แบคทีเรียกินเนื้อ เรื่องหวาดผวาที่ญี่ปุ่น

กําลังเป็นที่หวาดผวากันไปทั่ว สำหรับ “แบคทีเรียกินเนื้อ” ที่กำลังระบาดอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยตอนนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคนแล้วกว่า 5 ร้อยราย ซึ่งสูงกว่าปีก่อนถึง 4 เท่า

เฉพาะที่กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น พบผู้ติดเชื้อแล้วเกือบร้อยราย สูงกว่าปีก่อนราว 3 เท่า

โรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือโรคเนื้อเน่า เกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ สามารถแพร่เชื้อได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นผ่านทางละอองจากการไอ จาม จากการสัมผัสพื้นผิวต่างๆ รวมถึงผ่านทางบาดแผลบริเวณมือหรือเท้า

โรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือชื่อทางการแพทย์คือ Necrotizing Fasciitis ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคที่มีมานานแล้ว และมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงที่ผิวหนังชั้นลึก ตั้งแต่หนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ จนทำให้เกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อบริเวณที่ติดเชื้อ และอาจจะลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แต่หากดูจากสถิติช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในประเทศญี่ปุ่นพบว่า แต่ละปี ผู้ป่วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อราว 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป

และตัวเลขจากเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา กลุ่มคนอายุ 40-50 ปีในญี่ปุ่น ติดเชื้อโรคแบคทีเรียกินเนื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

ในประเทศไทยเองก็มีรายงานผู้ป่วยจากโรคแบคทีเรียกินเนื้อ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ราว 15.4 คน ต่อประชากร 1 แสนคน และมีอัตราการเสียชีวิตราว 17-49 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อก่อโรค ความรุนแรงและตำแหน่งของการติดเชื้อ โรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันของแต่ละคน รวมถึงระยะเวลาตั้งแต่เริ่มป่วยจนได้รับการวินิจฉัย จนถึงเข้ารับการรักษา

แต่สิ่งที่ทำให้ผู้คนหวาดกลัวตอนนี้ ก็คืออัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่น ที่ตอนนี้มีถึง 30 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ถ้ามีผู้ติดเชื้อ 100 คน จะมีผู้ที่เสียชีวิตลง 30 คน เนื่องจากเมื่อติดเชื้อแล้ว เชื้อจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย จนเป็นเหตุให้อวัยวะภายในล้มเหลว

สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขการติดเชื้อโรคแบคทีเรียกินเนื้อที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมาตรการผ่อนคลายหลังความเข้มงวดในช่วงการระบาดของโควิด-19 หลังจากที่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ใช้แอลกอฮอล์ฉีดพ่น และมีการเว้นระยะห่าง

 

ศาสตราจารย์ฮิโตชิ ฮอนดะ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ แห่งมหาวิทยาลัยสาธารณสุขฟูจิตะ เปิดเผยว่า โรคแบคทีเรียกินเนื้อ ไม่ใช่โรคระบบทางเดินหายใจเหมือนกับโรคโควิด-19 ดังนั้น จึงไม่น่าจะนำไปสู่สถานการณ์การระบาดใหญ่ได้

และบอกด้วยว่า การแพร่เชื้อจะผ่านทางละอองฝอย ดังนั้น การล้างมือให้สะอาดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการป้องกันการถูกรุกรานจากเชื้อสเตรปโตคอคคัส

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม กรุงโตเกียวได้ประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังการติดเชื้อโรคแบคทีเรียกินเนื้อคนให้มากขึ้น พร้อมกับแนะนำวิธีการป้องกันการติดเชื้อ และการสังเกตอาการ เช่น หากมีอาการป่วย เช่น ปวดและบวมที่แขนขา หรือมีไข้สูง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าอาจจะมีการติดเชื้อ ให้รีบไปพบแพทย์ในทันที พร้อมกับแนะนำให้หมั่นล้างมือและดูแลบาดแผลต่างๆ ให้ดี

แม้จะไม่ใช่โรคใหม่ แต่ก็ควรระมัดระวังเอาไว้ก็ดีที่สุด เพราะยังไงเสีย ก็มีโอกาสเสียชีวิตเช่นกัน