ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ดังได้สดับมา |
ผู้เขียน | วิเวกา นาคร |
เผยแพร่ |
มีความโน้มเอียงไปทางด้านจีนอย่างเด่นชัด ตั้งแต่ยังเป็น ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ กระทั่งเติบใหญ่พัฒนามาเป็น เสถียร โพธินันทะ
จับร่องรอยจากบทความ “พระพุทธศาสนากับคนหนุ่ม” เมื่อปี 2488
จะเห็นความโน้มเอียงอันเป็นอย่างจีนและกลิ่นอายแห่งมหายาน จากบางประโยค บางถ้อยคำ นั่นก็คือ คำว่า “พุทธะ” แปลว่า “ผู้ตื่นแล้ว” เป็นนามอัน “พระศรีศากยมุนี” ทรงได้รับในฐานะที่พระองค์ได้เป็นผู้ค้นพบความจริงที่ประกอบด้วยเหตุผลและเป็นผู้ประกาศธรรมะทั้งหลายในศาสนานี้
และสรรพสัตว์ทั้งหลายก็อาจเป็น “พุทธะ” ได้ด้วยเหมือนกัน
ฉะนั้น คำว่า “พุทธะ” จึงไม่ใช่จำกัดแต่เฉพาะ “พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า” พระองค์เดียว ถ้าผู้ใดอยากเป็นพระพุทธเจ้าบ้างก็เป็นได้
แต่จะต้องบำเพ็ญคุณงามความดีให้เสมอดังพระพุทธเจ้า
“เพราะพุทธภาวะนี้เป็นคุณชาติอันหนึ่งซึ่งตั้งอยู่อย่างไม่รู้จักสุดสิ้นและเป็นนิจนิรันดร สัตว์ทั้งหมดก็เป็นผู้มีส่วนร่วมของคุณชาติอันนั้น” พร้อมกับอ้างในวงเล็บว่า (จากหลักสัทธรรมปุณฑริกสูตรของพระพุทธศาสนามหายาน)
และยิ่งเขียนบทความนำเสนอผ่าน “ธรรมจักษุ” ของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ก็ยิ่งส่องชี้ทิศทางและความสนใจ
บทความ “เสียงแห่งเมตตากรุณา” นำเสนอฉบับประจำเดือนตุลาคม 2488-มกราคม 2489 ทางหนึ่ง มีการอ้างอิง วาเสฏฐสูตร มีการอ้างอิง อัสสลายนสูตร มีการอ้างอิง อัคคัญญสูตร ขณะเดียวกันก็มีการอ้างอิงข้อความในศิลาจารึก คัดจากเรื่อง “เมืองทอง” ของ ขุนศิริวัฒนาอาทร และของพระยาประมวลวิชาพูล
กระนั้น ในท่อนท้ายก็อ้างอิง “สุขาวดียูหสูตร” ประสานกับการขึ้นต้น
บทที่ 1 แห่งพงศาวดารโลกมนุษย์ แต่หาใช่เป็นยุคสมัยอนารยะ หากเป็นยุคของอารยธรรมที่ไม่เคลือบหุ้มจากมายาของบทเก่าๆ ของพงศาวดารที่เต็มไปด้วยการเห็นแก่ตัวและการนองเลือดเพราะปฏิกิริยาของมัน
แต่ต่อนี้ไปกลับจะเป็นพงศาวดารแห่งความบริสุทธิ์สะอาด เจือปนไปด้วยความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์
ในโลกนี้จะมีแต่เหล่า “อภิชน”
จนอาจจะเรียกว่าเป็น “พุทธเกษตร” อันอุดมด้วยความสงบสุข ประดุจดังสุขาวดี พุทธเกษตรของพระอมิตาภพุทธเจ้าฉะนั้น
ท่อนท้ายระบุ ท่านสุชีโว ภิกขุ แปลจากภาษาสันสกฤต
อย่าได้แปลกใจหากเมื่อนิตยสาร “ธรรมจักษุ” ฉบับประจำเดือนมิถุนายน-กันยายน 2489 เสถียร กมลมาลย์ ก็นำเสนอบทความเรื่อง “มองโกเลีย ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา”
ระบุเป็นการเรียบเรียงจากภาษาจีนของ “องค์การค้นวิชาประเทศจีน”
พระพุทธศาสนาที่ถือในมองโกเลียเป็นพระพุทธศาสนามหายานนิกายมันตรยานหรือพุทธตันตรยานสืบมา
เนื่องจากทิเบตพุทธตันตรยานมีกำเนิดขึ้นในอินเดียราว พ.ศ.1500 ปีมีนามเรียกว่าวัชรยาน หรือสหัชยานกาลจักร มีลัทธิพราหมณ์บางอย่าง ทั้งนี้ เนื่องด้วยความจำเป็นกาลเวลาสมัยนั้นศาสนาพราหมณ์รุ่งเรืองกว่าพุทธศาสนา พระภิกษุทั้งหลายย่อมต้องหาช่องทางจูงใจประชาชน
อีกทั้งพระพุทธศาสนาไม่หวงแหนและรับรองคำสอนบางข้อของพราหมณ์ก็มี ฉะนั้น การเอาลัทธิพราหมณ์มาคละจึงเป็นไปโดยกาลเทศะ เพราะยิ่งห่างจากพุทธกาล การแตกแยกก็เป็นของธรรมดา
สมัยนั้นอินเดียมีนิกายพุทธศาสนาที่สำคัญ เช่น เถรวาท สรวาสติวาท เสาตรานติกะ ไวภาษิก มาธยมิกและโยคาจารย์ เป็นต้น แต่ทุกนิกายมีหลักอภิธรรมอันหนึ่งอันเดียวกันคือ หลักอริยสัจจ์และพระไตรลักษณ์
ท่านคณาจารย์ทั้งหลายมีความเห็นในทางเดียวกัน คืออริยมรรคมีองค์ 8 นั้น เป็นทางที่ไปสู่พระนิพพานได้ถึงแม้ความเห็นบางอย่างในพระนิพพานจะแตกต่างกันบ้าง
พระพุทธศาสนานิกายมันตรยานในทิเบตและมองโกลก็เช่นเดียวกัน ชาวทิเบตและมองโกลก็รู้จักอริยสัจจ์และไตรลักษณ์ดีเท่าๆ กับพวกเราฝ่ายเถรวาทเหมือนกัน
เป็นความโน้มเอียงอันนำไปสู่หนังสือ “ปรัชญามหายาน” และ “เมธีตะวันออก” ในเวลาต่อมา