สงครามโดรนในเมียนมา | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ข่าวสถานการณ์สงครามในวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ติดตามข่าวในเมียนมาอย่างมาก ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเปิดการโจมตีด้วย “โดรน” ต่อฐานทัพอากาศของกองทัพรัฐบาลที่เมืองเนปิดอว์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ … สงครามเริ่มประชิดเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐของฝ่ายรัฐบาลทหาร (หรือฝ่าย SAC) ในรูปแบบของ “สงครามโดรน”

ว่าที่จริง “สงครามโดรน” ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสงครามกลางเมืองเมียนมาอย่างแน่นอน … ในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็เริ่มมีข่าวที่ “กองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย” หรือฝ่าย EAO เคยเปิดการโจมตีเป้าหมายทางทหารของฝ่ายรัฐบาลด้วยโดรน

กองกำลังของรัฐชิน (CNA) ที่อยู่ด้านตะวันตกของประเทศ เปิดปฏิบัติการทางทหารยึดพื้นที่ในรัฐของตนคืนจากกองทัพเมียนมา พวกเขาให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า “ความลับ” ของความสำเร็จในปฏิบัติการครั้งนี้คือ “โดรนและนักรบทางอากาศ” ซึ่งได้แก่ พลเรือนที่หลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลทหารหลังรัฐประหารกุมภาพันธ์ 2021 และเข้ามาเรียนรู้ในการควบคุมอากาศยานไร้คนขับเหล่านี้ พวกเขาใช้เวลาในการฝึกบินราว 1 ปีเศษ จนสามารถเปิดการรบทางอากาศด้วยโดรนได้จริง

แม้กองทัพอากาศเมียนมาจะมีเครื่องบินรบแบบต่างๆ ประจำการ และมีความเหนือกว่าของการใช้กำลังทางอากาศในทฤษฎีของการสงครามทางอากาศ และกองทัพอากาศของฝ่ายรัฐบาลสามารถเปิดการโจมตีทิ้งระเบิดต่อเป้าหมายของกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยได้ทั่วประเทศทุกจุด เพราะเป้าหมายภายในประเทศนั้น ล้วนอยู่ในพิสัยของเครื่องบินรบสมรรถนะสูงทั้งสิ้น การโจมตีทิ้งระเบิดทางอากาศเช่นนี้ได้สร้างความสูญเสียให้กับชีวิตของฝ่ายต่อต้าน และชีวิตของประชาชนในพื้นที่เช่นนี้ด้วย

แต่ความเหนือกว่าเช่นนี้ ก็ถูกท้าทายโดยตรงจากฝ่ายต่อต้านที่เปิดสงครามทางอากาศในอีกแบบหนึ่ง ที่อาศัยโดรนราคาถูก หรือในบางครั้งมีการใช้โดรนในการเกษตรเป็นเครื่องมือ ทำการโจมตีเป้าหมายของฝ่ายรัฐบาล และประสบความสำเร็จในหลายจุด จนดูเหมือนกองทัพเมียนมากำลังถูก “ดิสเครดิต” อย่างมากที่ฝ่ายต่อต้านสามารถเปิดการโจมตีทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การโจมตีด้วยโดรนเช่นนี้เกิดที่ไหนก็ได้ … เมื่อไหร่ก็ได้ และเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยนึกถึงมาก่อนเลย และต้องยอมรับว่า สงครามโดรนกำลังสร้างให้เกิด “ความกลัวตาย” ในหมู่ทหารของฝ่ายรัฐบาลอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่กองทัพเมียนมายังไม่สามารถตอบโต้ได้เท่าใดนัก

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า สงครามโดรนเป็นปรากฏการณ์ทางทหารชุดใหม่ในสงครามเมียนมา สงครามไม่ได้รบด้วยเพียงอาวุธทางยุทธวิธีของสงครามทางบกในแบบเดิมๆ หากแต่มีมิติของเทคโนโลยีทหาร ที่อยู่ในรูปของอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน ที่ทำให้เกิดเงื่อนไขของ “สงครามทางอากาศ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากสงครามกลางเมืองในอดีต เป็น “สงครามก่อความไม่สงบ” ที่มักรบด้วย “อาวุธโลว์เทค” (low tech) แต่ในครั้งนี้ “นักบิน” ของฝ่ายก่อความไม่สงบรบด้วยโดรน หรืออาจกล่าวในอีกแบบหนึ่งว่า โดรนคือ “กองทัพอากาศของฝ่ายประชาธิปไตย”

สำหรับการโจมตีด้วยโดรนของฝ่าย “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” (NUG) ที่เกิดขึ้นที่เมืองเนปิดอว์นั้น บ่งชี้ถึง “พลวัตรใหม่” ของสงคราม ที่กองบัญชาการและสนามบินทหารที่อยู่ในเมืองหลวงถูกโจมตี และเป็นการโจมตีเมืองหลวงครั้งแรกของฝ่ายประชาธิปไตย การโจมตีนี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่ระบบป้องกันทางทหารที่เนปิดอว์กำลังถูกท้าทายอย่างมาก และเป็นเสมือนการ “ตบหน้า” รัฐบาลทหารครั้งสำคัญด้วย เพราะสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศนั้น แทบจะไม่มีผลกระทบกับชีวิตในเมืองหลวงแต่อย่างใด

ในส่วนหนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลแถลงว่า สามารถทำลายโดรนของฝ่ายต่อต้านได้ 7 ลำ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดของความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม พลวัตรใหม่ของสงครามชุดนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการถดถอยทางทหารของฝ่ายรัฐบาล ที่เห็นได้จากมีการยอมแพ้ของหน่วยทหาร การถูกจับกุม การหนีทหาร การแปรพักตร์ของทหาร เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แม้สิ่งที่เกิดเช่นนี้จะยังไม่สามารถเปลี่ยน “ดุลภาพสนามรบ” ได้ทั้งหมด แต่ก็เห็นถึงพลังอำนาจทางทหารของฝ่ายรัฐบาล ที่ไม่มีความเข้มแข็งในแบบเดิม

ภาวะของความถดถอยยังเห็นในอีกด้านด้วยการประกาศกฎหมายเกณฑ์ทหารใหม่ ที่ชายอายุ 18-35 หรือในบางกรณีอาจถึง 45 ปี และหญิงอายุ 18-27 ปี ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เพราะการประกาศเกณฑ์ทหารเช่นนี้ บ่งบอกถึงความขาดแคลนกำลังพลในสนามรบ อันเป็นผลจากความสูญเสียทางทหารที่เกิดขึ้น ไม่ต่างจากการประกาศระดมพลของรัสเซีย ที่ประสบกับความสูญเสียในยูเครน ภาวะเช่นนี้ ทำให้คนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมากต้องหนีออกจากประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นมาแล้วในรัสเซีย

พลวัตรสงครามในเมียนมา จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม และดูจะเป็น “สิ่งบอกเหตุ” ที่บ่งบอกว่า อนาคตของผู้นำรัฐบาลทหารนั้น น่าจะลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ … ถ้าเช่นนั้น น่าจะถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลกรุงเทพฯ จะต้องออกแบบ “ยุทธศาสตร์ใหม่” เพื่อเตรียมรับกับความเปลี่ยนแปลงในเมียนมา !