สงกรานต์ กับพระสุริยเทพที่ศรีเทพ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“สงกรานต์” เป็นคำที่ไทยเราหยิบยืมมาจากภาษาสันสกฤตว่า “สงฺกฺรานติ” ที่แปลว่า คติหรือการจากไปของดวงอาทิตย์ หรือดาวพระเคราะห์ดวงอื่นจากราศีหนึ่ง ไปสู่อีกราศีหนึ่ง

หลายครั้งที่ในหนังสือเก่าแก่เล่มต่างๆ ของไทย จะพบคำว่า “ตรุษสงกรานต์” โดยคำว่า “ตรุษ” ก็มีรากมาจากภาษาสันสกฤตเช่นเดียวกัน คือหมายถึงการ “ตัด”

ดังนั้น คำว่า “ตรุษสงกรานต์” จึงหมายถึงการที่ดวงอาทิตย์โคจร (ตามวิธีคำนวนแบบโหราศาสตร์ เพราะที่จริงแล้วดวงอาทิตย์ไม่ได้โคจร แต่เป็นโลกมนุษย์ต่างหากที่กำลังโคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ทุกขณะจิตต่างหาก) ผ่านจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง แล้วตัดให้เป็นการครบรอบวงโคจรหนึ่งครั้ง คือหนึ่งปีนั่นเอง

นอกเหนือจากนี้ยังมีคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่อีกคำหนึ่ง คือคำว่า “ราศี” โดยหมายถึงการแบ่งขอบฟ้าออกเป็นช่องๆ 12 ช่องเท่าๆ กัน แต่ละช่องมีดาวจักรราศีครองอยู่ โดยพระอาทิตย์จะอยู่ช่องละ 30 วัน เคลื่อนย้ายไปทั้งปีครอบทั้ง 12 ช่องคือ ครบ 1 ปี

พระอาทิตย์ท่านจึงย้ายราศีเป็นประจำทุกเดือน โดยการย้ายแต่ละครั้งก็จะตกราวๆ วันที่ 14-15 ของแต่ละเดือน พระอาทิตย์เข้าไปอยู่ในราศีใด ก็จะเรียกว่าเป็นสงกรานต์ของราศีนั้น เช่น เมื่อพระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีมังกร ก็เรียก “มกรสังกรานติ” (มกรสงกรานต์) เป็นต้น

 

ในไทย และวัฒนธรรมอื่นๆ ในอุษาคเนย์นั้น ให้ความสำคัญเฉพาะกับการที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีเมษ คือ “เมษสังกรานติ” (เมษสงกรานต์) เพราะถือเป็น วันขึ้นปีใหม่ อย่างที่รู้กันโดยทั่วไปนั่นแหละครับ โดยเรียกกันว่า “มหาสงกรานต์” เพราะถือกันว่าเป็นสงกรานต์ คือการเคลื่อนย้ายของราศีที่สำคัญที่สุดในรอบปี

แน่นอนว่า ความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นของ made in India ทั้งสิ้น สังเกตง่ายๆ ได้จากการที่ใช้คำแขกเรียกชื่อของเทศกาล ไม่ใช่คำไทย หรือคำในภาษาพื้นเมืองอื่นๆ

และนี่ก็ทำให้อะไรที่เรียกว่า “สงกรานต์” จึงเป็นสิ่งที่ชนชาวอุษาคเนย์สมัยโบราณอิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดียพร้อมกันกับเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู จนได้ยังผลให้เราจะมีประเพณีการนับเอา “เดือนห้า” เป็นเดือนขึ้นปีใหม่ แทนที่จะนับว่า “วันแรมหนึ่งค่ำเดือนอ้าย” (แน่นอนว่า เดือนอ้าย แปลว่า เดือนที่หนึ่ง ซึ่งก็คือเดือนแรกของปีอย่างไม่ต้องสงสัย) ตามปฏิทินแบบพื้นเมืองของอุษาคเนย์ เป็นวันแรกของปี อย่างที่เคยใช้มาก่อนจะรับวัฒนธรรมอินเดีย

 

วิธีการนับปีจากอินเดียแบบที่ผมกล่าวถึงข้างต้นนี้ เป็นวิธีที่นับเอา “พระอาทิตย์” เป็นสำคัญ อย่างที่เรียกว่า “ปฏิทินสุริยคติ” แตกต่างจากปฏิทินพื้นเมืองของอุษาคเนย์ที่เป็นแบบ “จันทรคติ” ที่ให้ความสำคัญกับ “พระจันทร์”

แน่นอนว่าเมื่อให้ความสำคัญกับ “พระอาทิตย์” แล้ว ก็ย่อมเกิดการนับถือบูชาเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ คือ “พระสุริยเทพ” (หรือ พระสูรยเทพ ในภาษาสันสกฤต) ผู้เป็นหลักสำคัญของวันเวลา และฤดูกาล ซึ่งย่อมดลบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ได้ด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีสิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแพร่กระจายจากอินเดียเข้ามาสู่อุษาคเนย์ในระยะเริ่มแรกเมื่อราวหลัง พ.ศ.1000 นั้น ก็ได้มีการค้นพบรูปพระสุริยเทพในรัฐโบราณเหล่านี้ด้วย

โดยมีทั้งที่พบเป็นประติมากรรมรูปพระสุริยเทพเอง และที่พบประดับอยู่บนศาสนวัตถุอื่นๆ โดยเฉพาะชุดเสาธรรมจักร ในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งพบว่ามีการประดับรูปพระสุริยะอย่างมีนัยยะที่น่าสนใจอยู่จำนวนหนึ่ง

 

เฉพาะที่มีการสลักเป็นรูปประติมากรรมนั้น พบมากในพื้นที่บริเวณเมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ โดยมีการค้นพบประติมากรรมรูป “พระสุริยเทพ” จำนวนถึง 4 องค์เป็นอย่างน้อย (อันที่จริงแล้ว มีประติมากรรมรูปพระสุริยเทพที่อ้างว่า พบจากเมืองโบราณแห่งนี้อีกหลายองค์ แต่ในข้อเขียนชิ้นนี้จะขอนับเฉพาะองค์ที่มีที่มาที่ไปค่อนข้างชัดเจนเท่านั้น)

รูปพระสุริยะทั้ง 4 องค์นี้ เป็นประติมากรรมสลักหินลอยตัวทั้งองค์เหมือนกันทั้งสิ้น ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า ภายในเมืองศรีเทพจะต้องมีปราสาท หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้สำหรับประดิษฐานรูปพระสุริยะเหล่านี้อย่างต่ำก็ 4 หลัง

รูปพระสุริยะเหล่านี้สามารถกำหนดอายุอยู่ในช่วงสมัยที่ใกล้เคียงกันคือ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1100-1400 อันเป็นระยะเริ่มต้นของการรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีปเข้ามาในอุษาคเนย์เช่นเดียวกันทั้งหมด

จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยใจอยู่มากว่า ทำไมที่เมืองศรีเทพในยุคสมัยดังกล่าว จึงมีคติการนับถือพระสุริยะอยู่มากกว่าพื้นที่บริเวณอื่น?

 

ประติมากรรมลอยตัวรูปพระสุริยะที่พบในพื้นที่อื่นๆ ในดินแดนอุษาคเนย์นั้น ส่วนใหญ่จะพบเป็นองค์โดดๆ กล่าวคือ ในเมืองหนึ่งนั้นอาจจะพบเพียงองค์เดียว เช่น เมืองพระรถ จ.ชลบุรี หรือที่เขาพนมดา ใน ประเทศกัมพูชา เป็นต้น หลายเมืองไม่มีการค้นพบร่องรอยการนับถือบูชาพระสุริยเทพเลยด้วยซ้ำไป แถมหลายครั้งจะพบรูปพระสุริยะอยู่ร่วมกับกลุ่มเทวดานพเคราะห์ โดยถูกบูชาในฐานะของกลุ่มเทพเจ้าประจำดวงดาวทั้งหลาย ไม่ใช่การนับถือพระสุริยะอย่างเป็นเอกเทศ จึงแตกต่างไปที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในเมืองศรีเทพอย่างเห็นได้ชัด

และนั่นก็แสดงให้เห็นถึงความนิยมในการนับถือพระสุริยเทพ ในเมืองโบราณแห่งนี้ที่มากพอสมควร จนทำให้มีการสันนิษฐานกันว่า เมืองศรีเทพเมื่อครั้งรุ่งเรืองนั้น มีนิกายเสาระ ซึ่งก็คือ นิกายที่นับถือพระสุริยะเป็นการเฉพาะรุ่งเรืองอยู่เลยทีเดียว

ประเด็นที่สำคัญก็คือ ในบรรดาประติมากรรมพระสุริยเทพที่ค้นพบที่เมืองศรีเทพนี้ มีอยู่องค์หนึ่งที่กรมศิลปากรขุดค้นได้จากปรางค์สองพี่น้อง ในตัวเมิองศรีเทพ โดยรูปพระสุริยะองค์นี้แต่งกายอย่างชนชาวต่างชาติทางตอนเหนือของอินเดียอย่างชัดเจน

และนอกเหนือไปจากนั้นยังมีหนวด และเครา ที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการแต่งกายอย่างชนชาวเอเชียกลาง

พระสุริยเทพ กรมศิลปากรขุดพบที่หน้าปรางค์สองพี่น้อง เมืองศรีเทพ ทรงเครื่องอย่างชนต่างชาติทางตอนเหนือของอินเดีย ต้องตรงตามที่คัมภีร์ดาราศาสตร์-โหราศาสตร์ ที่ชื่อ พฤหัสสังหิตา ระบุไว้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นที่น่าสนใจด้วยนะครับว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เอเชียกลางนั้น มีคติการนับถือเทพเจ้าแห่งแสงสว่าง เทพเจ้าแห่งไฟ และเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ คือพระสุริยเทพ เป็นสำคัญ จนทำให้ในตำราของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู บางฉบับถึงกับระบุถึงลักษณะของเสื้อผ้าหน้าผมของพระองค์อย่างละเอียดว่า พระสุริยเทพนั้นทรงเครื่อง (คือ แต่งกาย) อย่างชนต่างชาติทางตอนเหนือของชมพูทวีป (คือเอเชียกลาง) และสวมหมวกทรงกระบอกที่เรียกว่า กิรีฏมกุฏ

(และนี่ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าสำหรับสายตาของพ่อพราหมณ์ในอินเดียแล้ว พระสุริยเทพเป็นเทพที่มาจากภูมิภาคอื่น ซึ่งก็คือเอเชียกลาง ตามอย่างเครื่องทรงของพระองค์นั่นเอง)

ส่วนตำราพราหมณ์อินเดียบางฉบับที่อ้างว่าพระสุริยเทพทรงเครื่องอย่างชนชาวเอเชียกลางนั้น มีชื่อว่า “พฤหัสสังหิตา” ที่เรียบเรียงขึ้นโดยท่านวราหะมิหิรา เมื่อราว พ.ศ.1050-1100 ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นตำราดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์

(ดังนั้น จึงให้ความสำคัญเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับดวงดาว โดยเฉพาะพระสุริยะเป็นพิเศษจนถึงกับได้พรรณนารูปลักษณะการแต่งกายออกมา) ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวดวงดาว และท้องฟ้า ทั้งในอินเดีย เอเชียกลาง และเปอร์เซีย (คืออิหร่าน) ต่อมาอีกหลายร้อยปีเลยทีเดียว

 

รูปพระสุริยะที่กรมศิลปากรขุดได้จากหน้าปรางค์สองพี่น้ององค์นี้กำหนดอายุได้ไม่ห่างจากอายุของคัมภีร์พฤหัสสังหิตาไม่มากนัก

ประกอบการที่ประติมากรรมรูปพระสุริยเทพองค์นี้แต่งกายต้องตรงกับข้อความที่ระบุอยู่ในคัมภีร์ ก็ชวนให้คิดไปได้ว่า เป็นการสร้างตามรูปลักษณะของพระสุริยะที่ระบุเอาไว้ในคัมภีร์ดาราศาสตร์ ควบโหราศาสตร์ฉบับสำคัญอย่างพฤหัสสังหิตา

และนั่นก็ย่อมทำให้มีความเป็นไปได้ด้วยว่า นักปราชญ์ที่เมืองศรีเทพ (หมายรวมไปถึงเมืองในเครือข่ายอื่นๆ และรัฐขนาดใหญ่ในอุษาคเนย์ยุคโน้นทั้งหลาย) จะรู้จักตำราดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ฉบับสำคัญเล่มนี้

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งว่า การปรากฏรูปพระสุริยะเป็นจำนวนมากที่เมืองศรีเทพนั้น จะเกี่ยวข้องกับกลุ่มของผู้ใฝ่ใจค้นคว้าในดาราศาสตร์-โหราศาสตร์ อันเป็นศาสตร์ที่สัมพันธ์กันอย่างแยกแทบจะไม่ออกในโลกโบราณ

และการศึกษาเรื่องราวการโคจรของดวงดาวเหล่านี้ ย่อมสัมพันธ์กันกับการนับและคำนวณเวลา โดยเฉพาะปฏิทินแบบสุริยคติ ที่ถือเอาพระอาทิตย์เป็นสำคัญ ต่างจากวิธีนับตามจันทรคติ ที่ถือเอาพระจันทร์เป็นใหญ่

ดังนั้น ความรู้สมัยใหม่ในยุคของการกำเนิดรัฐเริ่มแรกของอุษาคเนย์เมื่อหลัง พ.ศ.1000 อย่างปฏิทินแบบสุริยคตินั้นเอง ที่ทำให้ทั้งพระสุริยเทพ และวันมหาสงกรานต์ คือวันเปลี่ยนศักราชตามแบบของอินเดียกลายเป็นสิ่งที่สำคัญขึ้นมาในราชสำนักโบราณของอุษาคเนย์นั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ