อวสาน ‘ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง’ (2566-67)

คนมองหนัง

“ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” (2566-67) ละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องล่าสุดของค่ายสามเศียร ที่เผยแพร่ผ่านทางช่อง 7 (35 HD) ได้อวสานลงไปแล้ว หลังออกอากาศรวมทั้งหมด 47 ตอน ซึ่งถือว่าไม่มากเท่าไหร่ในมาตรฐานเดิมๆ ของสื่อบันเทิงประเภทนี้

ขณะเดียวกัน ความนิยมของละครก็อยู่ในขั้น “น่าห่วง” ทั้งเมื่อพิจารณาจากเรตติ้งจำนวนผู้ชมในระบบโทรทัศน์ซึ่งโดยเฉลี่ยขึ้นไม่ถึงหลัก 2.0 ส่วนยอดคนดูในยูทูบก็ทะยานไม่ถึงหลักล้านวิว

นี่ถือเป็นความซบเซาต่อเนื่องของ “ละครจักรๆ วงศ์ๆ ไทย” หลังยุคโควิด

ละครเปลี่ยนพระเอก!

ต้องยอมรับว่า “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” เวอร์ชั่นนี้ ดำเนินเรื่องราวไปอย่างสับสนพอสมควร และมี “ความจะเอายังไงกันแน่?” ปรากฏขึ้นอยู่เยอะแยะตามรายทาง

ทั้งๆ ที่ผู้เขียนบท คือ “ภาวิต” (รัมภา ภิรมย์ภักดี) ก็เป็นมือเก๋าคนเก่าแก่ของค่าย “ดาราวิดีโอ-ดีด้า-สามเศียร”

แต่เอาเข้าจริง ดูเหมือนทิศทางอันงงงวยของ “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” (2566-2567) จะเกิดขึ้นจากกระบวนการตัดสินใจของผู้ที่อยู่เหนือขึ้นไปกว่าคนเขียนบทละคร

รูปธรรมชัดเจนสุด คือ การเปลี่ยนตัวพระเอกของเรื่องกลางคัน! ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก (และเกิดขึ้นน้อยครั้ง) สำหรับวงการละครโทรทัศน์ ประหนึ่งการเปลี่ยนตัวคนแสดงเป็น “ฮุ้นปวยเอี๊ยง” โน่นเลย

ไม่ว่าการเปลี่ยนตัว “พระโอรสเพชรฤทธิ์” ใน “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” ฉบับล่าสุด จะเกิดขึ้นเพราะเหตุผลใด แต่การเปลี่ยนคนแสดง ก็ส่งผลต่ออารมณ์รวมๆ และทิศทางของละครอย่างสำคัญ

จากการมีพระเอกจักรๆ วงศ์ๆ มาดแบบ “วัยรุ่นเดินสยาม” ที่ดูเฮี้ยวๆ กวนๆ งอแง ผิดขนบ-บรรทัดฐานเก่าๆ ซึ่ง “บีบ” ให้ตัวละครสมทบอื่นๆ ต้องมีบุคลิกลักษณะที่แหวกแนวจากเดิมตามไปด้วย (เช่น “ไอ้แก้ว” มหาดเล็กคู่ใจของ “เพชรฤทธิ์”) มาสู่การพลิกกลับไปยังมู้ดแอนด์โทนแบบเรียบๆ เข้มๆ จริงจัง ตามบุคลิกพระเอกใหม่ในช่วงครึ่งหลัง

“ความจะเอายังไงกันแน่?” ยังปรากฏผ่านชะตากรรมของตัวละครสมทบทั้งฝ่ายพระเอก-นางเอก และฝ่ายตัวร้าย จำนวนมาก ที่ถูกฆ่าทิ้ง-ดูดหาย (“ท้าวพันตา” ตัวร้ายหลักในเรื่องนี้มีท่าไม้ตายคือการดูดวิญญาณคนอื่น) เป็นว่าเล่นแบบง่ายๆ

ราวกับว่าผู้สร้างทดลองใส่ตัวละครเหล่านี้เข้ามาก่อน แต่พอถ่ายไปออกอากาศไป แล้วพบว่าตัวละครหลายรายไม่มีความจำเป็น ก็เลยตัดทิ้งเสียอย่างห้วนๆ

เช่นเดียวกับตัวละครหมา “ดำทมิฬ” ที่ถูกตัดบทหายไปในตอนท้ายๆ อย่างน่าเสียดาย (เข้าใจว่าเมื่อต้องเร่งปิดกล้อง จึงมีการตัดทอนบทบาทของ “ตัวละครสุนัข” ที่กำกับการแสดงได้ยากออกไป)

มีอะไรที่ขาดหายไป?

หลังต้องรีรันละครเก่าซ้ำไปมาช่วงโควิด เมื่อวิกฤตโรคระบาดสิ้นสุดลง ค่ายสามเศียรก็กลับมาเปิดกล้องละครใหม่ โดยแต่ละเรื่องมีจุดเด่นแตกต่างกันออกไป

“ลูกผู้ชายชื่อไกรทอง” คือละครขายแอ๊กชั่นและการต่อสู้ระหว่างคนกับสัตว์ “โกมินทร์ผู้กล้า” คือละครที่ขายสีสันของตัวละครวัยเด็ก ขณะที่ “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” เป็นละครแอ๊กชั่นที่โชว์เทคนิคเรื่อง “อาวุธวิเศษ”

แต่ผลลัพธ์ของละครล็อตใหม่ทั้งหมดกลับ “ไม่เวิร์ก” มากนัก

อุปสรรคสำคัญประการหนึ่ง คือ ด้วยระบบจัดเรตอายุผู้ชมโทรทัศน์ในปัจจุบันก็ดี หรือมาตรฐานชุมชนของยูทูบ (ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์หลักของสามเศียร) ก็ดี ล้วนมีผลทำให้ละครจักรๆ วงศ์ๆ กลางทศวรรษ 2560 ไม่สามารถโชว์ฉากต่อสู้มัน(ส์)ๆ และฆ่าตัวละครแบบถึงเลือดถึงเนื้อ เหมือนปทัสถานที่ผ่อนคลายกว่าในทศวรรษ 2530-2540

ละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ควรจะขายฉากแอ๊กชั่นได้เยอะ จึงต้องถูกแทนที่ด้วยบทพ่อแง่แม่งอน ส่วนฉากต่อสู้กลับมีปริมาณน้อยลง ดุเดือดไม่เท่าเก่า ฆ่ากันไม่ค่อยตาย หรือไม่ก็ตายแบบหายตัวไปดื้อๆ

ภายใต้ข้อจำกัดเช่นนี้ ค่ายสามเศียรควรเล่นเกมอย่างไร? หรือมี “เคล็ดวิชาก้นหีบ” อะไรที่ทางค่ายยังไม่ได้หยิบมาใช้สอย?

ถ้าย้อนไปสำรวจตรวจสอบละครจักรๆ วงศ์ๆ ในช่วงทศวรรษหลัง โดยเฉพาะที่ออกอากาศก่อนวิกฤตโควิด (ซึ่งสื่อบันเทิงประเภทนี้เคยมีศักยภาพทำเรตติ้งได้เกินหลัก 10) จะพบว่าละครที่สร้างความนิยมได้อย่างล้นหลามนั้นมีอยู่แค่สองเรื่อง

เรื่องหนึ่งคือ “แก้วหน้าม้า” อีกเรื่องคือ “สังข์ทอง”

หากถามว่าจุดเด่นของละครสองเรื่องดังกล่าวคืออะไร? คำตอบที่ทุกคนตอบตรงกัน ก็คือ การขายอารมณ์ขัน หรือพูดให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้นได้ว่า การขายกระบวนท่า “หัวร่อล้อเลียนใส่ผู้มีอำนาจ”

ผ่านเหตุการณ์ที่ “แก้วหน้าม้า” และอาวุธคู่ใจอย่าง “พี่อีโต้” ป่วน “ท้าวภูวดล” และ “พระปิ่นทอง” หรือเหตุการณ์ที่ “เจ้าเงาะ” ยียวนกวน teen ใส่ “ท้าวสามนต์” และ “หกเขย”

นี่ต่างหากที่เป็น “เอกลักษณ์” อันขาดหายไปนานหลายปีในละครจักรๆ วงศ์ๆ ของค่ายสามเสียร และสมควรรื้อฟื้นขึ้นมาอีกหนได้แล้ว

จุดแข็งที่ยังคงอยู่

อย่างไรก็ดี มีธีมสำคัญสองข้อที่ “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” ฉบับนี้ สามารถประคองรักษาเอาไว้ตั้งแต่ต้นจบจบอย่างน่าชื่นชม

ธีมแรก คือ อำนาจสูงสุดในจักรวาลของ “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” นั้น มิได้ก่อเกิดจาก “อาวุธวิเศษ” สองชนิด เพราะคนที่ถือครองอาวุธคู่นี้ใช่ว่าจะมีอำนาจสัมบูรณ์ไร้ผู้ต่อต้านเสมอไป มิหนำซ้ำ อาวุธวิเศษยังอาจถูกทำลายหรือแย่งชิงไปอยู่ในมือของฝ่ายอธรรมได้

แท้จริงแล้ว “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” เป็นเพียงสัญลักษณ์ของคุณค่าเชิงนามธรรมบางประการ เช่น คุณธรรม-ความสามารถของผู้ปกครอง หรือความรักระหว่างมนุษย์ เป็นต้น

โดยผู้ยึดมั่นในหลักการนามธรรมเหล่านั้นต่างหากที่จะเป็นผู้ชนะ ณ เบื้องท้าย

นี่คือแนวคิดที่ “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” (2566-2567) สามารถรักษาเอาไว้ได้อย่างมั่นคง

ธีมต่อมา ซึ่งดูจะเป็น “สารใหม่” ที่ละครเวอร์ชั่นล่าสุดพยายามขับเน้น ก็ได้แก่แนวคิดเรื่องการเปิดโอกาสให้ “คนรุ่นใหม่” ปกครองบ้านเมือง บนเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป เช่น คนรุ่นพ่อแม่ล้มหายตายจาก คนรุ่นก่อนไร้สามารถ หรือคนรุ่นเก่ายอมหลีกทางให้คนรุ่นหลัง

“คนรุ่นเก่า” ใน “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” (2566-2567) จึงมีวันตาย ยิ่ง “คนรุ่นเก่าที่กระทำผิด” ก็ยิ่งต้องถูกสูบลงนรก ผิดกับ “คนรุ่นใหม่” ที่ต้องแบกรับภาระในการสืบทอดอนาคตของบ้านเมืองต่อไป

ต่อให้พวกเขาจะถูกสังหารก่อนเวลาอันควร แต่สุดท้าย ก็ยังสามารถฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ในเรือนร่างรูปลักษณ์ใหม่ •

 

 | คนมองหนัง