เทศมองไทย : โซ่ไร้สภาพเส้นใหม่ บนเรือประมงไทย

เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า “ฮิวแมนไรท์ วอทช์” จ้องแต่จะจับผิด และมองไทยในแง่ลบตลอดเวลา

แต่ผมก็ยังยืนยันว่า ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีวัตถุประสงค์แฝงเร้นหรือไม่อย่างไรก็ตามที กระจกอย่าง “ฮิวแมนไรท์ วอทช์” ก็ยังเป็นกระจกสะท้อนที่ทางการไทยจำเป็นต้องมี

เชื่อด้วยซ้ำไปว่า หากรับฟังอย่างพินิจพิจารณา ประเทศไทยจะได้ประโยชน์มากมายจากกระจกสะท้อนเช่นนี้

ขอแค่อย่าเอาอคติบังตา ปิดรับความคิดเห็นที่เป็นเหตุเป็นผล ก็เท่านั้นเอง

 

พูดเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเมื่อ 23 มกราคมที่ผ่านมา แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของเอชอาร์ดับเบิลยู เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม ที่มีสถานะเหมือนนครหลวงของสหภาพยุโรปอยู่ด้วย เพื่อนำเอาภาพยนตร์สั้น 15 นาที กับรายงานขนาดยาว 134 หน้า ไปเผยแพร่ทั้งต่อสาธารณชนและต่อสมาชิกรัฐสภายุโรป

เขาตั้งชื่อรายงานและภาพยนตร์ไว้ว่า “โซ่ที่ซ่อนไว้ : การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย”

ซึ่งผมว่า คนที่เกี่ยวข้อง มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่กับอุตสาหกรรมประมงของไทยทุกคนควรอ่าน

โดยเฉพาะในส่วนของผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้

อ่านด้วยใจที่เป็นกลาง

แล้วถามตัวเองว่า ถ้าหากเราดำเนินกระบวนการอย่างที่เอชอาร์ดับเบิลยูทำ ผลลัพธ์จะออกมาเหมือนกันหรือไม่?

ผมมีความคิดโน้มเอียงไปในทางที่เห็นว่า หากเราทำเหมือนๆ กับที่หน่วยงานภาคประชาสังคมนานาชาติหน่วยงานนี้ทำ ผลที่ได้ก็คงไม่ต่างอะไรมากมายนัก ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากทำหรือคิดที่จะทำหรือเปล่าเท่านั้นเอง

 

ที่เอชอาร์ดับเบิลยูนำเรื่องนี้ไปเสนอต่อรัฐสภายุโรป เพราะเมื่อปี 2557 และ 2558 ที่ผ่านมา อียูเคยให้ “ใบเหลือง” กับไทย สืบเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เรียกว่า “ไอยูยู” ซึ่งสหภาพยุโรปยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับรับซื้อสินค้าอุตสาหกรรมประมงจากประเทศต่างๆ

หลังจากนั้นไทยมีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่การยกเลิกกฎหมายประมงเดิม ออกระเบียบปฏิบัติใหม่ ขยายการบังคับใช้กฎหมายแรงงานสำคัญๆ เพื่อให้ครอบคลุมทั้งเรื่องค่าจ้างและสภาพการทำงานในเรือประมง

รวมถึงนำเอาเนื้อหาของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) มาใช้เป็นกฎหมาย รวมทั้งการกำหนดให้แรงงานประมงข้ามชาติต้องถือเอกสาร ที่มักเรียกกันว่า “บัตรชมพู” และมีการนับจำนวนลูกเรือขณะที่เดินทางออกจากฝั่งและกลับเข้าฝั่ง เรื่อยไปจนถึงระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกของเรือประมง เป็นต้น

ในรายงานของเอชอาร์ดับเบิลยูยอมรับเอาไว้ว่า มาตรการบางประการ รวมทั้งการติดตามตรวจสอบเรือและการจำกัดระยะเวลาออกเรือแต่ละครั้งไม่เกิน 30 วัน “ทำให้เกิดการปรับปรุงที่สำคัญต่อแรงงานประมง”

แต่อีกหลายประการ กลับเป็นการดำเนินการที่ “เน้นรูปแบบมากกว่าผลลัพธ์” และ “ระบบการตรวจแรงงานเป็นการสร้างภาพเพื่อผู้ชมระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่”

 

ตัวอย่างที่รายงานชิ้นนี้หยิบยกมาเป็นอุทาหรณ์ก็คือ ตามระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงนั้น เอชอาร์ดับเบิลยูพบว่า เจ้าหน้าที่ของไทยได้แต่พูดคุยกับไต้ก๋งและเจ้าของเรือ และตรวจสอบเอกสาร แต่ไม่เคยคุยกับแรงงานโดยตรงเลย

ผลก็คือ ในรายงานการค้ามนุษย์ พ.ศ.2558 ของรัฐบาลไทยระบุว่า จากการตรวจแรงงานประมง 474,334 คน กลับไม่พบว่ามีการบังคับใช้แรงงานแม้แต่คนเดียว

ซึ่งเอชอาร์ดับเบิลยูบอกว่า เป็น “เรื่องเหลือเชื่อ” ที่แท้จริง

ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ มาตรการใหม่บางด้าน กลับทำให้ “สถานการณ์เลวร้ายลง” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น กรณี “บัตรชมพู” ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อ “โซ่ที่ซ่อนไว้” ของรายงานชิ้นนี้นั่นเอง

“บัตรชมพู” ที่รัฐบาลนำมาใช้เมื่อปี 2557 เพื่อลดจำนวนแรงงานข้ามชาติไร้เอกสาร

“กลับเป็นการผูกติดสถานะทางกฎหมายของแรงงานประมงกับบางพื้นที่ และกับนายจ้างบางคน” ผลก็คือ “ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้างจึงจะเปลี่ยนงานได้ ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การปฏิบัติมิชอบ” และ “กลายเป็นช่องทางให้เจ้าของเรือและไต้ก๋งเรือที่ไร้คุณธรรม (นำมาใช้เพื่อ) ปกปิดการบังคับขืนใจ และการล่อลวง ทำให้ดูเสมือนว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว”

 

นั่นนำไปสู่ข้อสรุปของรายงานที่ว่า “ถึงแม้รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมจะแสดงพันธกิจว่าจะทำการปฏิรูปอย่างรอบด้านก็ตาม การใช้แรงงานบังคับและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิอื่นๆ ยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในฝูงเรือประมงไทย” มาตรการที่ผ่านมาของเราแม้จะดีและสอดคล้องกับสากล แต่ยังคงมีปัญหาโดยเฉพาะในทางปฏิบัติ แถมยังมีมาตรการบางอย่างที่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นด้วยซ้ำไป

ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องนำไปทบทวนและปรับปรุง หากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต

ย้ำไว้อีกครั้งว่า เรื่องค้ามนุษย์ เรื่องบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาสเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีวันมีใครยอมรับผู้ล่วงละเมิด

อุตสาหกรรมประมงไทยและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ก้าวมาไกลมากแล้ว ไกลเกินกว่าที่จะกลับไปทำกำไรง่ายๆ แบบไร้มนุษยธรรม เหมือนที่ผ่านมาครับ