ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
ในบรรดาผู้สันทัดกรณีเศรษฐกิจการเมืองจีนชาวตะวันตก ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ (1958-ปัจจุบัน) นับเป็น มือเก่าชั้นนำที่ผมติดตามมานาน
เขาเป็นฝรั่งออสเตรเลียที่ประกอบอาชีพผู้สื่อข่าวตั้งแต่เรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ หัดเรียนรู้ภาษาจีนก่อนไปเป็นนักข่าวอิสระที่ไต้หวัน ทำงานให้สื่อมวลชนชั้นนำของออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกและระดับโลกหลายเจ้าที่โตเกียว ฮ่องกงและปักกิ่ง ก่อนเข้าเป็นหัวหน้าสำนักข่าวประจำประเทศจีนของหนังสือพิมพ์ The Financial Times ของอังกฤษอยู่สิบปี (2000-2009) ในจังหวะที่จีนได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกและผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็วพอดี (https://www.csaa.org.au/2022/08/my-china-story-richard-mcgregor/)
แม็กเกรเกอร์โด่งดังจากหนังสือของเขาเรื่อง The Party : The Secret World of China’s Communist Rulers (2010) ซึ่งได้รับยกย่องกล่าวขวัญถึงและชนะรางวัลโดดเด่นต่างๆ ก่อนที่เขาจะผันตัวเองมาเป็นนักเขียน นักวิจัยเต็มเวลา และในที่สุดก็เข้าสังกัด Lowy Institute อันเป็นสถาบันคลังสมองด้านนโยบายต่างประเทศของออสเตรเลีย ณ นครซิดนีย์ในฐานะสมาชิกอาวุโสผู้เชี่ยวชาญภูมิภาคเอเชียตะวันออก
(https://www.lowyinstitute.org/people/experts/bio/richard-mcgregor)
เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ศกนี้ ท่ามกลางกระแสข่าวปัญหาเศรษฐกิจสังคมสารพัดรุมเร้าจีนหนักหน่วง ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ ได้ให้สัมภาษณ์จีเดียน ราคมัน หัวหน้านักวิจารณ์กิจการต่างประเทศแห่ง น.ส.พ. The Financial Times ใน The Rachman Review podcast หัวข้อ “Is China’s power on the wane?” (อำนาจจีนกำลังลดถอยหรือ?) โดยทักท้วงว่ามิควรด่วนสรุปว่าจีนกำลังอยู่ในช่วงขาลงไปเสียทีเดียว
อันมีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้ :-
จีเดียน ราคมัน : ก่อนจะเข้าไปสู่การโต้แย้งถกเถียงเรื่องนี้ ช่วยสรุปให้ฟังหน่อยได้ไหมครับว่าคนเขาหมายถึงอะไรเวลาพูดเรื่องจีนสุดยอด (peak China หมายถึงจีนได้พัฒนาถึงจุดสุดยอดที่เป็นไปได้แล้ว จากนี้มีแต่ขาลง) น่ะ?
ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : ผมคิดว่ามีนักเศรษฐศาสตร์และชาวตะวันตกหลายคนผู้ทำนายด้วยเหตุผลที่ดีมานานหลายปีแล้วว่าเศรษฐกิจจีนไม่อาจจะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ อย่างเคยได้
พูดอีกอย่างก็คือ ในสภาพที่ภาคอสังหาริมทรัพย์คิดเป็น 25-30% ของ GDP, มีการพึ่งพาการลงทุนมากเกินไป และภาคส่งออกก็ไม่สามารถช่วยยกดึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ซบเซาลงได้น่ะ ไม่มีทางที่จีนจะส่งออกผลผลิตล้นเกินของตัวออกไปได้เรื่อยๆ หรอกครับเพราะโลกไม่มีที่ว่างพอจะรองรับ
ท้ายที่สุดแล้วผู้คนบอกว่าจีนจะชนกำแพงเข้าให้แล้วชะลอตัวลง และก็แน่ล่ะครับว่าจีนก็เป็นแบบนั้นจริงๆ
แต่คุณจะคาดการณ์ไปข้างหน้าจากฐานคตินั้นแล้วบอกว่าจีนจะไม่มีปัญญาปรับแต่งตัวแบบทางเศรษฐกิจของตนใหม่เอาเลยอย่างนั้นหรือ?
ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าแนวคิดจีนสุดยอดน่ะมันสับสนหลายอย่างด้วยกัน มันก็ถูกอยู่หรอกครับว่าจีนจะชะลอตัวลง แต่มันไม่จำต้องถูกไปด้วยนี่ครับว่าจีนจะไม่มีปัญญาปฏิรูปได้มิไยว่ามันจะทำยากเพียงใดก็ตาม
ปัญหาอีกอย่างของแนวคิดจีนสุดยอดก็คือบางคนคาดการณ์จากฐานคติว่าในเมื่อจีนพัฒนาถึงจุดสุดยอดที่เป็นไปได้ทางเศรษฐกิจแล้ว จีนก็ย่อมพัฒนาถึงจุดสุดยอดที่เป็นไปได้ทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย
หรือพูดอีกอย่างก็คือ “บัดนี้โลกตะวันตกได้เผชิญหน้าภัยคุกคามของมหาอำนาจคู่แข่งที่กำลังผงาดขึ้นมาแล้ว แต่แน่ล่ะว่าระบบของคู่แข่งใช้การไม่ได้ และเราก็เลยขับไสไล่ส่งพวกมันไปได้สำเร็จ” อย่างนั้นหรือครับ
ผมก็เลยออกจะเอือมระอาแนวคิดจีนสุดยอดที่ว่าในหลายระดับทีเดียว
จีเดียน ราคมัน : เพราะมันอาจนำไปสู่ความชะล่าใจบางอย่างของโลกตะวันตกได้ในขั้นตอนที่แน่นอน แล้วก็เลยพาลด่วนชิงดูเบาจีนไปก่อนกาลอย่างนั้นใช่ไหมครับ?
ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : ใช่ครับ และผมเดาว่าผู้คนคงกวาดสายตาไปมองดูทั่วโลกแล้วถามว่าไหนล่ะความชะล่าใจที่ว่าน่ะ? แค่นี้มันก็ทำให้แนวคิดจีนสุดยอดฟังดูไม่สมจริงไปทันทีแล้วล่ะครับ เพราะถ้าหากจีนได้พัฒนาล่วงเลยจุดสุดยอดไปแล้วละก็ มันไม่น่าจะมีภัยคุกคามจากจีนทางทหารซีครับ โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย แถวทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้รอบเกาะไต้หวันน่ะ ถ้าหากแนวคิดจีนสุดยอดเป็นเรื่องจริง ยุโรปคงไม่ต้องมามัววิตกกังวลเรื่องรถไฟฟ้าราคาถูกที่หลั่งไหลเข้ามาจากจีน
และถ้าหากแนวคิดจีนสุดยอดเป็นจริง ใครจะไปแคร์เรื่องจีนจะครอบงำหัตถอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีเขียวล่ะครับ?
แนวคิดจีนสุดยอดน่ะอาจเก็บข้อถกเถียงของตัวมาได้จากตัวเลขการเติบโตของ GDP ที่เปลี่ยนไปไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่นี่หรือที่นั่น แต่ผมคิดว่านั่นมันไม่ได้บอกภาพรวมให้คุณรู้หรอกนะครับ
จีเดียน ราคมัน : มันก็คงเป็นเรื่องซับซ้อนยิ่งจริงๆ อย่างที่คุณบอกน่ะแหละครับ เพราะในบางด้านคุณก็อาจชี้ให้เห็นได้ว่าจีนกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วยิ่งทีเดียว อย่างด้านรถยนต์ไฟฟ้าเป็นต้น แล้วอีกเรื่องที่คุณไม่ได้เอ่ยถึงแต่มันก็กำลังขึ้นข่าวพาดหัวอยู่ก็คือดูเหมือนจีนกำลังรุดหน้าในแง่เทคโนโลยีไมโครชิพด้วยถึงแม้อเมริกาพยายามจะฉุดรั้งจีนไว้ก็ตาม
แต่กระนั้นจีนก็มีปัญหาเศรษฐกิจเหล่านี้จริง ผมสันนิษฐานว่าอย่างหนึ่งที่ทำให้แนวคิดจีนสุดยอดมีน้ำหนักฟังขึ้นคือเรื่องที่ผู้คนพูดกันถึงฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์น่ะครับ เพราะพลังทำลายของมันสูงมากเวลามันเริ่มฝ่อแฟบลง คนเขาจำสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่นได้ (เศรษฐกิจฟองสบู่ญี่ปุ่นแตกต้นทศวรรษที่ 1990) และนั่นน่ะจริงๆ แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นแห่งอวสานของเรื่องราวประเภทญี่ปุ่นกำลังจะยึดครองโลกอะไรเทือกนั้น และแน่ล่ะครับว่ามันก็ยังมีวิกฤตการเงินอเมริกาปี 2008 อีกด้วยซึ่งเป็นการฝ่อแฟบลงของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ งั้นเรามาคุยกันในประเด็นอสังหาริมทรัพย์จีนนะครับ เรื่องนี้มันร้ายแรงแค่ไหนในจีนครับ?
ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : ผมไม่อยากประเมินมันต่ำไปนะครับ จีนน่ะมีอัตรากรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของเอกชนสูงลิบลิ่วมหาศาล ผมว่าน่าจะสูงกว่าอัตราของเราในออสเตรเลียตอนนี้ สูงกว่าในสหราชอาณาจักรและสูงกว่าในอเมริกาด้วย
สภาพที่ว่ามีสาเหตุสองประการครับ
ประการแรก คือการที่รัฐปลีกตัวออกจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลางทศวรรษที่ 1990 แล้วปล่อยให้ผู้คนซื้อบ้านของตัวจากรัฐ และมันก็เริ่มพัฒนาจากจุดนั้นมาแหละครับ (ดูรายละเอียดใน อาเธอร์ อาร์. โครเบอร์, เกษียร เตชะพีระ แปล, เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน, 2562, น.146 เป็นต้นไป)
และประการที่สอง เพราะมีของเพียงน้อยนิดไม่กี่อย่างให้ลงทุนได้ในจีน ไม่มีใครในจีนเขาลงทุนกันในตลาดหุ้นด้วยความมั่นใจอะไรนะครับ มันก็บ่อนกาสิโนดีๆ นี่เอง หรือไม่มันก็พุ่งขึ้นและดิ่งลงตามอำเภอใจของนโยบายรัฐบาลในลักษณะที่ทำให้มันเอาแน่เอานอนไม่ได้อย่างยิ่ง แถมคุณจะเอาเงินออกจากจีนไปต่างประเทศหรือลงทุนในตลาดต่างประเทศง่ายๆ ก็ไม่ได้อีกนั่นแหละ
ฉะนั้น นั่นก็แปลว่าคุณมีเงินออมมหาศาล แล้วจะให้คุณทำยังไงกับมันได้ล่ะ? คุณก็ซื้ออสังหาริมทรัพย์น่ะซีครับ และนั่นก็คือเหตุผลที่ทำไมผู้นำอย่างสี จิ้นผิง ตอนที่แกพูดเรื่องสะกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ให้มันแตกโพละน่ะ แกจึงบอกว่าอสังหาริมทรัพย์มีไว้ให้อยู่อาศัย ไม่ใช่ลงทุน แกก็พูดได้แหละครับ แต่มันก็ไม่มีอะไรอย่างอื่นให้ลงทุนมากเท่าไหร่นี่ครับ
และก็แน่ล่ะครับว่ายังมีประเด็นลักษณะที่อุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ถูกจัดโครงสร้างมาให้พวกนักพัฒนาเก็บรวบรวมเงินลงทุนสำหรับโครงการถัดไปของพวกเขาได้โดยขายห้องชุดอยู่อาศัยที่กำลังจะสร้างไปเลยล่วงหน้า นั่นก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งด้วย แน่นอนว่าจะทำแบบนั้นต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้เพราะมันมีอุปสงค์น้อยลงๆ สำหรับห้องชุดอยู่อาศัยเนื่องจากจำนวนประชากรกำลังชะลอตัวลงและอื่นๆ
ดังนั้น มันก็เป็นปัญหาจริงๆ แหละครับ และคงต้องใช้เวลาหลายปีอยู่เพื่อชำระสะสางปัญหานี้ออกจากระบบ
ส่วนเรื่องที่ว่ามันจะเหมือนญี่ปุ่นตอนฟองสบู่แตกทศวรรษที่ 1990 ไหม? ผมว่าคงไม่เหมือนกันเป๊ะเสียทีเดียวครับ หนี้สินของญี่ปุ่นตอนนั้นสูงกว่าของจีนตอนนี้มาก ตอนนั้นญี่ปุ่นก็ขึ้นถึงจุดสุดยอดแล้วในรูปแบบอื่นๆ ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วญี่ปุ่นยังกำลังมีประเด็นปัญหาอื่นอยู่ด้วย อย่างเช่น เงินสกุลเยนแข็งค่าขึ้นพรวดพราด และผมคิดว่าในบางด้านจีนยังมีกลไกในมือให้ใช้อำนาจกดดันได้มากกว่าเนื่องจากอำนาจของรัฐและลักษณะที่ปิดของบัญชีทุน (closed capital account หมายถึงการที่บริษัท ธนาคารและบุคคลทั้งหลายไม่สามารถเคลื่อนย้ายเงินเข้าออกประเทศได้ ยกเว้นต้องเป็นไปตามกฎระเบียบอันเคร่งครัด)
นอกจากนี้ ผมกระทั่งอยากจะลองเสนอว่าบางทีเศรษฐกิจภาคเอกชนของจีนอาจมีพลวัตสูงกว่าของญี่ปุ่นด้วยซ้ำไปนะครับ คือมีหัวเซ็งลี้ยิ่งกว่าในหลายด้าน ทำให้มีช่องทางในการเติบโตต่อไปยิ่งกว่าเศรษฐกิจเอกชนของญี่ปุ่น
ดังนั้น เอาล่ะมันมีกลิ่นตุๆ และมันส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน แต่ว่ามันจะพลอยส่งผลให้เศรษฐกิจจีนหมุนคว้างตกลงอย่างช้าๆ ต่อกันนานสองทศวรรษแบบญี่ปุ่นด้วยไหมน่ะ นั่นมันข้อถกเถียงอีกเรื่องหนึ่งต่างหากเลยครับ
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022