หอศิลป พีระศรี : คุณค่าและบทบาทต่อสังคมไทย (จบ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

หอศิลป พีระศรี

: คุณค่าและบทบาทต่อสังคมไทย (จบ)

 

นิทรรศการ “ศิลปะ-ไทย-เวลา” จัดขึ้น ณ BACC วันที่ 9 พฤษภาคม-20 สิงหาคม พ.ศ.2566 เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีที่ อ.ศิลป์ พีระศรี เดินทางมารับราชการในสยาม

นิทรรศการให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับหอศิลป พีระศรี ในฐานะ “หอศิลปะสาธารณชนแห่งแรกของประเทศไทย” ผู้จัดงานขยายความประเด็นนี้ไว้ว่า

“…หอศิลป พีระศรี นับว่าเป็นสถาบันที่มีการนำเสนอนิทรรศการและกิจกรรมทางศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 14 ปี ที่ดำเนินงานระหว่าง พ.ศ.2517-2531 ได้จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ รวมไปถึงละครเวที ภาพยนตร์ ดนตรี และการแสดงอื่นๆ อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่นิทรรศการศิลปะรูปแบบขนบไปจนถึงรูปแบบใหม่ล้ำสมัยของศิลปินระดับโลกและศิลปินไทยทั้งที่เป็นศิลปินอาวุโสไปจนถึงศิลปินรุ่นใหม่ในขณะนั้น…และยังมีสถานะเป็นสถาบันศิลปะแห่งนวัตกรรมสมัยใหม่ที่สร้างความเคลื่อนไหวให้กับสังคมในวงกว้างและงานต่างๆ ที่จัดขึ้นที่หอศิลป พีระศรี สะท้อนสภาวะของสังคมไทยในบริบทยุคเปลี่ยนผ่าน และสร้างแนวทางความต่อเนื่องของศิลปะในสังคมที่สืบทอดจนมาถึงปัจจุบัน เป็นแบบอย่างให้แก่หอศิลป์สาธารณชนในยุคต่อมา โดยเฉพาะหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร…”

นิทรรศการชุดนี้ถือเป็นความพยายามปลุกหอศิลป พีระศรี ให้กลับมาเป็นที่รับรู้อีกครั้งในวงกว้าง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่แทบไม่มีใครรู้จักสถานที่แห่งนี้

นิทรรศการ Revitalizing BIMA ณ หอศิลป พีระศรี 28-30 มีนาคม 2567
ที่มา : Pichet Titha

ผมเองแม้จะเคยได้ยินชื่อหอศิลป พีระศรี ตลอดจนเรื่องเล่าอันเป็นตำนานมาบ้าง แต่ก็เพิ่งได้รับรู้อย่างเป็นระบบก็จากนิทรรศการนี้ ทำให้เริ่มสนใจมากขึ้นจากที่เคยสนใจใจเพียงแค่รูปทรงอาคารที่ดูแปลกตาทันสมัยเท่านั้น และเริ่มคิดว่าอาคารหลังนี้ควรได้รับการฟื้นชีวิตให้กลับมาอีกครั้ง

โดยหลังจบนิทรรศการราว 2 เดือน ผมได้ติดต่อขอใช้สถานที่จากมูลนิธิหอศิลป พีระศรี ภายใต้การช่วยเหลือเป็นอย่างดีจาก คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที จนสามารถเข้าใช้อาคารเพื่อจัดทำโครงการ Revitalizing Bangkok Through Art and Architecture : A Case Study on BIMA’s Vision for the City’s Future (เพิ่งจัดเสร็จไปเมื่อ 28-30 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา)

ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลายประกอบไปด้วย นิทรรศการพิเศษ Revitalizing BIMA เพื่อรื้อฟื้นบรรยากาศพื้นที่ศิลปะให้กลับมาอีกครั้งโดยศิลปินรับเชิญที่สะท้อนตัวตนความเป็นหอศิลป พีระศรี

ชุดวิดีโอ Remembering BIMA นำเสนอความทรงจำศิลปิน 12 ท่านที่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับหอศิลป พีระศรี ในยุครุ่งเรือง

สัมมนา 3 เรื่องว่าด้วยการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเมืองผ่านพื้นที่ทางศิลปะและวัฒนธรรม

Walking Tour และ Photo walk ที่นำชมทุกซอกมุมของหอศิลป พีระศรี แบบเจาะลึกเพื่อส่งผ่านความทรงจำในอดีตสู่คนรุ่นปัจจุบัน

และชมสารคดี Alice Street สารคดีว่าด้วย ศิลปะ พื้นที่เมือง และ Gentrification เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ศิลปะควรมีหน้าที่รับใช้ผู้คนและความเป็นธรรมทางสังคม

หลายคนถามว่า กิจกรรมเพียง 3 วันที่แสนสั้นเช่นนี้ ผมคาดหวังว่าจะนำไปสู่อะไรในอนาคต?

นิทรรศการ Revitalizing BIMA ณ หอศิลป พีระศรี 28-30 มีนาคม 2567
ที่มา : Pichet Titha

คําตอบคือ มุ่งหวังที่จะรื้อฟื้นหอศิลป พีระศรี ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งเพื่อสืบต่อคุณค่าและความสำคัญบางอย่างที่หอศิลป์แห่งนี้เคยสร้างเอาไว้ ซึ่งส่วนตัวมีอยู่ 2 ประการ

หนึ่ง การเป็นพื้นที่ศิลปะที่เปิดกว้างทางความคิดและมีเสรีภาพในการแสดงออก แน่นอน คงไม่สามารถพูดได้ว่า หอศิลป พีระศรี คือพื้นที่แห่งเสรีภาพร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่หากย้อนดูประวัติศาสตร์ก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้เช่นกันว่า หอศิลปฯ เปิดกว้างทางความคิดมากพอสมควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เปิดกว้างต่อการนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ต่อสังคม แม้กระทั่งกล้าที่จะยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง

หอศิลป พีระศรี แม้ตัวมันจะเริ่มต้นจากการรำลึกถึง อ.ศิลป์ แต่ไม่นานหลังจากนั้น สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะช่วงท้ายที่การจัดแสดงงานของมันไกลห่างออกไปจาก อ.ศิลป์มาก

หลายงานมีลักษณะต่อต้านความเป็นสถาบันศิลปากรด้วยซ้ำ

ซึ่งสำคัญยิ่ง เพราะหากเน้นแค่จัดงานในรูปแบบซ้ำเดิมและเลือกแต่จะยกย่องเชิดชูแนวทางแบบ อ.ศิลป์ หรืองานแบบสกุลศิลปากร หอศิลป พีระศรี ก็จะไร้ค่าทันที และก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ควรค่าแก่การรื้อฟื้น

แน่นอน ปัจจุบันมีพื้นที่ศิลปะที่แสดงออกถึงสปิริตเช่นนี้อยู่บ้าง แต่หากเราดูจริงๆ ก็จะพบว่ามีไม่มากนักและไม่ใหญ่โตเท่าที่ควร

ดังนั้น หากหอศิลป พีระศรี ซึ่งมีพื้นที่มากพอสมควรและตั้งอยู่กลางเมืองสามารถฟื้นกลับมาได้ (โดยจะต้องรักษาสปิริตดังกล่าวไว้ได้ด้วยนะครับ) ก็จะช่วยเติมเต็มช่องว่างที่หายไปให้แข็งแรงมากขึ้น

ที่สำคัญคือ คงจะเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศแห่ง “เมืองสร้างสรรค์” ที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้ (ไม่ใช้การสร้างสรรค์แต่เปลือกนอกแบบที่ส่วนใหญ่ทำอยู่) เพราะความคิดสร้างสรรค์ไม่มีวันจะเกิดได้เลยหากขาดไร้ซึ่งเสรีภาพและความหลากหลายในการแสดงออก

นิทรรศการ Revitalizing BIMA ณ หอศิลป พีระศรี 28-30 มีนาคม 2567
ที่มา : Pichet Titha

สอง ความสำคัญทางสถาปัตยกรรม หอศิลป พีระศรี เป็นตัวแบบที่สำคัญมากชิ้นหนึ่งของ “งานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่” ในสังคมไทยที่ควรแก่การอนุรักษ์ (เป็นตึกรุ่นเดียวกับโรงภาพยนตร์สกาลาซึ่งถูกรื้อไปแล้ว)

แน่นอน ตึกพวกนี้มีอายุเพียง 50 ปีต้นๆ ซึ่งภายใต้เพดานความคิดเรื่องการอนุรักษ์ของสังคมไทย (ทัศนะแบบกรมศิลปากร) แทบไม่สนใจเก็บรักษาอาคารพวกนี้ และเสี่ยงมากที่จะถูกรื้อทิ้ง แม้จะมีคุณค่า

แม้หอศิลป พีระศรี จะยังไม่มีความเสี่ยงขนาดนั้น เพียงแต่ถ้าเราปล่อยมันไปจนถูกลืมอย่างสิ้นเชิง มันก็อาจจะเข้าสู่สภาวะนั้นในวันใดวันหนึ่งก็ได้

ดังนั้น โครงการนี้ส่วนหนึ่งจึงเกิดขึ้นเพื่อบอกว่า ตึกนี้สำคัญมากนะทั้งในแง่ประวัติศาสตร์วงการศิลปะสมัยใหม่ ยาวจนถึงร่วมสมัย และคุณค่าสถาปัตยกรรมที่ดีมาก สวยมาก และสะท้อนสังคมไทยในยุคสงครามเย็นได้เป็นอย่างดี (ประเด็นนี้ยาว คงต้องเว้นไว้กล่าวถึงในโอกาสหน้า)

โครงการนี้พยายามทำหน้าที่ที่กรมศิลปากรควรทำ (แต่ไม่ยอมทำ) เพราะกรมศิลปากรไม่ให้ความสนใจ แต่อาคารเก่าเป็นร้อยปีที่เต็มไปด้วยลวดลายประดับตกแต่งแบบโบราณเท่านั้น เพดานความคิดของพวกเขาส่วนใหญ่ยังไม่ก้าวเข้ามาสู่งานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เลย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และน่ากังวลมาก

นิทรรศการ Revitalizing BIMA ณ หอศิลป พีระศรี 28-30 มีนาคม 2567
ที่มา : Pichet Titha

ความคาดหวัง 2 ประการนี้คงไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้น แต่ส่วนตัวก็เชื่อว่าด้วยกระแสการตอบรับของกิจกรรมที่ดี ผนวกกับฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์และคุณค่าที่มีมากมายต่อสังคมไทยซึ่งทาง “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” (BACC) ได้รวบรวมเอาไว้จนเกือบจะสมบูรณ์แล้วในนิทรรศการ “ศิลปะ-ไทย-เวลา” เมื่อปีก่อน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โครงการฟื้นชีวิตหอศิลป พีระศรี มีความหวัง

การฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่ แน่นอนจะต้องคำนึงถึงบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ของสังคมไทยในแบบใหม่ ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากทษวรรษ 2520 เราคงไม่สามารถรื้อฟื้นโดยยึดติดรูปแบบและแนวทางในอดีตได้ทั้งหมด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องคำนึงถึงความยั่งยืนในด้านงบประมาณที่ไม่ควรยึกติดอยู่กับผู้อุปถัมภ์รายเดียวแบบที่เคยเป็นจนทำให้ต้องปิดตัวลงไป) เพราะหากทำเช่นนั้นก็คงไม่ต่างจากการสร้าง “ซอมบี้” ที่ไร้วิญญาณ

หอศิลป พีระศรี ต้องเกิดใหม่ภายใต้บริบทใหม่ สังคมใหม่ เป้าหมายใหม่ โดยรักษาจิตวิญญาณที่สำคัญเอาไว้

แม้อาจจะยังมองไม่เห็นหนทางในตอนนี้ แต่จากหลักฐานประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ ฐานข้อมูลที่มีผู้รวบรวมไว้อย่างดี ตลอดจนกระแสตอบรับจากสังคมวงกว้างจากกิจกรรมที่ผมได้จัดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ 3 วัน ทั้งหมดนี้ซึ่งจะถูกฝังเป็น digital footprint อยู่ใน social media ไปยาวนาน

ซึ่งทำให้ผมเชื่ออยู่ลึกๆ นะครับว่า มันจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในสักวันหนึ่ง

และหอศิลป พีระศรี จะมีโอกาสได้กลับมามีชีวิตและทำหน้าที่พื้นที่ทางศิลปะที่เปิดกว้าง หลากลาย และมีเสรีภาพในการแสดงออกอีกครั้ง