ศิลปะแห่งสีสันลวดลายบนสิ่งทอและผืนผ้าของเหล่าบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ศิลปะแห่งสีสันลวดลาย บนสิ่งทอและผืนผ้า

ของเหล่าบรรดากลุ่มชาติพันธุ์

ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

 

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของศิลปินระดับโลกอีกคนที่มาร่วมแสดงงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายกันอีกคน ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า ไมเคิล ลิน (Michael Lin)

ศิลปินชาวไต้หวัน ผู้อาศัยและทำงานในบรัสเซลส์ เบลเยียม เขาเกิดในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และเติบโตในไต้หวันและสหรัฐอเมริกา

ลินได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินร่วมสมัยแถวหน้าของไต้หวัน เขาเป็นศิลปินที่ทำงานภายใต้แนวคิดของ สุนทรียศาสตร์เชิงสัมพันธ์ (Relational Aesthetics) ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและผู้ชมงานศิลปะและปัจจัยต่างๆ ที่อยู่รายรอบ เช่น เวลา สถานการณ์ สถานที่ และประสบการณ์

แนวคิดนี้เป็นการขยายขอบเขตการสร้างสรรค์และการชมงานศิลปะจากรูปแบบเดิมๆ รวมถึงเปิดโอกาสและกระตุ้นเร้าให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับผลงานศิลปะ เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างศิลปะกับผู้ชม และเปลี่ยนสถานะผู้ชมให้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะขาดเสียไม่ได้ในผลงานศิลปะโดยไม่รู้ตัว

แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ให้ความสำคัญในการทำงานเกี่ยวกับการสำรวจภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของภูมิภาคและภาษาท้องถิ่นด้วย

องค์ประกอบที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในผลงานของเขาคือรูปลักษณ์ซ้ำๆ ของลวดลายดอกไม้ ที่ได้แรงบันดาลใจจากงานเย็บปักถักร้อยพื้นเมืองของไต้หวันในช่วงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเป็นความทรงจำร่วมทางสังคมและอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับบรรยากาศทางสังคมและการเมืองของประเทศที่เขาสัมผัสได้เมื่อครั้งที่เขากลับมายังไต้หวัน หลังจากที่ใช้เวลาในต่างแดนหลายปี

ลวดลายซ้ำๆ ของดอกไม้อันเรียบง่ายเหล่านี้ เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงสถานการณ์ทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมของไต้หวันได้อย่างทรงพลัง

ผลงานของเขายังมักมีความเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรม เพราะเขามองว่างานศิลปะของเขาไม่ใช่แค่อะไรที่อยู่บนผืนผ้าใบเรียบๆ แบนๆ เท่านั้น หากแต่เป็นพื้นที่ที่ผู้ชมสามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ ตอบโต้ หรือแม้แต่เข้าไปอยู่ภายในได้

แนวทางศิลปะอันแปลก แตกต่างจากขนบทางศิลปะในช่วงเวลานั้น ปรากฏอย่างชัดเจนในผลงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ของเขาที่จัดแสดงในทั่วโลก

ไมเคิล ลิน เคยร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 49 ในปี 2001 และอีกหลายมหกรรมศิลปะนานาชาติ และนิทรรศการแสดงเดี่ยวและกลุ่มทั่วโลก

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ ไมเคิล ลิน นำเสนอผลงาน Weekend (2023) ผลงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ 37.79 x 9.30 เมตร ที่ติดตั้งบนฟาซาด (Fa?ade) หรือพื้นที่ส่วนหน้าของอาคารศาลากลางจัดหวัดเชียงรายหลังเก่า โดยหยิบเอาลวดลายและสีสันบนสิ่งทอและผืนผ้าของชาวเขาในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ

โดยลวดลายของผืนผ้าอันเป็นงานฝีมือท้องถิ่นที่ว่านี้ เปรียบเสมือนการรำลึกถึงเหล่าบรรดาแรงงานชุมชน และเสียงอันหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคมที่ถูกอำนาจรัฐส่วนกลางกดทับ เหมารวม และไม่ยอมรับในความเป็นพลเมือง

ผลงานชิ้นนี้ของลินแสดงถึงการต่อรองและตั้งคำถามกับบทบาทของศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับผู้คน ชุมชน และชาติพันธุ์อันเต็มไปด้วยความหลากหลายและสลับซับซ้อนของภูมิภาคนี้

โดย ไมเคิล ลิน กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานชิ้นนี้ของเขาว่า

“ผลงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจจากการเย็บต่อผ้า ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวเขา โดยส่วนมากถูกทำเพื่อใช้ในพิธีกรรมที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนอย่างพิธีแต่งงาน หรือกิจกรรมที่ทำเป็นหมู่คณะ”

“การเย็บต่อผ้าที่ว่านี้เหมือนเป็นการเก็บรักษาความทรงจำของกลุ่มชาติพันธุ์บางอย่าง โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นคนทำงานฝีมือเหล่านี้ขึ้นมา”

“โดยปกติเวลาผมทำงานจากลวดลายของการพิมพ์ แต่ในงานชิ้นนี้เป็นลวดลายจากงานเย็บปักถักทอผืนผ้า ลวดลายเหล่านี้เป็นลวดลายของสิ่งทอและผืนผ้าของชาวเขาแต่ละเผ่า ซึ่งก็จะมีลวดลายอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป”

“ลวดลายเหล่านี้มีที่มาจากชาวเขา 7 เผ่าหลัก ในเชียงรายและบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ นำมาทำให้ดูคล้ายกับเป็นผืนผ้าจากแต่ละเผ่าที่ถูกเย็บต่อเข้าด้วยกัน โดยคุณกฤติยา กาวีวงศ์ (ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai) ส่งหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวเขามาให้ผมหลายเล่ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้ผมทำงาน แล้วผมก็เลือกหนังสือมาหนึ่งเล่ม ที่เกี่ยวกับเรื่องของเครื่องดนตรีและสิ่งทอของชนเผ่าต่างๆ”

“ผมคิดว่าสิ่งสำคัญสำหรับผลงานชิ้นนี้ก็คือ มันไม่ได้เป็นแค่ลวดลายหรือพื้นผิวอันราบเรียบของงานจิตรกรรม หากแต่เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับงานสถาปัตยกรรม ซึ่งผลงานของผมส่วนใหญ่เป็นการทำงานกับพื้นที่และความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง”

“ผลงานชุดนี้จึงเป็นเหมือนผืนผ้าที่หอหุ่มอาคารหลังนี้เอาไว้นั่นเอง”

“ด้วยความที่ผลงานจัดแสดงบนอาคารที่เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ผลงานชิ้นนี้จึงถูกทำขึ้นด้วยการสร้างโครงสร้างของตัวงานศิลปะจัดวางล้อมรอบตัวอาคาร โดยไม่ได้มีส่วนใดสัมผัส หรือสร้างความเสียหายให้แก่ตัวอาคารเลยแม้แต่น้อย”

ลวดลายเหล่านี้ยังเป็นสัญลักษญ์ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการต่อรองระหว่างอำนาจการปกครองของกษัตริย์ (ที่อยู่ในรูปของอนุสาวรีย์ที่ประดิษฐานทางด้านหน้าอาคารแห่งนี้) กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

หรือแม้แต่ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย ในช่วงเวลาของการปฏิรูปประเทศให้กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ ซึ่งอาคารศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่าแห่งนี้เอง ที่เป็นตัวแทนของการรวมศูนย์อำนาจการเมืองการปกครองไว้ที่ส่วนกลาง ตามนโยบายทางการเมืองที่ว่านี้

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ การเลือกแสดงงานบนพื้นที่ของ (อดีต) อาคารศาลากลางจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายการรวมศูนย์อำนาจการเมืองการปกครองไว้ที่ส่วนกลาง และมุ่งเน้นในการสร้างความเป็นเอกภาพของชาติ อันมีส่วนทำให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา และความแตกต่างของอัตลักษณ์ทางชนชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ค่อยๆ ถูกลบเลือนหายไป จึงเป็นการตัดสินใจอย่างมีนัยยะสำคัญเป็นอันมาก

ทำให้ผลงานชิ้นนี้เป็นอะไรมากกว่าแค่ฉากหลังลวดลายสวยๆ ขนาดใหญ่ ให้นักท่องเที่ยวและผู้ชมมาถ่ายภาพเซลฟีไปลงโซเชียลมีเดียไปวันๆ เป็นแน่แท้ ว่าไหมครับท่านผู้อ่าน!

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงาน Weekend (2023) ของ ไมเคิล ลิน ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ณ พื้นที่แสดงงาน ศาลากลางจัดหวัดเชียงรายหลังเก่า ถนนสิงหไคล ตำบลเวียง จังหวัดเชียงราย เข้าชม (ฟรี) ทุกวัน ทุกเวลา

ขอบคุณภาพจาก GroundControl, ณัฐกมล ใจสาร

แถมท้าย ถ้าใครเดินทางไปดูงานศิลปะที่ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่าเสร็จแล้วเกิดหิวขึ้นมา ก็ลองแวะไปลองลิ้มชิมรสอาหารพื้นบ้านทางภาคเหนืออย่างข้าวซอย ที่ร้านข้าวซอยเฒ่าแก่เอก ห่างเพียง 300 เมตรจากศาลากลาง ใกล้วัดพระแก้วเชียงราย ข้าวซอยน้ำแกงเข้มข้น หอมกลิ่นเครื่องเทศ มีเครื่องให้เลือกหลายแบบ ทั้งข้าวซอยเนื้อ, ไก่, ซี่โครงหมู, หมูยอ, กุ้ง, ปลากะพงและปลาแซลมอน แถมยังมีขนมจีนน้ำเงี้ยว หมูสะเต๊ะ ไส้อั่ว และอาหารกินเล่นอื่นๆ อีกมากมาย

ใครสนใจก็แวะเวียนไปชิมกันได้ตามอัธยาศัย •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์