ผู้ชายเข้ายิม : เพื่อรูปร่าง หรือเพื่อสุขภาพ?

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

ผู้ชายเข้ายิม

: เพื่อรูปร่าง หรือเพื่อสุขภาพ?

 

ถามหนุ่มๆ ว่าอะไรคือแรงจูงใจให้คุณเข้ามาออกกำลังกายในยิม ในฟิตเนส

สิ่งแรกที่หนุ่มๆ หลายคนนึกถึง คือการมีสุขภาพที่ดีและร่างกายแข็งแรง

แต่จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยลินคอล์น (University of Lincoln) ประเทศอังกฤษ พบว่า แรงจูงใจในการออกกำลังกายที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่

ไม่ใช่เหตุผลทางด้านสุขภาพอย่างที่หลายๆ คนมักจะบอก

 

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิจัยด้านความแข็งแรงและสมรรถภาพ (Journal of Strength and Conditioning Research) ได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการออกกำลังของผู้ชายจำนวน 100 คน เพื่อหาแรงจูงใจที่แท้จริงในการออกกำลังกาย

พบว่าของผู้ชายเหล่านี้ออกกำลังกายวันละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2-3 วัน และมีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่าเกณฑ์เล็กน้อย คือเป็นคนที่มีแนวโน้มอ้วน

จากการตอบแบบสอบถามผู้ชายจำนวน 60% บอกว่าสุขภาพและความฟิต เป็นแรงจูงใจหลักที่ทำให้พวกเขาออกกำลังกาย เพียง 16% บอกว่ารูปร่างที่ดีคือแรงจูงใจในการออกกำลังกาย อีก 8% ออกกำลังกายเพื่อฝึกซ้อมและเตรียมตัวแข่งเพาะกายสมัครเล่น

แต่นี่เป็นคำตอบที่ได้ผ่านการกลั่นกรองจากความรู้สึกของผู้ตอบ

ในแบบสอบถามยังให้ผู้ทดสอบได้สำรวจตัวเองโดยการให้คะแนน 1-4 คะแนน จากประโยคที่กำหนดให้ว่ามีความจริงมากน้อยเพียงใด เช่น

“เมื่อมองดูตัวเองในกระจกแล้วรู้สึกแย่ เพราะมีแต่ไขมันและไม่มีกล้าม”

หรือ “รู้สึกกดดันที่เห็นคนใกล้ตัวออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ”

โดย 1 คือ “ไม่ใช่เรื่องจริงเลย” และ 4 คือ “เป็นเรื่องจริงที่สุด”

 

ในการทดสอบอย่างที่สอง ให้ผู้เข้าร่วมได้เลือกคำที่ตรงกับความรู้สึกตัวเองมากที่สุด โดยเป็น 2 พยางค์ที่มีความหมายทั้งแง่บวกและแง่ลบเกี่ยวกับการออกกำลังกาย เช่น โดยสัญชาตญาณ (Spontaneous) กับ ถูกบังคับ (Forced)

การทดสอบจะจับเวลาเพื่อดูว่าแต่ละคนใช้เวลานานเท่าไรในการเชื่อมโยงคำที่ตรงกับความรู้สึกตัวเอง

เป้าหมายคือเพื่อหาแรงจูงใจในการออกกำลังกาย ซึ่งมาจากจิตใต้สำนึกของผู้ทดสอบ เพื่อจะได้คำตอบที่แท้จริง ไม่ใช่คำตอบแบบสร้างภาพให้ตัวเองดูดี

จากผลการทดสอบทั้งหมด ได้คำตอบว่าแรงจูงใจที่แท้จริงในการออกกำลังกายของผู้ชายมาจากความไม่พอใจรูปร่างของตัวเองหรือกลัวอ้วน มากกว่าการอยากมีสุขภาพที่แข็งแรง

 

ดร.เดวิด คีตลีย์ (Dr. David Keatley) หัวหน้าผู้ศึกษาบอกว่า คนที่มีความกังวล เรื่องรูปร่างอ้วนมีโอกาสสูงที่จะเข้ายิมตามสัญชาตญาณ และออกกำลังกายโดยไม่วางแผนล่วงหน้า เรียกว่าพอเห็นรูปร่างตัวเองในกระจกแล้วรู้สึกแย่ อายคนอื่น จึงค่อยเข้ายิมออกกำลังกาย

ซึ่งการเข้ายิมแบบนานๆ ครั้งตามอารมณ์ ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์อะไรเลยในระยะยาว อีกทั้งยังไม่ได้ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นด้วย

ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราสามารถเข้ายิมออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอก็คือ ตั้งเป้าหมายที่ไม่ต้องจดจ่อกับเรื่องรูปร่างภายนอก

เช่น กระตุ้นให้ตัวเองเพิ่มกล้ามเนื้อขึ้นอีก 5 กิโลกรัม เพื่อสร้างความสมดุลให้ร่างกาย หรือตั้งเป้าว่าเต้นแอโรบิกสัปดาห์ละ 3-4 วัน เพื่อให้หัวใจแข็งแรง

การตั้งเป้าแบบนี้จะทำให้เราไม่ฝืนร่างกายตัวเองเกินไป และยังช่วยให้เราปรับเปลี่ยนทัศนคติไปในทางบวก

ซึ่งจะส่งเสริมพฤติกรรมการสร้างสุขภาพที่ดีในระยะยาว