ความท้าทายที่ทำเนียบรัฐบาล! ปัญหาความมั่นคงไทยเฉพาะหน้า

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

ความท้าทายที่ทำเนียบรัฐบาล!

ปัญหาความมั่นคงไทยเฉพาะหน้า

 

“ผู้นำของนักรบกองโจรหวังว่า พวกเขาจะเอาชนะกองทัพประจำการ ด้วยความอดทน ความมุ่งมั่น และความสนับสนุนทางการเมืองจากสังคมภายใน”

Colin S. Gray

 

สถานการณ์ความมั่นคงไทยเฉพาะหน้าในช่วงต้นปี 2567 นั้น มีประเด็นที่เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับรัฐบาลใน 3 เรื่องหลัก พร้อมกับมีประเด็นพ่วงท้ายในอีกส่วน

ดังนี้

 

1) ปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมา

สงครามกลางเมืองในเมียนมาชุดใหม่ที่เริ่มขึ้นหลังจากผู้นำกองทัพเมียนมาตัดสินใจทำรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แล้ว ได้เกิดการต่อต้านขึ้นในวงกว้างอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน หรืออาจต้องถือว่าเป็นสงครามกลางเมืองอย่างเต็มรูป เพราะเป็นการรบของคนทุกฝ่ายทุกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายกองทัพที่ทำการยึดอำนาจ ต่างจากสงครามเดิมที่เป็นการต่อสู้ระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลกลางของกลุ่มชนชั้นนำเมียนมา

สงครามยกระดับขึ้นทันทีหลังจากปฏิบัติการรุกทางทหารของกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 (ยุทธการ 1027)

และเห็นชัดขึ้นหลังจากปีใหม่ของปีปัจจุบัน ที่ฝ่ายรัฐบาลเสียเมืองต่างๆ ให้แก่ฝ่ายต่อต้านอย่างต่อเนื่อง และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สงครามเริ่มขยายตัวเข้าสู่ย่างกุ้ง ที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งเท่ากับเป็นสัญญาณถึงแนวโน้มของการรบใหญ่ที่จะเกิดตามมา

ขณะเดียวกันก็เป็นความหวังของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลว่า พวกเขาอาจจะเปิดการรุกใหญ่ในฤดูแล้งนี้ และอาจนำไปสู่การเผด็จศึกกองทัพฝ่ายรัฐบาลได้ ผลในทางกลับกันก็อาจก่อให้เกิดผู้หนีภัยสงครามจำนวนมากเข้าไทย

ในอีกด้าน การประกาศกฎหมายเกณฑ์ทหารฉบับใหม่ พร้อมกับสงครามที่ขยับเข้าใกล้แนวชายแดนไทยมากขึ้น เช่น ที่แม่สอดซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองเมียวดี ที่เริ่มมีการรบหนักมากขึ้น สงครามยังทับซ้อนกับการกวาดล้างกลุ่มชาวจีนที่ทำผิดกฎหมาย หรือบรรดา “แก๊งจีนเทา” ซึ่งทำให้โจทย์สงครามในเมียนมามีความซับซ้อนมากขึ้น และอาชญากรจีนเหล่านี้กำลังใช้ตะเข็บฝั่งตรงข้ามชายแดนไทยเป็นฐานใหญ่ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงไทยต้องตระหนักถึงประเด็นนี้ให้มาก

สถานการณ์สงครามเช่นนี้ทำให้ไทยในเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์กลายเป็น “ด่านหน้า” ของการอพยพหนีภัยสงคราม ซึ่งหากเกิดการอพยพขนาดใหญ่อย่างที่หลายฝ่ายกังวลแล้ว ไทยจะมีสภาพเป็นดัง “โปแลนด์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่เป็นพื้นที่หลักของการหลบภัยการสู้รบ ดังที่เราเห็นได้จากภาพข่าวที่ปรากฏจากสงครามยูเครนถึงการแบกรับภาระผู้ลี้ภัยชาวยูเครนของโปแลนด์

ปัญหาการจัดการส่งความช่วยเหลือข้ามพรมแดน การเตรียมพื้นที่ที่อาจเกิดการทะลักเข้ามาของผู้อพยพ ตลอดรวมถึงการป้องกันระวังชายแดน ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นสิ่งที่ไทยเคยมีประสบการณ์มาแล้ว แต่ก็ต้องการ “การเตรียมการ” ทั้งในระดับนโยบาย และในระดับของพื้นที่

โดยเฉพาะการสร้างเอกภาพในการดำเนินการของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางที่ตอบสนองต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมในยามสงคราม ทั้งต้องป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ในพื้นที่นี้ด้วย

 

บทบาทสำคัญที่รัฐบาลจะต้องคิดอย่างมาก คือบทบาทในการช่วยผ่อนคลายความรุนแรงของสถานการณ์สงคราม โดยเฉพาะการสร้างบทบาทของไทยที่จะเป็น “คนกลาง” (peace broker) ในการชักชวนคู่ขัดแย้งให้เข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ หรือผลักดันให้เกิด “เวทีสันติภาพเมียนมา” (Myanmar Peace Forum) และจะต้องดำเนินการด้วยการสื่อสารกับอาเซียน และลาวในฐานะประธาน อย่างใกล้ชิด เพื่อยืนยันถึงการดำเนินการของไทยในกรอบของอาเซียน

การติดต่ออย่างใกล้ชิดเช่นนี้ยังรวมถึงการสื่อสารกับรัฐภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย เพราะประเทศเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสันติภาพในเมียนมา อีกทั้งยังต้องคิดถึงความร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชน (NGOs) ที่เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ แม้รัฐบาลเดิมของไทยจะยอมรับคำขอของรัฐบาลทหารเมียนมาในอดีต ที่ไม่อนุญาตให้บุคลากรขององค์กรเหล่านี้เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดน ซึ่งไทยควรยกเลิกข้อกำหนดนี้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

การดำเนินการในเรื่องเหล่านี้จะเป็นจริงได้ ต้องเริ่มต้นด้วยการ “คิด” เพื่อการกำหนดนโยบายในระดับของรัฐบาล รวมถึงการกำหนดบทบาทของนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลและผู้นำทหารไทยต้องทำความเข้าใจกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นด้วย

 

2) ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินมาถึงจุดสำคัญอีกครั้งหนึ่งในต้นปี 2567 เพราะคณะผู้เจรจามีการนำเสนอสิ่งที่ถูกเรียกว่า “แผนสันติภาพภาคใต้” หรือที่เรียกว่า “JCPP” นั้น ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมาก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าร่างข้อเสนอที่ปรากฏในเวทีสาธารณะนั้น ไม่น่าจะเป็นทิศทางเชิงบวกในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของกลุ่มติดอาวุธคือ กลุ่ม BRN ที่ต้องการขยายพื้นที่ปัญหา ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในแบบเดิมเท่านั้น และยังต้องการขยายกิจกรรมในพื้นที่ผ่านข้อตกลงดังกล่าวอีกด้วย

ดังนั้น คำว่า “การสร้างสันติภาพแบบองค์รวม” ดูจะเป็น “องค์รวมแห่งความสับสน” มากกว่า เพราะไม่ชัดเจนว่าแผนสันติภาพที่ถูกนำเสนอ และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม NGOs บางส่วนนั้น จะสร้างสันติภาพ หรือสร้าง “อำนาจต่อรอง” ให้แก่กลุ่ม BRN กันแน่

อีกทั้งเมื่อนายกรัฐมนตรีได้เดินทางลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัด ก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่แต่อย่างใด และทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามอย่างมากว่า การมุ่งแต่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างด้านเดียวนั้นจะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงได้ทั้งหมดจริงหรือไม่ และทำให้เกิดคำถามอย่างมากในเรื่องของ “ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้” ว่าจะมีทิศทางไปอย่างไร หรือจะมีเข็มมุ่งเชิงนโยบายอย่างไร

ประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างกังวลว่า การที่ผู้นำรัฐบาลละเลยถึงปัญหาความรุนแรงที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจเกิดเป็นจริงได้เพียงใด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจต้องตระหนักว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงของ “สงครามก่อความไม่สงบ” ในจังหวัดชายแดนใต้ ต้องการการคิดในกรอบใหญ่ที่เป็น “ยุทธศาสตร์” มากกว่าคิดเป็นส่วนๆ แบบมิติเดียว

การยุติปัญหาสงครามต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน จะมีแต่เพียงความฝันอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสงครามหรือความรุนแรงไม่ได้ยุติด้วยความฝัน รัฐบาลจึงน่าจะใช้โอกาสที่ JCPP มีปัญหาการยอมรับ ทำการคิดทบทวนเรื่องยุทธศาสตร์ภาคใต้อย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะคำถามว่าปัจจัยเศรษฐกิจอยู่ตรงไหนในยุทธศาสตร์นี้

 

3) ปัญหาเส้นเขตแดนทะเลไทย-กัมพูชา

การปลุกระดมของกลุ่มขวาจัดด้วยเรื่องเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องที่เคยเกิดมาแล้วในปี 2551 แต่ครั้งนั้นเป็นเรื่องเส้นเขตแดนทางบก ในปี 2567 พวกเขาเริ่มหยิบเรื่องเส้นเขตแดนกลับมาใหม่ แต่ครั้งนี้เป็นเขตแดนทะเล และผูกโยงกับเรื่อง “การอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล” (Overlapping Maritime Claims Area หรือ OCA) อันเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนและยุ่งยากในตัวเอง

การสร้างกระแสขวาจัดของคนเหล่านี้ ด้านหนึ่งเพื่อสร้างบทบาททางการเมืองให้แก่พวกเขาเอง ในอีกด้านเพื่อการต่อต้านรัฐบาล ซึ่งการสร้างกระแสนี้มักอิงอยู่กับประเด็นเรื่อง “ชาตินิยม” และหนึ่งในนั้นมักหนีไม่พ้นเรื่องของเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา เรื่องเดิมคือกรณีปราสาทพระวิหาร เรื่องใหม่คือการแบ่งเขตแดนทะเล พร้อมกับการอธิบายด้วย “ทฤษฎีสมคบคิด” ที่ดูตื่นเต้นและชวนเชื่อได้ง่าย แต่ในอีกด้าน รัฐบาลก็จะต้องระมัดระวังที่จะกระทำการใดๆ ที่ทำให้ทฤษฎีสมคบคิดนี้ ดูเป็นจริงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีความซับซ้อนในตัวเองอย่างมาก และรัฐบาลไทยเองได้ดำเนินการในเรื่องนี้มานาน เช่น รัฐบาลไทยประกาศเขตให้สัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยตั้งแต่ปี 2511 กล่าวคือ ปัญหาสัมปทานในอ่าวไทยไม่ได้เพิ่งมาแบ่งในรัฐบาลยุคหลังๆ หรือกัมพูชาเองในช่วงที่ผ่านมาต้องการให้ชะลอการคุยเรื่องเส้นเขตแดนทะเลไว้ก่อน เพื่อให้ไทยและกัมพูชาสามารถนำเอาพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์ก่อน ดังตัวแบบ “พื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเลไทย-มาเลเซีย” หรือที่เรียกกันว่า “JDA”

ดังนั้น เพื่อให้ความตกลงระหว่างประเทศทั้งสองเดินหน้าต่อไปได้ รัฐบาล 2 ฝ่ายจึงลงนามใน “บันทึกช่วยจำ 2544” (MOU 2001) เพื่อเป็นกรอบของการเจรจา ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่จะต้องมีการกำหนดกรอบการเจรจา เพื่อให้การเจรจาเดินไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง และแม้จะยกเลิกไป แต่เมื่อการเจรจาเกิด ก็จะต้องหันกลับมาสร้างกรอบเช่นนี้อีก แต่สำหรับฝ่ายขวาแล้ว กรอบนี้ถูกตีความด้านเดียวว่าเป็นข้อตกลงในการแบ่งผลประโยชน์ทางทะเล จึงเกิดเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกบันทึกนี้มาโดยตลอด และ “ปฏิเสธอย่างไร้เดียงสา” ที่จะยอมรับถึงผลเชิงบวกของบันทึกนี้

รัฐบาลจะละเลยปัญหานี้ และคิดว่าการปลุกระดมของฝ่ายขวาเรื่องเส้นเขตแดนไม่กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลแล้ว รัฐบาลอาจต้องหันกลับไปพิจารณาบทเรียนเดิมของพรรคเพื่อไทยในปี 2551

ดังนั้น การรับมือด้วยการเตรียมชี้แจงให้สังคมไทยเข้าใจเรื่องนี้ เป็นประเด็นสำคัญ และจะต้องทำให้ผู้คน (รวมสื่อต่างๆ) มีความเข้าใจให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องนี้ถูกนำมาใช้ก่อกระแสชาตินิยม และจุดเป็น “ไฟการเมือง” จนเกิดผลกระทบต่อปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

 

4) ปัญหาพ่วงท้าย

มีปัญหาความมั่นคงเดิมที่จะละเลยไม่ได้ในอีก 2 ประเด็นคือ ปัญหาการอพยพของชาวจีนยุคปัจจุบันมายังประเทศไทย พร้อมกับการขยายตัวของธุรกิจการค้าในไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมืองและสังคมของไทยในยุคปัจจุบัน รัฐบาลจะวางกรอบคิดในเรื่องนี้อย่างไร เพราะปรากฏการณ์นี้ยังเกิดพร้อมการทะลักของสินค้าจีนเข้าไทย ที่กำลังทำให้ผู้ประกอบการไทยพ่ายแพ้ในทางธุรกิจ จนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาความมั่นคงในระยะยาว

ปัญหาอีกประการคือ เรื่องของพี่น้องคนงานชาวไทยที่ยังถูกจับเป็นตัวประกันในสงครามกาซา ซึ่งต้องขอให้รัฐบาลติดตามเรื่องนี้ต่อไป และขออย่าทอดทิ้งพวกเขา แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่ปัญหาความมั่นคงในแบบข้างต้น แต่ก็เป็น “ความมั่นคงของมนุษย์” สำหรับพวกเขาและครอบครัว!