ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
“เรายังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรชาวไทยของเราในข้อตกลงหลายฉบับที่เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคนิค และนวัตกรรม”
นายเยฟกินี โทมิคิน (H.E. Mr. Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยเล่าถึงความก้าวหน้าในความร่วมมือระหว่างรัสเซียและไทยในด้านการวิจัยและการศึกษา
“มีตัวอย่างของความร่วมมือทวิภาคีเชิงบวกที่โดดเด่นในด้านนี้ เช่น ห้องปฏิบัติการวิจัยร่วมระหว่าง มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโกด้านการสำรวจที่ดินและการทำแผนที่ (Moscow State University of Land Surveying and Cargraphy) กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St.Petersburg State University) กับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมทั้งโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างกันกับ Russian Presidential Academy of National Academy and Public Administration (RANEPA) ของรัสเซีย”
“เราได้เห็นจำนวนผู้สมัครคนไทยที่มีความประสงค์ไปศึกษาต่อที่รัสเซียภายใต้โครงการทุนรัฐบาลกลับขึ้นสู่สถิติประมาณ 60-70 คน ซึ่งเราจะเปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาศักยภาพทางด้านนี้ต่อไป”
ประเทศไทยเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะที่ภูเก็ต ซึ่งรัสเซียยังคงครองอันดับ 1 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไปเยือนภูเก็ตมากที่สุดในปีนี้ แต่เงินอาจไม่เข้าไทยทั้งหมด โดยมีประเด็นที่ชาวรัสเซียจำนวนมากเข้ามาประกอบธุรกิจ ทั้งยังซื้อที่อยู่อาศัย จนคนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะมักจะดำเนินกิจการผ่านแอพพลิเคชั่นภาษารัสเซีย รายได้จึงไม่สามารถเข้าถึงคนในท้องถิ่น และอื่นๆ
“ผมเห็นด้วยว่าภูเก็ตเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้ที่ต้องการพักผ่อน หรือพักอาศัยอยู่ที่นั่นโดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น การพักผ่อน การทำธุรกิจ หรือการเลี้ยงลูก”
“แต่ผมไม่สงสัยเลยว่าปัญหานี้เป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นโดยผู้ที่ต้องการทำลายชื่อเสียงของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียและประเทศของเราโดยรวม”
“แน่นอนว่าบางครั้งมันก็ง่ายกว่าสำหรับเพื่อนร่วมชาติของผมที่จะใช้แอพพลิเคชั่นภาษารัสเซีย เพียงเพราะทักษะภาษาอังกฤษของพวกเขาไม่ดีนัก แต่เชื่อผมเถอะ สิ่งนี้ไม่ได้ส่งผลต่อรายได้ของคนในท้องถิ่นอย่างจริงจัง พลเมืองรัสเซียส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเกาะภูเก็ตใช้แอพพ์เดียวกันกับชาวต่างชาติคนอื่นๆ โดยชาวรัสเซียนำผลกำไรที่ดีทั้งเงินและงานมาสู่ภูเก็ต”
หนังสือพิมพ์รัสเซียในภูเก็ต
“เท่าที่ทราบไม่มีหนังสือพิมพ์รัสเซียในภูเก็ต แต่มีช่องทางสื่อออนไลน์และเทเลแกรมมากมายซึ่งรวบรวมคนที่พูดภาษารัสเซียที่อยู่ในภูเก็ต”
อาหารไทยในรัสเซีย
“ไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะบอกว่าอาหารไทยเป็นที่นิยมมากในรัสเซีย ซึ่งจะพบร้านอาหารไทยหลายแห่งไม่เพียงแต่ในเมืองใหญ่ๆ เช่น มอสโก, เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, คาซาน, โนโวซีบีสค์, วลาดิวอสต็อก แต่ยังมีในเมืองอื่นๆ อีกด้วย”
“ตามความเข้าใจของผม อาหารไทยเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของอำนาจละมุน (Soft Power) ของประเทศไทย หรือพลังแห่งรสชาติ (Tasty Power) ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังส่งเสริมอย่างแข็งขันอยู่ในขณะนี้ ผมดีใจมากที่ได้เห็นอาหารไทยได้รับความนิยมอย่างสูงในรัสเซีย”
“ถึงแม้ว่าอาหารรัสเซียและไทยจะมีความคล้ายคลึงกันไม่มากนัก แต่โดยส่วนตัวแล้วผมชอบอาหารไทยมาก นอกจากปรากฏการณ์ระดับโลกอย่างต้มยำและผัดไทยแล้ว ผมยังชอบต้มข่าไก่ ปูผัดผงกะหรี่ ไก่ห่อใบเตย ตลอดจนอาหารจากภาคเหนือของประเทศไทย เช่น น้ำพริกหนุ่มกับแคบหมู และลาบดิบ และแน่นอนว่าผมชอบผลไม้ไทยเป็นอย่างมาก เช่น มะม่วง แก้วมังกร ลำไย มังคุด”
ว่าด้วยเรื่อง วันนักการทูต (Diplomat’s Day) ของรัสเซีย
“วันของผู้ทำงานทางการทูตถูกกำหนดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2002 โดยประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันหยุด เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของกระทรวงต่างประเทศ หรือหน่วยงานการต่างประเทศแห่งแรกของรัสเซีย (Posolsky Prikaz) และวันดังกล่าวนี้ในปี 1549 อีวาน วิสโควาตี (Ivan Viskovaty) เป็นคนแรกที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการของเอกอัครราชทูต”
“จุดยืนทางการทูตที่ช่วย สร้างเสริมความแข็งแกร่งของรัสเซียในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับผลของการทำงานอย่างสร้างสรรค์ภายในองค์กรของเรา การวิเคราะห์ตามความเป็นจริง และนโยบายต่างประเทศที่ได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ ได้แก่ ปรัชญาปฏิบัตินิยม และการรักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างต่อเนื่อง”
“รัสเซียถือว่ามีความรับผิดชอบอย่างมากต่อสถานการณ์โลก โดยมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันไม่เพียงแต่ดำเนินการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างวาระระดับโลกด้วย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในพื้นที่ใหม่ก็ได้ถูกรวมไว้ในขอบเขตของกิจกรรมทางการทูต”
“ประเพณีปฏิบัติของนักการทูตรัสเซียคือ ความรัก ความสำนึก ความภาคภูมิใจ ในความเป็นชาติของตน มีความเป็นมืออาชีพระดับสูง มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติ และมีความสามารถในการเชื่อมโยงกิจกรรมทางการทูตกับความเป็นไปได้และทรัพยากรของประเทศอย่างแท้จริง จารีตประเพณีเหล่านี้คงความสำคัญตลอดไปโดยเป็นรากฐานของการให้บริการทางการทูตของรัสเซียในปัจจุบัน”
สุดท้าย เอกอัครราชทูตโทมิคิน มีข้อความถึงผู้ที่เป็นนักการทูตทั้งหลายว่า
“ธรรมชาติของนักการทูตจำเป็นต้องมีทัศนคติแบบมืออาชีพ มีแนวทางที่เป็นเหตุผล ปราศจากอิทธิพลทางอารมณ์ ความรู้สึก และยินดีที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาต่อรอง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม เป็นความมุ่งมั่นของผมที่จะเดินตามเส้นทางนี้ด้วยตัวเอง และพร้อมสำหรับการติดต่อกับทุกฝ่าย โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างใดๆ ในมุมมองทางการเมือง ซึ่งก็หวังว่าคนอื่นจะทำเช่นนั้นด้วย” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022