วิกฤติศตวรรษที่21 : การช่วงชิงความเป็นใหญ่ที่เข้มข้นขึ้น ระหว่างสหรัฐกับแกนจีน-รัสเซีย

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (4)

การช่วงชิงความเป็นใหญ่ที่เข้มข้นขึ้นระหว่างสหรัฐกับแกนจีน-รัสเซีย

ในเดือนธันวาคม 2017 ได้เกิดบางเหตุการณ์ที่แสดงถึงการช่วงชิงความเป็นใหญ่ที่เข้มข้นขึ้นระหว่างสหรัฐกับแกนจีน-รัสเซีย

เหตุการณ์แรก ประธานาธิบดีทรัมป์แถลงนโยบายยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติ ระบุจีน-รัสเซีย เป็นคู่แข่งของตน ทั้งรัสเซียและจีนเป็น “คู่ต่อสู้” ที่ต้องการ “ท้าทายต่ออำนาจ อิทธิพล และผลประโยชน์ของสหรัฐ” และพยายามที่จะ “บ่อนทำลายความมั่นคงและความไพบูลย์ของสหรัฐ”

และกล่าวถึงรัสเซียว่า “ได้รวมความทะเยอทะยานของตนเข้ากับการพัฒนาความสามารถทางทหาร ก่อความไร้เสถียรภาพในเขตแดนของยูเรเซีย ทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการคำนวณที่ผิดพลาดของรัสเซียมีสูงขึ้น”

สำหรับจีน ทรัมป์เห็นว่าเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ที่คอยเอาเปรียบทางเศรษฐกิจการค้า

เจ้าหน้าที่จากรัสเซียและจีนได้ตอบโต้ทันควัน

ของรัสเซียวิจารณ์ว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐ “มีลักษณะจักรวรรดินิยม”

และของจีนกล่าวว่ามัน “เป็นความคิดแบบสงครามเย็น”

แต่ที่น่าสนใจกว่าเป็นคำปราศรัยของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงต่อประชาชนจีน (และชาวโลก) ในเทศกาลปีใหม่ แสดงความตั้งใจในการลบความยากจนในจีนให้หมดไปในสามปี

สร้างระบบสวัสดิการ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ที่สำคัญในทางสากล จีนจะขยายบทบาทของตนมากขึ้น โดยผ่านองค์การสหประชาชาติ และสร้างความคืบหน้าในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งทาง หรือเส้นทางสายไหมใหม่

มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ในฐานะเป็นชาติใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ ประเทศจีนต้องกล้าพูดออกมา จีนจะกระทำตัวเป็นผู้สร้างสันติภาพโลก สร้างคุณูปการแก่การพัฒนาของโลกและรักษาระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

คำปราศรัยนี้ เรียกได้ว่าเป็นคำปราศรัย “มังกรผงาดฟ้า” ต่างกับคำชี้แนะของเติ้งเสี่ยวผิงที่ให้ทำตนเป็น “มังกรซ่อนกาย” และถือปฏิบัติมายาวนาน

การแถลงข่าวและการให้สัมภาษณ์นักข่าวประจำปีในเดือนธันวาคมนี้ของปูตินก็น่าสนใจติดตามไม่น้อย ในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับรัสเซีย

ได้แก่

เรื่องแรก กรณีซีเรีย รัสเซียจะปักหลักในซีเรีย จนกว่าจะมีการเจรจาสันติภาพทางการเมืองจากทุกฝ่าย

ต่อมาเป็น กรณียูเครน ปูตินยอมรับอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า มีกองกำลังปฏิบัติการพิเศษของรัสเซียในยูเครนด้านตะวันออก แต่มันก็ไม่ใช่กองทัพรัสเซีย เป็นการแจ้งเตือนว่า ยังมีอีกมากที่จะตามมา หากมีการปิดล้อม แซงก์ชั่นรัสเซียจากตะวันตกเข้มขึ้น และมีปฏิบัติการทางทหารจากรัฐบาลยูเครนมากขึ้น

กรณีความสัมพันธ์กับจีน ปูตินย้ำว่า “ความร่วมมือกับจีนอยู่เหนือระเบียบวาระทางการเมือง… รัสเซียกับจีนจะเป็นพันธมิตรยาวนานในอนาคต”

และว่า ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างจีนกับรัสเซียเป็นผลดีแก่ทุกคน (ในการสร้างระเบียบโลกที่ไม่มีสหรัฐเป็นผู้บงการ)

เหตุที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น

การขับเคี่ยวระหว่างสหรัฐกับแกนจีน-รัสเซียที่เข้มข้นขึ้นนั้น แสดงออกที่การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจสองฝ่ายบ่อยขึ้นในขอบเขตทั่วโลก

ต่างฝ่ายต่างยืนยันในความถูกต้องชอบธรรมของตน ถึงขั้นที่พูดให้เข้าใจกันได้ยาก

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-การเมืองโลกก็มีความเปราะบางไม่แน่นอน ขยายความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจกันยิ่งขึ้น

เหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดการแข่งขันรุนแรงอาจสรุปได้ดังนี้

1)การใช้ตัวแทนเช่นกลุ่มกองกำลังต่างๆ จนถึงผู้นำในรัฐบาลเพื่อต่อสู้เป็นตัวแทน ไม่บังเกิดผลตามต้องการมากขึ้นทุกที ด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่

ข้อแรก ประชาชนประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายมีความตื่นตัวทางการเมือง ต้องให้ประเทศของตนมีอิสระในนโยบายเศรษฐกิจ-การเมือง เพื่อความไพบูลย์และอยู่ดีของประชาชน ไม่ยอมให้ผู้นำของตนเป็นตัวแทนของมหาอำนาจโลก สร้างระบบกดขี่ คอร์รัปชั่นไม่โปร่งใสขึ้น กลุ่มตัวแทนเหล่านี้จะถูกพลเมืองรากหญ้าเคลื่อนไหวล้มล้าง เช่นในกรณีการลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ เป็นต้น

ในประการต่อมา กลุ่มที่เป็นตัวแทนเองนี้ โดยทั่วไปมีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง เช่น กลุ่มตาลิบัน และอัลไคด้าที่สหรัฐสนับสนุนให้เป็นนักรบแห่งเสรีภาพเพื่อต่อสู้กับสหภาพโซเวียต ก็มีระเบียบวาระทางการเมืองของตน เมื่อได้อำนาจรัฐแล้วก็ปฏิบัติตามนโยบายของตน ไม่ได้สนใจที่จะต้องเดินตามสหรัฐ จนกระทั่งพลิกกลับมาเป็นศัตรูกัน

กรณีกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ก็เป็นทำนองเดียวกัน

ประการสุดท้าย คือการใช้ตัวแทนได้ผลอย่างจำกัด มีค่าใช้จ่ายมากทั้งประเทศผู้ให้และประเทศที่รับความช่วยเหลือเป็นแนวหน้าหรือตัวแทน เช่นกรณีประเทศปากีสถาน ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีต (01.01.2018) คร่ำครวญอย่างแข็งกร้าวว่า “สหรัฐได้ให้เงินช่วยเหลือแก่ปากีสถานอย่างโง่เขลามูลค่ากว่า 33 พันล้านดอลลาร์ ในระยะกว่า 15 ปีมานี้ แต่พวกเขาไม่ได้ให้อะไรตอบแทนแก่เราเลย นอกจากการโกหกและหลอกลวง พร้อมกับคิดว่าผู้นำของเราช่างโง่เขลา พวกเขาให้ที่หลบซ่อนแก่พวกก่อการร้ายที่เราไล่ล่ามาจากอัฟกานิสถาน โดยช่วยเหลืออะไรน้อยมาก ไม่มีวันเป็นเช่นนั้นอีกแล้ว”

แต่ในแง่มุมของปากีสถานแล้วเห็นว่าตนเองทำงานอย่างหนัก และต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล ที่เด่นได้แก่ การทำสงครามปากีสถาน-ตาลิบันที่เรียกว่า “สงครามตะวันออกเฉียงเหนือของปากีสถาน” ซึ่งเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2004 มีสมรภูมิสำคัญที่บริเวณ “วาซีริสถานเหนือ” ซึ่งภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นที่อยู่ของชาวปัชตุนที่เป็นเชื้อชาติเดียวกันกับกลุ่มตาลิบัน อยู่ติดกับอัฟกานิสถาน

สงครามต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายนี้เป็นไปอย่างดุเดือดต่อเนื่องกันหลายปี ผลาญกำลังคนและทำลายเศรษฐกิจของปากีสถานอย่างรุนแรง

กระทรวงการคลังปากีสถานได้รายงานการสำรวจในช่วงปี 2010-2011 ระบุว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในการเป็นแนวหน้าต่อสู้พวกก่อการร้ายตั้งแต่ปี 2001 (จนถึงปีสำรวจเป็นเวลาราว 10 ปี) มีมูลค่าถึง 67.9 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่สหรัฐให้การช่วยเหลือเป็นเท่าตัว

สหรัฐจะเห็นผู้นำปากีสถานเป็นพวกโง่เขลาหรือไม่

2)วิกฤติเพิ่มความเข้มข้น ที่สำคัญได้แก่ วิกฤติเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ บีบให้ประเทศทั้งหลายต้องหาทางเอาตัวรอดกันเอาเอง หลังจากร่วมมือกันในช่วงแรกและไม่เป็นผล

ยุทธศาสตร์ของสหรัฐในการปลีกตัวมาปฏิบัติการตามลำพัง ถืออเมริกันอยู่เหนือชาติใด ตามแนวลัทธิทรัมป์ แม้จะถูกคัดค้านในประชาคมโลก แต่ก็มีเหตุผลอยู่ไม่น้อย

ทั้งนี้เพราะว่าสหรัฐเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด สามารถเอาตัวรอดตามลำพังได้สูงกว่าชาติอื่น ก่อให้เกิดการได้เปรียบในการต่อรองว่าการเข้าไปแบกรับภาระตำรวจโลก ที่ในสถานการณ์ปัจจุบันไม่เกิดผลดีแก่สหรัฐเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์อเมริกันเหนือชาติอื่นนี้ไม่ใช่ลัทธิปลีกตัว แต่เป็นยุทธศาสตร์เพื่อให้อเมริกันกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เมื่อสหรัฐประกาศตัวเช่นนั้น ประเทศทั้งหลายก็เห็นแล้วว่าจะหวังพึ่งอะไรจากสหรัฐเหมือนเดิมไม่ได้

ต้องพึ่งตัวเอง แสวงหาพันธมิตรและหุ้นส่วนใหม่ ต่อสู้ต่อไปอย่างไม่ลดละ

3)โลกเคลื่อนสู่การเล่นเกม ผู้ชนะได้หมด เช่น หากสหรัฐเป็นฝ่ายแพ้ ก็จะสูญเสียดินแดนยูเรเซียทั้งหมด รวมทั้งมหาตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีปแอฟริกา ต้องไปนั่งจับเจ่าอยู่ที่ทวีปอเมริกาเท่านั้น

และถ้าหากเกิดเช่นนั้นจริง ก็ไม่แน่ว่าจะรักษาอิทธิพลของตนในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ รวมทั้งบริเวณทะเลแคริบเบียนได้หรือไม่

ดังนั้น สหรัฐก็ยังจำต้องรักษากองกำลังและฐานทัพทั่วโลกของตนต่อไป

ทรัมป์เองเคยโจมตีการทำสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักว่าโง่เง่า ไม่เป็นผล

การเข้าไปแทรกแซงในสงครามกลางเมืองของซีเรียก็ไม่ได้เรื่อง

แต่เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ราวหนึ่งปีก็ส่งทหารเข้าไปเพิ่มในอัฟกานิสถาน ทิ้ง “มารดาแห่งระเบิด” ใส่ที่นั่น

ส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้าไปเพิ่มเติมทั้งในอิรักและซีเรีย เป็นต้น การได้-เสียที่มาก บีบให้ผู้เล่นจำต้องแสดงด้วยตนเองมากขึ้น และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย

อนึ่ง การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นยังเป็นไปตามทฤษฎี “สัจนิยมเชิงรุก” ของเมียร์ไชเมอร์ (John Mearsheimer เกิด 1947) นักรัฐศาสตร์ชาวสหรัฐ เขาเสนอทฤษฎีสัจนิยมเชิงรุกในงานเขียนชื่อ “โศกนาฏกรรมของการเมืองมหาอำนาจ” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 2001 มีการปรับ/พิมพ์ใหม่อีกหลายครั้ง เขายังได้ไปปาฐกถาเผยแพร่ทฤษฎีของเขาในหลายประเทศ)

ทฤษฎีนี้กล่าวอย่างสั้นๆ ได้ว่า โครงสร้างพื้นฐานของระบบการเมืองระหว่างประเทศ บังคับให้รัฐทั้งหลายต้องสนใจเกี่ยวกับความมั่นคงของตนและเข้าแข่งขันกับรัฐอื่นเพื่อให้ได้อำนาจ

เป้าประสงค์สูงสุดของมหาอำนาจทั้งหลายก็คือ ทำให้ตนมีส่วนแบ่งในอำนาจโลกได้สูงสุด สามารถครอบงำระบบทั้งหมดได้ ในทางปฏิบัติก็คือรัฐที่มีอำนาจมากที่สุด จะสร้างความเป็นใหญ่ในภูมิภาคของตน ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้มหาอำนาจอื่นขึ้นมามีอำนาจในภูมิภาคอื่นด้วย

กล่าวในรายละเอียดหรือโครงสร้างหรือระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วง 200 ปี เมียร์ไชเมอร์เสนอว่า มีองค์ประกอบซึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมของรัฐต่างๆ ดังนี้คือ

1) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีลักษณะเป็นอนาธิปไตย ไม่มีองค์การเหนือรัฐที่จะมากำกับดูแลให้รัฐใดรัฐหนึ่งต้องปฏิบัติตามนั้น แม้ว่าจะมีรัฐหนึ่งใหญ่กว่ารัฐอื่น

2) รัฐต่างๆ มีความสามารถทางการทหารในระดับหนึ่งที่ต่างกัน ความสามารถนี้เป็นรูปธรรม สามารถตรวจวัดได้

3) เจตนาของรัฐอื่น วัดไม่ได้หรือวัดได้ยากมาก เพราะว่าเจตนาอยู่ในใจของคน คือผู้นำประเทศนั้น ซึ่งสมมุติว่าสามารถรู้เจตนาในวันนี้ได้ วันหน้าก็ไม่รู้ เพราะผู้นำก็มีการเปลี่ยนแปลงทั้งจากการเปลี่ยนใจและการเปลี่ยนตัว

4) เป้าประสงค์หลักของรัฐก็คือการอยู่รอด เพราะว่าถ้าอยู่ไม่รอดแล้ว อย่างอื่นก็ไม่รอด รัฐจำต้องเชี่ยวชาญในการคิด คำนวณว่าจะอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอนาธิปไตยนี้อย่างสูงสุดได้อย่างไร

5) จากโครงสร้างข้างต้น ทำให้รัฐต่างๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีพฤติกรรมสามแบบ

ได้แก่

ก) รัฐในระบบนี้กลัวกันและกัน เช่น จากการอยู่ใกล้ชิดกับประเทศใหญ่ที่ประสงค์ร้าย ถ้าหากเกิดความยากลำบากในการเมืองระหว่างประเทศก็ไม่มีองค์กรเหนือรัฐมาช่วยได้ ไม่เหมือนเมื่อเกิดเหตุด่วนเหตุร้ายภายในรัฐสามารถโทรศัพท์ไป 911 ได้

ข) การพึ่งตนเอง รัฐต้องพึ่งตนเองเป็นพื้นฐาน ศัตรูและมิตรเป็นสิ่งไม่ถาวร (คล้ายลัทธิจูเช่ของเกาหลีเหนือ)

ค) ความต้องการมีอำนาจสูงสุด เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในระบบเป็นมหาอำนาจโลก แต่ก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยาก เนื่องจากมีความยากลำบากในการพิชิตและกดมหาอำนาจในภูมิภาคอื่นที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะเมื่อต้องข้ามมหาสมุทร ในทางเป็นจริงจึงต้องทำเช่นนี้คือ พยายามเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในภูมิภาคของตนเป็นเบื้องต้น ต่อมาก็คือป้องกันไม่ให้มหาอำนาจอื่นขึ้นมามีอำนาจในภูมิภาคอื่นซึ่งจะเป็นคู่แข่งทางอำนาจของตนในภูมิภาคนั้น

จากทฤษฎีดังกล่าวทำนายว่า การรุ่งเรืองของจีนอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถเป็นไปอย่างสันติได้ โดยจีนจะต้องพยายามมีอิทธิพลเหนือภูมิภาคเอเชีย แบบเดียวกับที่สหรัฐเคยทำเพื่อมีอำนาจครอบงำทวีปอเมริกา ขณะเดียวกัน สหรัฐจะไม่ยอมให้จีนขึ้นมามีอำนาจเช่นนั้น และจะปิดล้อมจีนโดยอาศัยหลายประเทศในเอเชีย มีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม สิงคโปร์ และอินเดีย เป็นต้น เป็นพันธมิตร

เมียร์ไชเมอร์ยังวิเคราะห์ว่าการที่สหรัฐ-นาโต้พยายามเข้าไปมีอำนาจครอบงำยุโรปตะวันออกและยูเครน เป็นต้น จะต้องเผชิญการตอบโต้จากรัสเซียที่เป็นมหาอำนาจในภูมิภาคนั้นอย่างรุนแรง ฝ่ายตะวันตกจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากเกิดความตึงเครียดขึ้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ และการขับเคลื่อนเงินหยวนให้เป็นสากลของจีน