ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 เมษายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
เกาะสีชัง ตั้งอยู่ในทะเลอ่าวไทย ใกล้เขตพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในปัจจุบัน โดยชื่อ “สีชัง” ของเกาะ ปรากฏหลักฐานเก่าแก่ที่สุดในวรรณกรรมที่ชื่อว่า “กำสรวลสมุทร” หรือที่มักจะเรียกกันอย่างเข้าใจผิดว่า “กำสรวลศรีปราชญ์”
ที่ผมบอกว่าเข้าใจผิดนั้นก็เป็นเพราะตำราวรรณคดีไทยสมัยก่อนมักจะอ้างว่า วรรณกรรมโคลงดั้นเรื่องนี้ เป็นฝีมือการประพันธ์ของ “ศรีปราชญ์” กวีในยุคสมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2199-2231)
แต่ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญในบทกวีโบราณอย่าง “ท่านจันทร์” ม.จ.จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี เจ้าของนามปากกา พ. ณ ประมวญมารค ได้เคยชี้ให้เห็นเอาไว้ตั้งแต่เมื่อเรือน พ.ศ.2502 แล้วว่า วรรณกรรมเรื่องนี้ควรจะเป็นผลงานในยุคอยุธยาตอนต้นต่างหาก
นอกเหนือจากสำนวนโวหารที่ “กวี” อย่างท่านจันทร์ ลงรายละเอียดให้เห็นว่ากำสรวลสมุทรเป็นงานเขียนเก่าแก่ไปถึงช่วงราว พ.ศ.2000 แล้ว
หลักฐานสำคัญในทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี ก็คือการที่ในเส้นทางการเดินทางในกำสรวลสมุทรนี้ ได้เดินทางอ้อมจากปากคลองบางกอกน้อย (ปัจจุบันคือ บริเวณใกล้โรงพยาบาลศิริราช) ไปยังปากคลองบางกอกใหญ่ (ปัจจุบันคือ บริเวณป้อมวิชัยประสิทธิ์ ละแวกวัดอรุณราชวราราม) โดยไม่เดินทางตรงไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาสายปัจจุบัน ที่ตัดผ่านหน้าปากคลองทั้งสองดังกล่าว
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า แม่น้ำเจ้าพระยาสายปัจจุบันที่ตัดผ่านหน้าปากคลองบางกอกน้อย และปากคลองบางกอกใหญ่นั้น เป็น “คลองลัด” ที่ถูกขุดขึ้นใหม่ในสมัยหลังจากมีการประพันธ์กำสรวลสมุทรขึ้น
ดังนั้น เมื่อเรามองย้อนไปจากยุคปัจจุบันนี้ ที่มีทางน้ำตัดตรงจากปากคลองทั้งสองดังกล่าวแล้ว จึงทำให้ดูเหมือนกับว่า ผู้แต่งกำสรวลสมุทรนั้นเดินเรืออ้อมเข้าไปในคลองบางกอกน้อย แล้วค่อยโผล่ออกมาทางปากคลองบางกอกใหญ่นั่นแหละครับ
ในกฎหมายพระไอยการอาชญาหลวง ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2091-2111) ระบุว่า กรุงศรีอยุธยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง พร้อมกับตั้งชื่อเสียใหม่ว่า “ทณบุรี” (ต่อมาคือ ธนบุรี) ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
การยกฐานะขึ้นเป็นเมืองนี้แสดงให้เห็นว่า กรุงศรีอยุธยาเห็นความสำคัญ และในกฎหมายฉบับที่ว่านี่เองที่ระบุตำแหน่ง “นายพระขนอนทณบุรี” คือนายด่านเก็บภาษี คู่กับขนอนน้ำ ขนอนบกต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยา
หมายความว่า อยุธยาได้นับบางกอกเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งในอำนาจรัฐของตนเอง จนถึงกับต้องตั้งเจ้าหน้าที่เก็บภาษีไปประจำอยู่ที่นั่น
ดังนั้น “คลองลัด” ที่จะกลายเป็น “แม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่” นี้ ย่อมต้องขุดขึ้นในช่วงเวลาใด ช่วงเวลาหนึ่งในระหว่างช่วงราว พ.ศ.2000 จนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรรรดินั่นเอง
ท่านจันทร์ยังสันนิษฐานต่อไปอีกด้วยว่า กำสรวลสมุทรนั้นควรจะเกิดขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2006-2034)
กษัตริย์พระองค์นี้ขึ้นครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยา ในช่วงคาบเกี่ยวกับรัชสมัยของพระราชบิดาของพระองค์คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1991-2031) ที่เกิดการศึกกับล้านนา จนทำให้พระองค์ต้องขึ้นไปครองเมืองสุโขทัย เลยจำเป็นต้องให้พระราชโอรสขึ้นครองราชย์เพื่อดูแลเมืองที่กรุงศรีอยุธยาคู่ขนานกันไป
ส่วนการเดินเรือที่ปรากฏอยู่ในกำสรวลสมุทรนั้น ท่านจันทร์ได้สันนิษฐานว่า ควรจะเกี่ยวข้องกับการแต่งทัพไปรบเอาเมืองมะละกา เมืองท่าทางทะเลสำคัญ ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งพระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ระบุว่า เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.1998 อันเป็นช่วงก่อนหน้าที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 จะขึ้นครองราชย์
และเมื่อเป็นการรณรงค์สงครามทางทะเล ทัพที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ทรงแต่งขึ้นนั้น จึงต้องเป็นทัพเรือ โดยได้เดินเรือออกจากกรุงศรีอยุธยา ผ่านทางแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อที่จะมุ่งหน้าออกสู่ทะเลที่อ่าวไทย
(ดังนั้น ชื่อที่ถูกต้องของวรรณกรรมฉบับนี้ จึงควรที่จะชื่อ “กำสรวลสมุทร” เพราะเป็นการมุ่งหน้าสู่ทะเล มากกว่าที่จะชื่อกำสรวลศรีปราชญ์ ที่ไม่ได้เป็นผู้แต่งโคลงดั้นชุดนี้ ซ้ำร้ายยังไม่ควรจะมีตัวตนอยู่จริงในหน้าประวัติศาสตร์เสียด้วยซ้ำไป)
และเมื่อออกถึงปากอ่าวไทยได้แล้ว ข้อความใน “กำสรวลสมุทร” ก็ระบุว่าได้มุ่งหน้าสู่ “เกาะสีชัง” เป็นอันดับแรก ก่อนที่จะล่องเรือข้ามไปยังอีกฟากข้างของอ่าวไทยทางทิศตะวันตก
ในกำสรวลสมุทรเรียก “เกาะสีชัง” ว่า “เกาะสรรชัง” (อ่านว่า สะ-ระ-ชัง) ดังคำโคลงที่ว่า
“มุ่งเห็นลล่ายน้ำ ตาตก แม่ฮา
เกาะสระชังชลธี โอบอุ้ม”
นั่นหมายความว่า ชื่อ “สีชัง” นั้น เพี้ยนมาจากคำว่า “สระชัง” โดยถึงแม้ว่าเราจะยังไม่มีคำอธิบายถึงที่มาของคำว่า สระชัง ที่น่าพอใจมากพอว่า แปลว่าอะไร? และมีที่มาจากภาษาใด?
แต่การที่เมื่อเรือออกมาถึงอ่าวไทย ซึ่งก็คือการออกสู่ “สมุทร” คือ “ทะเล” แล้ว ก็บ่ายหน้าเรือเข้าหาเกาะสีชังเป็นแห่งแรกนั้น ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า เกาะสีชังเป็นจุดแวะพักเรือสำคัญ ที่คงจะใช้พักเรือมานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยที่แต่งกำสรวลสมุทรแล้ว
แถมยังเป็นไปได้มากด้วยว่าจะเป็นจุดพักเรือสำคัญมาก่อนหน้ายุคที่มีการแต่งกำสรวลสมุทรเสียด้วย
ที่สำคัญก็คือ บนเกาะสีชังนั้นมีจุดหมายตา (landmark) สำคัญ ที่ใช้เป็นจุดสังเกตเวลาเดินเรือคือ “เขาใหญ่” ซึ่งเขาลูกนี้ก็สำคัญถึงขนาดที่ว่า เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 5 ทรงพำนักอยู่บนเกาะแห่งนี้ และสร้างพระตำหนักจุฑาธุชราชสถานขึ้น ก็ได้ตั้งชื่อยอดของเขาใหญ่เสียใหม่ว่า “ยอดจุลจอมเกล้า” เลยนั่นแหละครับ
แถมบนเขาใหญ่ลูกเดียวกันนี้ยังเป็นที่สักการะของผู้คนบนเกาะ เพราะเป็นที่สถิตของอะไรที่เรียกกันว่า “เจ้าพ่อเขาใหญ่”
เจ้าพ่อเขาใหญ่ เดิมเป็นหินงอกก้อนใหญ่ ที่ถูกแกะสลักเป็นพระพุทธรูปอย่างคร่าวๆ โดยฝีมือช่างพื้นบ้านบนเกาะ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว แต่คงจะสามารถกำหนดอายุด้วยกลวิธีการทางประวัติศาสตร์ศิลปะได้ยากเสียหน่อย เพราะไม่มีลักษณะให้พอจะเทียบเคียงกับพระพุทธรูปแบบมาตรฐานโดยทั่วไปที่พบในประเทศไทยได้
และในปัจจุบันนี้ได้มีผู้มีจิตศรัทธาสร้างศาลเอาไว้ โดยมีเจ้าพ่อเขาใหญ่เป็นประธาน จากปากคำที่บอกเล่าต่อๆ กันว่า เข้าใจว่าคงจะมีอายุนับร้อยปีแล้ว โดยจะมีการฉลองใหญ่เจ้าพ่อเขาใหญ่ ในวันเกิดของเจ้าพ่อ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ของทุกปีอธิกสุรทิน คือทุกๆ 4 ปี
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หินงอกที่ถูกแกะสลักเป็นพระพุทธรูปก้อนนี้ ตั้งอยู่กลางคูหาภายในถ้ำหินปูน ของเขาใหญ่ และคงเคยถูกนับถือในเป็น “หินใหญ่” ที่ขลังเฮี้ยน ให้คุณโทษได้ ในศาสนาผีมาก่อน ต่อมาจึงค่อยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในพุทธศาสนา ด้วยการสลักลวดลายเป็นพระพุทธรูปลงบนหินก้อนนี้ในภายหลัง
มีร่องรอยด้วยว่าบนยอดของเขาจุลจอมเกล้า หรือยอดเขาใหญ่ (ซึ่งตั้งอยู่ที่เหนือถ้ำ ที่ประดิษฐานหินใหญ่ก้อนที่ถูกนับถือเป็นเจ้าพ่อ อย่างพอดิบพอดี) น่าจะเคยมีสิ่งปลูกสร้างก่อจากหินในศาสนาผี แบบที่เรียกว่า “เนินหิน” (cairn) ซึ่งพบกระจายอยู่มากในบริเวณภาคกลางตอนล่างของประเทศไทยมาก่อน
น่าเสียดายที่โบราณสถานประเภทเนินหินที่ว่านี้ ถูกรื้อออกเพื่อนำรอยพระพุทธบาทศิลามาประดิษฐาน แล้วนำชิ้นส่วนหินในศาสนาผีเดิม มาก่อเป็นฐานเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไปเสียแล้ว
ลักษณะเช่นนี้คล้ายคลึงกันกับที่เมืองท่าทางทะเลที่สำคัญของอ่าวไทยอีกแห่งหนึ่งคือ บ้านเขายี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ที่พบร่องรอยของ “เนินหิน” ในศาสนาผี ที่ถูกรื้อออกมาแล้วสร้างวัดครอบทับเอาไว้เช่นเดียวกัน
โดยคำว่า “ยี่สาร” นั้นยังควรที่จะเพี้ยนมาจากคำว่า “อี้ซาน” ในภาษาจีน ซึ่งแปลตรงตัวว่าเขาลูกโดด (ถึงแม้จะมีผู้สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “ปสาน” ซึ่งแปลว่า “ตลาด” แต่เมื่อพิจารณาจากภูมิประเทศที่เป็นเขาลูกโดดตั้งอยู่กลางทุ่งโล่งสุดลูกหูลูกตาแล้ว ก็ควรจะมาจากภาษาจีนมากกว่า) และคงจะเคยใช้เป็นจุดหมายตาสำหรับเดินเรือ ไม่ต่างอะไรๆ จากเขาใหญ่ ที่เกาะสีชัง ที่อยู่อีกฟากข้างของอ่าว
แถมเจ้าพ่อที่สถิตอยู่ที่เขายี่สารนั้นยังมีชื่อว่า “เจ้าพ่อศรีราชา” อีกต่างหากนะครับ
เมืองศรีราชา ซึ่งก็คือตัวเมืองของ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นั้นก็คือชายฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับเกาะสีชังอย่างพอดิบพอดี
ดังนั้น การที่เจ้าพ่อที่เขายี่สารนั้น มีชื่อเรียกว่า เจ้าพ่อศรีราชา แถมยังปรากฏร่องรอยของเนินหินเช่นเดียวกับบนเกาะสีชังนั้น จึงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเครือข่ายการค้าของเมืองท่ารอบอ่าวไทย ที่เชื่อมโยงถึงกันด้วยการนับถือผีมาก่อนนั่นเอง •
On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022