หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ / “สวรรค์”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“สวรรค์”

เรื่อง “เก่าๆ” อีกเรื่องหนึ่ง ที่ดูเหมือนว่าจะไม่เคยหมดไปและยัง “ทันสมัย” อยู่เสมอ

นั่นคือ เรื่องความนิยมในการใช้ซากสัตว์ป่า

นิยม “ซาก” มากกว่าคิดถึงประโยชน์ของพวกมันขณะยังมีชีวิต

ทุกวันนี้ ในร้านอาหารบางจังหวัด ยังคงมีจุดขายด้วยอาหารจานเด็ดที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ป่า

ผมเคยพบว่า ในเมนูมีแกงป่าเลียงผา

จะใช่เลียงผาจริงหรือไม่ ผมไม่รู้หรอก

แต่ก็เป็นการสนองต่อผู้ที่ยังนิยมอาหารป่า เช่นเดียวกับ กวาง หมูป่า ตะกวด เม่น และอีกสารพัด

หลายคนยังคงปฏิบัติ อย่างถ้ามาจังหวัดนี้ต้องกินเนื้อสัตว์ป่า

เราได้ยินได้ฟังการกินชนิดแปลกๆ บ่อยๆ

หรือที่เรียกว่า “เปิบพิสดาร”

ทุกครั้งที่ได้ยินคำนี้ อีกคำหนึ่งที่ผมจะนึกถึง

คือคำว่า “สวรรค์”

หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันพุธที่ 6 สิงหาคม พุทธศักราช 2551

รายงานข่าวชิ้นหนึ่ง

ไม่ใช่ข่าวที่ไม่เคยเกิดขึ้น เป็นข่าวที่มีมานาน ทั้งในอดีต และผมก็เชื่อว่า ในอนาคตก็จะยังคงเกิดขึ้น

“เผยความนิยมในการกินเนื้อสัตว์ป่า ยาสมุนไพรโบราณ ทำลายความหลากหลายทางสายพันธุ์ของพืช-สัตว์ ในเวียดนาม แฉลักลอบค้าสัตว์ป่าน้อยกว่าค้ายา-อาวุธ นิดเดียว ชี้มีการขนส่งเข้า-ออกเวียดนามปีละกว่า 4,000 ตัน คิดเป็นเงินกว่า 67 ล้านดอลลาร์”

การค้าชิ้นส่วนสัตว์ป่าทุกชนิด ไม่เคยหมดจากโลก

และดูเหมือนว่า ยิ่งพยายามปราบปราม ปิดกั้น มูลค่านับวันยิ่งสูงขึ้น

“ความนิยมในการกินเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมาย รวมทั้งความต้องการสมุนไพรตามความเชื่อแบบเก่าเป็นตัวการทำลายสปีชีส์ของพืชและสัตว์จำนวนมาก ทั้งในเวียดนามเองและบริเวณชายแดน”

นี่ก็ไม่ใช่เหตุผลใหม่ อันทำให้สัตว์ป่าถูกคุกคามไล่ล่า

“ถึงแม้ว่าเวียดนามจะยืนยันความรับผิดชอบต่อนานาชาติว่าจะปราบปรามสิ่งเหล่านี้ แต่การลักลอบค้าเสือ ลิง งู ตัวนิ่ม และสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมยังเข้ามาหรือผ่านทางเวียดนามจำนวนมาก”

เราพบบ่อยครั้งว่าซากสัตว์ป่า อย่างเสือ หรือตัวนิ่มจำนวนมากๆ ซึ่งถูกตรวจพบบริเวณชายแดนของประเทศไทยมีจุดหมายปลายทางที่เวียดนามและส่งต่อไปที่ประเทศจีน

“การลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในเวียดนามไม่ลดลง และส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านด้วยเพราะสัตว์ป่าในเวียดนามเริ่มขาดแคลน”

หลายปีที่ผ่านมา ในบ้านเรามีการจับกุมรถบรรทุกที่ลักลอบขนตัวนิ่มได้เสมอบนเส้นทางหลวงที่มุ่งสู่จังหวัดทางภาคอีสาน เพื่อข้ามแม่น้ำโขง ตรงไปเวียดนาม และมีปลายทางที่จีน

นิ่ม งู และสัตว์ชนิดต่างๆ จำนวนมหาศาล ถูกลักลอบนำออกจากป่า

และนี่คือปัญหากับความหนักใจของเจ้าหน้าที่ในผืนป่าอนุรักษ์

ที่เวียดนามนั้น สัตว์ป่าถูกลักลอบผ่านช่องทางพรมแดนเวียดนาม-จีน โดยมีสินค้าประมาณ 2,500-3,500 กิโลกรัม ถูกลำเลียงผ่านชายแดนทุกวัน

ที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ได้บ้าง

แต่จำนวนของกลางที่ยึดมาได้นั้นคิดเป็นเพียง 3% ของการลักลอบค้าทั้งหมด

เจ้าหน้าที่มีข้อเสียเปรียบ

เจ้าหน้าที่หนึ่งนายต้องดูแลพื้นที่เฉลี่ยถึง 3,500 เอเคอร์

ได้รับค่าตอบแทนเพียงเดือนละ 50 ดอลลาร์

ผมซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ที่ตลาดลานสัก ขณะออกมาซื้อเสบียง ร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

ข่าวจากประเทศเวียดนามทำให้รู้ว่า สถานการณ์ของสัตว์ป่าบนโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคซึ่งมีคนจำนวนมากยังเชื่อว่าการ “เปิบพิสดาร” คือยาวิเศษ ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน

คนทำงานในป่าหลายฝ่ายที่มาร่วมมือกันไม่ว่าจะตั้งใจเอาจริงแค่ไหน

แต่การจะปกป้องชีวิตสัตว์ป่าไว้ให้ได้

บางครั้งก็เปรียบเสมือนดังฝันในเวลากลางวัน

ในขบวนการที่มีมูลค่ามหาศาล ไล่เลี่ยกับมูลค่ายาเสพติดและอาวุธสงครามนี้

ขบวนการเริ่มต้นจากคน ซึ่งเรียกว่าเป็น “พรานรับจ้าง”

และคนเหล่านี้คือพวกที่จะปะทะกับเหล่า “แนวหน้า” คนทำงานเพื่อปกป้องอยู่เสมอๆ

บ่ายมากแล้ว ตอนที่เราถึงหน่วยพิทักษ์ป่า ซึ่งอยู่กึ่งกลางทางระหว่างสถานีวิจัยสัตว์ป่า กับสำนักงานเขต

หน่วยเงียบเชียบ ปกติเราจะเห็นคนเดินมาโบกมือ หรือยืนรอเพื่อรับของที่ฝากซื้อ

วันนี้มีขวัญคนเดียวอยู่เฝ้าหน่วยและวิทยุ

“เดินป่ากันหมดครับ” ขวัญบอกสาเหตุที่หน่วยเงียบเชียบ

“พี่โก็ะพาออกไป 3 วันแล้ว”

โก๊ะ หัวหน้าชุด ในวัยกว่า 50 กับผมคุ้นเคยกันดี ทำงานในป่ามานาน

ต้นเดือนที่แล้วขณะลาดตระเวน เขาปะทะกับคนล่าสัตว์

“วันนั้นโชคดีครับ ไม่มีใครเจ็บ เขายิงใส่เราก่อนด้วย ทางเขาน่าจะมีคนเจ็บเพราะเห็นเลือดอยู่” โก๊ะเล่าให้ฟัง

คนล่าสัตว์หลบหนีไปได้ ทิ้งของกลางเป็นส้มค่าง และเต่า 4 ตัวไว้

ผมนั่งบนแคร่ที่พวกเขาใช้นั่งกินข้าว มองรอบๆ หน่วย หญ้ารอบๆ ตัดสั้น หยุดพักจากการเดินป่า พวกเขาดูแลรักษาหน่วยอย่างดี

“พี่โก๊ะเงียบไปเลยครับ สงสัยอับสัญญาณ ไม่ได้แจ้งอะไรมาเลย” ขวัญรินน้ำอุ่นๆ จากกาดำด้วยเขม่าไฟใส่แก้วหนาส่งให้

ผมไม่รู้ว่าโก๊ะอยู่ที่ไหน พวกเขาพบอะไรบ้าง

มีการ “ปะทะ” เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า

จากข่าวที่อ่าน ทำให้ผมนึกถึงคนทำงานในป่าภูมิภาคนี้ ซึ่งคล้ายจะมีสถานภาพไม่ต่างกันสักเท่าใด

ชีวิตต้องเสี่ยงภัย เพราะคนส่วนหนึ่งนิยมซากสัตว์ป่า

ถ้าความเชื่อเช่นนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

จากคำว่า เปิบพิสดาร ผมนึกถึงคำว่า “สวรรค์”

หาก “ซาก” สัตว์ป่า สามารถและมีสรรพคุณทำให้คนหายเจ็บ และสุขภาพแข็งแรงได้จริงๆ

ผมหวังว่าวิญญาณเหล่าสัตว์ป่าทั้งหลาย

จะได้ขึ้นไปอยู่ข้างบนนั้น…