2 เจ้าสัวหนุ่ม ประสานมือรัฐ ยกระดับธุรกิจไทย นาทีนี้ รวยคนเดียวไม่ได้แล้ว

การทำธุรกิจในวันนี้ นอกจาก “การเติบโต” และ “ผลกำไร” ที่มีความสำคัญมาเป็นอันดับต้นๆ แล้ว ธุรกิจยังจำเป็นจะต้องมีเป้าหมายเชิงสังคม “ซีเอสอาร์” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน

แม้ว่าการทำซีเอสอาร์ จะมีรูปหรือวิธีการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมและธุรกิจ แต่ปลายทางที่สำคัญคือ การสร้างความยั่งยืนให้เกิดกับสังคม พร้อมๆ ไปกับการดำเนินธุรกิจ

ไม่เพียงเท่านี้ การที่ภาคธุรกิจนำเอาความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรต่างๆ ที่มี มาสนับสนุน ถือเป็นมิติใหม่ในการขับเคลื่อนและแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ประกาศนโยบาย “ประชารัฐ” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

พร้อมกับเชิญชวนนักธุรกิจชั้นนำของไทย ให้เข้ามามีส่วนร่วมวงล้อของการพัฒนาประเทศในครั้งนี้ และมีนักธุรกิจจากหลายองค์กรที่ตอบรับคำเชิญและเข้าร่วมเป็นคณะทำงานชุดต่างๆ อย่างคึกคัก

เช่นเดียวกับ 2 ทายาทเจ้าสัวใหญ่ของเมืองไทย อย่าง “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ “ศุภชัย เจียรวนนท์” รองประธานกรรมการ ด้านความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่พร้อมใจตบเท้าเข้าร่วมวงประชารัฐด้วยเช่นกัน

และ 2 ทายาทเจ้าสัวใหญ่ ต่างได้รับมอบหมายให้นั่งหัวขบวนในการเป็นตัวแทนภาคเอกชนนำทีมทำงาน โดยที่ “ฐาปน” ได้รับมอบหมายให้ติดตามงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ส่วน “ศุภชัย” ได้รับมอบหมายงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ

การทำงานในการนำทีมของ “ฐาปน” นั้นมีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน เพื่อประชาชนมีสุข ด้วยการดำเนินงานใน 5 กระบวนการ ได้แก่ 1.การเข้าถึงปัจจัยการผลิต 2.การสร้างองค์ความรู้ 3.การตลาด 4.การสื่อสารการรับรู้เพื่อความยั่งยืน และ 5.การบริหารจัดการ

การทำงานจะมุ่งเน้นไปยัง 3 กลุ่มงานหลักๆ ที่ประกอบไปด้วย การเกษตร แปรรูป และการท่องเที่ยวในชุมชน

ทั้ง 3 กลุ่มนี้ถือว่ามีความเชื่อมโยงและเกี่ยวเนื่องกัน เพราะว่ารายได้พื้นฐานที่ได้จากการเกษตรจะสะท้อนถึงมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ แล้วต่อยอดมาถึงการท่องเที่ยวโดยชุมชน

อีกทั้งการขับเคลื่อนการทำงานยังได้มีการให้แต่ละจังหวัดจัดตั้ง “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด” ที่ถือเป็น “วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)” ขึ้นในพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัด และ 76 จังหวัด โดยมี “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย)” จำกัด เป็นตัวกลางในการดำเนินการและร้อยความเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

จากการทำงานที่ผ่านมา “ฐาปน” บอกว่า ตอนนี้ได้ดำเนินการจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ไปแล้วกว่า 31 จังหวัด มีบริษัทเอกชนรายใหญ่ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนและพัฒนาชุมชน ด้วยการให้ความรู้ด้านต่างๆ ทั้งการจัดการ การตลาด บัญชี

“และด้วยความที่มีการทำงานเชื่อมโยงกับชุมชนอย่างใกล้ชิด ทำให้เห็นว่าชุมชนจะต้องปรับตัวเองในการเปลี่ยนแปลงวิถีการค้าแบบเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะมีภาคเอกชนจะร่วมขับเคลื่อน พร้อมมีภาครัฐคอยช่วยสนับสนุน”

“อยากเชิญชวนให้บริษัทเอกชนรายใหญ่เข้ามาถือหุ้นคนละหนึ่งเปอร์เซ็นต์ และเมื่อเอกชนรายใหญ่ได้แสดงสปิริตที่จะเข้ามามีส่วนร่วม สะท้อนให้เห็นว่าเอกชนให้ความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ทั่วประเทศไทย ในการวางรูปแบบโครงข่ายที่สามารถเผยแพร่ความรู้ การบริหารจัดการ การเข้าถึงการตลาด”

นี่จะถือว่าเป็นตัวอย่างที่ภาคเอกชนที่สามารถเข้ามาช่วยเชื่อมโยงกับชุมชนเพื่อยกระดับชุมชนได้

ขณะที่การนำทีมของ “ศุภชัย” นั้นก็ถือว่าเป็นการขับเคลื่อนอีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นการมุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศสู่มาตรฐานสากล โดยได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ 10 ด้านในการยกระดับการศึกษาไทยสู่มาตรฐานสากล อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลและการเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงของสถานศึกษาการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง, การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะให้นักเรียน, การยกระดับทักษะความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ เป็นต้น

ล่าสุดคณะทำงานได้จัดตั้ง “โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (CONNEXT ED)” ที่เป็นการรวมตัวกันของภาคเอกชนชั้นนำของไทย 12 องค์กร ในการร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาพื้นฐานของประเทศอย่างมีระบบ

โครงการนี้ผู้บริหารระดับสูงของ 12 องค์กรจะทำหน้าที่เป็น School Sponsor ที่จะคอยให้คำปรึกษาและสนับสนุนแก่ School Partners ที่เป็นผู้นำรุ่นใหม่ ที่ผ่านการคัดเลือกและอบรมหลักสูตรผู้นำ รวม 1,000 คน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนและร่วมวางแผนพัฒนาโรงเรียน ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐ 3,342 โรงเรียนทั่วประเทศ ในระยะแรก ภายในปี 2559 และจะขยายครบ 7,424 โรงเรียนในทุกตำบลทั่วประเทศ ภายใน 3 ปี สิ้นปี 2561

ทั้งนี้ “ศุภชัย” ย้ำว่า โครงการประชารัฐจะทำให้เอกชนเห็นปัญหาระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น ที่รัฐกับเอกชนต้องวางแผนร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา เพราะว่าวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

วันนี้การศึกษาไทยจะต้องเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง กระตุ้นให้เด็กเกิดการตั้งคำถาม เกิดการวิเคราะห์และลงมือทำ มองหาความสามารถพิเศษ จุดอ่อน จุดแข็ง และระบบโรงเรียนต้องรู้จักจิตวิทยาเด็ก เพื่อดึงศักยภาพของเขาออกมาให้ได้ เพื่อให้เขารู้ว่าเขาคือใคร ต้องการทำอะไร

“เรื่องของความรักและความเอาใจใส่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่า 80-90% เด็กเรียนรู้จากการกระทำของผู้ใหญ่ ฉะนั้น ถ้าอยากให้เด็กเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่ต้องทำให้เด็กดู แม้ต้องใช้เวลา 10-15 ปี แต่วิธีนี้ยั่งยืนที่สุด เพราะเด็กโตขึ้นมาเป็นคนรุ่นต่อไป ซึ่งไม่ต่างจากองค์กรธุรกิจที่ต้องอาศัยบุคลากร”

นั่นคือบทบาทและภาพลักษณ์ของทายาทเจ้าสัวหมื่นล้าน ที่ไม่ใช่เพียงแค่การให้ความสำคัญการทำซีเอสอาร์ขององค์กรเท่านั้น แต่หากยังหมายรวมถึงการนำเอาความเชี่ยวชาญ และศักยภาพทางธุรกิจ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม

เป็นอีกมิติหนึ่งของภาคธุรกิจชั้นแนวหน้าของเมืองไทย

นอกจากการแสดงบทบาทใหม่แล้ว ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังแสดงถึงความความจริงใจในการที่จะเข้ามาส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากกับโครงการประชารัฐที่รัฐบาลชุดนี้พยายามปลุกปั้นขึ้นมาจนเป็นรูปธรรมในวันนี้