แบ่งกลุ่ม “วุฒิสมาชิก” | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

คนหน้าแดงแรงต้องออก “วุฒิสมาชิก” หรือ “ส.ว. 250 คน” ที่ส้มหล่นมาจาก “บทเฉพาะกาล” ด้วยกุศลผลบุญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แห่งมาตรา 269 ที่ลั่นดาลเอาไว้ว่า

“ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ โดยการสรรหาและแต่งตั้ง”

อายุของวุฒิสภาตามมาตรานี้มีกำหนดห้าปี นับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สมาชิกภาพของวุฒิสภาเริ่มตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ถ้ามีตำแหน่งว่างลง ให้เลื่อนรายชื่อบุคคลตามลำดับในบัญชีสำรองขึ้นมาเป็นวุฒิสภาแทน เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 107 ต่อไป

“ส.ว.” ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ครบห้าปีบริบูรณ์เต็มนับจากวันที่มีพระบรมราชโองการ คือวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ซึ่งใกล้จะครบอยู่หลัดๆ ในไม่กี่วันแล้ว

ชุดใหม่ที่มาตามช่องทางแห่งมาตรา 107 วุฒิสภาจะประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม

โดยในการแบ่งกลุ่ม ต้องแบ่งลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคน สามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

การแบ่งกลุ่ม จำนวนกลุ่ม และคุณสมบัติของบุคคลในแต่ละกลุ่ม การสมัครและรับสมัคร หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกันเอง การได้รับเลือก จำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่จะพึงมีจากแต่ละกลุ่ม การขึ้นบัญชีสำรอง การเลื่อนบุคคลจากบัญชีสำรองขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน และมาตรการอื่นที่จำเป็น เพื่อให้การเลือกกันเองเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้การเลือกดังกล่าวเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม จะกำหนดมิให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน หรือจะกำหนดให้มีการคัดกรองผู้สมัครรับเลือกด้วยวิธีการอื่นที่ผู้สมัครรับเลือกมีส่วนร่วมในการคัดกรองก็ได้

ตามไทม์ไลน์ เมื่อ ส.ว.ชุดนี้ครบเทอม 5 ปีเต็มในวันที่ 11 พฤษภาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ต้องเปิดรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับตั้งแต่พระราชกำหนดเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ คาดว่า กกต.จะประกาศวันรับสมัครรับเลือกตั้งภายในวันที่ 27 พฤษภาคม-2 มิถุนายน เลือกตั้งระดับอำเภอ ภายในวันที่ 22 มิถุนายน เลือกตั้งระดับจังหวัด ภายในวันที่ 29 มิถุนายน และก๊อกสุดท้ายเลือกตั้งระดับประเทศ ภายในวันที่ 9 กรกฎาคม

 

ประเมินกันว่า ตามไฟต์บังคับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 ที่ให้ ส.ว.มีที่มาจากการเลือกกันเอง ของกลุ่มสาขาอาชีพ 20 กลุ่ม ศึกเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมีผู้สมัครลงรับแข่งขัน ทุบสถิติ เมื่อยกยอดจากที่ประเทศไทยมี 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีอำเภอทั้งหมด 928 อำเภอ คัดกรองจากกลุ่มอาชีพแบบเลือกกันเอง ผ่านเข้ารอบจากผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คน ส่งระดับจังหวัด ตัดตัวเหลือกลุ่มละ 2 คน ส่งเข้าประกวดต่อในรอบประเทศ

ขณะที่การแบ่งกลุ่มผู้เข้าสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 20 กลุ่ม ตามข้อบังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เคยนำมาบรรยายสรรพคุณ ภาพรวม ฉบับนี้ ขอขยายรายละเอียดครอบอาณาจักรให้ดูกันจะจะอีกครั้ง

1. “กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง” มาจากอดีตข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

2. “กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

3. “กลุ่มการศึกษา” ได้แก่ ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

4. “กลุ่มสาธารณสุข” ได้แก่ แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

5. “กลุ่มอาชีพทำนา” เช่น ทำนา ปลูกพืชล้มลุก

6. “กลุ่มอาชีพทำสวน-ป่าไม้-ปศุสัตว์-ประมง” หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

7. “กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพผู้ประกอบอาชีพอิสระ” หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

8. “กลุ่มสื่อสารมวลชน” ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

9. “กลุ่มประชาสังคม-กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์” หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

10. “กลุ่มศิลปะ-วัฒนธรรม-ดนตรี-การแสดงและบันเทิง-นักกีฬา” หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

11. “กลุ่มสตรี”

12. “กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ทุพพลภาพ-กลุ่มชาติพันธุ์-กลุ่มอัตลักษณ์อื่น” หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

13. “กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีการสื่อสาร-การพัฒนานวัตกรรม” หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

14. “กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม” หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

15. “กลุ่มพนักงานลูกจ้างที่ไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ-ผู้ใช้แรงงาน” หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

16. “กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม-ผังเมือง-อสังหาฯ-และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน” หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

17. “กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลาง และขนาดย่อยตามกฎหมาย” และอื่นๆ ทำนองเดียวกัน

18. “กลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ” นอกจากกลุ่ม 17

19. “กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว” เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการอื่นๆ หรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

20. “กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม” หรืออื่นๆ ทำนองเดียวกัน

ผู้ที่จะสมัครลงชิงดำ สมาชิกวุฒิสภา ต้องตรวจสอบคุณสมบัติให้ดี จะลงสมัครและใช้อาชีพใดเป็นใบเบิกทาง เพราะกลุ่มอาชีพเปิดกว้าง เลือกใช้บริการได้หลายกลุ่ม

เมื่อผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองภายใน 20 กลุ่มสมัครได้แค่หนึ่งกลุ่ม

มีการประเมินสถานการณ์ว่า จะมีผู้สมัครลงชิงชัย ส.ว.ทั่วประเทศ 20 กลุ่ม ตัวเลขจะทะลุ 60,000 คน เลือกระดับประเทศแล้วเสร็จจะร้องเรียนกันนัวเนีย อุตลุด

“ฟันธง” ว่า ส.ว.ชุดที่จวนจะครบเทอมในไม่กี่วันข้างหน้า จะนั่งรักษาการไปอีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 เดือนหลังเลือกตั้ง