เมื่อความขัดแย้งบรรเทา ความน่าเบื่อก็เข้าแทนที่

คำ ผกา

“ประเทศไทยยังไม่พร้อมสำหรับ…”

“ประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่น คนไทยไม่มีความรู้ ไม่มีวินัย ดังนั้น เราจะทำเหมือนคนอื่น…ไม่ได้”

ฉันให้เราลองเติมคำในช่องว่างดูว่าเราอยากเติมประโยคอะไรลงไป ตั้งแต่ประเทศไทยยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย

ประเทศไทยยังไม่พร้อมมีเอนเตอร์เมนต์คอมเพล็กซ์ ประเทศไทยยังไม่พร้อมจะยกเลิกโทษประหารชีวิต

ประเทศไทยยังไม่พร้อมจะให้ sex workers เป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย

ฯลฯ

ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ดังนั้น เราจะให้ขายเหล้าวันพระไม่ได้

คนไทยไม่มีวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ ดังนั้น จะให้กัญชาถูกกฎหมายไม่ได้

ถ้ามีกาสิโนถูกกฎหมาย คนไทยทั้งประเทศจะกลายเป็นผีพนัน แค่นี้ประเทศยังฉิบหายไม่พอเหรอ?

 

หนังสือ “ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวสยาม”

ได้พูดถึงดีเบตหรือข้อถกเถียงในสังคมสยามก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475

โดยอ้างทั้งความเป็นชาวพุทธ สังคมไทยไม่เหมือนฝรั่งชาติตะวันตก

ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างเขาโดยไม่ดูบริบทของสังคมเราเอง

ทั้งยกปัญหาให้เห็นว่าการแก้กฎหมายครอบครัวจากผัวเดียวหลายเมียเป็นผัวเดียวเมียเดียวจะทำให้เกิดปัญหาลูกนอกสมรสและลูกไม่มีพ่อตามกฎหมายรับรองเป็นจำนวนมาก อันจะทำให้เกิดข้อพิพาทเรื่องมรดกหนี้สิน เสียสิทธิที่พึงมี พระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่หก ได้ทักท้วงไว้อย่างน่าสนใจว่า กฎหมายผัวเดียวเมียเดียวจะเป็นหนึ่งในโคลนติดล้อ ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศ เพราะเมื่อผู้ชายมีเมียน้อยไม่ได้ก็จะมีเมียลับ ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ผู้ชายเบื่อก็ทิ้ง ท้ายที่สุดหญิงเหล่านี้จะกลายเป็นหญิงโคมเขียว ทำให้มีโสเภณีมากขึ้น ก่อปัญหาสังคม เป็นโคลนติดล้อ ประเทศไม่เจริญ

ซึ่งก็ทำให้เกิดดีเบตตามมาว่า ผู้หญิงที่ถูกสามีทิ้ง ทำไมจึงไม่เหลือทางเลือกในชีวิตนอกจากไปเป็นโสเภณี

เรื่องนี้ต้องแก้ไขค่านิยมของสังคมหรือไม่ว่า ผู้หญิงที่ผ่านการมีสามี สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างมีหน้ามีตาได้ เป็นต้น

แล้วใครจะคิดว่าจากวันหนึ่งที่สังคมไทยหรือสังคมสยาม เห็นว่า ระบบผัวเดียวเมียเดียว เป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นสิ่งที่ “ไม่ไทย” และ “ไม่เป็นพุทธ” เป็น “โคลนติดล้อ” ของสังคม

ไม่นานต่อมา เมื่อเราแก้กฎหมายนี้จดสำเร็จไปได้ สังคมไทยเองนี้แหละบอกว่า คุณธรรมของการซื่อสัตย์ต่อชีวิตคู่ การไม่มีชู้ การมีภรรยาเพียงหนึ่งคนคือ “ความเป็นไทย” และคือ “ความเป็นพุทธ” โดยอ้างอิงกับศีลข้อสาม

การยกย่องรัฐบุรุษก็ดำเนินไปพร้อมกับคุณธรรมของการยกย่องเชิดชูซื่อสัตย์กับภรรยาเสมอ คุณค่าของระบบผัวเดียวเมียเดียวและระบบครอบครัวเดียวที่เรียกกันว่าเป็น heterosexual nuclear family เป็นชุดคุณค่าของ “คุณงามความดีแบบไทย” กระแสหลักต่อเนื่องยาวนานมาหลายทศวรรษ

และเราคุ้นเคยกันดีกับการถูกอบรมสั่งสอนมาว่า ครอบครัวที่ดีและอบอุ่นคือครอบครัวอันประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และ ลูก (หมา แมว สัตว์เลี้ยง และสนามหญ้า กับรถยนต์หนึ่งคัน อเมริกันดรีม)

พ่อเป็นหัวหน้าครอบครัว แม่เป็นผู้ดูแลบ้าน ลูกเต้าเชื่อฟังพ่อแม่ ครอบครัวในฝันคือ ครอบครัวที่พ่อซื่อสัตย์ต่อแม่ แม่ดูแลทุกข์สุข อาหาร เสื้อผ้าของคนในบ้าน พูดจากันด้วยวาจาไพเราะ ไม่ด่าทอ ทะเลาะกัน

 

เมื่อครอบครัวในอุดมคติเป็นเช่นนี้ทำให้หลายทศวรรษที่ผ่านมาสังคมไทย (เหมือนกับเกือบทุกสังคมบนโลกใบนี้) มองว่าการเป็นเกย์ กะเทย ทอม ดี้ เลสเบี้ยน หรือการมีครอบครัว หญิงกับหญิง ชายกับชาย เป็นเรื่องวิปริตผิดเพศ ฟ้าจะผ่า ตายไปจะตกนรก จะถูกสาป กาลีบ้านกาลีเมือง

ส่งผลให้คนที่เป็นเพศทางเลือก ถูกเลือกปฏิบัติ รังเกียจ หรือถูกมองว่าเป็นตัวแพร่เชื้อโรคร้ายสู่สังคม ทั้งโรคจริงๆ หรือโรคที่หมายถึงทำให้สังคมป่วยไข้

ทุกครั้งที่มีความพยายามผลักดัน ต่อสู้เพื่อสิทธิของเพศทางเลือก ก็จะเจอกับแรงต้าน และแรงเสียดทานจากสังคมอย่างรุนแรง ไม่ต่างอะไรจากสมัยที่สังคมไทย (สยาม) ถกเถียงต่อสู้กันว่าควรจะแก้กฎหมายจากผัวเดียวหลายเมีย เป็นผัวเดียวเมียเดียวหรือไม่

ใครจะเชื่อว่าและแล้ววันหนึ่ง สังคมไทยก็ทำสิ่งนี้สำเร็จคือผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในสภาผู้แทนราษฎรสำเร็จอย่างชนิดที่ปราศจากเสียงต่อต้าน

ดังนั้น มันพิสูจน์แล้วว่า ที่เคยพูดว่า ผัวเดียวเมียเดียว เป็นเรื่องของสังคมตะวันตก ไม่เหมาะสำหรับเมืองไทยก็ไม่จริง

จนมาถึงประเด็นคนเพศไหนก็สามารถแต่งงานและมีสิทธิอันได้จากการสมรสตามกฎหมาย ก็ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมสำหรับสังคมไทยอีกต่อไป

 

ฉันยกตัวอย่างเรื่องนี้ขึ้นมาพูด เพื่อจะให้สังคมไทยตระหนักได้ว่า ใดๆ ในโลกนี้ล้วนเปลี่ยนแปลงได้ และเราควรจะเลิกพูดประโยคที่ว่า “สิ่งนี้ไม่เหมาะสมกับสังคมไทย” ได้แล้ว

เช่น เรื่องการจัดการปัญหายาเสพติด เป็นที่ถ่องแท้ ปราศจากข้อถกเถียงไปทั้งโลกว่าแนวทางแก้ปัญหายาเสพติดที่ดีที่สุด และได้ผลดีงามที่สุดคือแนวทางของ harm reduction หรือ การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด เพราะมันพิสูจน์มาแล้วในหลายสังคมว่า การนำผู้เสพยาไปอยู่ในคุก ไม่แก้ปัญหา ผู้เสพคือผู้ป่วย ที่ทางของคนเหล่านี้คือสถานบำบัด และการรื้อฟื้นซ่อมแซมความเป็นมนุษย์ของเขาขึ้นมาใหม่

และต้องทำไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสในการศึกษาทั้งทางตรงทางอ้อม และทำไปพร้อมๆ กับการจัดการกับผู้ค้าผู้ผลิตยาเสพติดรายใหญ่

แต่น่าเศร้าใจมาก ที่แนวทาง harm reduction ที่พยายามทำกันมาในสังคมไทยมานับสิบปี และดำเนินไปได้ด้วยดี นั่นคือ จำนวนผู้เสพที่ได้รับการบำบัดเพิ่มขึ้น แก้ปัญหาคนล้นคุกจากคดีมโนสาเร่ที่ไม่จำเป็น และการนำเอาคนเสพยาเล็กๆ น้อยๆ ไปอยู่ในคุก รังแต่จะทำให้คนเหล่านี้ไม่อาจกลับไปใช้ชีวิตในสังคมปกติได้

สุดท้ายก็ต้องโคจรชีวิตมาอยู่ในสายดาร์กที่ดิ่งหนักกว่าเดิม

 

น่าเศร้ามากๆ ที่เพียงแต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้ (ทั้งๆ ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้ปล้นอำนาจใครมา) พยายามจะสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคมว่า ปัญหายาเสพติดระบาดหนักเพราะนโยบายของรัฐบาลนี้ที่แก้กฎหมายว่าใครครอบครองยาเสพติด เช่น ยาบ้าห้าเม็ด แต่ไม่ได้เป็นผู้ขาย จะถือว่าเป็นผู้เสพ ไม่มีความผิด แต่ต้องไปรับการบำบัด และแก้ไขจากเดิมที่กำหนดไว้ที่สิบเม็ดด้วยซ้ำ

ที่น่ารังเกียจที่สุดคือ สื่อมวลชนยังไม่หยุดขายข่าวว่าด้วย คนคลั่งยาฆ่าแม่ คนคลั่งยาตีพ่อ คนคลั่งยาข่มขืนเด็ก เพราะในหลายเคส หลายกรณีพบว่า อาชญากรเหล่านั้น ไม่ได้เสพยาด้วยซ้ำ แต่พาดหัวสร้างภาพจำไปแล้ว

และฉันอึดอัดใจมากที่ “สื่อ” ไทย ไม่ยอม educate ตัวเองเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “สารเสพติด”

ถ้าอ่านหนังสือสักนิด จะรู้ว่า แอมเฟตามีน เมตแอมเฟตามีน คือสารสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบในทศวรรษที่ 50s และถูกใช้ในฐานะยารักษาโรคหลายอย่าง ในชื่อของ Norodine หรือ Benziline และอีกหลายชื่อยี่ห้อ แล้วแต่ประเทศและบริษัทยา

เป็นยาที่หาซื้อได้ทั่วไปในร้านขายยา โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ใช้รักษาตั้งแต่หวัด ภูมิแพ้ โรคเครียด ลดความอ้วน ลดอาการประหม่า แพนิก พารานอยด์

และเป็นยาที่ใช้อย่างแพร่หลายที่สุดตัวหนึ่งของยุคสมัย

จนกระทั่งมีกระทาชายนายหนึ่งบริโภคยานี้เกินขนาด คือประมาณสองร้อยเม็ด แล้วเกิดอาการจิตหลอน ไปฆ่าคนตาย ทำให้เป็นประเด็นที่ศาลสูงสหรัฐแบนยานี้โดยสิ้นเชิง

 

เมื่อยาตัวนี้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มันจึงตกไปอยู่ในมือของแก๊งมาเฟียต่างๆ ที่แสวงหากำไรจากการผลิตสิ่งผิดกฎหมายและขายในราคาแพง

อุตสาหกรรมการผลิตแอมเฟตามีน เมตแอมเฟตามีน ที่เรารู้จักในชื่อยาขยัน ยาบ้า ยาไอซ์ กลายเป็นเครื่องมือในการหาเงินของกองกำลังติดอาวุธในดินแดนต่างๆ ที่มีการสู้รบ แก๊งมาเฟียข้ามชาติ

แน่นอนว่าหลุดลอยไปจากการควบคุมคุณภาพของนักวิทยาศาสตร์ เภสัชกร องค์การอาหารและยาของทุกรัฐบาลทุกประเทศ

และไม่มีใครรู้อีกต่อไปว่า การผลิตยาเหล่านี้เพิ่มเติมสารเคมีที่แปลกปลอมอะไรลงไปอีก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการลดต้นทุน หรือทำให้ยานี้ส่งผลทางใดทางนี้ให้คนเสพติดจนกลายเป็นทาสของมัน

ดังนั้น หากสื่อ หรือนักข่าวจะไม่มั่วเกี่ยวกับเรื่องนี้ พึงรู้ว่า อาการหลอนจากยา เกิดจากการเสพยาเกินขนาดในระดับห้าสิบเม็ด ร้อยเม็ด ทำให้ไม่หลับ เมื่อคนไม่หลับติดต่อกันสัก 48 ชั่วโมงจะเกิดภาวะจิตหลอน จิตเภท สกิทโซฟิเรีย เห็นคนเป็นช้างเป็นเสือ เลยพุ่งตัวไปทำร้าย เป็นต้น

เมื่อรู้เช่นนี้จะเข้าใจและแยกแยะได้ ไม่เขียนมั่วๆ ว่า อาการหลอนยา สามารถเกิดขึ้นได้เรื่อยเปื่อย

และพึ่งตระหนักว่า คนบ้า คนหลอน คนป่วยจิตเภท เกิดได้ด้วยหลายสาเหตุ ไม่ใช่เพราะการเสพยา

และหากจะแสวงหาความรู้บ้าง จะรู้ว่า วิทยาการบำบัดผู้ใช้สารเสพติดในปัจจุบันมีความก้าวหน้าขึ้นมาก และเป็นสิ่งที่หากทำควบคู่กับกิจกรรมบำบัดและการฟื้นฟู ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว ผู้พึ่งพิงสารเสพติดส่วนใหญ่จะเลิกได้

 

ดังนั้น ฉันขอร้องเถอะ ถ้าเราอยากเห็นสังคมไทยของเราเจริญขึ้น ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลด ละ เลิกการพาดหัวข่าว เขียนข่าวทำคอนเทนต์ที่ฉุดรั้งสติปัญญาของตัวเอง เพียงเพราะอยากได้ยอดวิว หรือเพียงเพราะเกลียดรัฐบาลเพราะไม่ใช่พรรคหรือคนที่ตัวเองชอบ เลยอยากดิสเครดิต มันทุกรูปแบบ เพราะเวลาสังคมมันเลวลง คนที่ได้รับผลกระทบคือเรา ไม่ใช่คนในรัฐบาลที่เราเกลียด

จนมาถึงเรื่องเอนเตอร์เมนต์คอมเพล็กซ์ ที่กำลังศึกษากันอยู่ ฉันคิดว่า เราควรติดตามอ่านผลการศึกษา และพิจารณาอย่างรอบคอบจากข้อมูลว่ามากกว่าจะด่วนตัดสินใจว่า

“เมืองไทยมีสิ่งนี้ไม่ได้ เราไม่เหมือนสิงคโปร์”

“สิงคโปร์ทำได้ดี แต่เมืองไทยแน่ใจนะว่าทำได้เหมือนเขา”

“ลาว พม่า กัมพูชามีกาสิโนถูกกฎหมาย แต่ไม่เห็นว่าประเทศจะดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น ความเหลื่อมล้ำไม่ลดลง”

 

ลองเปลี่ยนคำถามใหม่ไหมว่า

รัฐบาลนิยาม entertainment complex อย่างไร?

เราเห็นด้วยหรือไม่?

เราอยากให้ใช้ประเทศไหนเป็นโมเดล

ประเทศไทยควรสร้างกี่แห่ง สร้างที่ไหน คนท้องถิ่นจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจริงไหม

กระบวนการออกใบอนุญาต ยากหรือง่าย

มีพื้นที่สีเขียวแค่ไหน รัฐบาลสามารถต่อรองกับเอกชนให้คืนกำไรสู่ท้องถิ่นอย่างไร เช่น

ต้องมีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้มาทำ universal basic income หรือจะเอารายได้มาอุดหนุนการทำสนามกีฬา สวนสาธารณะ หรือสาธารณประโยชน์เท่าไหร่

หรือตั้งคำถามเรื่องความแปลกแยกของตัวสถานประกอบการกับชุมชน และอีกหลายร้อยคำถามที่น่าจะทำให้สังคมไทยยอมรับหรือปฏิเสธสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากข้อมูลที่รอบด้าน และการตั้งคำถามที่มีผลประโยชน์ของประชาชนเป็นแกนกลางมากกว่าความชอบหรือเกลียดรัฐบาล

หรือการจำฝังใจว่า ประเทศไทยแสนพิเศษ ไม่เหมือนใคร อะไรที่คนอื่นทำได้ เราจะทำไม่ได้

สำหรับฉัน ปัญหาของสังคมไทยและน่าจะสังคมอื่นๆ ด้วยคือเราขาดบทสนทนาที่เป็นมรรคเป็นผลเพราะมันไม่สนุกเท่ากับบทสนทนาที่ใช้ความขัดแย้งเป็นแก่นของเรื่องเล่า