หอศิลป พีระศรี : คุณค่าและบทบาทต่อสังคมไทย (3)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

หอศิลป พีระศรี

: คุณค่าและบทบาทต่อสังคมไทย (3)

 

หอศิลป พีระศรี คือพื้นที่ทางศิลปะและวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของสังคมไทยในทศวรรษ 2520 ด้วยจำนวนคนที่เข้าชมงานอย่างล้นหลามเกือบทุกงานและปริมาณกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นอย่างมากในแทบจะทุกเดือน

แต่น่าเสียดายที่ต้องปิดตัวลงอย่างรวดเร็วหลังจากเปิดมาได้เพียงราว 14 ปี

คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรเป็นสาเหตุของการปิดตัว

การเสียชีวิตของ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ประธานมูลนิธิหอศิลป พีระศรี และผู้อุปถัมภ์หลักแทบจะเพียงรายเดียวของหอศิลปฯ ในปี พ.ศ.2530 คือคำตอบ เพราะได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานตลอดจนงบประมาณของหอศิลปฯ มหาศาล

โดยภายหลังการเสียชีวิตของ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ เพียง 1 ปี หอศิลปฯ ก็ต้องปิดตัวลงอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2531

ในช่วงเวลาที่ยังเปิดทำการ แม้จะมีเงินทุนสนับสนุนเข้ามาบ้างจากหลายแหล่ง แต่ก็มิได้มากมายและไม่ได้ครอบคลุมการดำเนินกิจการในระยะยาวแต่อย่างใด ทั้งหมดยังต้องอาศัยพึ่งพา ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ เพียงคนเดียว

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะหากพิจารณาแนวคิดของการสร้างหอศิลปฯ วิสัยทัศน์ ตลอดจนการออกแบบตัวอาคารและการใช้สอยภายในที่ทุกอย่างสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันคือความก้าวหน้าล้ำสมัย

แต่น่าเสียดายที่เมื่อมองมาที่โมเดลการบริหารจัดการ กลับมีลักษณะที่ขึ้นอยู่กับผู้อุปถัมภ์เพียงรายเดียว ไม่ต่างจากระบบการอุปถัมภ์งานศิลปะแบบยุคอดีตเท่าไรนัก

ดังนั้น เมื่อสิ้นผู้อุปถัมภ์ ทั้งหมดจึงต้องสิ้นสุดลงตามไปด้วย แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ทางศิลปะที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

ร่องรอยที่ยังเหลืออยู่ของนิทรรศการ Present Perfect ในปี พ.ศ.2545 ณ หอศิลป พีระศรี

ในปี พ.ศ.2538 หลังการปิดตัวลง ราว 7 ปี เครือข่ายศิลปิน (หลายคนในเครือข่ายนั้นคือศิลปินและบุคลากรที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับหอศิลป พีระศรี มาก่อน) ได้เสนอแนวคิดต่อกรุงเทพมหานครว่า อยากให้กรุงเทพมหานครมีหอศิลป์

ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันในเวลาต่อมาให้มีการจัดสร้าง “หอศิลปะร่วมสมัยแห่งกรุงเทพมหานคร” (BACC) ขึ้น ณ สี่แยกปทุมวัน โดยโครงการนี้แล้วเสร็จเปิดทำการในปี พ.ศ.2551

จากการพูดคุยกับ คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ผู้อำนวยการหอศิลป พีระศรี คนสุดท้าย และหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันให้เกิด BACC มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ การวางแนวคิด วิสัยทัศน์ ไปจนถึงรายละเอียดโปรแกรมในโครงการและพื้นที่ใช้สอยที่ควรจะมีใน BACC นั้น หลายอย่างมีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่หอศิลป พีระศรี เคยทำและเคยเป็นมาก่อน เพียงแต่ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น หอศิลป พีระศรี มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 1,000 ตร.ม. ในขณะที่ BACC มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 25,000 ตร.ม. ซึ่งมากขึ้นถึง 25 เท่าตัว

หากสิ่งนี้เป็นความจริง เราก็อาจพูดได้ว่า หอศิลป พีระศรี คือบรรพบุรุษห่างๆ ของ BACC

และบางสิ่งบางอย่างที่ BACC ดำเนินการอยู่ ณ ตอนนี้ ส่วนหนึ่งคือมรดกทางความคิดที่ตกทอดมาไม่มากก็น้อยจากสิ่งที่หอศิลป พีระศรี เคยเป็น

นิทรรศการ “ศิลปะ-ไทย-เวลา” ณ BACC เมื่อปี พ.ศ.2566

อย่างไรก็ตาม ความต่างระหว่างหอศิลป์ทั้งสองแห่งก็มีอยู่หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบการบริหารจัดการ

เพราะในขณะที่หอศิลป พีระศรี บริหารแบบพึ่งพาผู้อุปถัมภ์เพียงรายเดียว แต่ BACC มีลักษณะที่มั่นคงมากขึ้น (แม้จะยังไม่อาจตอบได้ว่ายั่งยืนแท้จริง) โดยบริหารงานผ่าน “มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งจากกรุงเทพมหานครและการหารายได้จากส่วนอื่นๆ เข้ามาประกอบ

ที่สำคัญคือ มีการสร้างเครือข่ายที่กว้างมากขึ้น และยึดโยงเข้ากับประชาชนมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดแตกต่างมากจากหอศิลป พีระศรี

ในส่วนหอศิลป พีระศรี นับตั้งแต่ปิดตัวไป ตัวอาคารก็ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้าง เสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา และคนทั่วไปก็ค่อยๆ ลืมเลือน

แต่น่าสนใจคือ ในขณะที่กายภาพเริ่มร่วงโรยและถูกลืมจากสาธารณชน

แต่ในอีกด้านหนึ่งพื้นที่นี้ก็ได้กลายเป็นตำนานที่คนในวงการศิลปะพูดถึง นักเรียนศิลปะแทบทุกคนต้องรู้จัก

และกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่แห่งความทรงจำที่ถูกบันทึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ที่ต่อเนื่องมาถึงยุคแรกของศิลปะร่วมสมัยในสังคมไทย

 

หลังถูกปล่อยร้าง 14 ปี หอศิลป พีระศรี ได้มีโอกาสกลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งผ่านการจัดนิทรรศการชื่อ “Present Perfect” โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับมูลนิธิจุมภฏ พันธุ์ทิพย์ และมูลนิธิหอศิลป พีระศรี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2545-31 มีนาคม 2546 โดยมี อ.อรรฆย์ ฟองสมุทร เป็นภัณฑารักษ์

โดยจากบทสัมภาษณ์ภัณฑารักษ์ของงานในครั้งนั้น (ดูในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 23 ธันวาคม 2545) ได้มีการพูดถึงไอเดียในการจัดแสดงไว้ว่า

“เราเชิญศิลปินโดยแบ่งเป็น 3 รุ่น ที่เติบโตมาควบคู่กับหอศิลป, รุ่นที่เติบโตมากับหอศิลป, แล้วก็มีอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นคนรุ่นใหม่ที่รู้จักหอศิลป พีระศรี ผ่านห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ ผ่านสูจิบัตร หรือที่อื่น แต่ไม่เคยเห็นของจริง พอมาเห็นของจริงหอศิลปก็ปิดไปแล้ว เพราะฉะนั้น ความรู้สึกที่มาเข้าร่วมกับพื้นที่จะแตกต่างกันออกไป”

ส่วน อ.สรรเสริญ มิลินทสูต หนึ่งในศิลปินที่ร่วมแสดงในงานครั้งนั้นได้กล่าวเสริมว่า

“เรามีหอศิลป์ไม่กี่แห่งในสังคมไทย ตอนนั้นหอศิลป พีระศรี ถือเป็นหอศิลป์หลักของกรุงเทพฯ ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ตอนนี้หอศิลป พีระศรี ก็หายไป ในกรณีหอศิลป์กรุงเทพมหานครจะเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่าก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องคาดหวังกันไป ทำให้เราคิดว่า พื้นที่ที่มีอยู่แล้ว เอามาใช้ดีกว่าไหม ไม่ต้องไปคาดหวังไกลนัก มันอาจนำความผิดหวังมาให้เราก็ได้”

จะเข้าใจบทสัมภาษณ์ อ.สรรเสริญ ได้ต้องมองย้อนกลับไปทำความเข้าใจบริบทการต่อสู้ผลักดันให้เกิด BACC ในช่วงเวลานั้นประกอบด้วย กล่าวคือ โครงการก่อสร้าง BACC ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ดำเนินไปด้วยดีจนมาถึงปี พ.ศ.2544 ในช่วงที่คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม. แกได้ออกมาแสดงวิสัยทัศน์คัดค้านและอยากเปลี่ยนพื้นที่สีแยกปทุมวันให้เป็นอาคารพาณิชย์ มีอาคารจอดรถ และมีหอศิลป์อยู่ภายในเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

จนนำมาสู่การประท้วงต่อต้านของคนในวงการศิลปะและประชาชนเป็นจำนวนมาก กระแสรุนแรงและทำให้ ผู้ว่าฯ กทม.คนต่อมา ยืนยันว่าจะสร้างหอศิลป์เหมือนเดิม

 

ดังนั้น สำหรับผม (ซึ่งไม่ทันทั้ง หอศิลป พีระศรี และไม่เคยดูนิทรรศการในปี พ.ศ.2545 แต่อ่านข้อมูลจากสูจิบัตรงานย้อนหลังแทน)

นิทรรศการ Present Perfect ปี 2545 ในตัวอาคารหอศิลป พีระศรี ในด้านหนึ่งเป็นเสมือนการสร้างบทสนทนาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ระหว่างเรื่องเล่าและความทรงจำของความเป็นพื้นที่ศิลปะที่สำคัญของหอศิลป พีระศรี กับสถานการณ์ที่กำลังไม่แน่นอนว่าวงการศิลปะ ณ ขณะนั้น จะสามารถผลักดันให้เกิด BACC ได้หรือไม่ เป็นสภาวะระหว่างการโหยหาอดีตในสภาวการณ์ที่กำลังมองหาทางออกสู่อนาคตของวงการศิลปะไทย โดยมีหอศิลป พีระศรี เป็นพื้นที่ในการส่งผ่านสภาวะดังกล่าวออกมา

ภายหลังจากเปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ทิศทางการผลักดันให้เกิด BACC ก็หวนกลับมาเป็นแง่บวกอีกครั้ง จนสามารถก่อสร้าง BACC สำเร็จในที่สุด และจากจุดนี้เอง คงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แนวคิดในการหวนย้อนกลับไปใช้หอศิลป พีระศรี อีกครั้งดูจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในแวดวงศิลปะ หอศิลป พีระศรี ก็ไม่มีวันถูกลืมและยังคงถูกพูดถึงผ่านบทความและนิทรรศการศิลปะอยู่เป็นครั้งคราว

เช่น นิทรรศการ Suddenly Turning Visible : Art and Architecture in Southeast Asia (1969-1989) ณ National Gallery Singapore ในปลายปี พ.ศ.2562 และนิทรรศการ Footnotes on Institution ณ แกลเลอรี่เว่อร์ กลางปี พ.ศ.2562

 

และในปี พ.ศ.2566 หอศิลป พีระศรี ได้ถูกดึงกลับมาสู่ความสนใจในวงกว้างอีกครั้งผ่านนิทรรศการ “ศิลปะ-ไทย-เวลา” จัดขึ้น ณ BACC ระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม-20 สิงหาคม พ.ศ.2566

โดยเหตุผลของการจัดครั้งนี้เชื่อมโยงเข้ากับวาระครบรอบ 100 ปีที่ อ.ศิลป์ พีระศรี เดินทางมารับราชการในสยาม

ตัวนิทรรศการ จัดแสดงในรูปแบบผลงานศิลปะตลอดจนเอกสารจดหมายเหตุ (archive) หลากหลายประเภท ที่เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทย, อ.ศิลป์ พีระศรี และหอศิลป พีระศรี

ซึ่งถือได้ว่าเป็นนิทรรศการที่รวบรวมข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหอศิลป พีระศรี เอาไว้ได้มากที่สุด ณ ปัจจุบัน