เปิด 5 จุดอ่อน การเลือก ส.ว.

สมชัย ศรีสุทธิยากร

กติกาการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ออกแบบมาเสียดิบดี มีการแบ่งเป็น 20 กลุ่มอาชีพ เลือก 3 ระดับ ตั้งแต่ อำเภอ จังหวัดและประเทศ

โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุด อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ มุ่งหวังจะได้สมาชิกวุฒิสภาที่มีความรู้ความสามารถและมีพื้นฐานของการประกอบอาชีพที่หลากหลาย เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย การเลือกองค์กรอิสระ และการให้คำปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดินแก่รัฐบาลนั้น

กลับมีจุดอ่อนอยู่หลายประการที่ถึงวันนี้บางอย่างอาจยังพอทันแก้ไข

ตัวรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 นั้นเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

แต่ในส่วนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ที่ลงในรายละเอียดของวิธีปฏิบัตินั้น หากคณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากบุคคลภายนอก

การยอมปรับปรุงแก้ไขก็อาจนำไปสู่สิ่งที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น และผู้ได้ประโยชน์คือประชาชนคนไทยที่จะได้สมาชิกวุฒิสภาที่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

 

1.แนะนำตัว 5 บรรทัด เวลาอ่าน 3 วัน

การออกแบบเอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัครตามแบบฟอร์ม ส.ว. 3 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในท้ายระเบียบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ประกอบด้วยข้อมูลคือ ภาพถ่าย ชื่อ ชื่อสกุล อายุ เพศ อาชีพ ประวัติการศึกษา 3 บรรทัด ประวัติการทำงานหรือประสบการณ์การทำงานในกลุ่มที่สมัคร ไม่เกิน 5 บรรทัด

และจากระเบียบข้อ 58 ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งระดับอำเภอ มอบเอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัครในแต่ละกลุ่มให้กับผู้สมัครในกลุ่มนั้นๆ ก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่า 3 วัน

แปลความหมายว่า การตัดสินใจเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพระดับอำเภอ ผู้ตัดสินใจมีข้อมูลเกี่ยวกับผูสมัครอื่นในเรื่องประสบการณ์ ความสามารถ หรือคุณความดีต่างๆ เพียงแค่ 5 บรรทัด และมีเวลาอ่านเพียง 3 วันก่อนวันเลือกเท่านั้น

ดังนั้น หากกำหนดกติกามาแบบนี้อย่าหวังว่า ผู้สมัครที่อยู่ในกลุ่มอาชีพเดียวกันคงต้องรู้จักกันดีและคงมีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจในการเลือก ยกเว้นว่าเขาจะจัดตั้งกันมาก่อนแล้ว

 

2.การรับรองกลุ่มอาชีพแค่ใช้บุคคลหนึ่งคนเป็นคนรับรอง

ตามแบบฟอร์ม ส.ว. 4 หรือแบบฟอร์มหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร เป็นการให้บุคคล 1 ราย และพยานอีก 1 คน เป็นผู้รับรองโดยการลงนามเท่านั้น โดยกาในช่องสี่เหลี่ยมเพื่อรับรองว่า ผู้สมัคร มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงาน หรือเคยทำงานในกลุ่มที่สมัคร เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ตั้งแต่เมื่อไรถึงเมื่อไร ยกเว้นผู้สมัครในกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ คนทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ไม่ต้องใช้แบบฟอร์มนี้

แม้จะมีบทลงโทษตาม มาตรา 75 ของ พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ที่ระบุว่าผู้ใดรับรองหรือเป็นพยานเป็นเท็จ จะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีก็ตาม แต่การพิสูจน์ว่าการรับรองเป็นเท็จยังต้องไปดำเนินการในขั้นศาลซึ่งไม่ง่ายนัก

การรับรองว่าใครประกอบอาชีพอะไรเพื่อไปสมัครในกลุ่มอาชีพนั้นๆ จึงดูง่ายเกินไป ทั้งๆ ที่น่าจะใช้หลักฐานอื่นๆ ประกอบ เช่น หนังสือรับรองจากหน่วยราชการ บริษัทเอกชน สมาคมวิชาชีพ หรือแสดงหลักฐานการเสียภาษี หรือหากเป็นชาวนา ชาวสวน ก็ควรมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้รับรอง

การรับรองโดยบุคคลคนเดียว จึงไม่มีหลักประกันว่า ผู้สมัครจะเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพดังกล่าวจริง

 

3.ข้อมูลการสมัครอาจถูกเปิดเผยโดยคนนอก

ระเบียบ การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ข้อ 55 ระบุว่า ในระหว่างเวลาการรับสมัครจนสิ้นสุดระยะเวลาการรับสมัคร ห้ามมิให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อและจำนวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่ม

เจตนาของการมีข้อกำหนดดังกล่าว คือ ไม่ต้องการให้เกิดการใช้ข้อมูลชื่อ และจำนวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพในระดับอำเภอ ไปใช้เพื่อการคาดการณ์สถานการณ์ความรุนแรงในการแข่งขันประกอบการตัดสินใจสมัครรับเลือก โดยหากรู้ถึงชื่อและจำนวนบุคคล อาจเป็นเหตุให้หลบหลีกไปสมัครในอำเภออื่น หรือกลุ่มอาชีพอื่น โดยเฉพาะยิ่งการมีหลักเกณฑ์ว่า ในอำเภอใดมีผู้สมัครน้อยกว่า 5 คน ไม่ต้องมีการคัดเลือกกันเองในขั้นที่ 1 ข้อมูลเรื่องชื่อและจำนวนผู้สมัคร ยิ่งต้องพึงปกปิด

อย่างไรก็ตาม ระเบียบไม่มีการกล่าวถึงบุคคลภายนอก หรือแม้กระทั่งผู้สมัครเองที่อาจเปิดเผยต่อสาธารณะว่าได้ไปลงสมัครรับเลือกในกลุ่มอาชีพใด ในเขตอำเภอใด หรือไม่มีการห้ามสื่อมวลชนในการรายงานความคืบหน้าในการสมัครของแต่ละวัน ซึ่งหากในพื้นที่ใดที่มีผู้สมัครที่มีชื่อเสียงไปลง ก็อาจอยู่ในกระแสข่าวที่สื่อมวลชนให้ความสนใจได้

 

4.กระบวนการเลือก ไม่เปิดโอกาสให้มีการสังเกตการณ์จากประชาชน

ระเบียบ การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ข้อ 94 กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดว่า ในระหว่างเวลาเปิดลงคะแนน จะให้ผู้ใดเข้าไปในสถานที่เลือกไม่ได้ โดยให้มีเพียงเจ้าที่และผู้สมัครรับเลือกเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มีการเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ แต่ประสบการณ์การจัดการเลือกตั้งในอดีตนับแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้และมีคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันเข้าปฏิบัติหน้าที่ มิติการมีส่วนร่วมของประชาชนหายไปจากระบบการเลือกตั้งโดยสิ้นเชิง จึงยากจะเห็นการอนุญาตดังกล่าวได้

สิ่งที่ต้องเรียกร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งคือ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าไปสังเกตการณ์การลงคะแนนและการนับคะแนนได้โดยอาจจำกัดพื้นที่ ระยะห่าง ที่ไม่เป็นการรบกวนกระบวนการจัดการ เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ในสายตาประชาชน เป็นการเลือกที่โปร่งใส สุจริต และเป็นธรรม

 

5.ระเบียบเกี่ยวกับแนะนำตัวของผู้สมัครยังไม่ออก

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ค่อนข้างล่าช้าในการออกระเบียบแนะนำตัวของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา จนถึงปัจจุบันก็ยังอยู่ในขั้นการยกร่างโดยสำนักงานเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง

อะไรที่ผู้สมัครทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ในการแนะนำตัวของผู้สมัครและกองเชียร์ทั้งหลาย ยังไม่มีกติกาที่ออกมาอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีเวลาเตรียมการมากกว่า 5 ปี นับแต่มี พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2561 แต่วันนี้จะเลือกสมาชิกวุฒิสภาในอีก 2 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในขั้นยกร่าง

ผู้สมัครสามารถออกสื่อได้หรือไม่ สามารถใช้สื่อออนไลน์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ หรือสื่อออนไลน์อื่นๆ เพื่อการแนะนำตนเองได้หรือไม่ ผู้ที่ไม่ใช่ผู้สมัครแต่เป็นกองเชียร์ทั้งจัดตั้งทั้งธรรมชาติ สามารถช่วยในการสร้างคะแนนนิยมให้แก่ผู้สมัครบางรายได้หรือไม่

ไม่นับถึงข้อห้ามต่างๆ เช่น ห้ามให้สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่สามารถคำนวณเป็นเงินแก่ผู้ใด ห้ามใช้มหรสพการรื่นเริงเพื่อการแนะนำตัว ห้ามเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด ห้ามหลอกลวง บังคับขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้ผู้อื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติของผู้สมัคร ซึ่งแทนที่จะอยู่ในบทหลักของ พ.ร.ป. เช่นที่เขียนในหมวดวิธีการหาเสียงของ พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่กลับมาแทรกอยู่ในหมวดบทลงโทษ

ยิ่งคำว่า “ผู้ใด” ยิ่งแปลว่า ผู้สมัครจะให้ สัญญาว่าจะให้ เลี้ยง จัดเลี้ยง “ใครๆ” โดยไม่จำกัดว่าคนนั้นจะเป็นผู้สมัครด้วยกันหรือเป็นบุคคลทั่วไปที่ไม่มีสิทธิเลือกก็ตามเลยไม่ได้ หากเข้าช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาแล้ว

นัดคุยกัน จะเลี้ยงกาแฟแม้แต่แก้วเดียว หากตีความเคร่งครัดก็ทำไม่ได้

ปัญหาและจุดอ่อนที่นำเสนอนี้เป็นเพียงบางส่วนของการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีผู้วิจารณ์ว่า ยุ่งยาก ซับซ้อนมากที่สุดในโลก

หากรู้แล้ว แก้อะไรได้ ก็สมควรแก้ครับ