100 ปี ‘ทองปอนด์ คุณาวุฒิ’ | ตำนาน ‘ผู้อำนวยการสร้างหญิง’ ของอุตสาหกรรมหนังไทยแบบครัวเรือน

คนมองหนัง

ขณะที่เคยรู้จักฝีไม้ลายมือและเกียรติคุณความสำเร็จของคนทำหนังไทยระดับตำนานอย่าง “ครูวิจิตร คุณาวุฒิ” หรือ “คุณาวุฒิ” อยู่บ้างตามสมควร

ผมกลับแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ “ทองปอนด์ คุณาวุฒิ” นอกจากจะเคยเห็นชื่อเธอแบบผ่านๆ ในหนังไทยรุ่นเก่าบางเรื่อง ซึ่งเป็นผลงานการกำกับฯ ของ “คุณาวุฒิ”

ผมเพิ่งมารู้จัก “คุณทองปอนด์” อย่างละเอียดมากขึ้น ระหว่างเดินเที่ยวชมนิทรรศการ “คุณาวุฒิ 101” ที่หอภาพยนตร์ ศาลายา เมื่อไม่กี่เดือนก่อน

ถ้าให้กล่าวสรุปรวบยอดอย่างสั้นๆ “ทองปอนด์ คุณาวุฒิ” ก็คือสตรีที่อยู่เคียงข้าง “วิจิตร คุณาวุฒิ” มาตั้งแต่ในวัยเด็ก ตราบจนถึงวันที่ผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นครูของเมืองไทยเสียชีวิตลงในปี 2540

“ทองปอนด์” (นามสกุลเดิม “โกมลภิส”) เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2467 โดยเธอเป็นลูกสาวของกำนันตำบลบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

“ทองปอนด์” และ “ครูวิจิตร” เป็นทั้งเพื่อนเรียนหนังสือรุ่นราวคราวเดียวและเพื่อนบ้าน ซึ่งรู้จักผูกพันกันมาตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบ ก่อนที่ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายไปศึกษาต่อคนละสถาบัน แล้วจึงหวนกลับมาพบกันอีกครั้งในวัยหนุ่มสาว

“วิจิตร” ได้สารภาพรักกับ “ทองปอนด์” และทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานกันเมื่อเดือนมีนาคม 2488 ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง

ในฐานะคู่ชีวิต “ทองปอนด์” ได้ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องราวต่างๆ ในครอบครัว เลี้ยงดูลูกๆ และดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ของสามี ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ “วิจิตร” ยังทำงานเป็นนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์

ครั้นเมื่อ “คุณาวุฒิ” ผันตนเองมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และเลือกจะ “ลงทุนสร้างหนัง” เอง ด้วยการก่อตั้งบริษัท “แหลมทองภาพยนตร์” ขึ้น

“ทองปอนด์” ผู้เป็นภรรยา ก็เข้ามารับหน้าที่เป็น “ผู้อำนวยการสร้างหนัง” ที่ดูแลเรื่องธุรกิจการเงิน เครื่องแต่งกาย-เครื่องประดับ-การแต่งหน้านักแสดง อาหารการกิน-สวัสดิการในกองถ่าย ตลอดจนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงาน

ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “คุณาวุฒิ : วันหนึ่งเราจะหัวเราะให้แก่วันนี้” ที่จัดทำโดยหอภาพยนตร์ และจากคำบอกเล่าของลูกชายอย่าง “คณิต คุณาวุฒิ” ผู้อำนวยการสร้างเช่น “ทองปอนด์” จะกล้าตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ที่มีประโยชน์ทางด้านธุรกิจ แม้อาจขัดใจสามีอยู่บ้าง

อาทิ เมื่อถึงคราวที่เธอประเมินว่า ผลงานของ “คุณาวุฒิ” จำเป็นจะต้อง “ทำเงิน” ให้ได้เสียที “ทองปอนด์” ก็พยายามผลักดันทุกวิถีทางให้หนังเรื่องนั้นๆ ถูกกล่าวถึงในสื่อ แม้จะด้วยวิธีการ “จ่ายเงินพิเศษให้คอลัมนิสต์” ซึ่งเป็นสิ่งที่นักหนังสือพิมพ์เก่าอย่าง “ครูวิจิตร” ไม่ชอบและไม่นิยมก็ตาม

“ทองปอนด์” ทำงานเป็น “ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์” ให้แก่สามี ตั้งแต่ครั้งที่ “คุณาวุฒิ” ลงมือทำภาพยนตร์เรื่องแรก คือ “มือโจร” (2504) กระทั่งถึงผลงานลำดับสุดท้าย คือ “เรือนแพ” (2532) ซึ่งเป็นยุคที่ “ครูวิจิตร” โยกย้ายตัวเองมาเป็นผู้กำกับฯ ในสังกัดบริษัทใหญ่อย่าง “ไฟว์สตาร์ฯ”

ตลอดห้วงเวลาของการครองรักเกินกึ่งศตวรรษ สองสามีภรรยาจากครอบครัว “คุณาวุฒิ” ถือเป็นคู่ชีวิตที่ต่อสู้ฟันฝ่าอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

วันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา “ทองปอนด์ คุณาวุฒิ” เพิ่งมีอายุครบ 100 ปีบริบูรณ์ โดยเธอถือเป็น “ตัวแทนคนสำคัญที่ยังมีชีวิตอยู่” ของสุภาพสตรีที่ทำงานคลุกคลีกับแวดวงหนังไทย ตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นระบบอุตสาหกรรมหรือธุรกิจภายในครัวเรือน

ปัจจุบันหอภาพยนตร์ได้นำเสนอชีวประวัติของ “ทองปอนด์ คุณาวุฒิ” เป็นเนื้อหามุมหนึ่งในนิทรรศการ “คุณาวุฒิ 101” โดยได้นำกระเป๋าแต่งหน้าและอุปกรณ์ถ่ายหนังที่เธอเป็นผู้รับผิดชอบดูแลในกองถ่าย รวมถึงภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวในอดีตมาจัดแสดงด้วย

นอกจากนี้ ในนิทรรศการยังได้จัดแสดงภาพวาดของ “ทองปอนด์” จากฝีมือศิลปินสำคัญสองราย คนแรกคือ “จักรพันธุ์ โปษยกฤต” ศิลปินแห่งชาติ ที่เคยวาดรูป “ทองปอนด์สมัยยังสาว” ตั้งแต่ตอนที่เขาเป็นนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย คนที่สองคือ “ทนง วีระกุล” นักวาดใบปิดหนังไทย ที่ได้วาดรูปคู่ของ “ทองปอนด์กับคุณาวุฒิในวัยชรา” เอาไว้

นิทรรศการ “คุณาวุฒิ 101” ยังจัดแสดงให้สาธารณชนได้เข้าชม จนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ศาลายา •

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/ThaiFilmArchivePage

 

| คนมองหนัง