วิช่วลคัลเจอร์ / พิมพ์ดีดกับการพิชิตดินแดน (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

พิมพ์ดีดกับการพิชิตดินแดน (จบ)

Everyday Technology : Machines and the Making of India”s Modernity ของ เดวิด อาร์โนลด์ เป็นหนังสือซึ่งเกี่ยวกับบทบาทของเครื่องจักรในชีวิตประจำวันของคนอินเดีย เช่น พิมพ์ดีด จักรเย็บผ้า จักรยาน และเครื่องสีข้าว ผู้เขียนเริ่มบทสุดท้ายด้วยชื่อนิยายของ อรุณธาติ รอย คือ The God of Small Things หรือ “เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ” อันได้แก่เชื้อชาติ ภาษา และจารีตประเพณีจำนวนมาก

แต่สำหรับอาร์โนลด์ เทคโนโลยีซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน คือเทพเจ้าเล็กๆ เพราะเป็นเครื่องจักรที่ทุกคนต้องมีต้องใช้

พิมพ์ดีดมีอิทธิพลต่อลายมือ เหมือนที่จักรเย็บผ้ามีต่อเข็มเย็บผ้า เพราะอักษรที่เขียนด้วยเครื่องจักรมีความสวยงาม เป็นระเบียบ และอ่านง่าย เช่นเดียวกับรอยเย็บจักรที่ทำให้เสื้อผ้ามีความเรียบร้อยและสวยงาม

ผู้เขียนเล่าประวัติพิมพ์ดีดตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงหลังยุคเอกราช หนังสือมีสถิติหลายสิบปีของจำนวนจักรเย็บผ้า จักรยานและพิมพ์ดีดที่ใช้กันทั่วประเทศของทั้งสองยุค ผู้เขียนบอกว่าชาวอินเดียซึ่งเริ่มจากการยอมรับ “ของนอก” แต่ต่อมา ได้หาประโยชน์ใหม่ๆ และให้ความหมายทางวัฒนธรรมแก่มัน และพร้อมกันนั้นได้เปลี่ยนบทบาทของตนเองในสังคม

อาร์โนลด์บอกว่า ที่ผ่านมา เรามักจะเน้นบทบาทของรถไฟ โทรเลข ไฟฟ้า หรือเขื่อนชลประทาน ประวัติศาสตร์จึงมีแต่เรื่องของระบบใหญ่ๆ ซึ่งบอกลักษณะของรัฐอาณานิคมและความคิดของปัญญาชนยุคนั้น แน่นอน เทคโนโลยีขนาดใหญ่สร้างผลสะเทือนได้จริง แต่เทคโนโลยีขนาดเล็กก็มีบทบาทไม่น้อยไปกว่ากัน

พิมพ์ดีดสัมพันธ์กับทั้งทางรถไฟและเสาโทรเลข แต่ผู้เขียนก็เข้าข้างเทคโนโลยีขนาดเล็ก ในยุคเอกราช การผลิตได้เองมีความสำคัญ และต่อมา นายทุนที่มีจิตใจแบบสวัสดิ์ศรีตั้งบริษัทประกอบชิ้นส่วน หรือทำกำไรจากการแบกสินค้าเหล่านี้ไปขายทั่วประเทศ

เทคโนโลยีไม่ได้อยู่แต่ในห้องแล็บ ศูนย์วิจัย หรืออุปกรณ์แบบที่ต้องมีการดูแลมากๆ แต่อยู่รอบๆ ตัวเรา เครื่องจักรเหล่านี้มีความหมายต่อคน รถยนต์อาจจะมีมากแต่สกู๊ตเตอร์สำคัญกว่า การแปลงพืชผลเป็นข่าวดัง แต่ตู้เย็นสำคัญกว่า สิ่งของอื่นๆ เช่น เตาแก๊ส ท่อน้ำ ยาง กระดานดำ และเสื้อผ้าสำเร็จรูปก็เหมือนกัน ล้วนเป็นเทคโนโลยีซึ่งกำหนดชีวิตในยุคของสมาร์ตโฟน

การศึกษาซึ่งแต่ก่อนมีแต่เรื่องของระบบการคมนาคมและสื่อสาร หรือระบบการศึกษาขนาดใหญ่ ตอนนี้ได้มาถึงเรื่องของเครื่องจักรขนาดเล็ก หรือเทพเจ้าเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน

นี่ไม่ใช่การกลับไปหาความพอเพียงแบบที่พูดกันในช่วงก่อนหน้านี้ หรือตอกย้ำว่า อินเดียไม่สามารถค้นคว้าเรื่องพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ หรือไอทีได้ แต่เพื่อเตือนใจว่า คำว่า “เทคโนโลยี” นั้นกว้างมาก

การสนใจเทคโนโลยีขนาดเล็กมีความหมายต่อการเขียนประวัติศาสตร์ เช่น พิมพ์ดีดไม่เพียงเป็นสินค้าในชีวิตประจำวัน แต่เป็นกำเนิดของความเป็นสมัยใหม่ของอินเดีย การแบ่งออกเป็นขนาดเล็กและใหญ่หมายความว่า การบรรลุความเป็นสมัยใหม่ ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคอาณานิคม แต่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีการโปรโมตนโยบายอุตสาหกรรมแห่งชาติ (the Swadeshi) พิมพ์ดีดในฐานะสัญลักษณ์ของการพึ่งตนเอง จึงทำให้จินตกรรมเรื่องอินเดียใหม่ชัดเจนขึ้น

ผู้เขียนเห็นว่าการศึกษา ซึ่งแต่ก่อนเป็นเรื่องของเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือระบบการคมนาคมและการศึกษาระดับประเทศ ตอนนี้ได้หันมาสนใจเทคโนโลยีขนาดเล็กที่อยู่ในชีวิตประจำวัน และอาจจะเป็นกรอบใหม่ของประวัติศาสตร์อินเดีย

หลังปี พ.ศ.2557 เมื่อรัฐบาลอินเดียได้เริ่มแคมเปญ Make in India หรืออุตสาหกรรมที่พึ่งตนเอง ซึ่งมีส่วนคล้ายกับโครงการสวัสดิศรีในสมัยก่อน พิมพ์ดีดของกอดเรจเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญอันหนึ่ง

แคมเปญนี้ก่อคำถามมากมาย เช่น บางคนบอกว่าอุตสาหกรรมแห่งชาติที่รัฐบาลโปรโมต ก็ยังต้องพึ่งพาทุนของต่างชาติ คำขวัญว่า “Make in India” ไม่ได้ต่างจากที่ดันลอป บริษัทยางของอเมริกัน เคยโฆษณาว่าทำเพื่อคนอินเดีย บางคนถามเรื่องนโยบาย เช่น จะนำการลงทุนของต่างชาติเข้ามาในลักษณะใด? ใครควรเป็นผู้ลงทุนหรือผู้ผลิต? และบทบาทของคนในประเทศจะมีแค่ไหน? นอกจากนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับจีน ซึ่งประสบความสำเร็จในด้านการผลิตมากกว่า อินเดียคำนึงถึงบทบาทของรัฐในการชี้นำให้มาก

อินเดียจะบรรลุความยิ่งใหญ่ในเศรษฐกิจได้อย่างไร? พิมพ์ดีดในฐานะเทคโนโลยีขนาดเล็กสะท้อนปัญหานี้ เช่น การผลิตได้เองกับการนำเข้าอย่างไหนดีกว่ากัน นอกจากนั้น ยังถามด้วยว่า ทักษะหมายถึงอะไร? ซึ่งบางคนก็ว่า ร้านซ่อมข้างถนนของสินค้าแบบนี้ เป็นทักษะยุคอาณานิคม ไม่ได้หมายถึงการผลิต แต่เป็นเพียงรู้จักซ่อมหรือบำรุงรักษาเท่านั้น

ในยุคอาณานิคม พิมพ์ดีด แป้นอักษร และตัวพิมพ์ดีด มีบทบาทในการพิชิตพื้นที่และสลาย การปกครองแบบดั้งเดิม และในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ร่วมมือกับเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น วิทยุโทรทัศน์ในการสร้างรัฐ-ชาติอีกครั้ง

ในปัจจุบัน การใช้พิมพ์ดีดอาจจะตายไปแล้วหรือรอวันตาย แต่การผลิตข้อความด้วยเครื่องจักรก็ยังอยู่ และทำหน้าที่เช่นเดิม นั่นคือ เชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน ในฐานะสินค้าและเทคโนโลยีการสื่อสาร เครื่องจักรที่เขียนได้ทำให้คนมีจินตนาการถึงคนอื่นๆ ที่เขาไม่เคยเห็นหน้าค่าตา และได้สร้างชุมชนแบบต่างๆ ขึ้นมา

คำถามคือ อุปกรณ์สื่อสารแบบดิจิตอล เช่น โทรศัพท์ โน้ตบุ๊ก และอื่นๆ นอกจากสะดวกรวดเร็วและน่าใช้แล้ว จะมีบทบาทเช่นพิมพ์ดีด หรือเทพเจ้าเล็กๆ ในยุคก่อนหน้านี้หรือไม่?