อัพสุขภาพให้ดีขึ้นได้ ด้วยดีไวซ์ในมือคุณ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

อัพสุขภาพให้ดีขึ้นได้

ด้วยดีไวซ์ในมือคุณ

 

นาฬิกาประเภทสมาร์ตวอตช์ถือกำเนิดขึ้นในตอนแรกด้วยภารกิจหน้าที่หลักๆ คือรับการแจ้งเตือนมาจากสมาร์ตโฟนแล้วนำมาแสดงผลบนหน้าจอนาฬิกาเพื่อให้ใกล้ชิดและติดตัวผู้ใช้งานได้มากกว่าเดิม

มีการแจ้งเตือนอะไรใหม่ๆ เข้ามาก็ไม่ต้องหยิบโทรศัพท์ออกจากกระเป๋า แค่พลิกข้อมือขึ้นมาดูก็เห็นได้เลยทันที

สมาร์ตวอตช์ที่ฮิตที่สุดในท้องตลาดอย่าง Apple Watch เองก็มีต้นกำเนิดมาแบบที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในใจที่แน่ชัดตั้งแต่วันแรกเหมือนกัน นิตยสาร Wired เคยรายงานเอาไว้ว่า Apple เริ่มโปรเจ็กต์สมาร์ตวอตช์โดยที่ไม่ได้มีการใช้งานอะไรที่อยากได้แบบชัดเจน ทีมนักพัฒนารู้แต่เพียงว่าเทคโนโลยีจะต้องถูกย้ายให้มาสวมใส่อยู่บนร่างกายของเราได้แล้ว

มาถึงปัจจุบันนี้ฉันเชื่อว่าเราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าสมาร์ตวอตช์ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ของ Apple หรือคู่แข่งเจ้าอื่นๆ ได้กลายเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ใช้งานที่ใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ และให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย

ช่วงหลังๆ มาเราจึงได้เห็นแบรนด์เทคโนโลยีมุ่งมั่นกับการเพิ่มฟีเจอร์การดูแลสุขภาพเข้าไปในนาฬิกาสมาร์ตวอตช์ โดยเฉพาะ Apple Watch ที่แทบไม่น่าเชื่อว่านาฬิกาเรือนเล็กๆ เรือนเดียวจะมาพร้อมฟังก์ชั่นการช่วยเราดูแลสุขภาพและความปลอดภัยได้มากมายขนาดนี้

บทความวันนี้ก็เลยอยากจะมาเล่าให้ฟังว่านาฬิกาอย่าง Apple Watch โดยเฉพาะซีรีส์ใหม่ๆ หรือระบบปฏิบัติการ WatchOS เวอร์ชันหลังๆ มีความสามารถด้านสุขภาพอะไรเพิ่มเติมมาบ้าง

หรือคนที่ไม่มี Watch แต่ใช้ iPhone และ iPad ยังมีฟีเจอร์ด้านสุขภาพอะไรบ้างที่คุณอาจจะยังไม่เคยใช้

เริ่มจาก Apple Watch ก่อนค่ะ ในอัพเดตระบบปฏิบัติการล่าสุด Apple Watch เพิ่มความสามารถที่จะช่วยให้สุขภาพของลูกเราดีขึ้นด้วยการกระตุ้นให้ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อรับแสงแดดให้ได้ตามระยะเวลาที่พอเหมาะ โดยมาในชื่อว่า Time In Daylight

International Myopia Institute แนะนำให้เด็กใช้เวลากลางแจ้งอย่างน้อย 80-120 นาทีต่อวัน หากพ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำงานยุ่งๆ ทั้งวันก็อาจจะไม่ทันได้สังเกตว่าวันนี้ลูกของเราใช้เวลากลางแจ้งเพียงพอหรือยัง

Apple Watch ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ WatchOS 10 จะมาพร้อมเซ็นเซอร์วัดแสงโดยรอบและเก็บข้อมูลได้ว่าผู้สวมใส่อยู่ในที่ๆ มีแสงแดดนานแค่ไหน

ถ้าเราให้ลูกสวม Apple Watch และออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง คุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถดูข้อมูลจากใน iPhone ของตัวเองได้ว่าเวลารวมของการรับแสงแดดอยู่ที่กี่นาที และปรับเปลี่ยนกิจวัตรของลูกให้ลงตัวขึ้นได้

ไม่ใช่แค่เด็กๆ เท่านั้น แต่ผู้ใหญ่วัยฉันก็รู้สึกว่าการมีข้อมูลระยะเวลาที่เราออกไปรับแสงแดดต่อวันก็ทำให้ฉันปรับไลฟ์สไตล์ตัวเองได้ดีขึ้น พอย้อนกลับไปดูกราฟก็พบสิ่งที่น่าตกใจว่าบางวันฉันออกไปสัมผัสแสงธรรมชาติแค่ 3-5 นาทีเท่านั้นเอง

นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ฉันรู้สึกเฉาๆ ในบางวันก็ได้

Apple Watch ยังสามารถเก็บข้อมูลตอนนอนหลับให้เราได้ เมื่อสวมนาฬิกาเข้านอนและตื่นมาในตอนเช้า เราจะได้ดูกราฟที่แสดงข้อมูลการนอนของเราอย่างละเอียด ว่าเราใช้ระยะเวลานอนไปเท่าไหร่ มีการนอนในระยะต่างๆ อย่างระยะหลับฝัน หลับจริง หลับลึก หรือช่วงเวลาที่ตื่นระหว่างคืนแบ่งออกเป็นอย่างละกี่นาที กี่ชั่วโมง แล้วนำค่าที่ได้มาปรับเพื่อทำให้คุณภาพการนอนของเราดีขึ้น

Apple Watch Series 8 และ 9 ยังทำเพิ่มขึ้นมาได้อีกอย่าง คือการติดตามเก็บอุณหภูมิจากข้อมือของเราในช่วงที่เรานอนตอนกลางคืน ซึ่งนี่เป็นข้อมูลที่เหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่เป็นผู้หญิง เพราะอุณหภูมิจากข้อมือสามารถช่วยทำให้การคาดคะเนรอบเดือนและช่วงเวลาไข่ตกเป็นไปอย่างแม่นยำมากขึ้น ทั้งสำหรับคนที่วางแผนจะตั้งครรภ์ และไม่มีแผนจะตั้งครรภ์

ยังมีฟีเจอร์ด้านสุขภาพและความปลอดภัยอีกมากให้ใช้งานได้บน Apple Watch แต่สำหรับใครที่กำลังกังวลเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ว่าจะเป็นของตัวเองหรือของสมาชิกคนอื่นในครอบครัว iPhone ที่ใช้อยู่อาจจะช่วยทำให้เราเข้าใจร่างกายได้ดีขึ้นด้วยฟีเจอร์ที่เรียกว่า Mobility

รูปแบบการเดินของคนเราสามารถบ่งบอกถึงสุขภาพและภาวะต่างๆ ได้มากมาย iPhone ที่เราใช้จะมาพร้อมเซ็นเซอร์การตรวจจับการเคลื่อนไหว อย่างเช่น ความเร็วในการเดิน ความยาวก้าว ช่วงเวลาที่เท้าทั้งสองรับน้ำหนัก หรือการเดินไม่สมดุล ทั้งหมดนี้จะถูกเก็บข้อมูลไว้และนำมารายงานให้เรารู้ว่าการเดินของเราเป็นไปตามปกติ หรือมีความผิดปกติที่เราจะต้องรีบปรึกษาแพทย์

ความเร็วในการเดินจะทำให้เรารู้ได้ว่าร่างกายของเราฟื้นตัวหรือแก่ตัวไปตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ มีโอกาสจะเป็นโรคพาร์กินสันหรือเปล่า ความยาวก้าวในแต่ละก้าวเหมาะสมกับสภาพร่างกายหรือวัยของเราแค่ไหน เราเดินอย่างสมดุลหรือเปล่า หรือมีความเสี่ยงที่จะล้มแค่ไหน

ข้อมูลสุขภาพต่างๆ เหล่านี้ต่อให้เราไม่จำเป็นต้องดูของตัวเอง แต่เราสามารถตั้งค่าให้ iPhone ของผู้สูงอายุในครอบครัวของเราส่งข้อมูลมาที่เครื่องเราเพื่อที่เราจะได้ช่วยเฝ้าระวังได้ด้วยอีกทาง

 

สําหรับใครที่ให้ลูกใช้ iPhone หรือ iPad และกลัวว่าจะเกิดภาวะสายตาสั้นซึ่งนับเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของความบกพร่องทางการมองเห็นทั่วโลก ก็สามารถตั้งค่าให้ iPhone หรือ iPad เตือนเมื่อมีระยะห่างระหว่างสายตากับหน้าจอที่น้อยเกินไป เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกของเราถือหน้าจอไว้ใกล้เกินกว่า 30 ซ.ม. อุปกรณ์ก็จะขึ้นคำเตือนขึ้นมาให้ถอยหน้าจอให้ห่างออกไป

ทั้ง iPhone iPad และ Apple Watch มาพร้อมกับฟีเจอร์ที่จะช่วยดูแลสุขภาพจิตได้ด้วย โดยให้เราบันทึกสภาวะจิตใจของตัวเราเองในหลายๆ ช่วงเวลาของวัน ว่ารู้สึกสบายใจมาก หรือไม่สบายใจมาก และเลือกความเชื่อมโยงว่าเราสบายใจหรือไม่สบายใจเพราะสาเหตุอะไร เมื่อนำมาย้อนดูข้อมูลภายหลังจะได้พอบอกได้ว่าภาพรวมของสุขภาพจิตของเราเป็นอย่างไร

คุณผู้อ่านคนไหนใช้งานอุปกรณ์ของ Apple อยู่ ฉันอยากจะแนะนำว่าอย่าลืมเปิดเข้าไปดูในแอพพลิเคชั่น Health เพราะนี่เป็นศูนย์กลางของข้อมูลด้านสุขภาพของเราที่เก็บรวบรวมโดยอุปกรณ์ที่เราใช้และพกพาติดตัวเป็นประจำทุกวัน จะเป็นเรื่องน่าเสียดายมากหากเรามีข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้วแต่ไม่เคยเปิดเข้าไปดูเลย

อย่าลืมลองกดแชร์ข้อมูลสุขภาพกับคนที่เรารักและเป็นห่วงด้วยนะคะ

ไหนๆ เราก็พกอุปกรณ์เหล่านี้ติดตัวไว้ตลอดอยู่แล้ว ใช้งานให้มันมาดูแลสุขภาพทั้งกายและใจให้เราด้วยก็จะทำให้ใช้ได้คุ้มขึ้นแน่นอนค่ะ