เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ภาษาพระไตรปิฎก และพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกนานาภาษา (1)

ประเด็นพิจารณา

1.พระพุทธเจ้าทรงใช้ภาษาอะไรประกาศพระศาสนา

และภาษาในพระไตรปิฎกที่รู้กันในปัจจุบันนี้ว่า “ภาษาบาลี” เป็นภาษาอะไรแน่

(1) ผู้นับถือพระพุทธศาสนาสายเถรวาทเชื่อกันว่า

พระพุทธเจ้าทรงวางรากฐานพระพุทธศาสนาที่แคว้นมคธ ภาษาที่พระองค์ทรงใช้สื่อสารคือ ภาษา “มาคธี” หรือ “มาคธิกโวหาร”

พระพุทธโฆสาจารย์ (พระอรรถกถาจารย์ที่มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 10) ยืนยันว่า มาคธี หรือ มาคธิกโวหาร เป็น “สกานิรุตฺติ” (ภาษาของตน) หมายถึงภาษาของพระพุทธเจ้า หรือภาษาที่พระพุทธเจ้าทรงใช้

ต่อมาเมื่อทรงย้ายศูนย์กลางพระพุทธศาสนามาอยู่ที่รัฐโกศล ก็คงใช้ภาษาของรัฐโกศลและภาษาถิ่นอื่นๆ อีกด้วย แต่ส่วนมากคงใช้ภาษามาคธี หรือมาคธิกโวหาร

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือน พระสงฆ์อรหันต์ 500 รูป ได้กระทำสังคายนา (ร้อยกรองพระธรรมวินัย) ขึ้นที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เข้าใจว่า ท่านคง “เลือก” ใช้ภาษามาคธี หรือมาคธิกโวหาร เป็นภาษาสำหรับบันทึกพระพุทธวจนะ แล้วถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยระบบ “มุขปาฐะ” (ท่องจำ)

เมื่อสังคายนาครั้งที่ 2 (พ.ศ.100) ครั้งที่ 3 (พ.ศ.234, บางแห่งว่า 235) ก็คงยึดตามแบบอย่างสังคายนาครั้งแรก เมื่อพระพุทธศาสนาไปลังกา พระสงฆ์ลังกาก็คงได้มีการจารพระพุทธวจนะลงเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วเปลี่ยนมาเรียกชื่อภาษาพระคัมภีร์ว่า “ภาษาบาลี”

ตามความเชื่อของชาวพุทธฝ่ายเถรวาท ภาษาพระไตรปิฎกก็คือภาษามาคธี ซึ่งพัฒนาเป็นภาษาบาลีนั้นเอง

(2) นักปราชญ์ตะวันตกพวกหนึ่ง เช่น นีลส์ ลุดวิก เวสเตอร์การ์ด (Niels Ludvig Westergaard) อี. คูห์น (E.Kuhn) โอ. อาร์. ฟรังเค (O.R Franke) เชื่อว่าภาษาพระไตรปิฎกมิใช่ภาษามาคธี หรือภาษาที่สืบสายมาจากภาษามาคธี แต่เป็นภาษาแคว้นอวันตี

พระมหินทเถระผู้นำพระพุทธศาสนาไปลังกาเป็นชาวอวันตี เมื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ลังกา ก็น่าจะสื่อสารหรือถ่ายทอดพระพุทธวจนะด้วยภาษาอวันตี

หลังพุทธปรินิพพานแล้ว แคว้นอวันตีเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนามาเป็นเวลาสองศตวรรษ พระพุทธวจนะน่าจะได้รับการ “ร้อยกรอง” เป็นภาษาของแคว้นนี้ จนกระทั่งพระมหินท์นำไปลังกา

มีการค้นพบศิลาจารึก ชื่อ กีรนา (Girna Inscription) ที่เมืองอวันตี ซึ่งเป็นถิ่นมาตุภูมิของพระมหินท์ ภาษาในศิลาจารึกละม้ายคล้ายคลึงกับภาษาในพระไตรปิฎกมาก

(3) นักปราชญ์อีกพวกหนึ่ง อาทิ แฮร์มันน์ โอลเดนแบร์ก (Hermann Oldenberg) เสนอทัศนะว่าภาษาพระไตรปิฎกเป็นภาษาของแคว้นกลิงครัฐ ภาคใต้ของอินเดีย

โอลเดนแบร์กปฏิเสธตำนานสืบศาสนาของฝ่ายเถรวาทที่กล่าวมาข้างต้น ไม่เชื่อว่ามีการทำสังคายนาครั้งที่ 3 ไม่เชื่อว่ามีการส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างแดน อ้างเหตุผลเช่น

เรื่องการทำสังคายนาครั้งนี้ ไม่มีในหลักฐานของฝ่ายอื่นนอกจากเถรวาท ฝ่ายเถรวาทแต่งขึ้นเอง ดึงเอาพระเจ้าอโศก (ซึ่งเป็นมหาราชที่นับถือทุกศาสนาทุกนิกาย) มาเข้าพวกเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้ลัทธิฝ่ายตน

ในจารึกอโศกทุกหลักไม่ระบุถึงการทำสังคายนาเลย ถ้ามีการทำสังคายนาและส่งพระไปเผยแผ่ศาสนายังต่างแดน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเหตุใดพระเจ้าอโศกจึงไม่เอ่ยถึงไว้ให้เป็นเกียรติประวัติทั้งๆ ที่พระราชาองค์นี้ชอบบันทึก แม้กิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ตนทำยังไม่ละเลย

โอลเดนแบร์กเชื่อว่า การที่ศาสนาพุทธเข้าไปสู่ลังกาหรือไปสู่ประเทศใด มิใช่ไป “แบบสำเร็จรูป” แต่เป็นวิวัฒนาการค่อยเป็นค่อยไป ประวัติศาสตร์ยืนยันว่า ก่อนที่พระพุทธศาสนาไปสู่ลังกานั้น ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาได้เคลื่อนย้ายมาตั้งแต่มั่นอยู่อินเดียใต้แล้ว จึงน่าเชื่อว่า ภาษาพระไตรปิฎกที่เรารู้กันปัจจุบันนี้ว่า ภาษาบาลี เป็นภาษาของชาวอินเดียใต้

สรุปว่า มติทั้ง 3 ฝ่ายนี้ เห็นตรงกันในประเด็นหลักหนึ่งประเด็น และเห็นแตกต่างกันในประเด็นย่อย 2 ประเด็น ที่ตรงกันคือ ไม่ว่าภาษาพระไตรปิฎกจะเป็นภาษาอะไรมาก่อนก็ตาม ในที่สุดได้พัฒนามาเป็นภาษาที่รู้กันในปัจจุบันนี้ว่า ภาษาบาลี ส่วนที่แตกต่างกันคือ (1) ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าภาษาบาลีในปัจจุบันสืบสายมาจากภาษาที่พระพุทธเจ้าทรงใช้

(2) อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสืบไปไม่ถึงพระพุทธเจ้า หมายความว่าต้นตอของภาษาพระไตรปิฎกเริ่มจากพระเถระหรือคณะพระเถระที่ไปสืบทอดพระพุทธศาสนายังต่างแดน

2.นักปราชญ์อีกพวกหนึ่งแย้งว่า คำว่า ปาลิ หรือบาลี มิใช่ชื่อของภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเฉพาะ อ้างหลักฐานทั้งด้านภาษาและประวัติศาสตร์

(1) สุภูติเถระ ผู้แต่งอภิธานปฺปทีปิกา กล่าวว่า “ปาลิ” มีความหมาย 3 นัยคือ

– ขอบ เช่นตัวอย่าง ตฬากสฺส ปาลิ – ขอบแห่งสระ

– แถว, แนว เช่น ปาลิยา นิสีทึสุ – นั่งเรียงแถว

– ปาลีธรรม หรือคัมภีร์หลัก เช่น ปาลิมฺตตํ อิธานีตํ นตฺถิ อฏฐกถา อิธ – เฉพาะคัมภีร์หลักเท่านั้นที่นำมายังลังกา ไม่มีคัมภีร์อรรถกถาหรือคัมภีร์อธิบายเลย

(2) โทมัส รีส เดวิดส์ และ วิลเลียม สเตด ผู้รวบรวม Pali – English Dictionary ให้ความหมายคำปาลิ ไว้ 2 นัย คือ

– แถว, แนว

– ธรรม, ปริยัติธรรม, ตำราดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา

(3) เซอร์ โมเนียร์ โมเนียร์-วิลเลียมส์ ผู้รวบรวม Sanskrit – English Dictionary ให้ความหมายไว้ 6 นัยคือ

– ใบหู

– ริม, ขอบ

– แถว, แนว, สาย

– คู, สะพาน

– หม้อหุงต้ม

– มาตราตวงชนิดหนึ่งเท่ากับ 1 ปรัสถะ

สรุปจากหลักฐานที่ยกมา ทั้งหมดต่างเห็นพ้องกันว่า คำว่า ปาลิ มิใช่ชื่อของภาษา ถ้าใช้ในความหมายทั่วไป แปลว่า ขอบ, แถว, แนว, สาย, ใบหู, คู, สะพาน, มาตราตวงชนิดหนึ่ง ถ้าใช้ใน ความหมายเฉพาะ หมายถึงตำราชั้นต้น หรือชั้นปฐมภูมิของพระพุทธศาสนา ซึ่งได้แก่ พระไตรปิฎก คัมภีร์ชั้นต้นนี้จะจารึกด้วยภาษาอะไรก็ตาม เรียกว่า ปาลิ หรือ บาลี ทั้งนั้น

การเอาชื่อตำราไปปนกับชื่อภาษาเป็นความผิดพลาด ไม่ทราบว่าตั้งแต่เมื่อใด เคนเนธ รอย นอร์แมน (K.R. Norman) เขียนไว้ในหนังสือ The Pali Language and Scriptures ตอนหนึ่งว่า

“คนทั่วไปในปัจจุบันนี้ ใช้คำว่า ปาลิ ในความหมายเป็นชื่อของภาษาพระไตรปิฎก ของฝ่ายเถรวาท แทนที่จะแปลว่า “พระไตรปิฎก” ตามความหมายเดิม ดูจะเนื่องมาจากความเข้าใจผิดซึ่งอาจเกิดขึ้นมานานหลายศตวรรษแล้ว ในพจนานุกรมบาลีของ โรเบิร์ต ซีซาร์ ชิลเดอร์ส ซึ่งพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1875 ชิลเดอร์สระบุว่า คำแปลภาษาอังกฤษตามความหมายใหม่นั้น อาศัยแบบอย่างจากสิงหล ซึ่งใช้คำนี้ในความหมายเดียวกัน การใช้คำนี้ในลักษณะดังกล่าวอาจสืบสาวไปถึงชาวยุโรปก่อนสมัยชิลเดอร์ส ซึ่งอาศัยงานเขียนของชาวสิงหลเป็นพื้นฐาน

ยูแชน บูร์นูฟ (Eugene Burnouf) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสได้สำรวจงานค้นคว้าในยุคแรกๆ ทางบาลีศึกษา ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาเมื่อ ค.ศ.1825 ว่า คนแรกที่เขาพบว่าใช้คำ ปาลิ ในความหมายเป็นชื่อของภาษาได้แก่ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสที่มาอยู่เมืองไทยในช่วงปี ค.ศ.1687-1688 และได้พิมพ์หนังสือพรรณนากรุงสยาม ใน ค.ศ.1691 แปลเป็นภาษาอังกฤษใน ค.ศ.1693

ในพงศาวดารพม่า ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยังกล่าวถึง ปาลิ ในเนื้อความแวดล้อมซึ่งน่าจะหมายถึงภาษา และดูเหมือนว่าหนังสือเล่มนี้กล่าวซ้ำข้อความในหนังสือที่มีมาก่อนหน้านั้น ดังนั้น บางทีพม่าอาจใช้คำนี้ในความหมายดังกล่าวก่อนหน้านั้นมานานแล้ว

การที่เข้าใจผิดถึงกับแปลคำ ปาลิภาษา เป็น “ภาษาบาลี” แทนที่จะแปลว่า “ภาษาพระไตรปิฎก” ต่างฝ่ายต่างคิดขึ้นมาเองโดยมิได้เอาอย่างกัน ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ที่เราไม่สามารถบอกได้ก็คือ ความเข้าใจผิดอย่างนี้เกิดที่ประเทศใดก่อน

3.พระไตรปิฎกเกิดขึ้นเมื่อไร ต่อคำถามนี้มีประเด็นที่ควรพิจารณาดังนี้

(1) สมัยพุทธกาลยังไม่มี “พระไตรปิฎก”

สิ่งที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนประชาชนสมัยนั้นมีชื่อเรียกอยู่ 2 คำ คือ พฺรหฺมจริย กับ ธมฺม – วินย ในคราวส่งพระสาวกไปประกาศศาสนายุคแรก ทรงใช้คำว่า พรหมจริย ในคราวจวนจะปรินิพพานทรงใช้คำว่า ธมฺม-วินย

(2) ถึงจะยังไม่รวบรวมพุทธวจนะเป็นพระไตรปิฎก แต่หลักฐานแสดงว่ามีการรวบรวมหรือแบ่งพุทธวจนะเป็นหมวดเป็นหมู่บ้างแล้ว เช่น

แบ่งเป็น 9 หมวด (นวังคสัตถุศาสน์) คือ สุตตะ เตยยะ คาถา เวยยากรณะ อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ

แบ่งเป็นวรรค เช่น อัฏฐกวรรค ปรายนวรรค ดังหลักฐานระบุว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญชาให้พระโสณกุฏิกัณณะสวดวรรคเหล่านี้ให้ฟัง

(3) พระพุทธวจนะถูกรวบรวมเป็นพระไตรปิฎก คงในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 2-3 ก่อนหรือร่วมสมัยพระเจ้าอโศก

สมัยสังคายนาครั้งที่ 1-2 ยังไม่มีพระไตรปิฎก ยังคงเรียก ธมฺม-วินย อยู่ (ธมฺมวินยสงฺคีติ, ธมฺมวินยวิสชฺชนา)

มีหลักฐานในจารึกที่สาญจิ ก่อนสมัยอโศก พูดถึงพระเถระผู้เชี่ยวชาญในปิฎกทั้งหลาย (เปฏกินฺ) และพระเถระผู้เชี่ยวชาญพระสูตรทั้งหลาย (สุตฺตนฺติกา) และพระเถระผู้เชี่ยวชาญนิกายทั้งห้า (ปญฺจเนกายิกา) แสดงว่าในช่วงระยะเวลานี้ ได้มีการรวบรวมพระพุทธวจนะเป็นปิฎก และเป็นนิกายทั้งห้าแล้ว

พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ ได้แต่งหนังสือชื่อ กถาวัตถุ แสดงทัศนะที่ถูกต้องของฝ่ายเถรวาท หนังสือเล่มนี้นับอยู่ในปกรณ์หนึ่งในพระอภิธรรมปิฎก 7 คัมภีร์ จึงน่าเชื่อว่า พระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นปิฎกสุดท้าย ได้รวบรวมมาก่อน 6 คัมภีร์แล้ว ท่านจึงแต่งเพิ่มขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่ง ทำให้พระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ครบบริบูรณ์