่เงินไม่ใช่ทุกสิ่ง

วิถีชีวิตของช่างวุฒิคือวิถีของคนอีสานเป็นจำนวนมาก

ความต่างอยู่ที่ช่างวุฒิทำงาน on assignment มีเวลากลับไปนอนดูนาข้าวปีหนึ่งหลายเดือน แต่คนอีสานบางคนรับจ้างเป็นรายเดือนและแทบจะไม่มีเวลากลับบ้านเลยนอกจากเวลาเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์

แน่นอน ช่างวุฒิน่าจะมีความสุขมากกว่า

เมื่อวานนี้เอง ได้รับข้อความที่ แจ๊ก หม่า วิเคราะห์คนไทย เขาบอกว่าประเทศไทยไม่ควรใช้จีดีพีเป็นตัววัดผล

แต่ควรใช้ “ความสุข” เป็นตัววัดผล

เป็นสิ่งที่น่าคิด หากจะวัดผลกันด้วยความสุขอย่างที่ แจ๊ก หม่า เสนอ ก็คงมีคนไทยที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงและไม่หลงกับวัตถุนิยม ไม่เป็นหนี้เป็นสินจำนวนหนึ่งบอกว่าตัวเองมีความสุข

ตรงกันข้ามหากพยายามตะเกียกตะกายเป็นเจ้าของสิ่งของราคาแพงและต้องเป็นหนี้เป็นสิน ก็จะไม่มีความสุข

ในบรรดาคนที่อพยพย้ายถิ่นฐานไปมาทุกยุคทุกสมัย คนจีนน่าจะติดอันดับย้ายถิ่นฐานมากที่สุดชาติหนึ่ง ในยุคต้นถึงกลางยุครัตนโกสินทร์คนจีนอพยพหนีความยากจนเข้ามาพึ่งความอุดมสมบูรณ์และโอกาสที่เปิดกว้างบนแผ่นดินไทย

คนจีนทำทั้งเกษตรและค้าขายจนตั้งหลักฐานได้และส่งเงินกลับไปยังครอบครัวบนแผ่นดินใหญ่

ในซีกโลกตะวันตก ดินแดนแห่งโอกาสอย่างสหรัฐอเมริกาได้เปิดกว้างให้คนทุกชาติเข้าไปสร้าง American Dream หนึ่งในชนชาติที่อพยพเข้าอเมริกามากเป็นลำดับต้นๆ คือคนจีน

ไม่ว่าอเมริกาจะก้าวหน้าไปอย่างไร คนจีนก็ตามทันและกลายเป็นพลเมืองแถวหน้าในเศรษฐกิจทุนนิยมแบบอเมริกัน

มีตัวอย่างหนึ่งที่เรากำลังจะพูดถึงคือ หวาง ยี ซึ่งร่ำเรียนจนจบ Princeton และได้งานที่บริษัทเทคโนโลยีแถวหน้าของโลกคือ Google สามารถซื้อคอนโดฯ ขนาดใหญ่ที่ซิลิคอน วัลเลย์ ที่ตัวเขาเองและครอบครัวควรภูมิใจและถือว่าเป็นความสำเร็จ แต่แล้วเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว เขาก็สะกิดให้ภรรยานั่งลงฟังสิ่งที่เขาจะพูดกับเธอ

เขาบอกว่า เราย้ายกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดของเรากันเถอะ ภรรยาอ้ำอึ้ง เพราะชีวิตที่อเมริกาแสนสะดวกสบาย

หวางบอกว่าเขาเบื่อการเป็นลูกจ้างแล้ว และอยากไปเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองมากกว่า ตอนนั้นหวางเพิ่งอายุ 30

หวางเห็นช่องว่างในตลาดว่าคนจีนต้องการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อความก้าวหน้า เขาได้คิดแอพพ์สอนภาษาอังกฤษชื่อ LingoChamp หรือ Liulishuo ในภาษาจีนขึ้นมา และสามารถระดมทุนได้ 100 ล้านเหรียญ ทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นศิษย์เก่าซิลิคอน วัลเลย์ที่ประสบความสำเร็จในบ้านเกิด

หนุ่มสาวจีนที่จบการศึกษาจากอเมริกาจำนวนไม่น้อยที่หวนกลับบ้านเกิดและกลายเป็นกำลังสำคัญสร้างการเติบโตให้บริษัทสัญชาติจีนที่กำลังขยายธุรกิจด้านเทคโนโลยี จีนต้องการจะเป็นเจ้าโลกด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น AI (Artificial Intelligence) ปัญญาประดิษฐ์ และ machine learning

ได้มีการศึกษาว่าขณะนี้สหรัฐอเมริกามีวิศวกรสาขา AI อยู่ราว 850,000 คน โดย 7.5% เป็นคนจีน (ข้อมูลจาก LinkedIn 2017) ซึ่งใช่ว่าทั้งหมดจะต้องการกลับบ้านเกิด

แต่รัฐบาลจีนก็ต้อนรับการกลับบ้านเกิดเพื่อสร้างธุรกิจของหนุ่มสาวจีนอย่างอบอุ่น มี venture capital หรือกองทุนเพื่อการเริ่มธุรกิจไว้รองรับ นอกจากนี้ ในด้านการวิจัยรัฐบาลจีนก็ยังมีเงินทุนสนับสนุนอีกด้วย