สงครามเงาที่ซีเรีย เกมอันตราย ในตะวันออกกลาง

(Photo by LOUAI BESHARA / AFP)

เมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์การโจมตีที่ไม่คาดฝันขึ้นในพื้นที่กรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย เมื่อเครื่องบินรบอิสราเอลเปิดฉากโจมตีอาคารสถานกงสุล ที่เป็นส่วนหนึ่งของสถานทูตอิหร่านจนทลายราบ

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง

ประเด็นที่สำคัญก็คือ ทั้งหมดเป็นนายทหารระดับสูง สังกัด “คุดส์ ฟอร์ซ” หน่วยรบอิสระสำหรับปฏิบัติการในต่างแดนของกองพลพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (ไออาร์จีซี) ของอิหร่าน ที่มีบทบาทในการปฏิบัติการรบนอกระบบและแสวงหาข่าวกรองทางทหารในต่างแดน

หนึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตคือ พล.อ.โมฮัมหมัด เรซา ซาเฮดี้ ผู้บัญชาการคุดส์ประจำซีเรียและเลบานอน ที่ว่ากันว่าใกล้ชิดสนิทสนมกับ ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ ผู้นำเฮซบอลเลาะห์ กองกำลังติดอาวุธมุสลิมชีอะต์ที่อิหร่านหนุนหลังมากเป็นพิเศษ ส่วนที่เหลือคือ รองผู้บัญชาการ กับนายทหารสังกัดไออาร์จีซีอีก 5 นาย

สิ่งที่ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความแตกตื่นตกใจก็คือ ไม่เพียงผู้เสียชีวิตเป็นนายทหารระดับสูงของกองทัพอิหร่านเท่านั้น

แต่อาคารที่เป็นส่วนหนึ่งของสถานทูต ถือเป็นสถานที่ต้องห้าม ไม่ตกเป็นเป้าการโจมตีในสงครามทุกรูปแบบ

นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศ อันเป็นสากลที่ทั่วโลกยึดถือกันมาเป็นเวลานานอีกด้วย

 

ทางการอิสราเอลวางเฉยไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบในกรณีนี้อย่างเป็นทางการ แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ปฏิเสธ ท่ามกลางกระแสข่าวอย่างไม่เป็นทางการสะพัดไปทั่วว่าอิสราเอลคือผู้รับผิดชอบในปฏิบัติการครั้งนี้

สิ่งเดียวที่ แดเนียล ฮาการี โฆษกกองทัพอิสราเอลแถลงก็คือ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่โจมตีอาคารหลังดังกล่าว ถือเป็นการกระทำที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว เพราะอาคารดังกล่าวเป็นที่ตั้งทางทหาร ที่จำแลงเป็นอาคารเพื่อกิจการพลเรือน

นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว ที่กองกำลังฮามาสบุกข้ามแดนจากกาซาเข้าไปสังหารชาวอิสราเอลไปกว่า 1,000 รายภายในไม่กี่ชั่วโมง กองทัพอิสราเอลก็เปิดฉากทำสงครามในสองแนวรบมาโดยตลอด

ด้านหนึ่งคือสงครามเพื่อกวาดล้างฮามาสในกาซาที่กระทำอย่างเปิดเผย

กับอีกด้านหนึ่งคือ สงครามเงา ที่เป็นการสู้รบและรับมือกับการโจมตีจากหลายทิศหลายทาง โดยฝีมือของกลุ่มนักรบในสังกัดกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ที่อิหร่านหนุนหลังอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค

ที่หนักที่สุดก็คือ เฮซบอลเลาะห์ซึ่งยิงจรวดโจมตีเข้าไปในตอนเหนือของอิสราเอลจากเลบานอนแทบเป็นรายวัน แม้จะไม่เปิดฉากทำศึกเต็มรูปแบบก็ตามที

อิสราเอลเองก็ดูระมัดระวังพอตัวที่จะไม่ทำให้เหตุการณ์ทางตอนเหนือของประเทศกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบขึ้นมา ด้วยการจำกัดการโจมตีตอบโต้ให้อยู่ในขอบเขตแค่ตอนใต้ของเลบานอน

ไกลสุดเห็นจะเป็นเพียงแค่ถึงพื้นที่ของหุบเขาเบก้า ที่มั่นสำคัญของเฮซบอลเลาะห์เมื่อเร็วๆ นี้เท่านั้นเอง

 

แต่ในซีเรียกลับแตกต่างออกไป ข้อจำกัดในการโจมตีของอิสราเอลในซีเรียมีน้อยมาก รัฐบาลบาชาร์ อัล อัสซาด ยังเปราะบางเกินกว่าที่จะสู้กลับ และกองกำลังติดอาวุธที่นั่นก็ไม่ได้ครอบครองอาวุธหนักมากพอที่จะต่อกรกับอิสราเอลแบบเต็มที่เหมือนกับที่เฮซบอลเลาะห์มีในเลบานอน

ที่สำคัญก็คือ ในซีเรีย อิสราเอลมีเป้าหมายที่เหมาะและควรค่าแก่การโจมตีอยู่มากมาย ตั้งแต่ที่ตั้งกองกำลังต่างๆ ไปจนถึงขบวนการขนถ่ายอาวุธสารพัดที่มุ่งหน้าไปสู่เฮซบอลเลาะห์

ทำให้นับตั้งแต่เหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคมเรื่อยมา อิสราเอลวนเวียนถล่มเป้าหมายในซีเรียมาแล้วหลายสิบครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีในวันคริสตมาสเมื่อปีที่แล้วที่ทำให้นายพลอิหร่านเสียชีวิต

การโจมตีที่คร่าชีวิตนายทหารอิหร่านอีก 5 นายเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา หนึ่งในจำนวนนั้นคือผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองอิหร่านประจำซีเรีย หรือการโจมตีที่ท่าอากาศยานอเลปโป เมื่อ 29 มีนาคมที่สามารถสังหารแกนนำเฮซบอลเลาะห์ 5 รายกับนายทหารซีเรียอีกจำนวนหนึ่ง

คำถามในเวลานี้ก็คือ ทางการอิหร่านตระหนักหรือไม่ว่าการโจมตีเมื่อ 1 เมษายนนั้นเป็นฝีมือใคร และเตรียมการตอบโต้แก้เผ็ดอย่างไร ในเมื่อหากถือกันตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นสากลแล้วละก็ คือการโจมตีสถานทูตอิหร่านในดามัสกัส ก็คือการโจมตีต่อดินแดนของอิหร่านโดยตรง

 

เมื่อ 2 เมษายนที่ผ่านมา อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านแถลงถึงเหตุการณ์นี้ว่า “ระบอบปกครองที่ชั่วร้าย จะได้รับการลงโทษจากน้ำมือของทหารกล้าของเรา”

นั่นอาจหมายถึงการโจมตีตอบโต้โดยตรง แต่ก็ทำให้เกิดข้อกังขาตามมาว่า อิหร่านจะถือว่าใครคือผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์ครั้งนี้ อิสราเอล หรือสหรัฐอเมริกา ที่อิหร่านถือว่าเป็น “ลูกพี่ใหญ่” ของอิสราเอลมาโดยตลอด แต่ยืนกรานอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้รู้มาก่อนเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้

ผู้สันทัดกรณีในตะวันออกกลาง เชื่อว่า อิหร่านคงตระหนักดีว่าการโจมตีโดยตรงต่ออิสราเอล หรือต่อผลประโยชน์ของอเมริกันในภูมิภาคมีแต่จะทำให้สงครามในตะวันออกกลางในเวลานี้ลุกลามออกไปใหญ่โต

และน่าจะเลือกใช้วิธีการตอบโต้แบบเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมา นั่นคือ ใช้ตัวแทนที่เป็นกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ของตนเป็นเครื่องมือในการตอบโต้

กระนั้นการโจมตีสถานทูตอิหร่านครั้งนี้อาจแตกต่างออกไป อิสราเอลกำลังเล่นเกมเสี่ยงและอันตรายอย่างใหญ่หลวง เพราะคาดหมายว่า อิหร่านหวั่นเกรงที่จะทำให้สงครามขยายวงออกไปมากกว่าที่จะเลือกโจมตีแก้เผ็ดโดยตรง

ที่ผ่านมา อาจเป็นเช่นนั้น แต่ไม่มีอะไรการันตีเช่นกันว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไปทุกครั้งจริงๆ