มุกดา สุวรรณชาติ : การสืบทอดอำนาจแบบไทยนิยม ต้องใช้…กองหนุน…ทุกองค์กร

มุกดา สุวรรณชาติ

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในครั้งหน้าตามโรดแม็ป มีความสำคัญมากสำหรับผู้อยากสืบทอดอำนาจ แต่สำหรับพรรคการเมืองเก่าทั้งหลายรู้ตัวดีว่าเป็นแค่ตัวประกอบ

ผู้มีอำนาจแม้อยากอยู่ยาวแบบเดิม แต่ทำไม่ได้ เพราะได้สัญญากับประชาชนไว้ว่าจะเลือกตั้งอีกไม่นาน สัญญากับชาวโลกไว้ในต่างประเทศหลายแห่งว่าจะเลือกตั้งปีนั้นปีนี้ เลื่อนมาหลายครั้ง

ที่สุดก็ถึงเวลาจำเป็นจะต้องมีการเลือกตั้งแบบไทยนิยม

 

เป้าหมายของการสืบทอดอำนาจ

เมื่อเลือกตั้งแล้วก็จะต้องได้เป็นรัฐบาล ต่อจากที่เคยควบคุมมา

ถ้าปล่อยให้คนอื่นมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ ผู้มีอำนาจเดิมอาจจะถูกเล่นงานในเรื่องต่างๆ ย้อนหลัง ไม่ว่าเรื่องของชิ้นเล็ก แบบนาฬิกา ที่ถูกตามจิกตามตีไม่เว้นทุกวัน

หรือเรื่องของชิ้นใหญ่ แบบรถไฟ เรือเหาะ รถเกราะ เครื่องบิน เรือดำน้ำ ก็จะมีคนมาขอตรวจสอบ และเรื่องเก่าแบบการใช้กำลังอาวุธปราบผู้ชุมนุมจนเสียชีวิตจำนวนมากก็ยังไม่จบ แค่กลบเอาไว้

หรือเรื่องใหม่แบบการนำข้าวสารในโกดังราคาสูงไปขายในราคาอาหารสัตว์ เงินหล่นหายไปกลางทางเป็นหมื่นล้านยังไงก็ถูกขุดแน่

ที่กำลังมีคนร้องเรียนขึ้นมาคือโครงการ 9101 การโยกย้ายข้าราชการมีคนไม่พอใจเป็นจำนวนมาก

อีกสารพัดโครงการซึ่งมีการโวยวาย แม้ผู้ที่ออกมาตรวจสอบจะถูกจับถูกฟ้องไปบ้างแต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนั้นจะยุติหรือสิ้นสุดลง

ทุกอย่างอาจถูกรื้อฟื้นย้อนกลับมาดำเนินคดีได้ทั้งสิ้น

ยกเว้นผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม จะช่วยกันดึง ช่วยกันดองไว้ ซึ่งก็อาจจะทำได้เป็นปี ถ้ามีอำนาจค้ำ แต่ถึงวันหมดอำนาจ ก็จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ปัญหาเฉพาะหน้าวันนี้ ทำอย่างไรจึงจะสืบทอดอำนาจผ่านระบบเลือกตั้งได้

 

เข้าสู่อำนาจต้องผ่านโครงสร้างตาม รธน.ใหม่

ผู้ที่จะเข้ามามีอำนาจบริหารและปกครองได้จะต้องมีองค์ประกอบการสนับสนุนดังนี้

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ปูทางให้การเลือกนายกฯ หลังจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ใน 5 ปีแรก สามารถนำกองหนุน ส.ว. 250 คน…มาร่วมเป็นผู้คัดเลือกในการประชุมรัฐสภาด้วย

แต่ในสภาพเป็นจริงเมื่อถึงเวลานั้นผู้กุมอำนาจจะได้คัดเลือก ส.ว. 200 คนหรือไม่ (อาจจะมีคนอื่นมาช่วยคัดเลือกถ้าหาก ส.ว. ทั้งหมดมิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอาจเกิดปัญหาได้)

ส.ว. ในจำนวน 250 คน ควรจะมีไม่ต่ำกว่า 180-200 คนซึ่งตามรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้แต่งตั้งได้ถึง 200 คน สรรหา 50 คน

และต้องมี ส.ส. จำนวน 250 คน จาก 500 คนหนุน ถ้าหากมีไม่ถึง 250 คน การบริหารปกครองก็จะทำได้ยาก แม้ ส.ว. ช่วยตอนเลือกนายกฯ แต่ตามรัฐธรรมนูญอาจถูกล้มในสภาผู้แทนฯ ทั้งเรื่องการผ่านกฎหมาย และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

นอกจากนี้ ยังจะต้องผ่านด่าน กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรวจสอบ ควบคุมตั้งแต่ก่อนเข้ามาเป็นนายกฯ จนถึงขณะบริหาร ถ้าเกิดข้อผิดพลาด นายกฯ และรัฐบาลอาจถูกล้มได้ง่ายๆ

การเลือก ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญใหม่ จึงต้องออกแบบให้เป็นการเลือกแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยหวังจะให้พรรคใหญ่ได้จำนวน ส.ส. ไม่ถึงครึ่งสภาและการจัดตั้งรัฐบาลผสมจากพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กก็จะเป็นไปได้ (แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด)

เรื่องนี้จึงมีการวางแผนลงรายละเอียดตั้งแต่การร่าง รธน. จนถึงกฎหมายลูก ที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล เพื่อชิงความได้เปรียบทุกองค์กร ทุกจังหวะก้าวการเมือง

 

บทเฉพาะกาล และ พ.ร.ป.
ให้อำนาจตั้งกฎ กำหนดบุคคล

มาตรา 263 ให้ สนช. ยังคงทําหน้าที่รัฐสภา จนถึงวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 264 ให้ ครม. ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้จนกว่า ครม.ใหม่ จากการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่

มาตรา 265 ให้ คสช. ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ใหม่จะเข้ารับหน้าที่

ทั้ง คสช., ครม. และ สนช. ใครคุม

มาตรา 267 ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพื่อจัดทําร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ดังต่อไปนี้ให้แล้วเสร็จ และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป (ใครตั้งกรรมการร่าง รธน.? … กรธ. จะร่าง พ.ร.ป. ตามแนวไหน ใครจะได้เปรียบ)

(1) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

(2) พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

(3) พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.

(4) พ.ร.ป.พรรคการเมือง

(5) พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ

(6) พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง

(7) พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน

(8) พ.ร.ป.ว่าด้าย ป.ป.ช.

(9) พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

(10) พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม.

กรธ. ต้องทําให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

สนช. ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลา 60 วันนับแต่วันที่ได้รับร่าง พ.ร.ป. แต่ละฉบับ แล้วให้ส่งร่าง พ.ร.ป. นั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และ กรธ. เพื่อพิจารณา ถ้าไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้แจ้งให้ประธาน สนช. ทราบภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับร่าง พ.ร.ป. นั้น

และให้ สนช. ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง 11 คน ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และสมาชิก สนช. และ กรธ. ฝ่ายละห้าคน เพื่อพิจารณาแล้วเสนอต่อ สนช. ใน 15 วัน ถ้า สนช. ไม่เห็นชอบด้วย 2/3 ให้ร่าง พ.ร.ป. นั้น เป็นอันตกไป ถ้าไม่เห็นด้วยไม่ถึง 2/3 ให้ถือว่าเห็นชอบตามร่าง กรธ.

มาตรา 268 ให้ดําเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน เมื่อ พ.ร.ป. เสร็จ (สรุปว่ากฎหมายลูก กำหนดวันเลือกตั้ง ร่างเสร็จช้า ก็เลือกช้า)

ขณะนี้ทุกอย่างเดินไปตามแผน แต่ก็มีเสียงค้าน ที่ถกเถียงกันตอนนี้ มีทั้ง พ.ร.ป. 1…2…3…4…5 และ 8

 

1.เกี่ยวกับพรรคการเมือง…

วิธีการเลือกตั้งการคิดคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสมเพื่อหาจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

การรีเซ็ตพรรคการเมืองให้ทุกพรรคย้อนกลับมาตั้งต้นหาสมาชิกพรรคใหม่พรรคเก่า พรรคใหญ่ที่มีสมาชิกจำนวนมาก ก็จะทำงานไม่ทัน สุดท้ายทุกพรรคก็จะมีสมาชิกใกล้เคียงกันตามกฎหมายกำหนด ขณะเดียวกัน อดีต ส.ส. ก็ลอยตัวออกไปหาพรรคใหม่ได้ง่ายขึ้น

การกำหนดเบอร์ผู้สมัครที่ไม่ได้เป็นเบอร์เดียวกันทุกเขตทั้งประเทศ ของแต่ละพรรคจะสร้างความสับสนให้กับประชาชนในการเลือกตั้ง

การเลือก ส.ส. โดยบัตรเลือกตั้งใบเดียว ไม่มีการเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อีก 1 ใบจะมีผลให้การหาเสียงตามนโยบายลดลง เน้นตัวบุคคลมากขึ้น

ส่วนการให้มีมหรสพในการหาเสียงก็ถือเป็นสิ่งแปลกใหม่แม้จะเลิกวิธีการนี้มาหลายสิบปีแล้ว แต่การกระทำครั้งนี้มีจุดมุ่งหวังอย่างเด่นชัดเพื่อเป็นการช่วยพรรคใหม่ ที่มีฐานสมาชิกน้อย หรือพรรคที่ปราศรัยไม่เก่ง

พรรคใหม่ที่มีอิทธิพล หรือใครที่มีเงินจ้างการแสดง จ้างดารา ก็จะดึงคนไปฟังได้มาก งานนี้ทั้งเพื่อไทย กับ ปชป. จะต้องแข่งกับดาราบนเวทีหาเสียง แต่วันลงคะแนน ดาราไม่ได้สมัคร

 

2.ทำไมเซ็ตซีโร่ กกต.

กรธ. โดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า กรธ. ไม่มีแนวคิดที่จะเซ็ตซีโร่ใคร

คนที่จะได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และดำรงตำแหน่งต่อไป โดยมีวาระ 7 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 กำหนดด้วย

แต่ กรธ.วิสามัญว่าด้วย กกต. มีมติให้เซ็ตซีโร่ โละ กกต. ยกชุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กลับลำบอกว่า “เห็นด้วย”

การกล่าวอ้างถึงตำแหน่งที่รับผิดชอบสูง จำเป็นต้องใช้คนที่มีคุณสมบัติสูง เลยต้องให้ออกทั้งคณะ ถามว่าในเมื่อคนเดิมจำนวนมากถึง 4 ใน 5 คน มีคุณสมบัติสูงครบถ้วน และผ่านการสรรหามาอย่างถูกต้อง เหตุใดจึงต้องให้เขาออกด้วย

 

3.ทำไมไม่เซ็ตซีโร่ศาลรัฐธรรมนูญ แถมต่ออายุ

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. กล่าวว่า

“ประเด็นต่ออายุตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คน (ที่อยู่ครบวาระ 9 ปีและขาดคุณสมบัติ คืออายุครบตามเกณฑ์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะการสรรหาใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไป) ถือว่าขัดและแย้งกับรัฐธรรมนูญแน่นอน หากไม่แก้ไขให้ถูกต้องอาจส่งผลต่อความเป็นศาลรัฐธรรมนูญได้ เช่น หากมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจะกล้ารับเรื่องหรือไม่ หากรับแล้วจะวินิจฉัยเช่นไร และอาจถูกมองเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้”

“สนช. ทราบได้อย่างไรว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คนอยากอยู่ต่อ จากที่ผมสนิทกับตุลาการทั้ง 5 คนและทราบความเห็นพบว่า มีส่วนใหญ่ที่ต้องการลาออก แต่มีส่วนน้อยเท่านั้นที่อยากอยู่ต่อ”

 

4.ทำไมต่ออายุ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ที่ขาดคุณสมบัติ ให้ดำรงตำแหน่งอีก 9 ปี

กรธ. เสนอให้รีเซ็ต ป.ป.ช. ที่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญปี 2560 โดย กมธ. แต่ สนช. ให้อยู่ต่อ ทำให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน จำนวน 7 คน จาก 9 คนที่มีคุณสมบัติไม่ครบตามรัฐธรรมนูญได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกเป็นเวลา 9 ปี นับตั้งแต่วันที่ ป.ป.ช. แต่ละคนได้รับการแต่งตั้ง

“เหตุผลที่ 7 ป.ป.ช. ได้อยู่ต่อ เพราะเป็นความต้องการของผู้มีอำนาจอยากจะให้อยู่ต่อ” แหล่งข่าวระบุ

7 รายชื่อกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีคุณสมบัติหมิ่นเหม่ต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้แก่

1. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เมื่อปี 2557 พ้นจากการดำรงตำแหน่งน้อยกว่า 10 ปี

2.นายปรีชา เลิศกมลมาศ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2552 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2553 และรับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี

3. พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เคยดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี 2553 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2555 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี

4. นายณรงค์ รัฐอมฤต อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2553 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2555 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี

5. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีต ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเมื่อปี 2552 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2557 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี

6. นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในปี 2557 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2558 พ้นจากการดำรงตำแหน่งน้อยกว่า 10 ปี

และ 7. พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีต ผอ.สำนักงบประมาณ กระทรวงกลาโหม เมื่อปี 2554 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี

มีเสียงวิจารณ์ว่า “เหตุผลที่ 7 ป.ป.ช. ได้อยู่ต่อ เพราะเป็นความต้องการของผู้มีอำนาจอยากจะให้อยู่ต่อ”

ตอนนี้ 32 สมาชิก สนช. เข้าชื่อเพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ในประเด็นการยกเว้นใช้ลักษณะต้องห้ามกับกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ เตือนไว้ว่า….จะวินิจฉัยเช่นไร และอาจถูกมองเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้ …เกิดขึ้นแล้ว

แล้ว ป.ป.ช. จะกล้าตรวจสอบรัฐบาล และ สนช. หรือ

ตกลงแล้ว การทำ พ.ร.ป. ที่เป็นกฎหมายลูก ต้องยึดหลักตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือจะออกกฎให้ได้ประโยชน์ทางการเมืองสูงสุด แก่กองหนุนต่างๆ

แผนการเดินหมากการเมือง เพื่อเข้าสู่อำนาจแบบไทยนิยมยังมีอีกมาก จะนำเสนอในโอกาสต่อไป

ทั้งหลายทั้งปวง อ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ได้กล่าวไว้ว่า บ้านเมืองกลายเป็นเรื่องของคนมีอำนาจที่ใช้อย่างไรก็ได้ ไม่ต้องคำนึงถึงหลักการ คุณธรรม ความถูกต้อง