ธุรกิจไทยในเมียนมา

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วย “ชิ้นส่วน” สะท้อนความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา เป็นไปอย่างซับซ้อนมากขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน

เรื่องราวสำคัญกรณีหนึ่ง บริษัท ปตท.สํารวจ และผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (กิจการในเครือ ปตท.) ได้กลายเป็นทั้งผู้ดำเนินการ (operator) และผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด (สัดส่วนร้อยละ 62.9630) ใน โครงการยาดานา-แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ ตั้งอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา (อ้างอิงจากเอกสารชี้แจงต่อ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 เรื่อง การถอนการลงทุนของผู้ร่วมทุนในโครงการยาดานา ประเทศเมียนมา)

อันเนื่องมาจาก Unocal Myanmar Offshore Company Limited (UMOC) กิจการในเครือ Chevron แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ถอนการลงทุนในโครงการยาดานา ตามกระบวนเสร็จสิ้น ในวันเดียวกับที่แถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทั้งนี้ ปตท.สผ.ตั้งใจแถลงด้วยว่า “โครงการยาดานา เป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่ดําเนินการผลิตตั้งแต่ปี 2541…มีความสําคัญต่อความมั่นคงทางพลังงานของทั้งประเทศไทยและประเทศเมียนมา”

กรณีข้างต้นสะท้อนดีกรีแห่งปัญหาความรุนแรงในเมียนมา ที่มีมากขึ้นอย่างน่าวิตก

ขณะอีกมิติสะท้อนความสัมพันธ์อันเปราะบางระหว่างโลกทุนนิยมนำโดยสหรัฐอเมริกา กับรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา มีมาช้านานพอสมควร

 

เฉพาะกรณี UMOC แต่เดิมอยู่ในเครือ UNOCAL เข้ามาลงทุนในเมืองไทยยุคต้นสงครามเวียดนาม ได้ขยายการลงทุนเข้าไปในเมียนมาในช่วงเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนเฟื่องฟู เมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่แล้ว

แม้ว่าเมื่อเมียนมาจะอยู่ในอำนาจทหารอีกช่วง (ปี 2546-2559) เวลานั้น สหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรเมียนมาครั้งใหญ่ แต่เนื่องจาก UMOC อยู่มาก่อน (ขณะนั้นโครงการยาดานา กำลังดำเนินไป ด้วยมีพันธมิตรธุรกิจหลายราย ทั้งกิจการในเครือ ปตท.สผ. และ TOTAL แห่งฝรั่งเศสซึ่งเป็น Operator ด้วย) จึงได้รับการยกเว้น ดำเนินกิจการต่อไปได้ ภายใต้สถานการณ์ผันแปรหลายช่วงหลายตอน จนถึงปัจจุบัน

ผ่านช่วงผ่อนคลายระยะสั้นๆ (2549-2564) โดยมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มีผู้นำที่ได้รับยอมรับ-ออง ซาน ซูจี จนมาพลิกผันครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อทหารทำการรัฐประหารในปี 2564

ถือเป็นจุดเริ่มต้นความผันแปรครั้งใหญ่ของเมียนมา ลุกลามเป็นความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

ช่วงนั้นเองโลกทุนนิยม มีปฏิกิริยาเชิงลบต่อรัฐบาลเมียนมาอีกครั้ง ปี 2565 โครงการยาดานา มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งแรก เมื่อ TOTAL แห่งฝรั่งเศส ถอนการลงทุน ถอนตัวการเป็น Operator

กิจการ ปตท.สผ.ตัดสินใจเข้ารับช่วง มีอีกบางโครงการซึ่งอยู่ในระยะเริ่มต้นการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ เพิ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเมียนมา (ปี 2564) เป็นความร่วมมือระหว่างกิจการในเครือ ปตท.สผ. กับ Mitsui Oil Exploration Company Limited (MOECO) แห่งญี่ปุ่น

แต่ในปี 2565 MOECO ได้ถอนตัวไป ปตท.สผ. กลายเป็นผู้ดำเนินการแต่ผู้เดียว เชื่อว่าแผนการขณะนี้ยังคงชะลออยู่

ช่วงเวลาพลิกผันในเมียนมา กว่าทศวรรษที่ผ่าน หลายๆ กรณีมิติทางเศรษฐกิจ-ธุรกิจ มีความเชื่อมโยงมาถึงกับทั้งภูมิภาคและสังคมไทยอย่างมิพักสงสัย

กรณี Telenor Group เครือข่ายธุรกิจสื่อสารระดับโลกแห่งนอร์เวย์ เข้ามาลงทุนภูมิภาคอาเซียนอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะในมาเลเซีย (ตั้งแต่ปี 2542) และไทย (2543) และมองเห็นโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกก่อนใคร จึงตัดสินใจเข้าสู่เมียนมา (2557) ในจังหวะที่ดีก่อนรัฐบาลพลเรือนมาถึงไม่นาน

เมื่อมีการรัฐประหารในประเทศเมียนมา (ต้นปี 2564) Telenor Group ปรับตัวอย่างกระชั้น ตามกระแสโลกตะวันตก แสดงออกถึงความวิตกกังวลอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น พร้อมๆ กับปรับแผนการในภูมิภาค กระชับธุรกิจในมาเลเซีย (ควบรวมกิจการกับคู่แข่งบางราย ปี 2564) และไทย (เริ่มต้นแผนการควบรวม TRUE-DTAC ปี 2564)

ในจังหวะกับการถอนตัวออกจากเมียนมาอย่างรวดเร็วในปีเดียวกัน

 

ว่าเฉพาะธุรกิจใหญ่ไทย มีความคึกคักในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนั้นไม่น้อยเช่นกัน

โดยเฉพาะธนาคาร เปิดฉากด้วย ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเปิดบริการในเมียนมากว่า 2 ทศวรรษ และเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ได้ยกระดับจากสำนักงานตัวเป็นสาขา (Foreign Bank Branches) ธนาคาร (ปี 2558)

ตามมาด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ (2563) ในรูปแบบ Subsidiary ธนาคารไทยอีกส่วนหนึ่งเป็นสำนักงานตัวแทน กับแผนในช่วงแรกๆ ดูกระตือรือร้นเป็นพิเศษ เชื่อว่าในเวลานี้ อยู่ในภาวะระแวดระวัง ทั้งการบริหารและท่าที

สำหรับธุรกิจอื่นที่น่าสนใจ ขอยกกรณี บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP กิจการเก่าแก่กว่าศตวรรษเพิ่งเข้าตลาดหุ้นไทยไม่นาน (ปี 2564) ในจังหวะคาบเกี่ยวกันนั้นได้ขยายการลงทุนไปยังเมียนมาด้วย

ตามไทม์ไลน์ในปีเดียวกันกับแผนการเข้าตลาดหุ้น (ปี 2561) ระบุไว้ว่า “จัดตั้ง Osotspa Myanmar Company Limited เพื่อดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มในเมียนมา” และ “พิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งแรกในต่างประเทศของบริษัทในเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา เมียนมา”

เรื่องราวโอสถสภากับการลงทุนในเมียนมานั้นดูตื่นเต้น ด้วยเกี่ยวข้องกับนักธุรกิจคนหนึ่งสามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจเป็นหนึ่งในเครือธุรกิจทรงอิทธิพลในเมียนมา คนเชื้อสายฉาน เคยใช้ชีวิตในแคนาดาและสหรัฐอเมริการาวๆ ทศวรรษ ก่อนจะกลับเมียนมา (ปี 2534) มีประสบการณ์สำคัญในรัฐวิสาหกิจ ก่อนผันตัวสร้างธุรกิจตนเอง โดยเฉพาะความร่วมมือกับโอสถสภา (2541) เปิดตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในเมียนมาซึ่งประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

ส่วน “การเปิดโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ในเมียนมาอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563” (รายงานของ OSP อีกช่วงหนึ่ง) ในช่วงเวลานั้นการลงทุนในเมียนมายกระดับขึ้น (ในปี 2562 เช่นกัน) “จัดตั้ง MYANMAR GOLDEN EAGLE COMPANY LIMITED เพื่อการดำเนินธุรกิจผลิตขวดแก้วในเมียนมา”

ไทม์ไลน์ข้างต้นเกิดขึ้นช่วงก่อนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมา และจากนั้นเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ขยายเป็นสงครามในหลายภูมิภาคของประเทศ และดูเหมือนรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ค่อยๆ สูญเสียอำนาจไปในหลายพื้นที่ยุทธศาสตร์

 

ปรากฏการณ์และคำอธิบายของ OSP มีรายละเอียดมากกว่าธุรกิจไทยรายอื่นๆ และสะท้อนภาพความสัมพันธ์ไว้อย่างมีนัยยะ

ในช่วงแรกนั้น โอสถสภา หรือ OSP ได้รายงานผลประกอบการในช่วงหลังมีการรัฐประหารในเมียนมาไม่นาน ไว้อย่างน่าสนใจ (เมื่อ 13 สิงหาคม 2564)

“โดยกลุ่มประเทศ CLMV เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจหลัก ผลักดันอัตราการเติบโตในต่างประเทศโดยรวมที่ 76%”

แม้ไม่ได้ระบุถึงเมียนมาโดยตรง ว่าไปแล้วขณะนั้นเมียนมากำลังเผชิญวิกฤตการณ์ซ้อนในเวลาเดียวกัน ทั้ง COVID-19 และปัญหาทางการเมือง ทั้งนี้ OSP ประเมินในเวลานั้นว่ามีผลเพียงระยะสั้นๆ

ผ่านมาอีกช่วง สถานการณ์ในเมียนมาไปไกลกว่าที่คาด แต่บางมิติในรายงานทางธุรกิจของ OSP คงเป็นไปตามทิศทางที่เป็นมา “รายได้จากกลุ่มธุรกิจหลัก เติบโตจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังและการเติบโตอย่างโดดเด่นเป็นตัวเลขสองหลักของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในต่างประเทศ” (อ้างจาก บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการผลการดำเนินงานรวมประจำปี 2566-28 กุมภาพันธ์ 2567)

โดยเน้นว่า มีรายได้การขายมาจากเมียนมาและลาวที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นเป็นตัวเลขสองหลัก โดยเฉพาะ “…เติบโตต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน หลังจากเริ่มดำเนินการผลิตในเมียนมา” เป็นอีกด้านที่ว่าด้วยโอกาสในวิกฤต

อีกด้าน สำหรับธุรกิจร่วมทุนโรงแก้วในเมียนมา ธุรกิจให้บริการผลิตขวดแก้ว ที่เรียกว่า Glass bottle OEM นั้นได้รับผลกระทบพอสมควร “จากการอ่อนค่าของเงินจ๊าตเมียนมา และการชะลอตัวของกำลังซื้อ”

โดยเน้นนัยยะสำคัญในภาพกว้างๆ ไว้ด้วย “บริษัทตระหนักถึงความเสี่ยงและความท้าทายที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่กำหนดโดยรัฐบาล ตลอดจนการดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปต่อเมียนมา”

ตีความเป็นไปตามแนวทางเดียวกัน ด้วยมุมมองระยะยาวขึ้น ธุรกิจไทยกับสังคมเมียนมา มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องต่อไป ไม่ว่าสถานการณ์ในเมียนมาจะเปลี่ยนแปลงเช่นไร

เป็นชิ้นส่วนหนึ่งซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ในมิติกว้างกว่านั้น •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com