นับถอยหลังเบิกจ่ายงบฯ ปี ’67 เดิมพัน ศก.ไทย เดิมพันฝีมือรัฐบาล!!

โค้งสุดท้ายของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 โดยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาวาระร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระสอง และวาระสาม ได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 จำนวน 298 เสียง ไม่เห็นด้วย 166 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง จาก 466 เสียง ซึ่งเห็นชอบเป็นเสียงข้างมาก สรุปได้ว่าผ่านสภาแล้ว และจากนี้จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในวันที่ 26 มีนาคม 2567

ซึ่งการประชุมพิจารณาวาระการพิจารณางบประมาณปี 2567 ยังคงความดุเดือดอยู่ จากการที่สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายค้านเสนอให้ตัดงบประมาณบางหน่วยงาน ไฮไลต์การตัด หั่นงบฯ หนีไม่พ้นงบฯ ตำรวจและทหาร อย่างไรก็ดี การตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ฝ่ายค้านน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาลอยู่มาก รัฐบาลจึงมีแต้มต่อให้คุมเกมในครั้งนี้

เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2567 ผ่านวุฒิสภาแล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 3 เมษายน เพื่อประกาศใช้ตามขั้นตอนต่อไป

ถือว่าร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2567 ได้เดินทางมาถึงจุดที่หลายคนรอคอยให้มีงบประมาณออกมาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจเสียที

 

หากติดตามข้อมูลเศรษฐกิจจะพบว่า งบประมาณที่ล่าช้านั้นมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจพอสมควร

โดยข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.9% ต่อปีเท่านั้น ต่ำกว่าที่สภาพัฒน์และอีกหลายสำนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ราว 2.5-3%

แม้ว่าจะมีการใช้งบประมาณของปี 2566 ไปพลางก่อนในระหว่างที่ยังไม่มีงบประมาณ 2567 ก็ตาม แต่สิ่งที่หายไปคือ งบฯ ลงทุนภาครัฐ โดยการลงทุนภาครัฐในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ลดลง 20.1% จากการลดลง 3.4% ในไตรมาสที่ 3/2566 กระทบต่อหมวดการก่อสร้างโดยตรง เพราะทำให้ไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐเลย ในระหว่างที่รองบประมาณ อย่างบริษัทใหญ่หลายบริษัทมีกระแสข่าวเรื่องของการขาดสภาพคล่อง

อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน คือกรมบัญชีกลาง สังกัดกระทรวงการคลัง ไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกมาตรการช่วยเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่มีเวลาให้ใช้เพียง 6 เดือนเท่านั้น

ได้แก่ การให้หน่วยงานของรัฐ เตรียมการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนที่เป็นเรื่องภายในของหน่วยงานของรัฐไว้ก่อน การลดขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ลดปัญหาการอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่เป็นงบฯ เหลื่อมปี ของปีงบประมาณ 2566 ที่ได้ทำสัญญาผูกพันกับภาคเอกชนที่รับจ้างแล้ว ไปถึงเดือนกันยายน 2567

และหลังจากที่งบประมาณออกแล้ว จะเร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วัน รายการลงทุนปีเดียวให้ก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2567 และรายการใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2567 พร้อมทั้งเร่งรัฐวิสาหกิจลงนามในสัญญาการลงทุน ภายในเดือนมีนาคม 2567

รวมทั้งปรับแผนการเบิกจ่าย โดยเพิ่มการเบิกจ่ายในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 และหลีกเลี่ยงการกระจุกตัวของการเบิกจ่ายงบฯ ลงทุนในไตรมาสสุดท้าย

 

สําหรับเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้กำหนดเป้าหมายในภาพรวม 93% แบ่งเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำ 98% การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน 75% และเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายภาพรวม รายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน 100%

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดย ‘ลวรณ แสงสนิท’ ปลัดกระทรวงการคลัง คาดงบประมาณที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาวาระร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระสองและวาระสามแล้วเรียบร้อยนั้น จะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาคึกคักได้

“ในเดือนเมษายนนี้ งบประมาณปี 2567 ที่ออกมาแล้ว คงทำให้เศรษฐกิจมีความคึกคักขึ้น มีเงินใหม่จากงบประมาณรายจ่ายเข้าสู่ระบบ ซึ่งกระทรวงการคลังไม่ได้อยู่เฉยๆ อะไรทำได้ก่อนก็ทำ โดยเรื่องเร่งเบิกงบประมาณนั้น กรมบัญชีกลางก็ทำไปเยอะแล้ว ออกมาตรการต่างๆ เตรียมการไว้ เมื่องบประมาณอนุมัติก็จะเบิกจ่ายได้เลย โดยหน่วยงานรัฐเองก็เร่งทำเช่นกัน ถ้าหากไม่รีบกระบวนการให้เสร็จในปีงบฯ 2567 โครงการนั้นๆ ก็มีสิทธิที่จะถูกพับไปได้ ซึ่งกว่าจะขออนุมัติได้ก็ยาก ดังนั้น มีงบฯ อนุมัติอยู่แล้วก็ต้องใช้”

ปลัดกระทรวงการคลังระบุ

 

ด้าน ‘ธนวรรธน์ พลวิชัย’ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ชี้แนะแนวทางการเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ประกอบด้วย 7 ทางออก คือ

1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายประจำ

2. การเร่งรัดเบิกจ่ายงบรายจ่ายลงทุน

3. การออกมาตรการคลัง เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต

4. การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ มาตรการวีซ่าฟรี

5. การกระตุ้นเพิ่มรายจ่ายของนักท่องเที่ยว

6.เพิ่มรายได้จากการส่งออกสินค้า

และ 7.การปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย

ซึ่งนโยบายที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การเร่งรัดการเบิกจ่ายประจำ และการเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯ รายจ่ายลงทุน ถ้ารัฐบาลเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างให้เรียบร้อยรองบประมาณออก

 

โดยปัจจัยที่สำคัญ และมีผลมากที่สุด ที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมองไว้คือ การเร่งงบประมาณแผ่นดินปี 2567 ลงสู่ระบบเร็ว โดยเฉพาะงบฯ การลงทุนที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้คำนวณแล้วว่า ทุกๆ 1 แสนล้านบาทจากการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น 0.52% ต่อปี และทุกๆ 1 แสนล้านบาทของงบฯ ลงทุนภาครัฐ จะเพิ่มจีดีพีได้ 0.68% ต่อปี

“เม็ดเงินที่หายไปจากระบบ 3-4 หมื่นล้านบาทต่อเดือนนั้น มาจากเรื่องของงบฯ ลงทุนที่หายไป เพราะร่างกฎหมายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ดังนั้น ถ้ารัฐบาลสามารถกระตุ้นให้เม็ดเงินลงได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะถ้าล่าช้าออกไปก็จะมีผลให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ต่ำลง คือถ้าเริ่มออกเม็ดเงินลงทุนเดือนมิถุนายน จะกระตุ้นจีดีพีได้เพียง 0.4% เท่านั้น เพราะฉะนั้น งบประมาณผ่านดินจึงเป็นพลังสำคัญ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุ

ทั้งนี้ ประสิทธิผลของมาตรการภาครัฐต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) สำหรับการเร่งเบิกจ่ายงบฯ รายจ่ายประจำจะลงลงหากดำเนินการช้า โดยหากเริ่มในเดือนเมษายน 2567 ทุกๆ 1 แสนล้านบาทจากการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ จะมีผลต่อจีดีพีลดลงเหลือ 0.39% หากเริ่มเดือนพฤษภาคม 2567 จะมีผลต่อจีดีพีลดลงเหลือ 0.35% และหากเริ่มเดือนมิถุนายน 2567 จะมีผลต่อจีดีพีลดลงเหลือ 0.30%

ส่วนการเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯ รายจ่ายลงทุนหากเริ่มในเดือนเมษายน 2567 จะเพิ่มจีดีพีได้น้อยลง เพียง 0.51% ต่อปี เริ่มในเดือนพฤษภาคม 2567 จะเพิ่มจีดีพีได้น้อยลงที่ 0.45% ต่อปี และถ้าเริ่มในเดือนมิถุนายน 2567 จะเพิ่มจีดีพีได้เพียง 0.40% ต่อปีเท่านั้น

การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ จึงเดิมพันเศรษฐกิจไทยให้โตตามเป้าได้ 3% และยังเดิมพันฝีมือรัฐบาลชุดนี้ด้วย!!